นักเศรษฐศาสตร์ห่วงภาคส่งออก 'อิเล็กทรอนิกส์-พลาสติก' ของไทย

คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม.รังสิต ประเมินตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาสสี่ปี 2559 คาดการณ์เศรษฐกิจไตรมาสแรกปี 2560 ชี้ความเสี่ยงของวิกฤติรอบใหม่ อียูเตือนรับมือผลกระทบการกีดกันสินค้าจีนของสหรัฐฯ ต่อภาคส่งออกไทยโดยสินค้าอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์คอมพิวเตอร์และผลิตภัณฑ์พลาสติกเสี่ยงมากสุด 
 
19 ก.พ. 2560 ผศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ และ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิตเปิดเผยว่า ได้ประเมินตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาสสี่ ปี พ.ศ. 2559 (ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติจะเผยแพร่ตัวเลขในวันที่ 20ก.พ. 2560)โดยมองว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศหรือจีดีพีไตรมาสสี่ปี 2559 ขยายตัวได้ที่ระดับ 2.7-2.8% เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันเมื่อปีที่แล้ว โดยทางคณะเศรษฐศาสตร์ ม. รังสิตยังคงประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจทั้งปี 2559 ไว้ที่ระดับ 3.2% เช่นเดิมและ คาดการณ์เศรษฐกิจไตรมาสแรกปี พ.ศ. 2560 ว่าจะเติบโตได้ที่ระดับ 3.4-3.5% แม้นจะได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมภาคใต้ต่อเนื่องมาจากปลายปีที่แล้วก็ตาม เนื่องจาก ภาคการบริโภคกระเตื้องขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับไตมาสสี่ ภาคการลงทุนฟื้นตัวชัดเจนขึ้นโดยเฉพาะการเดินหน้าโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ส่วนภาคส่งออกไม่ได้ปรับตัวดีขึ้นมากนัก สินค้าอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ส่งออกของไทยเป็นการส่งสินค้าขั้นกลางไปจีนในสัดส่วนสูงและจะได้รับผลกระทบการกีดกันสินค้าของสหรัฐฯเนื่องจากอยู่ในห่วงโซ่การผลิตเชื่อมโยงกัน ผลิตภัณฑ์พลาสติก เม็ดพลาสติกผลิตของเล่น จะกระทบอย่างหนักเนื่องจากไทยส่งสินค้าขั้นกลางไปจีนในสัดส่วนสูงสุดและจะได้รับผลกระทบการกีดกันสินค้าเนื่องจากอยู่ในห่วงโซ่การผลิตเชื่อมโยงกัน 25% ของการส่งออกเม็ดพลาสติกของไทยไปที่จีน ไทยจึงควรหาตลาดใหม่มาทดแทนจีน หรือ เชิญชวนให้ผู้ผลิตสินค้าขั้นปลายย้ายฐานการผลิตมาที่ไทยหรืออาเซียนสินค้าส่วนใหญ่ที่กระทบเป็นสินค้าที่ผลิตโดยบริษัทขนาดใหญ่และเครือข่ายการผลิตบรรษัทข้ามชาติมีผลกระทบต่อ SMEs ไม่มาก
 
ภาคท่องเที่ยวยังคงขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง การจะทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้อย่างเต็มศักยภาพในระยะสั้น ต้องทำให้ ภาคบริโภคฟื้นตัวเต็มที่เนื่องจากภาคบริโภคของเอกชนคิดเป็น 51% ของการใช้จ่ายในระบบเศรษฐกิจ ภาคการลงทุนเอกชนคิดเป็น 19% ของการใช้จ่ายในระบบเศรษฐกิจ ส่วนการลงทุนภาครัฐคิดเป็น 6% ของการใช้จ่ายระบบเศรษฐกิจเท่านั้นเอง แม้นรัฐบาลจะเร่งรัดการใช้จ่ายอย่างไรก็จะกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นได้ระดับหนึ่งเท่านั้น หากไม่บริหารจัดการเงินคงคลังเงินไหลเข้า (ภาษีและรายได้อื่น ๆ) และ เงินไหลออก (เงินใช้จ่ายออกเพื่อลงทุนหรือบริโภคของภาครัฐ) ก็อาจมีปัญหาสภาพคล่องได้ แต่จะไม่ถังแตกเพราะฐานะทางการคลังโดยรวมยังคงมั่นคงดี ในระยะยาวแล้ว หากต้องการเพิ่มศักยภาพการเติบโตต้องมุ่งไปที่การสร้าผลิตภาพด้วยนวัตกรรม การยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันและการบูรณาการความร่วมมือทางเศรษฐกิจ 
 
ส่วน กฎหมายใหม่ เช่น พ.ร.บ. ส่งเสริมการลงทุนฉบับใหม่ และ พ.ร.บ. ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันจะเป็นเครื่องมือในการทำให้ความสามารถในการแข่งขันของไทยดีขึ้นในระยะปานกลางและระยะยาว รวมทั้งจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้ภาคส่งออกที่หดตัวต่อเนื่องมาหลายปีได้เปลี่ยนทิศทางดีขึ้นในระยะต่อไปขณะที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกจะเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตเศรษฐกิจการลงทุนอย่างมีเสถียรภาพในระยะยาว 
 
ดร. อนุสรณ์ กล่าวอีกว่าการปรับเพิ่มขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอเมริการะยะ 10 ปีจะส่งผลให้ต้นทุนการกู้ยืมผ่านตลาดตราสารหนี้ไทยมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นตาม นักลงทุนและนักธุรกิจทั่วโลกต้องรับมือกับต้นทุนการกู้ยืมระยะยาวที่สูงขึ้นและมีความเป็นไปได้สูงขึ้นที่ธนาคารกลางสหรัฐจะปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้เดิม คือ ปรับเพิ่มในเดือนมีนาคมแทนที่จะเป็นเดือนมิถุนายน ตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชียอาจมีการปรับฐานลงได้จากเคลื่อนย้ายเงินทุนระยะสั้นกลับสหรัฐอเมริกาและพักเงินไว้ในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำกว่า (เช่น ตราสารหนี้ ดอลลาร์สหรัฐฯ และ ทองคำ) เงินดอลลาร์จะกลับมาแข็งค่าอีกรอบหนึ่งและเงินบาทอ่อนค่าลง หากไม่มีแรงกดดันด้านเงินไหลออกและเงินเฟ้อมากเกินไป คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทยน่าจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 1.5% ตลอดทั้งปีได้ทิศทางราคาน้ำมันในไตรมาสแรกน่าจะอยู่ที่ 53-54 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล โดยราคาน้ำมันอาจปรับขึ้นไปแตะรับสูงสุดในช่วงกลางปีที่ระดับ 62-63 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จากOPEC บรรลุข้อตกลงลดกำลังการผลิต 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวันเป็นเวลา 6 เดือน และ กลุ่ม Non-OPEC ก็จะลดกำลังการผลิตด้วย โดยปีนี้ สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานของสหรัฐฯ EIA คาดว่า อุปสงค์น้ำมันโลกจะเติบโตเพิ่มขึ้น 1.6% โดยภูมิภาคเอเชียขยายตัวสูงสุดที่ 3.6% แต่ราคาน้ำมันเฉลี่ยทั้งปีจะไม่ขึ้นไปสูงมากและช่วงครึ่งปีหลังราคามีแนวโน้มอ่อนตัวลงจากปัจจัยทางด้านอุปทาน มีอุปทานน้ำมันล้นตลาดอยู่ 4.2 แสนบาร์เรลต่อวัน (อุปสงค์อยู่ที่ 9.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน อุปทานอยู่ที่ 9.74 ล้านบาร์เรลต่อวัน) และรัฐบาลสหรัฐฯภายใต้ Donald Trump ยังมีนโยบายสนับสนุนการผลิตในธุรกิจอุตสาหกรรมน้ำมันฟอสซิลมากเป็นพิเศษ 
 
ดร. อนุสรณ์ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม. รังสิต วิเคราะห์ผลกระทบกรณี Brexit ในช่วงครึ่งปีแรกปี 2017 ว่า ผลต่อตลาดการเงินมีจำกัดและไม่น่าส่งผลอะไรมากมายเพราะเป็นสิ่งที่คนส่วนใหญ่คาดการณ์ไว้อยู่แล้ว แต่ขอให้จับตาผลกระทบต่อภาคการค้าและภาคเศรษฐกิจจริงและดุลยภาพความสันพันธ์ทางเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศที่เปลี่ยนไปโดย สหราชอาณาจักรจะมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการลงทุนที่ใกล้ชิดมากขึ้นกับสหรัฐอเมริกา ขณะที่ ธุรกิจอุตสาหกรรมบางส่วนโดยเฉพาะภาคการเงินจะย้ายฐานไปยังอียูมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ภาคการเงินที่เปราะบางของอิตาลีและปัญหาวิกฤติหนี้สินของกรีซอาจนำไปสู่ชนวนของวิกฤติรอบใหม่ในอียูได้ โดยแผนการเพิ่มทุนของธนาคาร Monte Dei Paschiของอิตาลีอาจประสบปัญหาสร้างแรงกดดันให้อิตาลีอาจต้องเข้าสู่โครงการช่วยเหลือ (bail-out) ของ EU และ IMFผลการเลือกตั้งที่ทะยอยเกิดขึ้นในช่วงต่อไป ทั้งในฝรั่งเศส เยอรมัน อิตาลีและเนเธอร์แลนด์ จะเป็นตัวกำหนดว่า EU และ ระบบค่าเงินยูโรจะล่มสลายหรือดำเนินการต่อไปได้อย่างไร
 
ดร. อนุสรณ์ กล่าวอีกว่า ค่อนข้างชัดเจนว่า ทีมเศรษฐกิจทางด้านการค้าของประธานาธิบดี Donald Trump ไม่ว่าจะเป็น Wibur Ross รัฐมนตรีพาณิชย์Dan DiMiccoผู้แทนการค้าสหรัฐฯ PeterNavarro ผู้อำนวยการ National Trade Committee และที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจ Gary Cohn ผู้อำนวยการ National Economic Councilล้วนเป็นพวกที่ไม่เชื่อมั่นในข้อตกลงทางการค้าเสรีที่สหรัฐอเมริกาทำอยู่กับหลายประเทศ โดยมองว่า ข้อตกลงการค้า FTA ทำให้กระทบต่ออุตสาหกรรมการผลิตภายในประเทศ การจ้างงานและทำให้สหรัฐฯขาดดุลการค้าอย่างหนัก มีแนวโน้มที่จะทบทวน FTA ต่างๆที่สหรัฐฯทำกับประเทศต่างๆ แต่ไม่น่าจะเป็นการใช้มาตรการตั้งกำแพงภาษีโดยทั่วไปแบบสุดโต่งตามนโยบายหาเสียง จะมีลักษณะเป็นมาตรการตอบโต้การค้ารายประเทศรายสินค้ามากกว่า เช่น มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-Dumping) มาตรการลงโทษรายสินค้า เป็นต้น โดยประเทศเป้าหมายที่ถูกกีดกันอันดับต้น คือ จีนและเม็กซิโก เตือนรับมือผลกระทบการกีดกันสินค้าของสหรัฐฯต่อสินค้าจีนที่ส่งผลต่อภาคส่งออกไทย โดยเฉพาะสินค้าส่งออกประเภทอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์และผลิตภัณฑ์พลาสติกจะได้รับผลกระทบมากเป็นพิเศษเนื่องจากสินค้าส่งออกไทยเป็นห่วงโซ่อุปทานการผลิตที่เชื่อมโยงกับจีนสัดส่วนส่งออกสินค้าขั้นกลางประเภทดังกล่าวของไทยเข้าจีนเพื่อผลิตสินค้าขั้นปลายสูงมาก รัฐบาลควรให้น้ำหนักการเพิ่มความร่วมมือกับจีนและมีโอกาสที่กลุ่มทุนจีนอาจย้ายฐานการผลิตขั้นปลายมาไทยมากขึ้นเพื่อหลบเลี่ยงการกีดกันการค้าจากสหรัฐอเมริกา 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท