Skip to main content
sharethis


อานนท์ นำภา (สวมแว่นตา)
แฟ้มภาพ 19 เม.ย. 2559

10 ก.พ. 2560 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า เวลา 10.30น. ที่ศาลแขวงดุสิตมีนัดฟังคำพิพากษาคดี ‘ยืนเฉยๆ’ ที่ อานนท์ นำภา ทนายความและนักกิจกรรมกลุ่มพลเมืองโต้กลับ ได้นัดทำกิจกรรมเพื่อเรียกร้องให้มีการปล่อยตัว นายวัฒนา เมืองสุข จากการควบคุมตัวภายในค่ายทหารเมื่อ 19 เม.ย.2559 ศาลพิพากษาปรับ 1,000 บาท ตามพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฐานความผิดจัดการชุมนุมโดยไม่มีการแจ้งจัดการชุมนุมต่อผู้รับแจ้งภายใน 24 ชั่วโมง

ศาลอ่านคำพิพากษาโดยสรุปได้ว่าประเด็นที่นายอานนท์ซึ่งเป็นจำเลยได้ต่อสู้ว่าคดีนี้โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ คดีนี้โจทก์ได้นำสืบว่าตำรวจได้เชิญตัวไปที่ สน.พญาไท โดยไม่ได้จับกุมดำเนินคดีจำเลยกับพวก แต่จากบันทึกประจำวันมีการบันทึกว่าตำรวจได้เชิญตัวจำเลยกับพวกไปสน.พญาไท โดยไม่ปรากฏว่ามีการควบคุมตัวจำเลยและพวกและไม่ได้ระบุว่ามีการควบคุมตัวอย่างไร พนักงานสอบสวนไม่ได้มีการแจ้งข้อหาแต่อย่างใด อีกทั้งจำเลยก็ไม่ได้นำสืบข้อเท็จจริงเป็นอย่างอื่น

ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าตามหลักฐานโจทก์ว่ายังไม่มีการจับจำเลยในวันเกิดเหตุ ทั้งนี้ตามบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหาปรากฏว่า พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อหาจำเลยตามฟ้องเมื่อวันที่ 27 เม.ย.2559 กรณีนี้จึงอยู่ในบังคับของพ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงฯ มาตรา 7 วรรค 2-4 ซึ่งเป็นกรณีที่พนักงานสอบสวนไม่มีการจับแต่มีการแจ้งข้อหาแล้วและไม่สามารถฟ้องได้ทันภายใน 48 ชั่วโมง ให้พนักงานสอบสวนหรืออัยการยื่นผัดฟ้อง ศาลให้ผัดฟ้องไปเป็นวันที่ 28พ.ค.2559 โจทก์ได้ยื่นฟ้องในวันที่ 27 พ.ค.2559 ซึ่งยังอยู่ในกรอบเวลาที่ศาลให้ผัดฟ้อง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องในคดีนี้

ประเด็นต่อมาจำเลยได้กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ โจทก์ได้นำสืบพนักงานสอบสวนได้เบิกความว่าจำเลยได้โพสต์ข้อความชักชวนให้ประชาชนเข้าร่วมการชุมนุม ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิซึ่งเป็นที่สาธารณะเมื่อวันที่ 19 เม.ย.2559 เพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยในการจับกุมนายวัฒนา เมืองสุข เห็นว่าการกระทำของจำเลยเป็นการประสงค์ที่จะนัดประชาชนมาชุมนุมในที่สาธารณะ จำเลยจึงมีหน้าที่แจ้งการชุมนุมต่อสน.พญาไท ภายในไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมงก่อนจัดการชุมนุม ถ้าหากไม่สามารถแจ้งจัดการชุมนุมได้ทันภายในเวลาดังกล่าวจะต้องขอผ่อนผันก่อนจัดการชุมนุม

ตามข้อเท็จจริงของโจทก์เห็นได้ว่าจำเลยไม่ได้มีการแจ้งจัดการชุมนุมและไม่ขอผ่อนผัน แต่จำเลยร่วมกับบุคคลอื่นอีก 4 คนไปร่วมกันยืนชุมนุมในที่สาธารณะในที่เกิดเหตุ แม้ว่าจำเลยและพวกจะยืนในบริเวณที่เกิดเหตุโดยไม่ได้มีการกระทำอื่นๆ อีก ก็ถือว่าเป็นการชุมนุมสาธารณะเนื่องจากการกระทำของจำเลยและพวกเป็นการแสดงออกอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อแสดงความคิดเห็นหรือเรียกร้องคัดค้านโดยแสดงออกต่อประชาชนทั่วไปให้เข้าร่วมการชุมนุมนั้นไม่ว่าจะมีการเดินขบวนหรือไม่ ตามพ.ร.บ.การชุมนุมฯ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการจัดการชุมนุมโดยไม่แจ้งจัดการชุมนุมสาธารณะ

ศาลพิพากษาว่านายอานนท์มีความผิดตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ มาตรา 10 วรรคสอง, มาตรา 12 และ มาตรา 28 ลงโทษปรับ 1,000 บาท

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2559 ศาลแขวงดุสิตมีคำพิพากษาให้ปรับเงินนายอานนท์ 1000 บาท ในฐานความผิดเดียวกัน ในคดีที่มีการจัดกิจกรรม ‘ยืนเฉยๆ’ เมื่อ 27 เม.ย.2559 เพื่อเรียกร้องให้มีการปล่อยตัว 8 แอดมินแฟนเพจ ‘เรารักพล.อ.ประยุทธ์’ จากการควบคุมตัวภายในค่ายทหาร 

ภายหลังศาลอ่านคำพิพากษานายอานนท์แจ้งว่าจะอุทธรณ์คำพิพากษาทั้งสองคดี

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net