Skip to main content
sharethis

ในยุคที่ผู้คนกังวลว่าเทคโนโลยีหุ่นยนต์จะมาแย่งงานมนุษย์ มหาเศรษฐีอย่างบิลล์ เกตส์ เสนอเรื่องการเก็บภาษีหุ่นยนต์เพื่อแก้ปัญหาเรื่องนี้ แต่ ยานิส วารูฟาคิส นักเศรษฐศาสตร์และอดีตรัฐมนตรีคลังกรีซ ได้วิจารณ์อุปสรรคและความขัดแย้งในการเก็บภาษีดังกล่าว รวมถึงมีข้อเสนออื่นนั่นคือใช้ระบบ "เงินปันผลพื้นฐานถ้วนหน้า"

ที่มาของภาพประกอบ: Et-Zeichen/Flickr/CC BY 2.0

1 มี.ค. 2560 ยานิส วารูฟาคิส ศาตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแห่งเอเธนส์ อดีตรัฐมนตรีกระทรวงการคลังกรีซ แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับข้อเสนอเรื่อง "ภาษีหุ่นยนต์" ที่บิลล์ เกตส์ มหาเศรษฐีผู้ก่อตั้งไมโครซอฟต์เสนอไว้เมื่อไม่นานมานี้ โดยระบุว่าข้อเสนอของเกตส์ยังมีปัญหาอยู่สามประการ

บิลล์ เกตต์ เคยเสนอให้แก้ปัญหาเรื่องที่หุ่นยนต์มีโอกาสจะแย่งงานมนุษย์ทำว่าควรให้รัฐบาลเก็บภาษีบริษัทที่ใช้หุ่นยนต์ โดยบอกว่าอย่างน้อยก็จะเป็นหนทางที่จะช่วยทำให้การใช้หุ่นยนต์แพร่หลายออกไปช้าลงรวมถึงมีการนำเงินภาษีนั้นมาเป็นแหล่งทุนให้กับการจ้างงานจำพวกอื่น หรือนำมาแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำอย่างการดูแลคนชราหรือให้การศึกษาเด็ก

วารูฟาคิส ตั้งคำถามต่อแนวคิดนี้โดยเริ่มยกตัวอย่างจำลองสถานการณ์ว่า ถ้าหากมีเจ้าของฟาร์มที่ชื่อลุคเคยจ้างงานคนที่ชื่อเคนให้ใช้เครื่องจักรเก็บเกี่ยวผลผลิต ทำให้เคนได้รับค่าจ้างจนสภาพความเป็นอยู่ดีขึ้นและส่วนหนึ่งของค่าจ้างเขากลายเป็นภาษีเงินได้กับสวัสดิการสังคมที่จะเป็นงบประมาณรัฐเอาไว้ช่วยเหลือคนอื่นในสังคมที่โชคไม่ดีเท่าเขา แต่ทว่าลุคก็กำลังจะนำเอาหุ่นยนต์ที่ชื่อเน็กซัสมาใช้ทำงานแทนเคนโดยที่เน็กซัสมีความสามารถในการใช้เครื่องมือเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ยาวนานกว่า กระทำได้อย่างปลอดภัยกว่า และทำได้ในทุกสภาพอากาศ โดยไม่ต้องหยุดพักหรือลางาน

วารูฟาคิสระบุถึงข้อเสนอของเกตส์ว่าภาษีหุ่นยนต์อาจจะนำมาใช้กับ "รายได้ขั้นพื้นฐานถ้วนหน้า" (universal basic income) ซึ่งหมายถึงการให้รายได้พื้นฐานต่อประชาชนโดยเท่าเทียมกันและสามารถหางานทำเพิ่มรายได้ ฝ่ายผู้สนับสนุนรายได้ขั้นพื้นฐานบอกว่าระบบรายได้ขั้นพื้นฐานเป็นสิ่งที่จะตอบรับกับสังคมในอนาคตที่มีหุ่นยนต์หรือปัญญาประดิษฐ์เข้ามาทำงานแทนคนมากขึ้นได้

แต่วารูฟาคิสก็ชวนมองสถานการณ์จำลองเรื่องของเคนกับลุคต่อไปว่าการที่ลุคใช้เน็กซัสแทนเคนจะต่างจากการจ้างเคนตรงท่เน็กซัสเป็นหุ่นยนต์ที่จะไม่มีการเจรจาต่อรองข้อตกลงการจ้างงานกับลุค และเน็กซัสก็จะไม่ได้รับค่าจ้าง การที่จะจำลองภาษีเงินได้ขึ้นมาแทนเน็กซัสต้องอ้างอิงจากรายได้ในปีสุดท้ายของเคนและนำมาจากการหักภาษีเงินได้และเงินสวัสดิการโดยลุคในแบบที่เทียบเท่ากับของเคนเท่านั้น

วารูฟาคิสวิจารณ์ต่อไปว่าแนวคิดการเก็บภาษีจากหุ่นยนต์ยังมีปัญหาอยู่อีก 3 ประการคือ หนึ่ง รายได้ของเคนควรจะเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาถ้าหากเขาไม่ถูกเลิกจ้างไปเสียก่อน แต่การอ้างอิงเงินเดือนของเคนจะไปเปลี่ยนไปด้วยเว้นแต่ว่าจะมีการบังคับใช้ภาษีกับธุรกิจต่างๆ ตามอำเภอใจ เรื่องนี้จะทำให้สำนักงานภาษีกัยลุคขัดแย้งกันเรื่องการคำนวนหรือประเมินว่าลูกจ้างของลุคจะมีเงินเดือนขึ้นลงอย่างไรถ้าหากเขายังทำงานอยู่

ปัญหาประการที่สองคือ กรณีที่นายจ้างบางส่วนเริ่มจากการใช้หุ่นยนต์เลยโดยไม่เคยมีการจ้างงานมนุษย์มาก่อนทำให้ไม่มีฐานรายได้ของมนุษย์เอาไว้อ้างอิงและคำนวนภาษีที่หุ่นยนต์นั้นๆ ต้องจ่าย

และประการที่สามที่จะเป็นปัญหาคือปรัชญาในการใช้ให้ความชอบธรรมเพื่อบังคับให้ลุคต้องจ่ายภาษีสำหรับเน็กซัส แต่กลับไม่ต้องจ่ายภาษีให้กับเครื่องมือเก็บเกี่ยวผลผลิตเพราะทั้งคู่ต่างก็เป็นเครื่องจักรและเครื่องมือเก็บเกี่ยวก็นำมาใช้แทนแรงงานคนได้มากกว่าหุ่นเน็กซัสเสียอีก สิ่งที่ทำให้เราปฏิบัติต่อเครื่องเก็บผลผลิตกับเน็กซัสต่างกันคือหุ่นยนต์เน็กซัสมีความสามารถควบคุมตัวเองได้มากกว่า แต่ก็การที่ควบคุมตัวเองได้เต็มที่หมายความว่าหุ่นยนต์นั้นต้องมีจิตสำนึกในตัวเอง หรือว่าจริงๆ แล้วหุ่นยนต์ยังต้องอาศัยคนสร้างช่วยกันแน่ ถ้าถึงขนาดว่าหุ่นยนต์สามารถมีจิตสำนึกได้ในระดับภาพยนตร์เรื่อง Blade Runner มันคงต้องถูกจัดเป็นสิ่งมีชีวิตใหม่ที่มีการเคลื่อนไหวด้านสิทธิพลเมืองแบบใหม่ไปด้วย ในการมีคุณภาพชีวิตทั้งสวัสดิการ ค่าแรงขั้นต่ำ สิทธิในการออกเสียง เทียบเท่ากับเคน

ขณะที่แนวคิดการจ่ายภาษีเงินได้จากหุ่นยนต์จะทำให้เกิดความขัดแย้งเรื่องการจัดเก็บภาษีและเสี่ยงต่อการโกงภาษีได้ วารูฟาคิสก็ระบุถึงแนวคิดอีกแบบหนึ่งคือการเก็บเงินภาษีแบบเหมาจ่ายทันทีที่ลุคแทนที่แรงงานเคนด้วยหุ่นยนต์ แต่วิธีการนี้ก็จะนำไปสู่การที่ผู้ผลิตหุ่นยนต์จับเอาระบบปัญญาประดิษฐ์ไปใส่ในเครื่องจักรอื่นแทนเช่นเอาไปใส่ในเครื่องเก็บผลผลิตแทน ทำให้แยกไม่ออกว่าเครื่องจักรนั้นๆ จัดเป็นหุ่นยนต์หรือไม่

วารูฟาคิสระบุถึงอีกวิธีหนึ่งคือการจัดเก็บภาษีการขายในฐานะสินค้าประเภททุน (capital goods) แต่การจะขึ้นภาษีสินค้าประเภททุนทั้งหลายก็จะทำให้เกิดการต่อต้านด้วยเหตุผลเรื่องการลดกำลังการผลิตภายในประเทศและลดการแข่งขัน วารูฟาคิสมองว่าหลังจากการผุดขึ้นของทุนนิยมแบบอุตสาหกรรมเราก็แยกไม่ออกระหว่างทรัพย์สินกับทุนทำให้แยกไม่ออกระหว่างความมั่งคั่ง การเช่าทรัพย์ และกำไร ไปด้วย ทำให้การออกแบบจัดเก็บภาษีตามความมั่งคั่งเป็นไปได้ยาก การทำให้เครื่องจักรปัญญาประดิษฐ์กับหุ่นยนต์แยกจากกันไม่ออกก็จะกลายเป็นปัญหาแบบเดียวกันสำหรับภาษีหุ่นยนต์ด้วย

 

ข้อเสนอของวารูฟาคิส

วิธีแก้ไขปัญหาเรื่องหุ่นยนต์ วารูฟาคิสนำเสนอว่ามีอีกทางเลือกหนึ่งคือการใช้ระบบ "เงินปันผลพื้นฐานถ้วนหน้า" (universal basic dividend หรือ UBD) ซึ่งเก็บจากผลตอบแทนที่มาจากทุนทั้งหมด ลองนึกถึงว่าถ้ามีการกำหนดสัดส่วนชัดเจนของกรรมสิทธิหุ้นส่วนใหม่อย่างหุ้นที่ถูกเสนอขายให้กับประชาชนทั่วไปในครั้งแรกก่อนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์หรือไอพีโอ (IPOs) ให้ส่วนหนึ่งกลายเป็นกองทุนทรัสต์สาธารณกุศล (public trust) ที่สร้างรายได้ให้กับระบบเงินปันผลถ้วนหน้า เปรียบเทียบแล้วคือคนในสังคมจะกลายเป็นผู้ถือหุ้นในทุกๆ บรรษัทและมีการปันผลไปสู่ประชาชนทุกคนอย่างเสมอภาค

"พูดง่ายๆ คือลืมเรื่องเก็บภาษีเน็กซัสหรือลุคไปเสีย แล้วหันมาเก็บส่วนหนึ่งของกรรมสิทธิหุ้นส่วนฟาร์มของลุคเข้าสู่กองทุนทรัสต์สาธารณกุศล แล้วทำให้เป็นเงินปันผลแก่ทุกคนแบบถ้วนหน้า ... ส่วนภาษีของพวกเราก็จะกลายเป็นสวัสดิการคนตกงานให้เคน ไปเป็นการสร้างงานที่มีรายได้แน่นอนในชุมชน หรือไปสู่การฝึกทักษะหรือฝึกอบรมงานใหม่ให้กับเคน" วารูฟาคิสระบุในบทความ

วารูฟาคิสระบุว่าแนวคิดของเขาเป็นแนวคิดที่สอดรับกับการที่ระบบอัตโนมัติอย่างหุ่นยนต์จะช่วยเพิ่มผลผลิตและเพิ่มผลกำไรให้บรรษัทโดยที่สังคมทั้งหมดจะได้รับผลตอบแทนไปด้วยตามระดับกำไรโดยไม่ต้องอาศัยระบบภาษีและไม่กระทบระบบรัฐสวัสดิการแบบเดิม โดยระบบ UBD เองควรทำให้มีงบประมาณเข้าไปสู่รัฐสวัสดิการเพิ่มมากขึ้นด้วย เมื่อดำเนินการเรื่องนี้ควบคู่ไปกับสิทธิแรงงานที่เข้มแข็งขึ้นและค่าแรงที่เพียงพอต่อการดำรงชีพแล้ว แนวคิดเรื่องการได้รับผลตอบแทนความมั่งคั่งไปด้วยกันก็จะเป็นแนวคิดเชิงทรัพย์สินแบบใหม่ของสังคม

ขณะที่วารูฟาคิสมองว่าการปฏิวัติอุตสาหกรรมสองครั้งแรกก่อนหน้านี้ถูกกลุ่มผู้ประกอบการเจ้าเล่ห์จำนวนหนึ่งฉวยอ้างสิทธิในการครอบครองสิ่งที่เครื่องจักรผลิต แต่การปฏิวัติเทคโนโลยีในปัจจุบันมีการผลิตทุนผ่านการขัดเกลาทางสังคมมากขึ้นทำให้สิทธิในทรัพย์สินควรเป็นเครื่องมือตอบสนองรายได้ต่อสังคมมากขึ้น โดยที่วารูฟาคิสย้ำเตือนว่าต้องไม่ลืมออกกฎหมายที่จะพัฒนาค่าแรงและสภาพการทำงานของมนุษย์ที่ยังคงเป็นแรงงานมากขึ้นไปด้วย

 

เรียบเรียงจาก

A Tax on Robots?, Yanis Varoufakis, Project Syndicate, 27-02-2017

The robot that takes your job should pay taxes, says Bill Gates, Quartz, 17-02-2017

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net