Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis



หน้าตาของความรัก

เนื่องจากวันนี้เป็นวันที่ 14 กุมภาพันธ์ วันแห่งความรัก ผมจึงอยากเล่าที่มาของความรักตามปรัมปราของกรีกโบราณ ในสุนทรพจน์ของอริสโตฟานเนส ในงานนิพนธ์ชื่อ ซิมโพเซียม ของเพลโต อริสโตฟานเนสได้เล่าเรื่องราวของความรักโดยอ้างอิงเทพปกรณัม เรื่องมีอยู่ว่าแต่เดิมมนุษย์มี 3 เพศ คือ เพศชาย หญิง และกะเทย แต่ละเพศมีสองหัว สี่แขน สี่ขา ทำให้มีพลังอำนาจมากแล้วท้าทายเทพเจ้า ซุสจึงเรียกเทพเข้าประชุม ณ เทพสภา ว่าจะเอาอย่างไรกับมนุษย์ดี จะกำจัดมนุษย์ทิ้งให้หมดก็ไม่ได้ เพราะจะไม่มีใครบูชาเทพเจ้า ว่าแล้วซุสก็ตัดสินใจส่งสายฟ้ามาผ่าแยกร่างมนุษย์ เพื่อให้มนุษย์อ่อนแอลง  แต่นั้นมามนุษย์ก็ตามหาส่วนที่หายไปของตัวเอง เราจึงพบเห็นชายที่สนใจชาย หญิงสนใจหญิง และความรักระหว่างชายหญิง

เรื่องราวที่อริสโตฟานเนสเล่าแสดงให้เห็นถึงความรักชนิดที่ผ่านเรื่องราวมาด้วยกัน แม้แต่แรกรักพบก็มีมิติของเรื่องราวความรักเมื่อมองย้อนกลับหลัง แน่นอนว่าเมื่อเวลาผ่านไปต่างคนต่างสังขารโรยราลง กระนั้นสิ่งที่ทำให้เรายังบอกว่ารักอีกคนคือบุคลิกลักษณะที่สะท้อนมาจากด้านในที่ผ่านประสบการณ์และเรื่องราวร่วมกัน แล้วความสง่างามที่เกิดจากบุคลิกลักษณะนี้เองที่มาแทนที่ความรักเพราะความงามหน้าตา เอาเข้าจริงๆแล้วผมออกจะเห็นด้วยกับอาร์ธู โชเปนฮาวร์ นักปรัชญาเยอรมันที่กล่าวว่าคนเราจะมีหน้าตาที่แท้จริงของตนตอนอายุ 40 ทั้งหน้าที่การงาน ความสง่างามและวุฒิภาวะ เมื่อผ่านวันเวลาไปเราอาจจะมองความงามของคู่รักในมุมที่แตกต่างไป


รักที่ต่าง ต่างที่รัก

ที่กล่าวมาข้างต้นเราจะเห็นว่าความรักเป็นเรื่องของคนสองคน หากจะบอกว่าความรักเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการเมือง ก็คงฟังดูแปลก แต่นักวิชาการบางคนกลับเห็นว่าความรักเกี่ยวข้องกับการเมือง

ในงานที่ชื่อ I Love to You (1996) อิริกาเรย์  (Luce Irigaray) ชี้ให้เห็นว่าประชาธิปไตยจะต้องเริ่มจากการตระหนักถึงความแตกต่างทางเพศ ปัญหาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาการกดขี่ขูดรีด สงคราม หรือชาตินิยม ล้วนแต่มีจุดกำเนิดจากการไม่สำนึกเรื่องความต่างทางเพศ สำหรับอิริกาเรย์แล้ว การกดขี่ผู้หญิงจะเห็นได้จากการวิเคราะห์เรื่องความรักในงานของเฮเกล ซึ่งเฮเกลนับเป็นนักปรัชญาคนเดียวที่วิเคราะห์เรื่องความรักในฐานะแรงงาน อิริกาเรย์เห็นว่าเพศหญิงเป็นหญิงเฉพาะในครอบครัวเท่านั้น แต่ก็ยังโดนกดขี่โดยผู้ชาย เมื่อเข้าสู่ปริมณฑลการสังคมการเมือง ผู้หญิงก็กลายเป็นพลเมืองที่ไร้เพศ ซึ่งสิทธิก็เป็นสิทธินามธรรมที่ตกทอดมาจากศาสนาคริสต์ซึ่งยึดผู้ชายเป็นใหญ่อยู่แล้ว มิหนำซ้ำแม้แต่ในครอบครัวผู้หญิงก็เป็นได้แค่แม่และเมีย ซึ่งก็เป็นสิทธินามธรรมสากลที่ยัดเยียดให้ผู้หญิง

ในด้านสังคมวัฒนธรรม ผู้หญิงถูกยัดเยียดให้ยอมรับสถานะของแม่และเมีย เกิดจากยึดผู้ชายเป็นศูนย์กลาง เราเห็นเรื่องนี้ได้ง่ายจากคำนำหน้าของเพศหญิงที่เปลี่ยนไปตามการแต่งงาน เมื่อออกมาสู่ปริมณฑลสาธารณะ  ความเป็นหญิงก็ไม่ถูกตระหนักรับรู้ เนื่องจากสิทธิของพลเมืองนั้นเป็นกลาง ไม่มีเพศ เราเห็นเรื่องนี้ได้จากกฎหมายที่ยังยึดผู้ชายเป็นตัวตั้ง ทำให้ไม่มีกฎหมายที่รองรับพลเมืองผู้หญิงเป็นการเฉพาะ แต่ถูกจัดให้อยู่ในกรอบของ “พลเมืองเหมือนกัน”

ในหนังสือ Democracy Begins Between Two (2001) อิริกาเรย์วินิจฉัยว่าปัญหาทั้งหลายทั้งปวงเกิดขึ้นมาจากการไม่คำนึงถึงความต่างทางเพศนี้เอง ไม่ว่าจะเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อม การกดขี่ขูดรีด เผด็จการ หรือชาตินิยม การไม่ยอมรับความต่างทางเพศไม่อาจจะทำให้เกิดความสัมพันธ์ที่มีความสุขสันติได้ ในบทที่ชื่อ “Democracy is Love” อิริกาเรย์ย้ำว่าประชาธิปไตยคือความรัก คือการตระหนักถึงความต่างระหว่างเพศ และการดำรงอยู่ร่วมกันอย่างเกื้อกูลระหว่างชาย/หญิง เปิดไปสู่การเป็นแม่ของลูกชาย พ่อของลูกสาว อยู่ร่วมกันโดยไม่ลดทอนความต่างทางเพศให้อยู่ใต้อำนาจของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

ในช่วงหลังๆ อิริกาเรย์ได้รับอิทธิพลอย่างมากจากภูมิปัญญาตะวันออก เธอมีโอกาสฝึกโยคะและสนใจพุทธปรัชญา อิริกาเรย์ยกตัวอย่างช่วงขณะที่พระพุทธเจ้าทรงมองดอกไม้อย่างใส่ใจ โดยไม่ได้อยากเข้าไปครอบครอง แต่มองดอกไม้อย่างที่ดอกไม้เป็น การพิจารณาดอกไม้อย่างมีสติจะช่วยเพิ่มพูนพลังความคิดด้วย พระพุทธเจ้ามองดอกไม้โดยไม่อยากเด็ดมัน ซึ่งเท่ากับเราสัมพันธ์กับสิ่งอื่นโดยไม่กระทำความรุนแรง ดอกไม้จึงเป็นสิ่งที่ทำให้เราได้พิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างร่างกายกับจิตวิญญาณ โดยไม่ยัดเยียดรูปแบบความคิดที่ไม่สอดคล้องกับร่างกาย ซึ่งเราจะเห็นได้จากระบบทุนนิยมที่กดขี่ผู้หญิง ผลก็คือจิตวิญญาณตายลง ผู้หญิงถูกเรียกร้องให้เตรียมพร้อมสำหรับการมีเซ็กซ์และมีลูก ซึ่งล้วนเป็นสิ่งที่กำหนดโดยผู้ชายทั้งสิ้น

ตัวอย่างพระพุทธเจ้ามองดอกไม้นี้ แม้เธอไม่อาจระบุชัดว่าแหล่งอ้างอิงมาจากพระสูตรใด และเธออาจจะยังเข้าใจพุทธศาสนาไม่รอบด้านพอ แต่ท่าทีของอิริกาเรย์เองก็มีประโยชน์อย่างมากในแง่ของการเสาะแสวงหาเมล็ดพันธุ์ทางจิตวิญญาณเพื่อเพาะปลูกวัฒนธรรมแห่งการไม่กระทำความรุนแรงต่อกัน ผมคิดว่าหากอิริกาเรย์หันมาหาตัวอย่างแถวบ้านเมืองเรา ไม่แน่นัก เธออาจจะได้ตัวอย่างของการสร้างความรุนแรงต่อกันมากกว่า

เมื่อเราอยู่ใกล้จนมองไม่เห็น ก็อาจจะต้องอ้อมวกไปไกล มองผ่านสายตาคนอื่น ผ่านนักปรัชญาผู้หญิงชาวตะวันตก เพื่อที่จะเสนอตัวแบบของการเคารพยอมรับความแตกต่าง ไม่ใช่แค่เพียงความต่างระหว่างเพศเท่านั้น หากแต่ยังรวมถึงความต่างด้านอื่นๆด้วย ไม่ว่าจะเป็นความต่างทางชาติพันธุ์ ลัทธิ ศาสนา ภาษา หรืออายุ

ผมคิดว่า ถึงที่สุดแล้ว เราอาจจะกล่าวได้ว่า พระพุทธเจ้า ความแตกต่างระหว่างเพศ หรือกระทั่งความแตกต่างด้านอื่นๆ อย่างเช่นศาสนา ชาติพันธุ์ และประชาธิปไตย เป็นสิ่งที่แยกจากกันไม่ออก ประชาธิปไตยที่กดทับความต่างทางเพศ หรือกดทับความแตกต่าง ก็ไม่ใช่ประชาธิปไตยที่มีเสรีภาพที่แท้จริง เพราะประชาธิปไตยคือความรัก ความรักที่โอบรับความแตกต่างให้อยู่ร่วมโลกกันได้

ข้อเสนอของเฟมินิสต์อย่างอิริกาเรย์ที่ชี้ให้เห็นถึงการตระหนักถึงความต่างทางเพศ ด้วยการเปิดโปงการกดทับผู้หญิง  และพยายามผลักดันการดำรงอยู่ร่วมกันในโลก ในความแตกต่างนี้ แต่จุดอ่อนก็มีอยู่ เพราะหากถือว่าความต่างระหว่างเพศมีเพียงชาย-หญิง ก็ไม่อาจจะเปิดโอกาสไปสู่ความหลากหลายอื่นๆ ที่อาจจะเป็นไปได้

ผมอยากให้ลองพิจารณาข้อเสนอของไมเคิล ฮาร์ท นักทฤษฎีคนสำคัญที่ยังมีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน คนเรามักจะรักคนที่เราเหมือนเรามากกว่า และรักคนที่ต่างจากเราน้อยกว่า ไม่ว่าจะเป็นความต่างด้านชาติพันธุ์ ประเทศหรือชาติ ในแง่นี้ ชาตินิยม ฟาสซิสต์ รากฐานนิยมทางศาสนา ไม่ได้เกิดจากความรักหรือความเกลียดโดยตัวมันเอง แต่เกิดจากความรักสิ่งที่เหมือนกับเรามากเกินไป

“ความรักที่ความเหมือน” นำไปสู่การผลิตซ้ำสิ่งที่เหมือนๆกัน ตรงข้ามกับ “ความรักที่ความต่าง” ที่นำไปสู่การสร้างตัวตนและเครือข่ายความสัมพันธ์ใหม่ที่มีความเฉพาะตัว  เปิดไปสู่ความเป็นไปได้อื่นๆ

เพื่อจะอธิบายเรื่องนี้ให้เห็นภาพชัด ฮาร์ท (Micheal Hardt) หยิบยืมเอาอุปลักษณ์อันเป็นที่โปรดปรานของจีล เดอเลิซ (Gilles Deleuze) กับเฟลิกซ์ กัตตารี (Félix Guattari) คู่หูทางปรัชญาชาวฝรั่งเศส นั่นคือความสัมพันธ์ระหว่างกล้วยไม้กับตัวต่อ ทั้งคู่ประกาศว่า “ขอให้รักของพวกคุณจงเป็นเช่นตัวต่อกับกล้วยไม้”

ตัวอย่างเชิงเปรียบเทียบของ “ความรักที่ความเหมือน” ก็คือผึ้งกับดอกไม้ เราจะเข้าใจว่าผึ้งกับดอกไม้เป็น “ความรักที่ความต่าง” เพราะผึ้งกับดอกไม้เป็นสิ่งที่ต่างกัน แต่เอาเข้าจริงๆแล้วผึ้งกับดอกไม้เป็น “ความรักที่ความเหมือน” ที่นำไปสู่การหลอมรวมและผลิตสิ่งเหมือนๆกันออกมา นั่นก็คือความรักแบบชายหญิงที่หลอมรวมกลายเป็นหนึ่งในความสัมพันธ์แบบครอบครัว

ในทางกลับกัน ความรักที่ความต่างอาจจะเปรียบได้กับความสัมพันธ์ระหว่างตัวต่อกับกล้วยไม้ เนื่องจากกลิ่นกล้วยไม้มีกลิ่นคล้ายฟีโลโมนของต่อตัวเมีย และกล้วยไม้ก็มีรูปร่างเหมือนอวัยวะสืบพันธุ์ของต่อเพศเมีย เมื่อต่อตัวผู้จุ่มอวัยวะสืบพันธุ์ลงไปในดอกกล้วยไม้ก็เท่ากับมันเสพสังวาสกับกล้วยไม้ แต่ความสัมพันธ์เช่นนี้ไม่ได้ก่อให้เกิดอะไรขึ้นมาในเชิงวัตถุเหมือนกับผึ้งกับดอกไม้

เราอาจะนึกถึงความสัมพันธ์ของ LGBT ซึ่งแม้จะไม่ได้ยังผลให้เกิดผลบั้นปลายเหมือนความรักระหว่างหญิงชาย แต่ความสัมพันธ์แบบนี้ก็ก่อให้เกิดผลผลิตที่ไม่ใช่วัตถุ (immaterial) เช่น ภาพลักษณ์ ความสัมพันธ์ อารมณ์ความรู้สึก ความรู้ ตลอดจนข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์แบบนี้

ข้อได้เปรียบของการมองแบบนี้ก็คือ มันเป็นโอกาสให้ความหลากหลายได้มีที่เหยียบยืน เปิดโอกาสให้ความสัมพันธ์ใหม่ๆเกิดขึ้น ก่อเกิดการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ไม่ใช่แค่ความแตกต่าง (difference) หากแต่ยังรวมความหลากหลาย (multiplicity) ที่คำนึงคาดไม่ถึงด้วย

ในทางสังคมการเมือง ฮาร์ทเสนอว่าปัจจุบันผู้คนมีความสัมพันธ์ที่หลากหลาย ไม่จำกัดอยู่แต่กรอบของรัฐชาติหรือประเทศหนึ่งๆเท่านั้น  ผู้คนในความสัมพันธ์แบบนี้ไม่ใช่ “ประชาชน” ซึ่งเน้นการมีอัตลักษณ์ร่วมกันภายใต้เอกภาพบางอย่าง อย่างเช่นเอกภาพแห่งชาติ หากแต่เป็นผู้คนที่มีลักษณะบางอย่างร่วมกัน และอยู่ร่วมกันได้ทั้งที่ต่างกัน

ความรักเป็นพลังผลักดันในการก่อรูปชุมชนใหม่ขึ้นมา เป็นการอยู่ร่วมกันแบบใหม่ ดังนั้น “ความรักที่ความต่าง” จึงต้องอาศัยการสื่อสารและปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น เพื่อเรียนรู้สิ่งที่เราไม่เข้าใจ แทนที่จะเปิดรับแต่คนที่เหมือนกันกับเราเท่านั้น

เมื่อผู้คนเหล่านี้สร้างชุมชนขึ้นมาเป็นชุมชนประชาธิปไตย จึงไม่ใช่การรวมเอาคนที่เหมือนกันกับตัวเองเข้ามาในอยู่ภายใต้เอกภาพ หากแต่สร้างชุมชนที่ลักษณะเฉพาะเจาะจง แต่ยังความความแตกต่างเอาไว้ แน่นอนว่าฟังดูเสี่ยง เพราะเราต้องรับเอาสิ่งที่แตกต่างจากที่เราคุ้นเคย แต่สิ่งนี้เองที่จะนำไปสู่การเกิดสิ่งใหม่ ไม่ใช่ผลิตซ้ำแต่สิ่งเดิมๆ

แน่นอนว่าไม่ใช่ความรักที่อยู่ภายใต้คุณธรรมหรือความดีแบบเดียว ไม่ใช่ความรักชนิดที่ออกคำสั่งบังคับเอา ไม่ใช่ความรักที่บังคับให้คนคิดเห็นเหมือนกัน มองไปทางเดียวกัน เดินไปทางเดียวกัน และตกเหวไปพร้อมๆกัน

ทั้งนี้ เพราะประชาธิปไตยคือการแสดงออกซึ่งความรัก


คือรักและหวัง

เมื่อเราเอ่ยถึงความรัก ก็ย่อมหมายความด้วยว่าเราปราถนาดีต่อคนที่เรารัก ไม่อยากให้พวกเขาหรือพวกเธอต้องเผชิญกับสถานการณ์อันเลวร้าย หัวข้อสุดท้ายผมจะพูดถึงความหวัง ชื่อหัวข้อ “คือรักและหวัง” มาจากนวนิยายของวัฒน์ วรรลยางกูร (ซึ่งเป็นที่มาของข้อเขียนนี้ด้วย)

หากมองในประวัติศาสตร์ที่มีการต่อสู้ทางการเมือง เราก็จะพบว่ามีคนจำนวนมากลุกขึ้นมาต่อสู้เรียกร้องสิทธิเสรีภาพจากอำนาจกดขี่ที่ไม่ชอบธรรม แม้ว่าในช่วงแรกจะดูไม่เห็นปลายทาง หรือต้องเผชิญอุปสรรคนานัปการ หลายต่อหลายครั้งความหวังนั้นก็ไม่บรรลุผล

เราจะเห็นตัวอย่างที่ชัดเจนจากงานเขียนของ ริชาร์ด รอร์ตี้ (Richard Rorty) นักปรัชญาอเมริกันคนสำคัญ รอร์ตี้มองว่าความหวังของมนุษยชาตินั้นสะท้อนผ่านข้อเขียนสำคัญ 2 ชิ้น ได้แก่ พระคัมภีร์ไบเบิลพันธะสัญญาใหม่ และ แถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์ ทั้งสองต่างแสดงถึงความหวังอย่างเดียวกัน นั่นคือความหวังที่มนุษย์จะเคารพยอมรับความต้องการของกันและกันอย่างที่กระทำกับคนรักและคนใกล้ชิดของตน  แม้ว่าทั้งข้อเขียนทั้งสองฉบับนี้จะเป็นคำทำนายที่ผิดพลาด เพราะไม่มีพระมหาไถ่เสด็จลงมาและสังคมในอุดมคติแบบคอมมิวนิสต์ก็ไม่เกิดขึ้นจริง แต่เราควรอ่านเอกสารทั้งสองในฐานะแรงบันดาลใจที่สำคัญ เพื่อเข้าใจ “ความหวัง” อันประเสริฐที่เคยมีมาก่อน

ในหลายกรณี ความหวังของคนสองกลุ่มที่ขัดแย้งกันเอง ก็นำไปสู่การปะทะกันถึงขั้นนองเลือด แต่ข้อพิจารณาของรอร์ตี้ก็น่าจะนำมาเป็นข้อคิดของเราได้ นั่นคือความหวังอันประเสริฐก็คือการที่เราปรารถนาให้มนุษย์มีความเคารพยอมรับคนอื่นเฉกเช่นคนรักของตน คำพูดที่เราชอบจะพูดว่า ถ้าเป็นญาติพี่น้องของคุณบ้างคุณจะรู้สึกอย่างไร ก็น่าจะกระตุกความคิดของเราได้ เวลาเราเห็นฝ่ายตรงข้ามถูกกระทำอย่างไร้ความเป็นธรรม

และที่สำคัญ ในเมื่อความหวังย่อมต้องประกอบด้วยคุณค่าของความรู้ที่ทำให้เราประเมินสถานการณ์โดยไม่หลอกตัวเอง แล้วทำไมเราไม่ย้อนทบทวนว่าการแก้ปัญหาความขลุกขลักของระบอบประชาธิปไตยควรจะเป็นอย่างไร กลับจะยิ่งสร้างปัญหาอย่างใหม่ขึ้นมาใช่หรือไม่ ถ้าเรายอมรับความจริงได้แล้วเลิกหวังลมๆแล้งๆ การปรับทิศทางความหวังก็น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีมิใช่หรือ?

เป็นไปได้หรือไม่ที่เราจะเห็นอนาคตของความหวังที่เปี่ยมด้วยการเคารพยอมรับความต้องการของเพื่อนมนุษย์หรือเพื่อนร่วมชาติ เฉกเช่นที่เรากระทำกับญาติพี่น้องและคนรักของตนเอง?

เพราะประชาธิปไตยคือการแสดงออกซึ่งความรัก


 

หมายเหตุ: เนื้อหาของข้อเขียนนี้ผู้เขียนประมวลขึ้นใหม่จากบทความหลายชิ้นที่ได้เขียนเอาไว้ ซึ่งบางส่วนตีพิมพ์ต่างกรรมต่างวาระใน มติชนสุดสัปดาห์ ผู้เขียนขออนุญาตนำมาเป็นข้อพิจารณาทบทวนอีกครั้งเนื่องในวันวาเลนไทน์ 2560 นี้


เกี่ยวกับผู้เขียน: คงกฤช ไตรยวงค์ เป็นอาจารย์ประจำ ภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และสมาชิกกลุ่ม Black Circle

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net