Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 


คำว่า “พุทธศาสนาแบบชนชั้นกลาง” ในที่นี้ ผมหมายถึงพุทธศาสนาที่ชนชั้นกลางนิยมนับถือ และเป็นการนับถือที่ไม่ใช่แบบ “นับถือศาสนาตามสำเนาทะเบียนบ้าน” หรือตามประเพณีแบบชาวบ้านทั่วไปเท่านั้น แต่เป็นการนับถือที่เกิดจากการศึกษา จนเกิดความซาบซึ้ง เลื่อมใส นำมาปฏิบัติในชีวิตประจำวัน ที่สำคัญคือนำมากล่าวอ้าง และแสดงออกถึงความเข้าใจ ความเชื่อของตนว่า หลักคำสอน แนวปฏิบัติที่ถือว่าถูกต้องคืออย่างนั้น อย่างนี้

ลักษณะเด่นของพุทธศาสนาแบบชนชั้นกลางคือ เป็นพุทธศาสนาที่มีมิติทางปัญญา ได้แก่ มิติที่อธิบายความหมายของโลกและชีวิต หรืออธิบายว่าชีวิตที่ดี ชีวิตที่มีคุณค่าคืออะไร มีแนวทางอย่างไรเพื่อบรรลุถึงการมีชีวิตที่ดีหรือชีวิตที่มีคุณค่านั้น ขณะเดียวกันก็มีความพยายามนำมิติด้านปัญญานั้นมาตอบปัญหาการดำเนินชีวิตและสังคมปัจจุบัน

พุทธศาสนาแบบชนชั้นกลาง จึงเป็นพุทธศาสนาที่มีลักษณะกระตือรือร้นในการเสนอคำตอบ หรือ “ทางเลือก”สำหรับชีวิตและสังคมอยู่ตลอดเวลา หรือเป็นพุทธศาสนาแบบที่ถูกนำมาอ้างทั้งเป็นคำตอบสำหรับปัจเจกบุคคล เป็นคำตอบในทางสังคม การเมือง เศรษฐกิจ การศึกษา และอื่นๆ ดังที่เราเห็นกันอยู่เสมอ

พุทธศาสนาแบบชนชั้นกลางที่กระตือรือร้นในการเสนอคำตอบในเรื่องต่างๆ ดังกล่าว อาจแบ่งได้หยาบๆ (แปลว่า “ไม่ละเอียด”) คือ แบ่งตามอิทธิพลทางความคิดและอิทธิพลทางจิตวิญญาณ

พุทธศาสนาแบบที่มีอิทธิพลทางความคิดคือ พุทธศาสนาที่เน้นปัญญา เหตุผลซึ่งถูกอ้างอิงมากในแง่ว่าเสนอคำสอนที่เป็น “แก่นแท้” ของพุทธศาสนา ได้แก่ พุทธศาสนาตามแนวคำสอนของปราชญ์พุทธในยุคปัจจุบันคือ ท่านพุทธทาสภิกขุ และท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ส่วนพุทธที่มีอิทธิพลทางจิตวิญญาณ คือพุทธที่มีผู้นำทางจิตวิญญาณที่ประกาศสถานะพิเศษเหนือคนธรรมดาสามัญ คือสถานะของ “ผู้บรรลุธรรม” ได้ แก่พุทธแบบสันติอโศกที่นับถือสมณะโพธิรักษ์เป็นผู้นำทางจิตวิญญาณ และธรรมกายที่นับถือพระธัมมชโยเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณ

ความซับซ้อนของพุทธศาสนาแบบชนชั้นกลางดังกล่าว คือเป็นพุทธศาสนาที่มีทั้งด้านที่เป็นปฏิกิริยาต่อพุทธศาสนาแห่งรัฐ และด้านที่สอดคล้อง หรือสนับสนุนพุทธศาสนาแห่งรัฐ ขณะเดียวกันก็มีด้านที่สอดคล้องและขัดแย้งกันเอง ที่ตลกร้ายคือมีการยอมรับ เรียกร้องการใช้อำนาจพุทธศาสนาแห่งรัฐและอำนาจรัฐจัดการกันและกันอย่างขัดกับหลักเสรีภาพทางศาสนาอีกด้วย

เราจะเห็นปัญหาของพุทธศาสนาแบบชนชั้นกลางชัดขึ้น เมื่อเราเข้าใจว่า “พุทธศาสนาแห่งรัฐ” คืออะไร เพราะปัญหาของพุทธศาสนาแบบชนชั้นกลางเป็นปัญหาภายใต้โครงสร้างอำนาจของพุทธศาสนาแห่งรัฐ และอำนาจรัฐที่ไม่เป็นประชาธิปไตย

พุทธศาสนาแห่งรัฐ คือพุทธศาสนาที่มีลักษณะพื้นฐาน 3 ประการ คือ (1) อ้างอิงคำสอนและวัตรปฏิบัติของพระภิกษุตามพระไตรปิฎกเถรวาท (2) มีองค์กรปกครองสงฆ์รวมศูนย์อำนาจที่ส่วนกลาง คือมหาเถรสมาคมที่มีอำนาจทางกฎหมายควบคุมให้เป็นไปตามข้อ (1) และ (3) มีบทบาทเป็นกลไกสนับสนุนอำนาจและอุดมการณ์รัฐ ลักษณะเช่นนี้ทำให้รัฐไทยไม่ใช่รัฐโลกวิสัย หรือ secular state ที่รัฐต้องเป็นกลางทางคุณค่า-ศาสนา ไม่ให้ความอุปถัมภ์ศาสนาใดๆ แต่ให้ลักประกันเสรีภาพและความเสมอภาคในการนับถือและไม่นับถือศาสนาแก่ปัจเจกบุคคล ซึ่งแปลว่ารัฐไทยไม่ได้เป็นกลางทางศาสนา และไม่สามารถให้หลักประกันเสรีภาพและความเสมอภาคทางศาสนาได้จริง

ภายใต้สภาวะเช่นนี้ ปฏิกิริยาของพุทธศาสนาที่เน้นปัญญาและเหตุผลสายพุทธทาสต่อพุทธศาสนาแห่งรัฐ กลับไม่ใช่ประเด็น “เสรีภาพทางศาสนา” แต่เป็นประเด็นประสิทธิภาพ คือการวิพากษ์ว่าพุทธศาสนาแห่งรัฐไม่สามารถผลิตคำสอนที่เป็นแก่นแท้ ทันสมัย และสื่อสารกับคนสมัยใหม่ได้ทันกับสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป การปลีกตัวออกกมาก่อตั้งสวนโมกข์ของพุทธทาส ก็คือการสร้างที่ทางของตนเองที่มีอิสระในการศึกษาตีความคำสอนให้ทันสมัย และสื่อสารกับคนรุ่นใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าพุทธกระแสหลัก

ข้อเด่นของพุทธศาสนาแบบพุทธทาสคือ การเสนอคำสอนตอบสนองมิติทางจิตวิญาณของปัจเจกบุคคล เช่น เสนอว่าทุกคนไม่ว่าพระหรือฆราวาสสามารถบรรลุธรรมได้ โดยไม่ต้องบวช และไม่จำเป็นต้องผ่านการอ่านพระไตรปิฎก ซึ่งมิติพุทธเชิงปัจเจกเช่นนี้ย่อมไปได้ดีกับการส่งเสริมเสรีภาพทางศาสนาตามแนวทาง “แยกศาสนาจากรัฐ” หรือ secularization แต่พุทธทาสกลับเสนอแนวคิดทางการเมืองที่เรียกว่า “เผด็จการโดยธรรม” ที่ถือว่าธรรมหรือความจริง ความดีสูงสุดทางศาสนาควรเป็นหลักการปกครอง หรือเป็นอุดมคติในการปกครองที่สำคัญเหนือหลักการประชาธิปไตยและสังคมนิยมในตัวมันเอง ซึ่งเป็นข้อเสนอที่ขัดแย้งกับแนวทาง secularization โดยนัยสำคัญ และแนวคิดเผด็จการโดยธรรม หรือเผด็จการโดยคนดี รวมทั้งข้อวิจารณ์เสรีประชาธิปไตยของพุทธทาส ก็ถูกนำมาอ้างอิงมากในฝ่ายที่เคลื่อนไหวทางการเมืองภายใต้อุดมการณ์ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ จนนำมาสู่รัฐประหาร 2 ครั้งที่ผ่านมา

ส่วนข้อเด่นของพุทธศาสนาแนวท่าน ป.อ. ปยุตฺโต คือการสร้างองค์ความรู้และการประยุกต์แนวคิดพุทธศาสนาในทางสังคม การเมือง เศรษฐกิจ การศึกษา ฯลฯ ขณะเดียวกันก็วิพากษ์โครงสร้างอำนาจคณะสงฆ์ อำนาจรัฐที่มีต่อพุทธศาสนา และบทบาทผู้นำทางศาสนาที่สอนผิดหลักธรรมวินัยในพระไตรปิฎก แต่ปัญหาคือเป็นการเสนอคำสอนและวิพากษ์บนพื้นฐานของการปฏิเสธแนวทาง secularization และยืนยันประวัติศาสตร์และแนวคิดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับพุทธศาสนายุคแบบเก่า เพื่อให้ความชอบธรรมกับความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับพุทธศาสนาในยุคสมัยใหม่ ที่รัฐกับพุทธศาสนาไม่ควรแยกเป็นอิสระจากกัน แต่ควรมีความสัมพันธ์ในเชิงสนับสนุนกันและกัน

เมื่อเป็นเช่นนี้ พุทธศาสนาแบบชนชั้นกลางตามแนวทางของท่าน ป.อ.จึงให้ความสำคัญสูงสุดกับการรักษาคำสอนที่ถูกต้องตามพระไตรปิฎก มากกว่าเสรีภาพทางศาสนา ดังเห็นได้จากการวิพากษ์คำสอนและแนวปฏิบัติของสันติอโศกและธรรมกายว่าผิดเพี้ยน บนจุดยืนที่ยอมรับ(หรือ “ไม่ปฏิเสธ”) การใช้อำนาจคณะสงฆ์และอำนาจรัฐเข้ามาจัดการ

พุทธศาสนาแบบสมณะโพธิรักษ์หรือสันติอโศก ในด้านหนึ่งได้อิทธิทางความคิดจากพุทธทาส แต่ก็สร้างแนวทางของตัวเองที่เน้นความสมถะเรียบง่าย มังสวิรัติ ต้านทุนนิยม และกล้าท้าทายและแตกหักอำนาจมหาเถรสมาคม แต่ในที่สุดก็ต่อสู้ทางการเมืองนบอุดมการณ์ราชาชาตินิยม และเสนอให้รัฐบาล คสช.ใช้มาตรา 44 จัดการกับพระธัมมชโย ตลกร้ายในกรณีนี้คือ ขณะที่สันติอโศกเองก็ถูกอำนาจรัฐละเมิดเสรีภาพทางศาสนา แต่กลับสนับสนุนอำนาจเผด็จการละเมิดเสรีภาพของฝ่ายอื่น

ส่วนพุทธศาสนาชนชั้นกลางแบบธรรมกาย ไม่ได้เสนอแนวคิดทางการเมือง และไม่ได้เคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างเปิดเผยแบบสันติอโศก แต่มีอุดมการณ์เผยแพร่ “วิชาธรรมกาย” ไปทั่วโลก และขยายสาขาทั้งในและนานาประเทศ โดยอาศัยกลไกอำนาจคณะสงฆ์ อำนาจรัฐ อำนาจทุน หน่วยงานราชการ ในการเกณฑ์ข้าราชการ นักเรียนนักศึกษา ประชาชนเข้าร่วมโครงการปฏิบัติธรรม การบวชพระทีละเป็นแสนรูป และกิจกรรมทางศาสนาระดับชาติอื่นๆ ซึ่งเป็นแนวทางที่ขัดกับเสรีภาพทางศาสนาในกรอบ secularization ด้วยเช่นกัน

จะเห็นว่าพุทธศาสนาแบบชนชั้นกลางสายเด่นๆ (หมายถึงมีอิทธิพลทางความคิดความเชื่อ มีบทบาทมากในทางสังคม) ดังกล่าว ล้วนมีปัญหาสำคัญคือด้านที่ไม่สอดคล้องกับ secularization และการสร้างประชาธิปไตย ซ้ำร้ายยังเป็นพุทธศาสนาที่ผลิตวาทกรรม “พุทธแท้-พุทธเทียม” มาโจมตีกัน และยอมรับอำนาจคณะสงฆ์ และอำนาจรัฐในการจัดการกับฝ่ายที่เชื่อต่างจากตัวเอง ทั้งๆ ที่ถ้าแยกศาสนาจากรัฐ หรือถ้ารัฐไทยเป็น secular state ความแตกต่างในแง่การตีความคำสอนและแนวปฏิบัติของสายต่างๆ นอกจากไม่ใช่ปัญหาที่จะเป็นสาเหตุของความขัดแย้งได้แล้ว ยังถือเป็นความงอกงามหลากหลายอีกต่างหาก

แต่ภายใต้สภาวะที่ไม่แยกศาสนาจากรัฐ ความแตกต่างกลายเป็นเงื่อนไขของความขัดแย้งและการทำลายกันเอง ครั้งหนึ่งพุทธทาสและท่าน ป.อ.เคยถูกล่าวหาว่าเป็นเดียรถีย์ เป็นคอมมิวนิสต์ แต่สานุศิษย์สายปราชญ์พุทธทั้งสองท่าน ก็ล่าวหาสันติอโศกและธรรมกายเป็นพวกนอกรีต ขณะนี้ทั้งสายสันติอโศก สายปราชญ์พุทธทั้งสองทั้ง (รวมกลุ่มพุทธะอิสระ, ไพบูลย์ นิติตะวัน, มโน เลาหวนิช) ต่างพุ่งเป้าไปที่ธรรมกายว่าเป็นพวกนอกรีต หรือพูดรวมๆ ในบรรดาชาวพุทธชนชั้นกลางในสายดังกล่าว ถ้าไม่นิ่งเฉย ก็เชียร์การใช้ ม.44 จัดการกับธรรมกาย

นี่คือปรากฏการณ์อันน่าเศร้าของพุทธศาสนาแบบชนชั้นกลางไทย ที่ตกอยู่ใน “วังวนความขัดแย้งกันเอง” ภายใต้โครงสร้างความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับศาสนา ที่อำนาจคณะสงฆ์ และอำนาจรัฐขัดกับหลักเสรีภาพทางศาสนาโดยพื้นฐาน และเป็นอำนาจที่ถูกฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งนำมาใช้ขจัดอีกฝ่ายได้ตลอดเวลา

ไม่ต่างอะไรกับสภาพที่นักการเมือง พรรคการเมือง กลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองที่มีความคิดขัดแย้งกันแล้วสามารถอาศัย “อำนาจพิเศษ” มาจัดการกับอีกฝ่ายได้เสมอไป ดังที่เป็นมาตลอดประวัติศาสตร์ และจะเป็นเช่นนี้เรื่อยไป ตราบที่รัฐไทยยังไม่เป็นเสรีประชาธิปไตย และไม่แยกศาสนาจากรัฐ   

 

 

 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net