Skip to main content
sharethis

บทความลงในเดอะเนชันแนล ตั้งข้อสังเกตว่าเวทีประกาศผลรางวัลออสการ์ซึ่งถูกใช้วิจารณ์ทางการเมืองในระยะหลังนั้น ที่จริงเป็นพื้นที่ที่ทำให้เกิดผลการเปลี่ยนแปลงอะไรจริงหรือไม่ หรือเป็นแค่ละครสวมหน้ากากอันฉาบฉวย หรือเป็นแค่ตัวชี้วัดบรรยากาศที่ว่า "ลมพัดไปทางใดกล้องก็จะตามไปถ่ายทางนั้น"

ที่มาของภาพประกอบ: cinemablend

3 มี.ค. 2560 ไฟซาล อัล ยาไฟ นักข่าวและนักวิจารณ์เขียนถึงรางวัลออสการ์ลงในเดอะเนชั่นแนลว่า เริ่มพูดการเมืองมาตั้งแต่ในปีที่แล้วรวมทั้งในปีนี้ จากปีที่แล้วมีประเด็นเรื่อง #OscarSoWhite คือเรื่องที่ออสการ์และวงการฮอลลีวูดถูกวิจารณ์ว่ามีแต่คนขาวมากเกินไปและขาดความหลากหลาย แต่ในปีนี้ในยุคสมัยของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้ถูกวิจารณ์ในเรื่องการเหยียดเชื้อชาติสีผิว จิมมี คิมเมล พิธีกรออสการ์ก็พูดจิกกัดทรัมป์เอาไว้ว่าขอบคุณทรัมป์ที่ทำให้ออสการ์ดูเหยียดเชื้อชาติน้อยลงเมื่อเทียบกับเขา

ยาไฟตั้งข้อสังเกตว่าการวิจารณ์การเมืองในเวทีออสการ์มักจะเกิดแต่ในช่วงยุคสมัยที่ผู้นำประเทศมาจากพรรครีพับลิกัน แต่การวิจารณ์ทางการเมืองในแบบของออสการ์ก็มีปัญหาอยู่สองอย่างในมุมมองของยาไฟ หนึ่งคือการวิจารณ์การเมืองในเวทีออสการ์มักจะกระทำกันแต่เฉพาะตอนที่การวิจารณ์การเมืองเป็นที่นิยมเท่านั้น อย่างตอนที่สหรัฐฯ มีเหตุวุ่นวายทางการเมืองมันเป็นเรื่องง่ายที่จะพูดถ้อยแถลงอะไรที่ดูเป็นการเมืองออกมา พวกดาราฮอลลีวูดทั้งหลายจึงรู้สึกว่าถ้าพวกเขาไม่พูดเรื่องการเมืองออกมาบ้างมันจะทำให้พวกเขาตกกระแสซึ่งจะส่งผลเสียในเชิงยุทธศาสตร์ทางวัฒนธรรมและทางเศรษฐกิจของพวกเขาเอง

ยาไฟวิจารณ์ว่าแต่ตัวฮอลลีวูดเองก็ไม่ได้เป็นกลุ่มที่ก้าวหน้าสุดขอบอะไรอย่างนั้นพวกเขาเป็นอนุรักษ์นิยมตั้งแต่ในระดับสัญชาตญาณด้วยซ้ำ อุตสาหกรรมบันเทิงฮอลลีวูดที่มีอายุเก่าแก่ยาวนานเพิ่งจะมีภาพยนตร์ที่ชายคนดำกับผู้หญิงคนขาวมีเพศสัมพันธ์กันครั้งแรกในแ 2558 นี้เอง ดูเหมือนฮอลลีวูดจะไม่ค่อยนำหน้าผู้คนส่วนใหญ่ในสังคมเท่าใด

แต่ปัญหาอย่างที่สองเป็นเรื่องน่าเป็นห่วงกว่าในมุมมองของยาไฟคือการวิจารณ์การเมืองของออสการ์ทำให้คนรู้สึกไปเองว่ามีคนกระทำการต่อต้านทางการเมืองแทนพวกเขา ทำให้คนที่ไม่พอใจทางการเมืองสหรัฐฯ ไม่ออกมาเปลี่ยนแปลงอะไร ซึ่งการพยายามต่อต้านนโยบายของรัฐบาลทรัมป์ย่อมเป็นเรื่องที่ต้องทำงานหนักกว่าการรับชมตลกทำตัวเสียดสีล้อเลียนเขา

ยาไฟยกตัวอย่างปัญหาอย่างหนึ่งเมื่อมีบุคคลที่เกี่ยวข้องกับวงการภาพยนตร์ทำตัวก้าวหน้ากว่าบรรยากาศทางสังคมในหมู่คนบันเทิงช่วงนั้นเขากลับจะถูกต่อต้าน คือกรณีของไมเคิล มัวร์ คนทำสารคดีผู้วิจารณ์รัฐบาลจอร์จ ดับเบิลยู บุช ในตอนที่เขาขึ้นรับรางวัลเมื่อปี 2546 ในช่วงนั้นรัฐบาลบุชเพิ่งใช้เครื่องบินทิ้งระเบิดกรุงแบกแดด ประเทศอิรัก โดยที่มัวร์วิจารณ์บุชว่าส่งชาวอเมริกันไปรบด้วย "เหตุผลที่ปั้นแต่งขึ้นมาเอง" แต่ผู้คนก็รู้สึกประหลาดใจแล้วก็โห่ไล่มัวรืแสดงให้เห็นว่าจริงๆ แล้วฮอลลีวูดหวั่นเกรงอำนาจทางการเมืองที่แท้จริงจนไม่ยอมให้มัวร์พูดออกมาอย่างเสรีได้

ในบทความยังตั้งข้อสังเกตว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับมัวรืตรงกันข้ามกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับ เมอรีล สตรีป หลังจากที่เธอวิจารณ์โดนัลด์ ทรัมป์ แน่นอนว่าสตรีปมีสิทธิ์วิจารณ์ทรัมป์ แต่ก็ไม่ได้มีอะไรน่าหวือหวา และเอาจริงๆ แล้วฮอลลีวูดก็เป็นส่วนหนึ่งของการสนับสนุนการที่อเมริกันใช้อำนาจเกินกว่าเหตุ  เช่นภาพยนตร์เรื่อง 'Zero Dark Thirty' หรือในชื่อไทยคือ 'ยุทธการถล่มบินลาเดน' ที่เกี่ยวกับปฏิบัติการล่าโอซามา บิน ลาเดน ที่สื่อการทรมานได้ผลซึ่งเป็นการส่งเสริมความคิดแบบเดียวกับพวกสำนักข่าวกรองกลางของสหรัฐฯ หรือซีไอเอ โดยที่วุฒิสมาชิกสหรัฐฯ ผู้สืบสวนกรณีการทารุณกรรมของซีไอเอบอกว่าแนวคิดเรื่องการทรมานแล้วได้ผลนั้นไม่ใช่เรื่องจริง

นอกจากนี้ยังมีการยกตัวอย่างภาพยนตร์ฮอลลีวูดที่ได้รับเสนอชื่อเข้าชองออสการ์เรื่องอื่นๆ ที่เป็นไปในเชิงโฆษณา "สงครามต่อต้านการก่อการร้าย" ยาไฟจึงมองว่าความพยายามจะช่วยสู่เพื่อประเด็นฝ่ายเสรีนิยมของฮอลลีวูดนั้นเป็นเรื่องผิวเผิน คนที่ไม่ชอบบุชและกลุ่มฐานเสียงอนุรักษ์นิยมของเขาเลิกคุยเรื่องการเมืองหลังจากที่บารัก โอบามา ได้เป็นประธานาธิบดี แต่รัฐบาลโอบามาก็ยังคงเอาสิ่งที่แย่ๆ ในรัฐบาลบุชไปกระทำต่อและบางเรื่องเลวร้ายกว่าเดิมอย่างการสังหารพลเมืองชาวอเมริกันที่อยู่นอกประเทศในเยเมน แต่ประเด็นเหล่านี้ก็ไม่เป็นที่สนใจของฮอลลีวูดมากเท่านักการเมือง

"เรื่องนี้ไม่น่าแปลกใจ พวกคนบันเทิงชอบให้คนชื่นชมและความชื่นชมน้อยครั้งที่จะมาจากการพูดอะไรที่ไม่เป็นที่นิยม ในตอนนี้พอความคิดเห็นของผู้คนเปลี่ยนมาต่อต้านสงครามอิรักแล้ว มันเป็นไปไม่ได้เลยที่จะนึกถึงห้องที่เต็มไปด้วยนักแสดงฮอลลีวูดโห่ไล่คนที่วิจารณ์มัน" ยาไฟระบุในบทความ

"ฮอลลีวูดจึงไม่ใช่ผู้นำการอภิปรายสาธารณะแต่เป็นแค่ตัววัดบรรยากาศว่าลมพัดไปทางใดกล้องก็จะตามไปถ่ายทางนั้น" ยาไฟระบุในบทความ

เรียบเรียงจาก

Do Hollywood's protest politics make any difference at all?, The National, 27-02-2017

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net