Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

หลังจากที่ศูนย์ทรัพย์สินทางปัญญาโลก (จีไอพีซี) แห่งหอการค้าสหรัฐอเมริกา เปิดเผยรายงานดัชนีทรัพย์สินทางปัญญาระหว่างประเทศ (International Intellectual Property Index – IIPI 2017) ประจำปีพ.ศ. 2560 ไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ภายใต้ธีม The Roots of Innovation หรือ “รากฐานของนวัตกรรม”  โดยผลปรากฏว่าประเทศไทยได้รับการจัดอันดับรั้งท้ายในอันดับที่ 40  จากการจัดอันดับทั้งหมด 45 ประเทศ

จากรายงานดังกล่าวในปี 2560 ประเทศไทยได้รับคะแนนการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 9.53 จากสเกลคะแนน 35 โดยค่ากลางของดัชนีที่วัดทั้ง 45 ประเทศอยู่ที่ 15.39 สำหรับคะแนนเฉลี่ยระดับภูมิภาคเอเชียอยู่ที่ 14.64 หากแยกเฉพาะในประเทศกลุ่มอาเซียน พบว่าไทยรั้งอันดับสุดท้ายของภูมิภาคที่อันดับ 10 ขณะที่ประเทศที่มีคะแนนคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาสูงสุด ได้แก่ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ เยอรมนี ญี่ปุ่น และสวีเดน

อนึ่ง ในรายงานปี 2559 ไทยได้อันดับที่ 35  จากทั้งหมด 38 ประเทศ โดยได้ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 7.40 โดยภาพรวมแล้วก็ยังถือว่าอยู่ในอันดับรั้งท้าย

ดัชนีทรัพย์สินทางปัญญาระหว่างประเทศในปีนี้มีการประเมินตัวชี้วัดค่าความคุ้มครอง 6 ประเภท ได้แก่ สิทธิบัตร ลิขสิทธิ์ เครื่องหมายการค้า ความลับทางการค้า การเข้าสู่ตลาด การบังคับใช้กฎหมาย และการให้สัตยาบันในสนธิสัญญาระหว่างประเทศ โดยการประเมินในปีนี้ยังได้เพิ่มหลักเกณฑ์การพิจารณาเรื่อง ความตกลงว่าด้วยสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้า (ความตกลงทริปส์) และ TPP เข้าไปด้วย   แม้ว่าในส่วนของประเทศไทยจะได้รับการจัดอันดับให้อยู่ในตำแหน่งรั้งท้าย รายงานดังกล่าวได้ชี้ถึง จุดแข็งที่ไทยพัฒนาได้ดีขึ้นในเรื่องของการให้ความคุ้มครอง อาทิ มีระบบการคุ้มครองและลงทะเบียนด้านลิขสิทธิ์ที่ถูกต้องตามกฎหมาย เครื่องหมายการค้าและการออกแบบต่างๆ ไทยมีความพยายามในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับงานลิขสิทธิ์ มีการวางกรอบกฎหมายในการให้ใช้สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา ตลอดจนมีการพัฒนาปรับปรุงงานด้านการปราบปรามสินค้าเถื่อน-ปลอมได้ดีขึ้น โดยเฉพาะมาตรการปราบปรามสินค้าผิดกฎหมายในเขตชายแดน

สำหรับส่วนที่ยังคงเป็นจุดอ่อนของไทย การให้ความคุ้มครองสิทธิบัตรที่ยังไม่เพียงพอและยังมีช่องโหว่ รวมถึงความล่าช้าในการขอสิทธิบัตร สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาเกี่ยวกับชีววิทยาศาสตร์ซึ่งไม่สอดคล้องกับทริปส์และประวัติความเป็นมาของมาตรการบังคับใช้สิทธิและกรณี CL สิทธิบัตรยา การกำกับดูแลลิขสิทธิ์ดิจิทัลที่ยังไม่สมบูรณ์ อุปสรรคในการเข้าสู่ตลาดของเจ้าของสิทธิบัตรและระบบระเบียบราชการที่ไม่เอื้อต่อการทำการค้าของสินค้าทรัพย์สินทางปัญญา การจัดการระบบบล็อกเว็บไซต์ใหม่ที่มีการละเมิดลิขสิทธิ์ยังไม่มีประสิทธิภาพ อัตราปลอมแปลงสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์แบบดั้งเดิมและดิจิทัลยังอยู่ในระดับที่สูงมาก และการอ่อนการบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา

สิ่งที่น่าสนใจและถูกหยิบยกมาเป็นประเด็น “ไฮไลท์” ของรายงานประเมินในส่วนของประเทศไทย คือ ประเด็นการกีดกันและจำกัดการใช้ตราสินค้าบนบรรจุภัณฑ์ของสินค้า โดยมีการยกตัวอย่าง ร่างกฎหมาย พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบที่ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาของ สนช. โดยรายงานดัชนีความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาระหว่างประเทศได้ระบุว่า ในข้อกฎหมายนี้มีการเสนอให้ “ถอดแบรนด์ดิ้ง” หรือห้ามไม่ให้มีการใช้ตราสินค้าบนซองบุหรี่ ให้คงเหลือไว้เพียงชื่อยี่ห้อที่จะต้องพิมพ์ด้วยแบบตัวหนังสือขนาดเล็ก นอกเหนือจากการลดทอนสิทธิ์ในตราสินค้า มาตรการดังกล่าวจะยิ่งทำให้การปราบปรามสินค้าปลอมแปลงมีความยากลำบากขึ้น ซึ่งรายงานระบุว่า สินค้าปลอมแปลงนับเป็นปัญหาใหญ่เรื้อรังมานานของประเทศไทย

จากมาตรการในเรื่องบรรจุภัณฑ์สินค้าบุหรี่ รายงานดังกล่าวได้สรุปว่า หากมีการนำมาตรการดังกล่าวไปใช้ในอุตสาหกรรมอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมใดก็ตาม ก็จะยิ่งเป็นการจำกัดสิทธิ์การใช้แบรนด์ เครื่องหมายการค้าและดีไซน์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสิทธิ์และทรัพย์สินทางปัญญา (trade dress) บนบรรจุภัณฑ์สินค้าปลีกและเป็นการบั่นทอนประโยชน์ของการมีเครื่องหมายการค้าที่ภาคธุรกิจและผู้บริโภคจะได้รับ ยิ่งไปกว่านั้น หากมีการใช้มาตรการดังกล่าวจริง จะเป็นการตั้งมาตรฐานเชิงลบต่อนโยบายด้านทรัพย์สินทางปัญญา

รายงานดังกล่าวถือเป็นการแสดงให้เห็นทิศทางที่ดีของประเทศไทยในการเดินหน้าให้ความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาอันเป็นมาตรฐานโลกในการสร้างความเชื่อมั่นในภาคธุรกิจ ในระดับนโยบายที่เป็นข้อกังวลในรายงานฉบับนี้ เช่น นโยบายซองบุหรี่ไร้แบรนด์ หรือซองเรียบ และการป้องกันการระบาดของสินค้าปลอมแปลงทั้งหลาย ก็หวังให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณากฎระเบียบต่างๆ ในทิศทางที่สอดคล้องกับการผลักดันไทยไปสู่ยุค 4.0 ที่จะขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมใหม่ๆ และเป็นสิ่งที่ต้องได้รับความคุ้มครอง

นับเป็นรายงานการจัดอันดับที่มีความสำคัญยิ่งยวดต่อนัยทางการค้าระหว่างประเทศและสภาพแวดล้อมทางธุรกิจแบบ 4.0 ที่ประเทศไทยกำลังมุ่งหวังจะไปให้ถึง ด้วยเหตุว่าประเด็นลิขสิทธิ์และทรัพย์สินทางปัญญานั้นเป็นมาตรฐานสากลที่ทั่วโลกให้ความเคารพและถือเป็นตัวชี้วัดความมั่นคงทาง “รากฐานของนวัตกรรม” หากไทยจะขับเคลื่อนนโยบายใดๆ หรือสร้างความน่าดึงดูดในกลุ่มนักลงทุนต่างชาติ ประเด็นทรัพย์สินทางปัญญาเป็นสิ่งที่ละเลยไม่ได้ เพราะภาคธุรกิจจะต้องมีความมั่นใจว่าสินค้าหรือสิ่งประดิษฐ์หรือนวัตกรรมของตนนั้นได้รับความคุ้มครองและจะไม่ถูกละเมิดเกลื่อนกลาดจนกลายเป็นของที่หมดมูลค่า

ในขณะเดียวกัน ก็มีความพยายามอย่างต่อเนื่องในการนำเสนอให้สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) จัดอันดับสถานะประเทศคู่ค้าด้านทรัพย์สินทางปัญญาสหรัฐประจำปี 2560 ให้ไทยอยู่ในสถานะที่ดีขึ้น มา โดยปัจจุบันไทยอยู่ในกลุ่มประเทศที่ “ถูกจับตามองเป็นพิเศษ” (Priority Watch List) มาเป็นระยะเวลากว่า 10 ปี โดยมีความพยายามผลักดันให้สหรัฐฯ อัพเกรดไทยให้มาอยู่ในระดับ “จับตามอง” 

ก็ต้องมาลุ้นดูว่าในรายงานของ USTR ในปีนี้ที่จะประกาศผลปลายเดือนเมษายนจะออกหัวหรือก้อย และประเทศไทยได้เรียนรู้หรือมี action ที่ยั่งยืนใดๆ ต่อยอดจากอันดับรั้งท้ายของรายงานดัชนีทรัพย์สินทางปัญญาระหว่างประเทศในปีนี้หรือไม่

 


เกี่ยวกับผู้เขียน: ดารานีย์ วัจนะวุฒิวงศ์ เลขาธิการสมาคมทรัพย์สินทางปัญญาแห่งประเทศไทย

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net