Skip to main content
sharethis

2 มี.ค. 2560 ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบัน ISIS (Institute of Security and International Studies) ร่วมกับมูลนิธิเอเชีย และคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดงานเสวนาในหัวข้อเรื่อง “Asian Views on America’s Role in Asia: The Future of the Rebalance” (มุมมองเอเชียต่อบทบาทอเมริกาในเอเชีย: อนาคตของนโยบายปรับสมดุล) โดยมี ซี. ราชา โมฮัน ผู้อำนวยการศูนย์อินเดีย จาก Carnegie Endowment for International Peace, ยูนยองควาน ศาสตราจารย์ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจาก Seoul National University, เอเลน เลปสัน ประธานกิตติคุณจากศูนย์ Stimson Centre, Washington DC เป็นวิทยากร และ รศ. ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ รองศาสตราจารย์จากภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จุฬาฯ

เอเลน: ควรให้เวลา ‘ทรัมป์’ ตีโจทย์ Rebalance ย้ำสหรัฐ ฯ ปิดตัวเองจากโลกไม่ได้

เอเลน ให้ความเห็นเกี่ยวกับผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งล่าสุดว่า ทรัมป์ไม่ได้เอาชนะฮิลลารี คลินตันด้วยนโยบายต่างประเทศ ผลการเลือกตั้งจึงสะท้อนว่าการตัดสินไม่ได้มาจากจุดยืนด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แต่ตัดสินจากโจทย์ที่ว่า “ใครได้รับความนิยมมากกว่ากันในสังคมอเมริกัน”

ประธานกิตติคุณจากศูนย์ Stimson Centre, Washington DC เห็นว่า แนวโน้มความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐ ฯ กับจีนอาจมีแนวโน้มไปในลักษณะที่จะร่วมมือกันในบางเรื่อง และแข่งขันกันในบางเรื่องมากกว่าที่จะเป็นศัตรูหรือมิตรอย่างสุดโต่ง

เอเลน เห็นว่าในปัจจุบันมีการตีความคำว่าปรับดุล (Rebalance) มากเกินไปจนเกิดความสับสนในระดับนานาชาติถึงนิยามและความคาดหวังที่แตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ ซึ่งรัฐบาลทรัมป์เองสมควรที่จะได้รับโอกาสและเวลาในการตีความคำดังกล่าวให้ชัดเจน และในขณะเดียวกัน ประเทศในเอเชียควรที่จะมีจุดยืนเป็นกลางให้มากที่สุด

ต่อประเด็นของอำนาจแบบอ่อน หรือ Soft power เอเลนแสดงทรรศนะว่า สหรัฐ ฯ ยังถูกมองในฐานะประเทศที่มีส่วนร่วมในระดับนานาชาติในมิติทางการศึกษาและวัฒนธรรม ซึ่งต้องยกความดีความชอบส่วนหนึ่งให้กับกระบวนการประชาสังคมในประเทศต่างๆ ด้วยการนี้ สหรัฐ ฯ จึงยังมีความจำเป็นที่จะต้องสนับสนุนองค์กรเหล่านั้น และทรัมป์เองคงจะไม่ยกเลิกการสนับสนุนไปโดยสิ้นเชิง แต่จะเปลี่ยนลักษณะของอำนาจอ่อนจากผู้ให้ไปเป็นการแลกเปลี่ยนระหว่างกันในระดับนานาชาติ โดยเอเลนยังทิ้งท้ายเกี่ยวกับการรับมือกับกระแสโลกาภิวัฒน์ในการเมืองโลกว่า “คุณ [ทรัมป์] จะกันสหรัฐ ฯ ออกไปอย่างนักพรตจำศีลไม่ได้ ด้วยเหตุผลที่ว่าเรา[สหรัฐ ฯ ] ยังมีความเกี่ยวโยงกับพลวัตในเอเชียและเป็นหุ้นส่วนใหญ่ในเวทีระดับโลก”

ซี. ราชา: ข้อสังเกตหลังทรัมป์เถลิงอำนาจ ชาติเอเชียต้องช่วยตัวเองมากกว่านี้

ซี. ราชา โมฮัน ตั้งข้อสังเกตในเรื่องของการที่รัฐบาลทรัมป์จะทำให้เขตแดนสหรัฐ ฯ มีลักษณะ “ปิด” มากขึ้น คนภายนอกจะเดินทางเข้าสหรัฐฯได้ยากกว่าที่ผ่านมานโยบายกีดกันการเข้าเมืองของทรัมป์ที่ถึงแม้ว่าในขั้นตอนการจัดทำนโยบายจะผ่านการเจรจามากน้อยเพียงใด แต่สุดท้ายสิ่งที่โลกจะเห็นคือคุณลักษณะเขตแดนของสหรัฐ ฯ ที่ไม่เหมือนเดิม

ผู้อำนวยการศูนย์อินเดีย จาก Carnegie Endowment for International Peace ให้ความเห็นในประเด็นเศรษฐกิจภายหลังจากทรัมป์ใช้อำนาจฝ่ายบริหารลงนามเพื่อถอนสหรัฐ ฯ ออกจากการเป็นหุ้นส่วนขอความตกลง Trans-Pacific Strategic Economic Partnership (TPP) ว่าแต่เดิม สหรัฐฯเป็นตลาดเปิดขนาดใหญ่และเป็นที่หมายปองของชาติเอเชีย ซึ่งประเทศจีนก็ได้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากตลาดเปิดของสหรัฐ ฯ เช่นกันและทรัมป์มองว่าเป็นปัญหา อย่างไรก็ตาม ชาติเอเชียควรจับตามองข้อปฏิบัติและการเจรจาทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศแบบใหม่ที่สหรัฐ ฯ จะมีในอนาคต เพราะจะส่งผลสะเทือนต่อแนวทางเศรษฐกิจในทวีปเอเชีย

ซี. ราชา ยังกล่าวถึงข้อสังเกตเกี่ยวกับ “คุณค่า” ในภูมิภาคในยุคสมัยที่เปลี่ยนไป หลังสิ้นสุดสงครามเย็น สหรัฐฯ ให้ความสำคัญกับการสร้างเสริมประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน รวมถึงหลักการ R2P (Responsibility to Protect) ทวีปเอเชียเองก็มีคุณค่าที่แตกต่าง ซึ่งที่ผ่านมา สหรัฐ ฯ มีแนวโน้มดำเนินความสัมพันธ์ผ่านคุณค่าต่างๆดังกล่าว แต่ในรัฐบาลของทรัมป์ มีแนวโน้มที่จะใช้ผลประโยชน์นำหน้าคุณค่า และลดการแทรกแซงการใช้อำนาจอธิปไตยในชาติต่างๆ การตีโจทย์แนวทางปฏิสัมพันธ์ระหว่างประเทศดังว่าอาจเปลี่ยนแปลงรูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมหาอำนาจ ได้แก่ สหรัฐ ฯ จีน และรัสเซีย อันจะเป็นความท้าทายใหม่ของสหรัฐ ฯ และส่งผลกระทบในวงกว้าง อย่างไรเสีย สหรัฐ ฯ ไม่สามารถวางเฉยต่อพฤติกรรมของรัสเซียและจีนได้ในฐานะที่เป็นพฤติกรรมที่ส่งผลสะเทือนในระดับนานาชาติ โดยยกตัวอย่างความขัดแย้งในซีเรียและยูเครน และกรณีข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ที่รัสเซียและจีนมีส่วนร่วมตามลำดับ โดย ซี. ราชา ให้ข้อคิดทิ้งท้ายภายใต้บริบทการเมืองที่สหรัฐ ฯ ยังไม่ชัดเจนในจุดยืนตนเองในเอเชีย สวนทางกับการผงาดขึ้นมาของจีนว่า

“พวกเรา(ประเทศในเอเชีย) มีอะไรที่ต้องทำอีกเยอะ...เราต้องลุกขึ้นมาทำในสิ่งที่เราทำได้เพื่อเสริมสร้างการบูรณาการเศรษฐกิจและความมั่นคงในภูมิภาคร่วมกัน เราหลีกเลี่ยงการเปลี่ยนแปลงไม่ได้ คำถามก็คือ เราจะรับมือการเปลี่ยนแปลงให้มีประสิทธิภาพได้อย่างไร?” ซี.ราชา กล่าว

ฐิตินันท์: จีนกำลังมีชัยเหนือเอเชียอาคเนย์ แนะปรับสมดุลใหม่เพิ่มบทบาทสหรัฐ ฯ

ผู้อำนวยการสถาบัน ISIS ให้ความเห็นต่อนโยบายของทรัมป์ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงมากกว่าความต่อเนื่องจากรัฐบาลชุดเก่า ซึ่งในระยะยาวจึงจะเห็นถึงความสอดคล้องกับนโยบาย Rebalance ของรัฐบาลโอบามาที่ผ่านมา ทั้งนี้ จีนกำลังค่อยๆเอาชนะอิทธิพลของสหรัฐ ฯ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยสะท้อนผ่านพฤติกรรมของชาติสมาชิกที่มีความสัมพันธ์ทวิภาคีกับจีนเพิ่มมากขึ้น และลดความขึงขังต่อจีนในกรณีข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ แม้กระทั่งในกรณีของฟิลิปปินส์และจีนที่ศาลระหว่างประเทศปัดสิทธิในการครองครองเกาะและน่านน้ำในพื้นที่พิพาททะเลจีนใต้ตกไป แต่เมื่อจีนไม่ยอมรับคำตัดสิน ฟิลิปปินส์ก็ไม่ได้นำคำตัดสินมาใช้ให้เป็นประโยชน์

ฐิตินันท์ กล่าวว่าสหรัฐ ฯ สามารถปรับดุลอิทธิพลในภูมิภาคดังกล่าวได้ด้วยการนำพันธมิตรของสหรัฐ ฯ เช่น ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และอินเดียเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือในกรณีที่สหรัฐ ฯ ในรัฐบาลทรัมป์ พยายามตีตัวออกห่างจากภูมิภาคนี้ ชาติพันธมิตรอื่นก็จะต้องเป็นตัวแสดงหลักในการปรับดุลอิทธิพลด้วยตัวเอง

รองศาสตราจารย์จากภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จุฬา ฯ ยังทิ้งโจทย์ไว้ถึงการกลับเข้ามามีบทบาทในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของสหรัฐ ฯ ว่า “ถ้าสหรัฐ ฯ ตัดสินใจจะกลับเข้ามาแล้ว คำถามที่มีคือ เรา [เอเชียตะวันออกเฉียงใต้] อยากจะให้สหรัฐ ฯ ทำอะไร และจะกลับเข้ามาอย่างไร…จะให้มีความแข็งกร้าวและการกระทำเชิงรูปธรรมบ้าง…การปรับดุลอำนาจในลักษณะที่สหรัฐ ฯ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และอินเดียมีบทบาทในภูมิภาคมากขึ้น และลดบทบาทของจีนให้น้อยลง”

ยูนยองควาน: เศรษฐกิจ/ความมั่นคงในคาบสมุทรเกาหลีแยกกันไม่ได้ สหรัฐ ฯ ยังต้องห้ามมวย

ยูนยองควาน ให้ความเห็นว่าระเบียบระหว่างประเทศคงไม่เปลี่ยนไปจากเดิมมาก เนื่องจากทรัมป์ได้ประกาศว่าตนเองเห็นความสำคัญของการค้าเสรีอยู่ โดยอดีต รมว.กระทรวงการต่างประเทศของเกาหลีใต้คนนี้ยังแสดงทรรศนะถึงประเทศมหาอำนาจระดับกลางในภูมิภาค ว่าอาจจะมีแนวโน้มของความร่วมมือที่ใกล้ชิดกันขึ้น ซึ่งอาจใช้เวลา 4-5  ปีในการสร้างกลไกความร่วมมือที่มีประสิทธิภาพ แต่ภายใต้บริบทการเมืองของเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือที่มีภัยคุกคามตลอดเวลา เช่น ภัยคุกคามจากเกาหลีเหนือ ทำให้เงื่อนไขเวลาดังกล่าวนั้นนานเกินไป การดำเนินการทางการเมืองในภูมิภาคดังกล่าวจึงต้องพิจารณาตัวแปรดังกล่าวด้วย

ศาสตราจารย์ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจาก Seoul National Universityยังให้ความเห็นเกี่ยวกับความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ ว่าภูมิภาคดังกล่าวยังไม่มีกรอบความร่วมมือที่มีมิติด้านความมั่นคงร่วมกันในภูมิภาคดังที่ยุโรปมี OSCE และ NATO แต่ชาติในเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือนั้นยังคงมีความหวาดระแวงต่อการเสริมสร้างขีดความสามารถด้านกองกำลังของกันและกัน และมีแนวโน้มที่จะนำไปสู่การแข่งขันกันสะสมอาวุธเสียมากกว่า ดังนั้น การคงอยู่ของอิทธิพลและความสัมพันธ์ของสหรัฐ ฯ ในภูมิภาคนี้จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นในการที่จะยับยั้งการปะทุของข้อพิพาทต่างๆในมิติของความมั่นคงที่จะส่งผลกระทบต่อสภาวะทางเศรษฐกิจ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net