คสช.สร้างความปรองดองเพื่อตัวเอง

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ทำไมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ต้องการสร้างความปรองดอง เป็นคำถามที่น่าสนใจไม่ใช่น้อย เนื่องจากตั้งแต่การยึดอำนาจในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 คสช.มีโอกาสและมีเวลาที่จะสร้างความปรองดองแต่ก็ไม่ได้ลงมือทำ โดยเพิ่งจะมาทำตอนต้นปี 2560 ในช่วงเวลาท้ายๆ ของการอยู่ในอำนาจ

เมื่อวันที่ 17 มกราคม ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ออกคำสั่งที่ 3/2560 ตามอำนาจของมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญชั่วคราว ตั้งคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความสามัคคีปรองดอง หรือ ป.ย.ป.

ป.ย.ป. มีขึ้นเพื่อกำหนดกลไกให้รัฐบาลสามารถบูรณาการการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และ การสร้างความสามัคคีปรองดอง เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ และ แผนต่างๆ ของ คสช.และคณะรัฐมนตรี

เมื่อพิจารณาถึงโครงสร้างของ ป.ย.ป. จะพบว่า นอกจากคณะกรรมการชุดใหญ่ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานแล้ว ป.ย.ป. ยังประกอบด้วย คณะกรรมการ 4 คณะ โดยมีคณะกรรมการสร้างความปรองดองเป็นคณะสุดท้าย จึงเท่ากับว่า การสร้างความปรองดองเป็น 1 ใน 4 เรื่องที่ คสช. ต้องการดำเนินการ

คสช.ไม่ได้จุดประเด็นการสร้างความปรองดองขึ้นมาอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ย แต่ที่การสร้างความปรองดองอาจได้รับความสนใจมากกว่าเนื่องมาจากเหตุผล 2 ประการ

ประการแรก คณะกรรมการ 3 คณะแรก ใน ป.ย.ป. อันประกอบด้วย คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินเชิงยุทธศาสตร์ คณะกรรมการเตรียมการปฏิรูปประเทศ และคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ไม่น่าจะสร้างผลงานอะไรที่เป็นรูปธรรมขึ้นมาได้ เพราะที่ผ่านมา คสช. ได้ตั้งสภาปฏิรูปแห่งชาติ และ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ขึ้นมาทำหน้าที่แล้ว แต่ก็ยังไม่มีผลงานเชิงประจักษ์ 

ประการต่อมา คือ การสร้างความปรองดองเป็นเครื่องบ่งชี้อนาคตทางการเมืองหลังจาก คสช.ลงจากอำนาจว่าจะราบรื่นหรือมีอุปสรรค อีกทั้งการสร้างความปรองดองสามารถเชื่อมโยงไปถึงการนิรโทษกรรมจึงมีผู้มีส่วนได้เสียในวงกว้าง

ประเด็นเรื่องการสร้างความปรองดองจึงถูกเพ่งเล็งเป็นพิเศษ แต่ก็มีความน่าสงสัยว่า คสช.ต้องการสร้างความปรองดองจริงหรือไม่ เนื่องจาก คสช.ได้ให้กองทัพเป็นคนกลางในการสร้างความปรองดอง และ กันกองทัพออกจากการร่วมพูดคุยกับคู่ขัดแย้ง ทั้งที่ที่ผ่านมากองทัพมีบทบาททางการเมืองอย่างสูง

จุดนี้ทำให้ญาติผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ทางการเมืองเมื่อปี 2553 นำโดยนางพะเยาว์ อัคฮาด และ นายพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา แสดงความไม่เห็นด้วยต่อการที่องค์กรและบุคคลที่ยึดอำนาจไปจากประชาชนและสลายการชุมนุมจนเกิดความสูญเสียจะเป็นผู้ใช้อำนาจแต่งตั้งและได้รับการแต่งตั้งเข้ามาทำหน้าที่สร้างความปรองดองเพราะจะทำให้สังคมเกิดข้อกังขาและไม่อาจสร้างความสามัคคีให้เกิดขึ้น

ในมุมมองของ คสช.การสร้างความปรองดองภายใต้ ป.ย.ป.จึงน่าจะมีธงคำตอบอยู่แล้วว่า ผู้ที่ทำให้เกิดความขัดแย้งในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมาคือนักการเมืองและนักเคลื่อนไหว ฉะนั้นหากให้คนกลุ่มนี้มาทำข้อตกลงกันว่า จะอยู่อย่างสงบหลังโดยยอมรับกติการัฐราชการเป็นใหญ่ของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ความปรองดองก็จะเกิดขึ้น

ส่วนข้อแลกเปลี่ยนที่ คสช.จะให้แก่นักการเมืองและนักเคลื่อนไหว น่าจะเป็นการนิรโทษกรรมที่อาจจะถึงขั้นเหมาเข่งรอบสอง ซึ่งก็มีความเป็นไปได้ว่านักการเมืองและนักเคลื่อนบางส่วนอาจจะยอมรับเงื่อนไขนี้ เนื่องจากเหนื่อยล้ากับกระบวนการยุติธรรมหลายมาตรฐาน

สาเหตุที่ คสช.ต้องการให้นักการเมืองและนักเคลื่อนไหวยอมรับข้อตกลงปรองดองเพราะเหลือเวลาอีกไม่นานก็จะต้องมีการเลือกตั้ง ถ้าผู้ที่ถูกเชิญเข้ามาพูดคุยสร้างความปรองดองเห็นพ้องก็มีการเลือกตั้ง แต่ถ้าเห็นเป็นอื่นก็อาจต้องชะลอการเลือกตั้งออกไปก่อน

สิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังการเลือกตั้งคือจะมีพรรคการเมืองที่ได้เสียงข้างมากและพรรคการเมืองที่ได้เสียงข้างน้อย ซึ่งถ้านำคะแนนนิยมเดิมเป็นตัวตั้งเชื่อว่าพรรคเพื่อไทยคงชนะเลือกตั้ง แต่โอกาสที่พรรคเพื่อไทยจะจัดตั้งรัฐบาลมีน้อยมาก เนื่องจากกลไกของรัฐธรรมนูญ สร้างเงื่อนไขไว้ 3 ข้อ ได้แก่ 1.ในช่วง 5 ปีแรกให้ ส.ส. 500 คน และ ส.ว. 250 คน ร่วมกันเลือกบุคคลมาเป็นนายกรัฐมนตรี 2.ส.ว.ชุดแรกมาจากการแต่งตั้งของ คสช. และ 3.บุคคลภายนอกเป็นนายกรัฐมนตรีได้

เท่ากับว่า คสช.มีคะแนนเสียง ส.ว.อยู่ในมือแล้ว 250 คน คสช.ต้องการคะแนนเสียง ส.ส.อีก 126 คนก็จะเพียงพอให้คนที่ คสช.สนับสนุนเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งคงหนีไม่พ้นบุคคลภายนอกที่โพลสำนักต่างๆ อ้างว่าประชาชนชื่นชอบ นั่นคือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะ คสช.เอง

ดังนั้น หากพรรคเพื่อไทยจะตั้งรัฐบาลได้จะต้องชนะเลือกตั้งถล่มทลายได้ ส.ส.เกิน 375 คน หรือ สร้างปรากฏการณ์เช่นเดียวกับที่พรรคไทยรักไทยทำได้ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2548 คือ มีส.ส. 377 คน ซึ่งเป็นสิ่งที่ยากจะพบเห็นได้ในสถานการณ์นี้

จึงเท่ากับว่าหลังการเลือกตั้ง พล.อ.ประยุทธ์คงได้เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อรัฐบาล คสช.จะสืบทอดอำนาจจึงมีการคาดการณ์ว่าสิ่งใดจะเป็นอุปสรรคของการดำรงอยู่ ซึ่งสิ่งนั้นคือการเคลื่อนไหวของพรรคการเมืองฝ่ายตรงกันข้าม นี่จึงเป็นคำตอบว่าทำไม คสช.ต้องการสร้างความปรองดองในช่วงนี้ และ ทำไมต้องให้นักการเมืองและนักเคลื่อนไหวที่ไม่เหลืออำนาจต่อรองแล้วมาสร้างความปรองดองด้วย

ในทางตรงกันข้ามหาก คสช.ไม่สร้างความปรองดองเอาไว้ล่วงหน้าก็จะเกิดความเสี่ยงอย่างมาก เพราะทันทีที่รัฐบาล คสช.ที่มาจากการเลือกตั้งถูกจัดตั้งขึ้นก็น่าจะเกิดการต่อต้านจากฝ่ายตรงกันข้าม แม้ คสช.จะมีกองทัพหนุนหลัง แต่ก็ไม่มีผู้ใดรับรองได้ว่าผู้นำกองทัพจะสยบสมยอมต่อ พล.อ.ประยุทธ์เหมือนเช่นปัจจุบัน

ซึ่งไม่แน่ว่าอาจจะเกิดเหตุการณ์ดาบนั้นคืนสนองเหมือนที่กองทัพเคยใส่เกียร์ว่างต่อรัฐบาลยิ่งลักษณ์ขณะกำลังรับมือม็อบกปปส.ต่อการบุกยึดสถานที่ราชการ ชัตดาวน์กรุงเทพฯ และ ขัดขวางการเลือกตั้ง ถ้าถึงที่สุดแล้ว คสช.พยายามจะยึดอำนาจตัวเอง เช่นเดียวกับรัฐบาลถนอมเมื่อปี 2514 ก็อาจจะถูกกองทัพรัฐประหารตัดหน้าก็เป็นได้

คสช.จึงคิดว่าถ้าหวังเป็นรัฐบาลหลังการเลือกตั้งแล้วก็ต้องควบคุมปัจจัยเสี่ยงให้ได้ การสร้างความปรองดองจึงเป็นการตัดไฟเสียแต่ต้นลม

การเมืองจึงเดินมาถึงจุดที่เรียกว่า ใครจะมาเป็นเสียงข้างมากไม่สำคัญเนื่องจากรู้อยู่แล้วว่าใครจะได้จัดตั้งรัฐบาล ความสำคัญจึงอยู่ที่ว่าเสียงข้างมากจะควบคุมเสียงข้างน้อยได้อย่างไรเพื่อไม่ให้เกิดอุบัติเหตุทางการเมืองขึ้นอีกครั้ง

การสร้างความปรองดองครั้งนี้จึงทำเพื่อตัว คสช.เอง แต่หลังเลือกตั้ง คสช.ก็ยังหนีไม่พ้นปัจจัยเสี่ยงอยู่ดีเนื่องจากสิ่งที่ คสช.ควบคุมไม่ได้คือหัวใจของประชาชน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท