โอกาสดีของสมาคมสื่อ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

เมื่อวันที่ 29 ม.ค.ที่ผ่านมา องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน 30 องค์กร หรือ สมาคมสื่อ ออกมาเรียกร้องเสรีภาพสื่ออย่างเต็มตัว ด้วยการแถลงการณ์คัดค้านร่างกฎหมายการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน หรือ ร่าง พ.ร.บ.ควบคุมสื่อ ที่คณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านการสื่อสารมวลชน สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ หรือ สปท. เป็นผู้ร่าง

โดยให้เหตุผลว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวมิได้อยู่บนพื้นฐานหลักการของการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ แต่กลับเน้นหลักการควบคุมสื่อมวลชนโดยใช้อำนาจรัฐ และไม่สอดคล้องกับร่างรัฐธรรมนูญที่มีเจตนารมณ์ให้สื่อมวลชนกำกับดูแลกันเองโดยอิสระ

การเรียกร้องของสมาคมสื่อเป็นผลในระดับหนึ่ง

อีก 4 วันต่อมาที่ประชุมวิป สปท. มีมติให้ กมธ.ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านการสื่อสารมวลชน ปรับแก้ไขร่างกฎหมายดังกล่าวเป็นเวลา 2 สัปดาห์ แล้วให้นำกลับเข้าที่ประชุมวิป สปท. อีกครั้งในวันที่ 16 ก.พ. และหากวิป สปท.เห็นชอบ ก็จะบรรจุวาระเข้าสู่การประชุมใหญ่ สปท. ในวันที่ 20 หรือ วันที่ 21 ก.พ. ต่อไป

แม้จะยังไม่ทราบว่า กมธ.ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านการสื่อสารมวลชน จะปรับปรุงร่าง พ.ร.บ.ควบคุมสื่อแบบใด และ ที่ประชุมวิป สปท. จะเห็นชอบหรือไม่ แต่ระหว่างนี้สมาคมสื่อควรที่จะแสดงให้สังคมเห็นอย่างชัดเจนว่า ครั้งนี้สมาคมสื่อต้องการเรียกร้องเสรีภาพสื่อด้วยความจริงใจ หาใช่ออกมาต่อต้านร่าง พ.ร.บ.ควบคุมสื่อเป็นการเฉพาะกิจ หลังจากสมาคมสื่อทำงานร่วมกับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. มาตั้งแต่ต้น

เมื่อเดือน ส.ค. ปี 2557 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ส่ง นายประดิษฐ์ เรืองดิษฐ์ นายกสมาคมนักข่าวฯ และ นายสุรศักดิ์ จิรวัสตร์มงคล อุปนายกฝ่ายวิชาการ เข้ารับการสรรหาเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือ สปช. สายสื่อมวลชน ซึ่งปรากฏว่า นายประดิษฐ์ได้รับการคัดเลือกเป็นสมาชิก สปช.

สมาคมนักข่าวฯ บอกถึงความจำเป็นในการส่งตัวแทนว่า เพื่อไปปกป้องหลักการเสรีภาพของประชาชนและสื่อมวลชนที่ต้องไม่ถอยหลังไปกว่ารัฐธรรมนูญปี 2550

การส่งนายกสมาคมนักข่าวฯ ไปเป็นสมาชิก สปช. ที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช. จะมีความเหมาะสมในทางประชาธิปไตยหรือเป็นการรองรับความชอบธรรมในการยึดอำนาจ สิ่งนี้คงตอบได้ไม่ยาก

นอกจากนายประดิษฐ์ที่เข้าไปเป็นสมาชิก สปช. แล้ว ต่อมาเมื่อปี 2558 นายภัทระ คำพิทักษ์ ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ได้รับเลือกเป็น กรรมการร่างรัฐธรรมนูญอีก โดยนายภัทระเลือกที่จะลาออกจากตำแหน่งประธานสภาการหนังสือพิมพ์ฯ มากกว่า การปฏิเสธตำแหน่งกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ 

สิ่งที่เกิดขึ้นย่อมทำให้เกิดคำถามต่อจุดยื่นของสมาคมสื่อ กรณีของนายประดิษฐ์ชัดเจนว่าเข้าไปเป็นสมาชิก สปช.ในนามตัวแทนสมาคมสื่อ และ แม้ สปช.จะถูกยุบลงไป แต่นายประดิษฐ์และตัวแทนสื่อรวม 4 คน ยังไปเป็นอนุกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปด้านสื่อสิ่งพิมพ์ สปท. อีก สิ่งเหล่านี้บ่งชี้ได้ว่า สมาคมสื่อทำงานร่วมกับองค์กรที่ถือกำเนิดจากการรัฐประหารมาอย่างต่อเนื่อง

แม้ตัวแทนสมาคมสื่อจะลาออกจากการเป็นอนุกรรมาธิการ เมื่อวันที่ 2 ก.พ. ที่ผ่านมา แต่ก็น่าจะเป็นการลาออกเพื่อคัดค้านเนื้อหาบางประการของร่าง พ.ร.บ.ควบคุมสื่อ หาใช่เป็นการลาออกเนื่องจากตระหนักถึงความไม่ชอบธรรมของ สปท. ที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช.

แต่ถึงจุดนี้ก็ยังไม่สายที่สมาคมสื่อจะทบทวนตัวเองและยอมสำนึกต่อความพลาดพลั้งในการนั่งร้านให้ คสช. ด้วยการออกแถลงการณ์ย้อนหลังคัดค้านการเข้ามาควบคุมอำนาจการบริหารประเทศของ คสช. เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 ซึ่งแม้จะใช้เวลานานกว่าจะเรียนรู้ถึงผลเสียของการยึดอำนาจ แต่ก็ยังดีกว่าปล่อยให้เรื่องผ่านเลยไป แต่น่าเสียดายที่สมาคมสื่อไม่ฉวยโอกาสดีนี้ไว้ 

โอกาสดีประการต่อมาของสมาคมสื่อเป็นกรณีสืบเรื่องจากการที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ หัวหน้า คสช. แถลงข่าวเมื่อวันที่ 31 ม.ค.ที่ผ่านมาว่า ต้องมีกฎหมายมาควบคุมสื่อเนื่องจากสื่อควบคุมกันเองไม่ได้

แต่นายเทพชัย หย่อง ประธานคณะทำงานสื่อเพื่อการปฏิรูป กลับอธิบายผ่านรายการตอบโจทย์ ทางไทยพีบีเอส ว่า การมีผู้แทนจาก 4 กระทรวงเป็นกรรมการสภาวิชาชีพ และ การกำหนดให้สื่อมีใบประกอบวิชาชีพ จะทำให้สื่อไม่สามารถท้าทายอำนาจรัฐได้ เนื่องจากสื่ออาจจะไม่ได้รับการต่อใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ

แถมให้น้ำหนักว่า หลังจากมีการเลือกตั้งแล้วพอนักการเมืองกลับเข้ามาจะสามารถใช้อำนาจตามกฎหมายฉบับนี้กับสื่อได้ และยังเห็นว่า รัฐบาลนี้ไม่จำเป็นต้องมีอำนาจตามกฎหมายนี้ก็ได้เพราะมีอำนาจพิเศษอยู่ในมืออยู่แล้ว

สิ่งที่นายเทพชัยอธิบายเป็นการทิ้งโอกาสในการคัดค้านการออกกฎหมายควบคุมสื่อว่า สื่อไม่จำเป็นต้องมีใบประกอบวิชาชีพเนื่องจากตามธรรมชาติแล้วสื่อสามารถเป็นตัวแทนเสียงข้างน้อยในการตรวจสอบผู้อำนาจ ฉะนั้นหากให้ผู้อำนาจถอนใบประกอบวิชาชีพสื่อได้ การทำหน้าที่ของสื่อจะไม่สมบูรณ์ และการทำหน้าที่แบบนี้เองที่ทำให้สื่อแตกต่างจากผู้ประกอบวิชาชีพในสาขาอื่น

ส่วนการที่นายเทพชัยคัดค้านร่างกฎหมายาโดยพรุ่งเป้าไปที่นักการเมือง ทำให้สงสัยว่า นักการเมืองเกี่ยวข้องตรงไหน สมาคมสื่อยังต้องการใช้อำนาจของ คสช.ในการออกกฎหมายควบคุมสื่อด้วยกันเองหรือไม่ จึงไม่จี้ไปที่ความไม่ชอบธรรมของกลไกที่ถือกำเนิดจาก คสช.

การที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์มีมติให้ระงับการออกอากาศรายการเดอะเดลี่โดส ทางว๊อยซ์ทีวี 7 วัน เนื่องจาก เห็นว่าทำให้เกิดความแตกแยกในสังคม และนำข้อเท็จจริงมาเสนอไม่ครบถ้วนขัดต่อประกาศ คสช. ก็ยังเป็นอีกโอกาสหนึ่งที่สมาคมสื่อจะออกแถลงการณ์คัดค้าน เพื่อแสดงให้เห็นว่า สื่อควบคุมกันเองได้โดยอำนาจรัฐไม่ต้องมาเกี่ยวข้อง และ ประกาศ คสช. ไม่เป็นธรรม แต่สมาคมสื่อก็ปล่อยโอกาสให้หลุดไป

แม้มีโอกาสดีที่จะกลับตัวหลายครั้งแต่สมาคมสื่อก็ไม่คว้าไว้ สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่าการคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ควบคุมสื่อยืนอยู่บนพื้นฐานความต้องการเสรีภาพของสื่อมวลชนเอง มากกว่าความต้องการเรียกร้องให้ คสช.ออกไป เพื่อให้สังคมกลับคืนสู่เสรีภาพเพื่อให้สื่อมวลชนซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสังคมมีเสรีภาพตามไปด้วย  

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท