ยกยุคทักษิณเทียบประยุทธ์ เมื่อผู้มีอำนาจไม่อยากถูกสื่อตรวจสอบ

อาจารย์วารสารย้ำ เรื่องสื่อละเมิดแหล่งข่าวกับสื่อตรวจสอบรัฐบาลเป็นคนละเรื่องกัน แจงกฎหมายที่ใช้กับสื่อมีเป็นกระบุงแล้ว อดีค อนุกมธ.สื่อ สปท. เผย สปท.ถอย แต่ไม่ได้ยอมแพ้ ยังยืนยันโครงสร้างเดิม เพียงแต่ต่อรองเปลี่ยนตัวองค์กรอิสระแทนปลัดกระทรวง ด้านประธานสภาการ นสพ. ชี้สื่อถูกสังคมตรวจเข้มอยู่แล้ว


 

18 ก.พ. 2560 รุจน์ โกมลบุตร อาจารย์ประจำคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวในการเสวนา "ร่าง พ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ: คุ้มครอง หรือคุกคาม เสรีภาพสื่อไทย" ซึ่งจัดโดยโครงการวารสารเสวนา คณะวารสารศาสตร์ฯ ที่มธ. ท่าพระจันทร์ ว่า ปฏิเสธไม่ได้ว่าสื่อทุกวันนี้มีปัญหาเสรีภาพ ในแง่ที่ละลาบละล้วงล่วงเกินแหล่งข่าว แต่มันเป็นเรื่องผิดฝาผิดตัว หากบอกว่าจะคุ้มครองประชาชนไม่ให้ถูกสื่อละเมิดแล้วมาปิดปากสื่อในการตรวจสอบผู้มีอำนาจรัฐ โดยยกกรณีรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ในช่วงปี 2548 ที่สื่อที่วิจารณ์เรื่องนโยบายภาคใต้หรือตรวจสอบทุจริต ถูกไล่ออก บางสื่อถูกถอดโฆษณา เทียบกับกรณีรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โต้ตอบผู้สื่อข่าวอย่างดุเดือดหลังถูกถามเรื่องการตั้งผู้บัญชาการกองทัพบกคนใหม่หรือกรณีการประมูลงานก่อสร้างซึ่งเกี่ยวข้องกับ พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา พร้อมชี้ว่ารัฐบาลโมโหเรื่องที่ถูกขุดคุ้ย จึงบอกว่าจะออกกฎหมายเพื่อป้องกันประชาชนโดนสื่อละเมิด ซึ่งเป็นคนละเรื่องกัน

"ต้องผลักเสรีภาพในการตรวจสอบให้สุดแขน ขณะเดียวกันสื่อต้องปฏิรูปตัวเองไม่ไปทำร้ายแหล่งข่าว" รุจน์กล่าว 

ส่วนกรณีที่ร่าง พ.ร.บ.นี้ กำหนดสัดส่วนของคณะกรรมการสภาวิชาชีพทั้ง 13 คน แบ่งเป็นผู้แทนสื่อ 5 คน ข้าราชการระดับปลัดกระทรวง 4 คน และตัวแทนผู้เชี่ยวชาญ 4 คน เขาชี้ว่า แม้พล.อ.ประยุทธ์จะบอกว่า จำนวนสื่อเยอะกว่า แต่เขามองว่าหลังพ.ร.บ.นี้ออก อาจมีคนไปจดทะเบียนเป็นสื่อแล้วมาแย่งที่นั่ง 5 ที่นี้ไปก็ได้ และหากมีคนอย่างที่ว่าสัก 3 คน บวกกับข้าราชการอีก 4 คนซึ่งอยู่ใต้การควบคุมของนักการเมืองผ่านรัฐมนตรีแล้วก็กลายเป็นเสียงข้างมากในที่สุด

นอกจากนี้ กรณีการให้อำนาจสภาวิชาชีพสื่อมวลชนออกและเพิกถอนใบอนุญาตผู้ประกอบวิชาชีพสื่อ ยังมีคำถามว่า ใบอนุญาตที่จะออก จะออกให้ใคร เพราะนิยามสื่อไม่ชัดเจน คนที่โพสต์ข้อความหรือไลฟ์เฟซบุ๊กจะต้องขอใบอนุญาตด้วยหรือไม่ รวมไปถึงการถอนใบอนุญาตก็ไม่มีความชัดเจนว่าถอนแล้วจะเท่ากับปิดทางอาชีพเลยหรือไม่

อย่างไรก็ตาม เขายังเห็นว่า ใบอนุญาตก็ไม่ได้การันตีคุณภาพใดๆ แม้อาจใช้ได้กับอาชีพที่เป็นขาว-ดำชัดเจน อย่างนักบิน หรือหมอ แต่อาชีพแบบนักข่าวเป็นสีเทามากๆ ถูกผิดชี้ได้ยากมากๆ ยกตัวอย่าง หากนักบินเมาตอนขับเครื่องบิน ก็มีความผิดชัดเจน แต่ถามว่าถ้านักข่าวเมาตอนทำข่าวหรือตอนรีไรท์งาน ถามว่าจะผิดไหม มันก็ไม่ชัด นอกจากนั้นแล้ว สีเทาที่ว่าก็ยังมีตั้งแต่เทาอ่อนไปถึงเทาแก่ ซึ่งแต่ละคนก็มีมุมมองไม่เหมือนกันอีก

สำหรับผลกระทบหากร่าง พ.ร.บ.นี้ผ่าน รุจน์ มองว่า หนึ่ง ข่าวจะมีแต่คลิปหมาแมว ไม่มีสาระ แตะเรื่องมีสาระปุ๊บโดนถอนใบอนุญาต งานข่าวสืบสวนสอบสวนทั้งหลายที่ทำยากอยู่แล้ว จะหายจากท้องตลาดทั้งหมด ประเด็นเรื่องครูจอมทรัพย์ที่มาไกลได้ขนาดนี้ ก็เป็นเพราะสื่อนำเสนอ หรืออย่างเรื่องรองนายกฯ เช่าเครื่องบินการบินไทยไปประชุมฮาวาย สื่อขุดไประดับหนึ่งแล้ว แต่มีงานปลายปีเสียก่อน เรื่องจึงชะงักไป หากยังมีการเล่นเรื่องนี้ต่ออาจมีการปรับ ครม.แน่ๆ

สอง จะทุจริตกันมากขึ้น เนื่องจากสื่อไม่สามารถตรวจสอบได้ เพราะอาจถูกสั่งปลดใบอนุญาต เมื่อวันพุธที่ผ่านมา สถานทูตฟินแลนด์และสวีเดนจัดเวทีเรื่องสื่อ ทั้งสองประเทศบอกว่า ถ้าสื่อมีเสรีภาพสุดๆ ทุจริตในประเทศจะลดลงอย่างชัดเจน กรณีประเทศไทย องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน ชี้ว่านับแต่ปี 2557-2559 เสรีภาพสื่อไทยถดถอยลงเรื่อยๆ สอดคล้องกับการจัดอันดับคอร์รัปชัน ที่ถดถอยลงเช่นกัน และนำไปสู่ สาม คนลงบนท้องถนน เพราะไม่เชื่อสิ่งที่สื่อรายงาน โดยยกตัวอย่างเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 ที่คนไม่เชื่อสื่อทีวีที่รายงานตัวเลขผู้ชุมนุมน้อยกว่าที่หนังสื่อพิมพ์รายงาน จนต่อมานำมาซึ่งการบาดเจ็บและเสียชีวิต

เขาย้ำว่า กฎหมายเกี่ยวกับสื่อเยอะมากแล้ว อย่าออกเพิ่มอีก มีทั้งกฎหมายอาญา เรื่องการละเมิด หมิ่นประมาท พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ร.บ.อาหารและยา พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ พ.ร.บ.กสทช. พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ลองใช้ให้หมดก่อนค่อยว่ากัน เมื่อนั้น เชื่อว่าปัญหาต่างๆ จะลดลง และสื่อจะได้เอาเวลาไปตรวจสอบรัฐบาลมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม รุจน์ เสนอถึงองค์กรวิชาชีพสื่อด้วยว่า ก่อนจะให้สังคมมีส่วนร่วมหรือเห็นว่าองค์กรเป็นทางออก จะต้องทำให้คนรู้จักก่อน งานวิจัยหลายชิ้นชี้ว่าคนจำนวนมากไม่ได้รู้จักสภาการหนังสือพิมพ์เลย

นอกจากนี้ เขายังเสนอให้มีการเพิ่มสัดส่วนของคณะกรรมการจากภาคประชาชนให้เยอะขึ้น คู่ไปกับการสร้างวัฒนธรรมการวิพากษ์วิจารณ์ โดยเล่าประสบการณ์การเป็นอนุกรรมการรับเรื่องร้องทุกข์ของสภาการนสพ. ในชุดสอบสวนข้อเท็จจริงว่า เวลาที่มีกรณีที่นักข่าวทำผิด จะเกิดบรรยากาศมาคุในวงประชุม ไม่มีผู้แทนสื่อพูดออกมาว่าผิด และตกมาที่อาจารย์นิเทศศาสตร์ ที่จะบอกว่าเรื่องนี้ผิดจรรยาบรรณอย่างไร ดังนั้น เสียงคนนอกจึงสำคัญ เพราะแมลงวันไม่ตอมแมลงวันนั้นเป็นเรื่องจริง

 

เผย สปท.ถอย แต่ไม่ได้ยอมแพ้ ยังยืนยันโครงสร้างเดิม

จักร์กฤษ เพิ่มพูล อดีตประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ เล่าถึงความเป็นมาของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ว่า ก่อนรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ สื่อสังคมออนไลน์และเคเบิลทีวี สาดเฮทสปีชใส่กัน หลังการยึดอำนาจ จึงมีการตั้งสมมติฐานว่าเพราะสื่อเป็นต้นเหตุให้สังคมไทยร้าวฉานแตกแยก การปฏิรูปสื่อจึงเป็นหนึ่งใน 11 ประเด็นปฏิรูปตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว โดยในขณะที่ยังมีสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) คณะกรรมาธิการปฏิรูปการสื่อสารมวลชนและเทคโนโลยีสารสนเทศ  ซึ่งมี จุมพล รอดคำดี เป็นประธาน ได้ตั้งอนุกรรมการมาพิจารณาเรื่องนี้ ซึ่งตนเองก็เป็นหนึ่งในนั้นด้วย โดยมีโจทย์ว่า เมื่อสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติและสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ใช้มาตรการทางสังคมกำกับดูแลกันเองแล้วไม่ได้ผล จะต้องทำให้การกำกับดูแลให้มีสภาพบังคับหรือไม่ จึงมีการหยิบเอาร่างกฎหมายที่กลุ่มสื่อร่างกันไว้ในสมัยรัฐบาลประชาธิปัตย์มาเป็นตัวตั้งต้น

อย่างไรก็ตาม เมื่อ สปช.หมดวาระลง สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ได้นำร่างนี้มาพิจารณาต่อ อนุกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปด้านสื่อสิ่งพิมพ์ คณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านสื่อสารมวลชน สปท. ซึ่งมีตนเองร่วมอยู่ด้วย มีการรับฟังความเห็นต่อร่างนี้ 3-4 ครั้งทั่วประเทศ แต่เมื่อนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านสื่อสารมวลชน กลับถูกแก้ไขเนื้อหาไปจากเดิม โดยให้อำนาจสภาวิชาชีพสื่อมวลชนในการออกและเพิกถอนใบอนุญาตสื่อมวลชน ซึ่งขัดกับหลักการพื้นฐานของรัฐธรรมนูญ ทำให้องค์กรสื่อรวมตัวกันคัดค้าน ซึ่งหลังจากการเคลื่อไหวคัดค้านและลาออกจากอนุกรรมาธิการฯ ของตัวแทนสื่อ 4 คนซึ่งรวมถึงตนเองด้วยนั้น ทำให้ที่ประชุม สปท. มีมติให้กลับไปทบทวน

สำหรับความคืบหน้าล่าสุด ทราบมาว่า ทางสปท.ยังยืนยันโครงสร้างเดิมที่มีอยู่ที่มีตัวแทนรัฐอยู่ โดยมีการต่อรองว่าจะมีตัวแทนองค์กรอิสระที่มีภาพลักษณ์ดี เช่น กรรมการสิทธิฯ ผู้ตรวจการแผ่นดิน ตัวแทนสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค เป็นต้น ไปแทนปลัดกระทรวงสี่กระทรวงได้หรือไม่ ส่วนเรื่องใบอนุญาตก็ให้เป็นแบบสมัครใจแทน แปลว่าเขาไม่ได้ยอมแพ้ เพียงแต่ทำให้แรงกดดันน้อยลง แต่เขาคงรู้สึกได้ใจตรงที่ประเมินแล้วสังคมข้างนอกยังวิจารณ์สื่ออยู่

เขามองว่า โอกาสที่ร่างกฎหมายนี้จะถูกดันจนผ่านเป็นไปได้มาก ทั้งนี้ หากกฎหมายยังออกมาหน้าตาแบบเดิม ถึงเวลานั้น คงต้องยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความว่ากฎหมายขัดหรือแย้งรัฐธรรมนูญในประเด็นเสรีภาพสื่อหรือไม่ ขณะเดียวกัน ในทางปฏิบัติ การจะไล่จับทุกคนในเฟซบุ๊กมาจดใบอนุญาตคงเป็นไปไม่ได้ อาจใช้เวลาเป็นสิบปี กว่าจะจดหมด

อย่างไรก็ตาม เขาเห็นว่า แม้ว่าท้ายที่สุดจะเกิดความยุ่งยากในการบังคับใช้กฎหมาย แต่จะเกิดการเซ็นเซอร์ตัวเอง เหมือนที่เคยเกิดขึ้น เพราะสื่อก็ต้องการความอยู่รอด โดยยกเหตุการณ์หลังรัฐประหาร 2519 ที่มีคำสั่งคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 42 ซึ่งให้อำนาจเจ้าพนักงานการพิมพ์ปิดหนังสือพิมพ์ได้เลย ส่งผลให้ผู้มีอำนาจตามคำสั่งนี้ เรียกโรงพิมพ์มาเซ็นเซอร์คอลัมนิสต์ได้ เนื้อหาของหนังสือพิมพ์เวลานั้นเต็มไปด้วยข่าวดาราและใบ้หวย ส่วนการวิจารณ์รัฐบาลน้อยหรือแทบไม่มีเลย

ชี้สื่อถูกสังคมตรวจสอบเข้มข้นอยู่แล้ว

ชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ เล่าถึงร่างกฎหมายที่กลุ่มสื่อเคยทำไว้ชื่อร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิเสรีภาพและส่งเสริมมาตรฐานผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนว่า ขณะนั้น กฤษฎีกาพิจารณาเสร็จแล้ว แต่ยังไม่ได้ส่งให้ ครม.อภิสิทธิ์ ก็เกิดการยุบสภาเสียก่อน

สำหรับร่างฉบับสื่อ ระบุว่า กรณีที่คนร้องเรียนว่าถูกสื่อคุกคาม กรรมการจะส่งเรื่องให้สภาวิชาชีพที่สื่อนั้นสังกัดดำเนินการก่อน ต่อมาหากผู้ร้องไม่พอใจ อุทธรณ์ต่อไปที่คณะกรรมการ ถ้าไทยรัฐละเมิดจริง ก็จะประกาศสู่สาธารณะ เรียกว่าปรับไม่ได้ แต่ประจานได้ แต่หากองค์กรที่ถูกร้อง ไม่ได้สังกัดสภาวิชาชีพไหนเลย คณะกรรมการก็จะลงไปสอบจริยธรรมได้โดยตรง หากพบว่าละเมิดก็ประจานเลย ทั้งนี้ เมื่อประกาศแล้ว จะนำไปฟ้องทางแพ่ง อาญา หรือปกครองไม่ได้

ชวรงค์ กล่าวว่า ปัจจบุัน การทำหน้าที่สื่อถูกตรวจสอบโดยสังคมเข้มข้นกว่าเมื่อก่อนเยอะ เพียงเขียนชื่อหรือตำแหน่งของรัฐมนตรีผิด และแก้ไขภายในห้านาที ก็ถูกคนแคปไปประจานแล้วว่าเว็บข่าวห่วยแตก อีกด้านหนึ่ง สื่อมวลชนเป็นคนที่ทำหน้าที่ตรวจสอบข้อมูลที่เกิดจากเสรีภาพบนโซเชียลมีเดีย ที่มีการกล่าวหาปล่อยข่าวลือ ข่าวหลอกข่าวปลอม ว่าอะไรจริงไม่จริง

เขาชี้ว่า ขณะที่วันนี้สื่อมวลชนทำหน้าที่ช่วยตรวจสอบสิ่งเหล่านี้ คนก็เสพสื่อผ่านโซเชียลมีเดีย ดรามา ไม่เป็นสาระ ข่าวที่ทำไปก็ไม่มีคนดู ทุกวันนี้มันลำบากอยู่แล้วในการทำข่าวสืบสวนตรวจสอบรัฐบาล แล้วยังจะมีกฎหมายมามัดมือมัดเท้าคนตรวจสอบอีก และคนที่จะได้รับผลกระทบก็คือสังคมเอง ที่จะเสียสิทธิในการได้รับข้อมูลข่าวสาร

เขายืนยันว่า ส่วนตัวไม่อยากได้กฎหมายแบบนี้ แต่ถ้าเพื่อความสบายใจของสังคม อย่างน้อยขอให้เอาร่างที่กลุ่มสื่อเคยร่างไว้น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด พร้อมแจ้งว่า วันจันทรนี้ จะมีการประชุมมาตรการข้างหน้าต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท