วงเสวนาชี้ ร่างพ.ร.บ.คุมสื่อฯ มีปัญหา และองค์กรวิชาชีพสื่อเองก็มีปัญหาด้วยเช่นกัน

วงเสวนาเห็นด้วยต้องคัดค้านร่างกฎหมายคุมสื่อ แต่ยังมีคำถามให้คิดต่อ สุชาดา TCIJ ถาม องค์กรวิชาชีพเป็นตัวแทนสื่อจริงหรือ อาทิตย์ ไทยเน็ต ยกกรณีศึกษาปฏิรูปสื่ออังกฤษ สื่อในฐานะผู้ที่จะตรวจสอบคนอื่นต้องโปร่งใสด้วย สุณัย HRW ถามทำไมสื่อค้านร่างพ.ร.บ. แต่ไม่ค้านประกาศ คสช.ให้หนัก 

16 ก.พ. 2560 ในเวทีเสวนาเรื่อง "พ.ร.บ. (ไม่) คุ้มครองสื่อ/ ความอิสระภายใต้งบรัฐ?" ที่จัดโดยมีเดีย อินไซด์ เอ้าท์ เมื่อวานนี้ (15 ก.พ.) พูดคุยกันเรื่อง ร่าง พ.ร.บ. การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ..... ซึ่งร่างโดยคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านการสื่อสารมวลชน สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ที่ถูกองค์กรวิชาชีพสื่อคัดค้านมาตลอดตั้งแต่เมื่อต้นปีที่ผ่านมา เนื่องจากเกรงว่าจะมีการใช้อำนาจรัฐเข้ามาแทรกแซงความเป็นอิสระของสื่อ จนล่าสุด ที่ประชุม สปท. มีมติให้ กมธ.นำไปปรับแก้ใหม่
 

ร่างกฎหมายคุมสื่อนี้มี 4 เวอร์ชัน

อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล ผู้ประสานงานเครือข่ายพลเมืองเน็ต ให้ภาพว่า ขณะนี้มีร่าง พ.ร.บ.ในลักษณะนี้อย่างน้อยสี่ฉบับ

ฉบับแรก คือ ฉบับของ สปท. ชื่อ ร่างพ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน ซึ่งมีการนำเสนอในเว็บไอลอว์ ประมาณเดือน ม.ค.

อีกฉบับจาก สปท. ลงวันที่ 9 ม.ค. 2560 เป็นฉบับที่กลุ่มองค์กรวิชาชีพสื่อไปยื่นค้าน สองฉบับนี้มีเนื้อหาคล้ายกัน

สาม ฉบับที่กลุ่มองค์กรวิชาชีพสื่อเป็นผู้เสนอ ชื่อร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิเสรีภาพ
และส่งเสริมมาตรฐานผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน 

และฉบับของ สนช. ชื่อ ร่าง พ.ร.บ.สภาวิชาชีพสื่อมวลชน ลงวันที่แก้ไขล่าสุดเมื่อ 28 ธ.ค. 2559

สิ่งที่มีร่วมกันคือ มีการมองว่าที่ผ่านมา สมาคมสื่อฯ มีกลไกกำกับดูแลอยู่แล้ว แต่อาจบังคับใช้ลำบากเพราะไม่มีกฎหมายบังคับ จึงเห็นว่าควรมีกฎหมายโดยให้ผู้ประกอบการสื่อจัดตั้ง รวมกลุ่มกันเอง แต่กฎหมายให้อำนาจบางอย่างรองรับไว้ และเป็นแรงจูงใจว่าถ้าเข้าร่วม กฎหมายอาจช่วยเหลือทางคดีหรือกันจากการถูกฟ้องคดีบางอย่าง

อย่างไรก็ตาม มีความแตกต่างบางส่วน เช่น
 

นิยามผู้ประกอบวิชาชีพสื่อ

ฉบับ สปท. นิยาม ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อ ว่าต้องทำหน้าสื่อโดยปกติธุระ หรืออย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ได้รับค่าตอบแทนเป็นประจำ ตามนิยามแล้ว บล็อกเกอร์ หรือผู้ที่โพสต์ในอินเทอร์เน็ตในลักษณะชั่วครั้งชั่วคราว จะไม่ถูกนับรวม แต่เพจต่างๆ ที่โพสต์สม่ำเสมอ ได้สปอนเซอร์ หรือค่าโฆษณา อาจถูกนับได้ 

ฉบับ สนช. นิยาม ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อ ว่าหมายถึง "บุคคลซึ่งประกอบวิชาชีพเป็นปกติธุระในการสร้างสรรค์หรือกำกับดูแลเนื้อหาหรือดำเนินการอื่นใดที่เกี่ยวกับสื่อมวลชน" จะเห็นว่านิยามค่อนข้างกว้าง ไม่ได้พูดถึงค่าตอบแทน และไม่ได้นับเฉพาะผู้สร้างสรรค์แต่รวมถึงผู้กำกับดูแลเนื้อหาด้วย ทั้งนี้ เวลาพูดถึงอินเทอร์เน็ต จะมีเนื้อหาที่ผู้ใช้เป็นผู้สร้าง เจ้าของแพลตฟอร์มเป็นโมเดอเรเตอร์ เช่น เพจหรือช่องยูทูบ เปิดให้คนส่งเข้ามา แล้วนำมาจัดหมวดหมู่ จึงอาจถูกนับเป็นผู้ประกอบการสื่อ แม้ไม่ได้ค่าตอบแทนก็ตาม นอกจากนี้ มีการระบุถึง "บัตรประจำตัวผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน" เกิดคำถามว่าต่อไปต้องมีใบอนุญาตนักข่าวหรือไม่

ลักษณะองค์กร 

ฉบับ สปท. ให้มีกรรมการ 3 ชุด คือ คณะกรรมการองค์การวิชาชีพสื่อมวลชน คณะสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ และคณะกรรมการจริยธรรมสื่อมวลชน

กลไกกำกับดูแลกันเองขององค์กรสื่อ ทำโดยให้สื่อกำกับกันเองก่อน หากเรื่องร้องเรียนทำกันเองในองค์กรสื่อไม่ได้ ไปที่องค์การวิชาชีพ หากไม่พอใจไปที่คณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ เรียกว่าถ้าสื่อดูแลกันเองไม่ได้ให้โยนไปให้รัฐ

คณะสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ องค์ประกอบ ได้แก่ ผู้แทนสมาชิกสภาวิชาชีพ 5 คน และคนจากรัฐ 4 คน คือ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม และปลัดกระทรวงการคลัง ซึ่งมีข้อกังวลว่าจะเป็นการเอาคนจากรัฐมานั่งในคณะกรรมการซึ่งจะส่งผลได้ผลเสียต่อการดำเนินงานของสื่อ

คณะกรรมการจริยธรรมสื่อมวลชน มีหน้าที่กำหนดมาตรฐานจริยธรรมสื่อ องค์ประกอบมาจากผู้แทนจากสภาทนายความ องค์กรด้านการเฝ้าระวังสื่อ สหพันธ์องค์กรผู้บริโภค สถาบันสื่อเด็กและเยาวชนและผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชน มีข้อสังเกตว่า 1-4 คนแรก มาจากองค์กร แต่กรณีผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชน เป็นผู้เชี่ยวชาญไม่ได้มีใครรองรับ

ฉบับขององค์กรวิชาชีพสื่อฯ มีคณะกรรมการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและส่งเสริมมาตรฐานผู้ประกอบการวิชาชีพสื่อมวลชน ซึ่งองค์ประกอบแตกต่างจากฉบับ สปท. อย่างเห็นได้ชัด เพราะไม่มีคนจากองค์กรรัฐอยู่ โดยกำหนดให้มาจากการสรรหาของคณะกรรมการ 7 คน ประกอบด้วย กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ผู้ตรวจการแผ่นดิน กรรมการองค์กรอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค นายกสภาทนายความ ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ และประธานสภาวิชาชีพข่าวและวิทยุโทรทัศน์ไทย ตรงนี้เขียนค่อนข้างรัดกุม เพราะให้กรรมการที่มาจากองค์กรต่างๆ ต้องมีมติขององค์กรนั้นๆ รองรับด้วย
 

มาตรฐานจริยธรรม 

พูดถึงเนื้อหาอะไรที่เสนอได้ไม่ได้ ตามมาตรฐานจริยธรรม ฉบับ สปท. บอกว่า ให้องค์กรสื่อไปทำจริยธรรมตัวเอง โดยมีมาตรฐานกลางกำหนดมาแล้ว 6 ข้อ ฉบับ สนช. มี 10 ข้อ โดยในเนื้อหาของ สนช. ส่วนหนึ่งไปคล้ายกับ 7 ข้อในประกาศ คสช. 97/2557 แก้ไขเพิ่มเติม 103/2557 ห้ามเสนอเนื้อหาหมิ่นสถาบันกษัตริย์ การวิจารณ์ คสช. ทำไม่ได้ โดยไม่ได้พูดเรื่องประโยชน์สาธารณะเลย

อาทิตย์ชี้ว่า ต่อให้ไม่มีกฎหมายนี้ ก็ยังมีประกาศเหล่านั้นยังอยู่ จนกว่าจะมีพ.ร.บ.มายกเลิก ถามว่าสมาคมสื่อได้ต่อสู้เพียงใดไม่ให้มีข้อจำกัดเหล่านั้น ขณะประกาศ คสช.ฉบับที่ 97/2557 ออกมา มีการต่อสู้จนแก้ไขจนได้ประกาศ คสช. ฉบับที่ 103/2557 แต่สาระหลักไม่ได้เปลี่ยนแปลงนัก

เขาชี้ว่า จะเห็นว่าที่ผ่านมา สมาคมสื่อไม่ได้สู้กับรัฐเสียเท่าไหร่ นอกจากไม่สู้รัฐ แล้วไม่สู้กับทุนด้วย ทำให้เกิดคำถามว่า องค์กรวิชาชีพสื่อเป็นตัวแทนของคนทำสื่อ หรือเจ้าของสื่อ(ทุน) ยกตัวอย่างโครงการฝึกอาชีพเลี้ยงไส้เดือนขององค์กรวิชาชีพสื่อแห่งหนึ่ง เพื่อช่วยเหลือนักข่าวที่มีรายได้น้อย ถามว่า ถ้ารู้ว่าเขาทำงานไม่พอกิน ทำไมไม่มีการต่อสู้กับเจ้าของสื่อเพื่อเรียกร้องสวัสดิการเลยหรือ

"รัฐก็ไม่สู้ ทุนก็ไม่สู้ ต่อให้มีสมาคมวิชาชีพแบบที่สมาคมสื่อเสนอ ปัญหานี้จะยังถูกแก้หรือไม่" อาทิตย์กล่าวและว่า อย่างไรก็ตาม เราต้องมีจุดยืนสนับสนุนองค์กรวิชาชีพ 30 องค์กร เพราะสิทธิเสรีภาพของประชาชนจะถูกคุกคามแน่ๆ หากร่างกฎหมายนี้ผ่าน แต่ย้ำเช่นกันว่าคำถามใหญ่ๆ ที่ประชาชนมีกับองค์กรสื่อและองค์กรวิชาชีพสื่อก็ยังอยู่

องค์กรวิชาชีพสื่อเป็นตัวแทนของใครกันแน่

ขณะที่ สุชาดา จักร์พิสุทธิ์ ผู้อำนวยการ TCIJ ชี้ว่า มีเรื่องที่เป็นห่วง 2 เรื่อง คือ หนึ่ง เราจะมีกฎหมายที่คลอดจากรัฐบาลรัฐประหาร และคาดหวังอะไรดีๆ ได้ยากมาก สอง สื่อไม่ได้ทำให้ผู้บริโภคเชื่อมั่นศรัทธาได้เลย ว่าเชื่อมั่นแล้วจะเป็นตัวแทนเสรีภาพได้จริง ทำให้ภาพต่อต้านร่างกฎหมายนี้ มีเพียงสื่อหลักไม่กี่องค์กร ประชาชน และสถาบันวิชาการด้านนิเทศศาสตร์ ไม่หือไม่อือ องค์กรอิสระต่างๆ ไม่ส่งเสียง

"นี่เป็นเรื่องแย่ที่เราต้องร่วมสู้ ไม่ว่าสื่อจะน่าเชื่อถือหรือเป็นปากเสียงได้จริงหรือไม่ แต่เป็นการเมืองภาคประชาชนที่ต้องร่วมสู้กับความพยายามในการจำกัดเสรีภาพในการแสดงออก" สุชาดากล่าว

ผู้อำนวยการเว็บไซต์ TCIJ แสดงความเห็นต่อว่า ส่วนตัวมองว่า อย่างไรก็คงต้องมีกลไกใหม่ออกมากำกับ หรือถ่วงดุลสื่อหลักให้มากกว่าที่ผ่านมา เพราะสื่อหลักเป็น actor ของความขัดแย้งอย่างเป็นที่ประจักษ์ โดยยกตัวอย่างกรณีของนักข่าวที่ออกไปชุมนุมบนท้องถนน และเชียร์ให้ใช้เฮทสปีช แต่เธอก็ยังเห็นว่าไม่ใช่การกำกับโดย พ.ร.บ.ฉบับนี้

"เรื่องการกำกับตัวเองของสื่อเป็นไปได้ แต่ยังไม่น่าวางใจหรือทำให้สิ้นสงสัยว่าจะทำได้" สุชาดากล่าว พร้อมยกตัวอย่างกรณีนักข่าวแต่งชุดนักเรียนไปพบนายกฯ หรือผู้นำรัฐประหารในช่วงวันปีใหม่ว่า แสดงให้เห็นว่าพวกเขายังไม่เห็นว่านี่คือปัญหาจริยธรรม แล้วจะวางใจได้อย่างไร ยังไม่นับเรื่องที่ TCIJ เปิดโปงเรื่ององค์กรธุรกิจจ่ายเงินสื่อ แต่องค์กรวิชาชีพใช้เวลาสอบถึงสองปี มีการตั้งคณะกรรมการคนคุ้นเคยมาสอบ เป็นเช่นนี้มาทุกยุคทุกสมัย เพราะฉะนั้น จึงไม่สิ้นสงสัยว่าองค์กรสื่อจะกำกับดูแลตัวเองได้

สอง สื่อจะลุกขึ้นสู้ทุกครั้ง เมื่อมีการออกกฎหมายระหว่างคู่ขัดแย้ง หรือสื่อที่เป็นพรรคพวกตัวเอง คำกล่าวว่า เสรีภาพของสื่อคือเสรีภาพของประชาชน เป็นสิ่งที่พิสูจน์แล้วว่าวางใจไม่ได้ ถามว่า เสรีภาพของประชาชนคนไหน ทำไมบางเรื่องเช่น กรณีไผ่ ดาวดิน ที่แสดงให้เห็นถึงกระบวนยุติธรรมที่ผิดฝาผิดตัว สามัญสำนึกง่ายๆ ถึงไม่เป็นข่าว

สุชาดา กล่าวว่า น่าสังเกตว่า รัฐบาลทหารและสื่อต่างก็แหย สื่อออกมาไขว้มือค้านร่างกฎหมาย รัฐบาลก็ถอยบอกว่าจะทบทวน สื่อก็จะบอกว่าจะพัฒนาทักษะคนทำงานให้รู้เท่าทันทุน แต่จะเห็นว่า องค์กรวิชาชีพสื่อไปรับเงินขององค์กรธุรกิจ มาจัดอบรมภาษาเวียดนาม ให้ไปเที่ยวเวียดนามฟรี ถามว่าจะทำให้ทำงานได้อย่างมีคุณภาพมากขึ้นหรือ รวมถึงมีการอบรมหลักสูตรผู้บริหารการสื่อสารมวลชนระดับกลาง (บสก.) หลักสูตรผู้บริหารการสื่อสารมวลชนระดับสูง (บสส.) ซึ่งน่าสงสัยตั้งแต่เจตนารมณ์ในการรับเงิน เพราะเอาตัวแทนธุรกิจมานั่งเรียนร่วมกับสื่อ เพื่อความสัมพันธ์อันดีกับแหล่งข่าวที่เป็นธุรกิจ ถามว่าตกลงองค์กรวิชาชีพที่มีอยู่เป็นตัวแทนของนักข่าวตัวเล็กจริงหรือไม่

สุชาดา บอกว่า ถ้าเข้าใจว่าสื่อคือพื้นที่ส่วนกลาง ต้องมีตัวแทนสาธารณะ หรือต้องทำตัวเป็นพื้นที่ที่ใครๆ ก็เข้าถึงได้จริง เช่น หากมีกรณีต้องสอบสวน ก็ควรจัดเวทีพูดคุย เพื่อให้เกิดการบาลานซ์ ไม่ใช่แค่ข้อวินิจฉัยแบบปิดประตูคุย นอกจากนี้ ยังควรเปิดให้มีเลือดใหม่หรือคนใหม่เข้ามา ผ่านกระบวนการสรรหาอย่างโปร่งใส ไม่ใช่แต่คนหน้าเดิม ไม่เช่นนั้น ต่อให้มีองค์กรวิชาชีพอันใหม่ มีสภาการวิชาชีพสื่อ แต่เอายังองค์กรเดิมมารวมกัน มายาคติชุดเดิมยังมี ปัญหาเดิมย่อมมีอยู่

"หากคิดเรื่องกำกับตัวเองจริงๆ จะต้องจัดเวทีระดมสมองกันครั้งใหญ่ เปิดให้คนที่เคยถูกมองเป็นคนนอกเข้ามาช่วยคิด เมื่อได้ข้อเสนอ ก็แถลงสู่สังคม เช่นนี้ก็จะได้แนวร่วม แต่คำถามแรกคือจะเริ่มหรือยัง"

ถามทำไมสื่อค้านร่างพ.ร.บ. แต่ไม่ค้านประกาศ คสช.ให้หนัก 

สุณัย ผาสุข ที่ปรึกษาฮิวแมนไรท์วอทช์ ประจำประเทศไทย แสดงความเห็นว่า ประเทศที่ถือว่าประสบความสำเร็จในการทำให้กฎหมายสื่อเป็นกฎหมายที่คุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ไม่ใช่เป็นกฎหมายที่จำกัดสิทธิเสรีภาพ มันเป็นกระบวนการที่เกิดคู่ขนานไปกับพัฒนาทางการเมืองที่เปิดกว้างมากขึ้น นำไปสู่การเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น แต่กรณีของไทย ความพยายามในการจัดระเบียบสื่อมันเกิดขึ้นในบริบทของการหวนกลับของวิวัฒนาการทางการเมืองที่นำไปสู่ระบอบอำนาจนิยมมากขึ้น

เขาชี้ว่า โครงร่างของเครื่องมือที่จะมากำกับสื่อ แม้ว่าจะออกมาจากองค์กรวิชาชีพสื่อ ก็สะท้อนความพยายามก่อนหน้านั้นในการเล่นงานสื่อที่อยู่ตรงข้ามทางการเมือง ส่วนการออกแบบเครื่องมือโดยภาครัฐหรือกลไกที่ตอบสนองรัฐ อย่าง สนช. สปท. ก็สะท้อนกับธงในรัฐประหาร 2549 และย้ำอีกครั้งในรัฐประหาร 2557  ที่ต้องการให้รัฐควบคุมวิธีคิดของคน

"ตัวที่จริงๆ เข้มข้นที่สุดและมีผลบังคับใช้มาเนิ่นๆ เลยคือ ประกาศ คสช. ที่ 97/2557 ที่บอกว่าสื่อไม่สามารถวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของ คสช.ได้ ห้ามเชิญคนอย่างผมไปออกสื่อ หรือเขียนบทความลงสื่อ ถ้าสมาคมสื่อฯ เอาจริงเอาจังกับการรักษาสิทธิเสรีภาพ ต้องออกมาแย้งเรื่องนี้ทุกวัน เขาอาจชี้แจงว่าเขาแย้ง แต่แย้งอย่างจริงจังแค่ไหน สักแต่ว่าแย้งหลังจากถูกตำหนิถูกประณาม แล้วหลังจากนั้นก็เงียบหายไปตามสายลม แต่ผลจากคำสั่ง คสช. ดังกล่าว ยังคงอยู่กับเราจนถึงทุกวันนี้"

ตราบจนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่บังคับใช้ ผลของมันก็ยังอยู่กับเราต่อไป ดังนั้น เครื่องมือคุมสื่อที่จะอยู่ยั้งยืนยง คือ พ.ร.บ.นี้ และคำสั่ง คสช. ถามว่า ถ้าองค์กรสื่อค้านตัวเล็กแล้วทำไมจึงไม่ค้านตัวใหญ่

"ความน่าเชื่อถือขององค์กรวิชาชีพสื่อเอง ไม่ได้พิสูจน์ให้เห็นว่า นี่เป็นการสู้ยืนยันเพื่อสิทธิเสรีภาพ ไม่ใช่แค่รักษาหม้อข้าวตัวเอง"

สุณัย กล่าวอีกว่า อีกส่วนที่ติดใจมากคือ ร่างทั้งหลายทั้งปวง มาจากกลุ่มรัฏฐาธิปัตย์ในปัจจุบัน แต่เวลาผู้นำองค์กรสื่อวิจารณ์กลับว่าบอกว่า เกรงรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในอนาคตจะใช้อำนาจ คุณถูกข่มขืนอยู่ในปัจจุบันแล้ว ทำไมไม่ร้อง มันผิดที่ผิดทางหรือเปล่า

จากจุดยืนของฮิวแมนไรท์วอทช์ สิ่งที่กังวลมากคือ องค์กรควบคุมจริยธรรม ไม่ว่าจากรัฐหรือสื่อ จะนำไปสู่การเซ็นเซอร์ เพราะวิสัยทัศน์ของรัฐหลังรัฐประหาร มีจุดยืนชัดเจนว่าจะควบคุมข้อมูลข่าวสาร เพื่อนำไปสู่การควบคุมวิธีคิดของคน ขณะเดียวกัน หากให้สื่อคุมกันเอง จุดยืนสื่อตอนนี้ก็ไม่ได้สะท้อนความเป็นอิสระอย่างแท้จริง จะกลายเป็นการเซ็นเซอร์ตัวเอง หรือคุมสื่อที่ไม่ได้อยู่ในอำนาจ เป็นจริยธรรมแบบเลือกข้าง

บทเรียนจากอังกฤษ

อาทิตย์ กล่าวว่า มีกรณีที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในการกำกับดูแลตัวเองในอังกฤษ หลายปีก่อน สื่อ News of the World แฮกโทรศัพท์ของเหยื่อคนหนึ่ง แล้วทำให้พ่อแม่เข้าใจว่าเหยื่อยังไม่ตาย จนทำให้สุดท้ายช่วยเหลือเหยื่อไม่ได้ การแฮกระบบเอาไปทำข่าวนั้นผิดจริยธรรม แต่คณะกรรมการรับเรื่องร้องเรียนสื่อไม่มีแอคชั่นใดๆ คนมองกันว่าล้มเหลว รัฐบาลจึงตั้งคณะกรรมการสอบสวน เพราะเป็นเรื่องใหญ่ หลายครั้งแล้วที่ไม่ว่า ดารา หรือราชวงศ์ก็โดนดักฟังโทรศัพท์เพื่อเอาไปทำข่าว

รายงานบอกว่าจำเป็นต้องมีการปฏิรูปกลไกการกำกับดูแล โดยนักการเมือง สื่อ เจ้าหน้าที่รัฐ สนิทกันเกินไปในหลายกรณี บางกรณี สื่อสนิทกับเจ้าหน้าที่รัฐ เพราะช่วยให้เข้าถึงข้อมูลบางอย่าง เอามาเป็นข่าวได้ นักการเมือง เจ้าหน้าที่รัฐมองว่าอาจทำให้ตัวเองพ้นการตรวจสอบบ้าง

รายงานนี้ไม่ได้ปฏิเสธความสนิทสนม แต่ชี้ว่าในหลายกรณี ไม่ได้เกี่ยวข้องกับประโยชน์สาธารณะเลย จึงบอกว่าควรต้องเปิดเผยข้อมูลด้วยว่า นักการเมือง สื่อ ใครติดต่อกันบ้าง ให้สาธารณะทราบ และคณะกรรมการรับเรื่องร้องเรียน ต้องทำงานอย่างเปิดเผยโปร่งใส ตรวจสอบได้

อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอหนึ่งของรายงานชิ้นนี้บอกว่า ให้เปิดให้กลไกของรัฐบางส่วนเข้ามาเกี่ยวข้อง ทำให้ถูกองค์กรสิทธิวิจารณ์ว่า เมื่อใดกลไกกำกับสื่อแทรกแซงจากรัฐได้ จะหมดความเป็นอิสระ

แต่ที่น่าสนใจคือ รายงานนี้บอกว่า องค์กรกำกับกันเอง ต้องมีความเป็นอิสระ ต้องโปร่งใส ความสัมพันธ์รัฐ นักการเมือง สื่อ ต้องเปิดเผยด้วย เป็นการเรียกร้องอย่างเดียวกันทั้งกับคนที่จะถูกตรวจสอบและกับคนที่จะไปตรวจสอบคนเหล่านั้น

นอกจากนี้ เขาเสนอด้วยว่า ปัญหาส่วนหนึ่งอาจเกิดจากการที่คนในองค์กรไม่สามารถส่งเสียงร้องเรียนให้มีการแก้ไขปัญหาในองค์กรของตัวเองได้  บางทีองค์กรวิชาชีพสื่อควรต้องมองปัญหานี้ด้วยว่าทำอย่างไรให้คนในองค์กรสื่อมีช่องทางร้องเรียนได้ด้วย เพราะก่อนหน้านี้มีการพูดถึงแต่เฉพาะกรณีคนนอกองค์กรที่ได้รับความเสียหายจากการนำเสนอข่าว

โจทย์จึงคือทำอย่างไรให้คนภายในองค์กรสื่อ ที่พบว่ากำลังจะมีสิ่งผิดจริยธรรม ร้องเรียนก่อนการตีพิมพ์ข่าวได้ ซึ่งสิ่งนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ถ้านักข่าวไม่เชื่อใจความเป็นอิสระของคณะกรรมการ

"ต่อให้อิสระจากรัฐ แต่ถ้านักข่าวไม่เชื่อใจว่าคณะกรรมการจะไม่เข้าข้างเจ้าของสื่อกันเอง นักข่าวเหล่านั้นคงไม่กล้าร้องเรียน ปัญหาก็จะอยู่ต่อไป ความเป็นอิสระของคณะกรรมการนี้ไม่ใช่จากรัฐเท่านั้น ต้องอิสระจริงๆ"

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท