Skip to main content
sharethis

ตัวแทนนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญ เครือข่ายองค์กรเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมขยับ ระดมสมองยื่นรัฐบาลรื้อระบบประเมินผลกระทบสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ‘EHIA’ เดินหน้าประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ ‘SEA’ เน้นเห็นภาพกว้างทั้งหมด-ให้ประชาชนมีส่วนร่วม ปักจุดสตาร์ทที่โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่และภาคใต้

เมื่อวันที่ 2 มี.ค.2560 ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กลุ่มนักวิชาการและเครือข่ายภาคประชาสังคมด้านสิ่งแวดล้อม ร่วมจัดเวทีสาธารณะนำโดยสถาบันวิจัยสังคมจุฬาฯ เสวนาหัวข้อ ยกเครื่องระบบ EHIA - เดินหน้า SEA : เริ่มต้นจากโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ โดยตัวแทนองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมระดมร่างข้อเสนอต่อรัฐบาล ให้รื้อระบบรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ใหม่ ใช้การประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) ก่อน โดยย้ำว่ามิติความยุติธรรมทางสังคมนั้นสำคัญ การวางแผนต้องเริ่มตั้งแต่ระดับท้องถิ่นโดยผลักดันให้ประชาชนมีส่วนร่วม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตัวแทนนักวิชาการและภาคประชาสังคม แถลงข่าวข้อเสนอเบื้องต้นการปฏิรูปโครงสร้าง EHIA ต่อรัฐบาล ทั้งหมด 6 ประเด็น

ประเด็นที่ 1 ผู้ศึกษาและผู้จัดทำรายงาน EHIA ต้องกำหนดคุณสมบัติและองค์ประกอบ ความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าของโครงการกับผู้ทำรายงาน กระบวนการคัดเลือกผู้ศึกษาและงบประมาณ

ประเด็นที่ 2 โครงสร้างองค์กร เห็นว่าควรเพิ่มคณะกรรมการกำกับการจัดทำรายงาน คณะกรรมการพิจารณารายงานและคณะกรรมการรับฟังความคิดเห็นเพื่อสร้างการมีส่วนร่วม จากเดิมที่บริษัทเจ้าของโครงการเป็นผู้จัดเวทีและเกิดความไม่เป็นกลางทำให้เกิดความขัดแย้ง

ประเด็นที่ 3 กระบวนการมีส่วนร่วม เช่น เปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะโดยไม่ต้องให้ประชาชนไปร้องขอด้วยตนเอง

ประเด็นที่ 4 การศึกษาและประเมินผลกระทบ ต้องกำหนดกรอบเวลาและกรอบการศึกษาให้ชัดเจน

ประเด็นที่ 5 ขั้นตอนการพิจารณา ต้องลงพื้นที่ตรวจสอบข้อมูลอย่างเพียงพอ มีระยะเวลากำหนดกรอบเวลาในการปรับปรุง

ประเด็นที่ 6 การป้องกันและเยียวยาผลกระทบอย่างเป็นธรรม

ประสิทธิ์ชัย หนูนวล ตัวแทนเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน และนักกิจกรรมเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า การจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินที่กระบี่มีปัญหา ผู้จัดทำรายงานเป็นผู้รับจ้างโดยตรงจากเจ้าของโครงการเอง เพื่อให้โครงการผ่านไปโดยง่าย ทำให้เกิดความขัดแย้งในพื้นที่เนื่องจากยังมีคนคัดค้านเป็นจำนวนมาก เช่นที่กระบี่และสงขลา

ประสิทธิ์ชัย กล่าวต่อว่า การประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์จะเริ่มต้นที่โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ เพื่อพัฒนาทรัพยากรในพื้นที่และใช้ประโยชน์อย่างเหมาะสม เช่น การกำหนดยุทธศาสตร์ที่กระบี่ซึ่งเป็นแห่งท่องเที่ยวที่ควรรักษาทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ ประเทศไทยอยู่ได้เพราะธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ เป็นต้นทุนชีวิตทั้งเศรษฐกิจและสังคม ดังที่เรามักเห็นตัวอย่างจากยุโรปที่เขายอมจ่ายเพื่อรักษาทรัพยากรที่มี

ประสิทธิ์ชัย กล่าวว่า การสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ต้องประเมินทั้งต้นทุนภายในและนอก สร้างความรับผิดชอบด้วยเพราะที่ผ่านมามีการทิ้งขว้าง  มีการนำเอากลไกที่พิการมาใช้ดำเนินโครงการ และหลายวันที่ผ่านมาเราได้เสนอรัฐบาลไว้แล้วว่า กติกาที่มีอยู่เป็นเงื่อนไขของความขัดแย้ง กฎกระทรวงบางจุดก็ควรต้องแก้ไข และเปลี่ยนโครงสร้าง EHIA วันก่อนภาคประชาสังคมมีการเจรจากับผู้แทนรัฐบาลซึ่งยอมรับว่าระบบต้องเปลี่ยนเพราะระบบมันมีปัญหา ถ้าจะทำใหม่ต้องเริ่มต้นใหม่ สำหรับ SEA เป็นการประเมินเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนระดับยุทธศาสตร์ ด้วยการออกแบบให้มีระบบการติดตาม การตรวจสอบและมีความรับผิดชอบ

ศุภกิจ นันทะวรการ จากมูลนิธินโยบายสุขภาวะและกรรมการองค์กรอิสระสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ กล่าวว่า การประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) มีการพัฒนามาเป็นฉบับที่ 12 แล้วและถึงวันนี้อยากทำการผลักดันรายงานให้เป็นรูปธรรม เราตั้งโจทย์ชวนคุยโดยเอาโรงไฟฟ้ากระบี่เป็นจุดเริ่มต้น ความสำคัญของการปฏิรูปอยู่ที่กระบวนการคัดเลือกด้านคณะกรรมการ งบประมาณและอื่นๆ คณะกรรมการต้องออกแบบขึ้นอย่างเหมาะสมให้ประชาชนมีส่วนร่วม นำโดยการร่างข้อเสนอยกเครื่อง EHIA เดินหน้า SEA จากภาคประชาสังคมและข้อเสนอปฏิรูปโครงสร้างและระบบ EHIA จากมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ปี 2555, คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ปี 2559 และ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ปี 2559

ศุภกิจ กล่าวต่อว่า SEA หรือการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ที่สำคัญคือยุทธศาสตร์พลังงานที่จังหวัดกระบี่ และอำเภอเทพา จังหวัดสงขลา รัฐบาลประกาศว่าผลิตเพื่อความมั่นคงของไฟฟ้าในภาคใต้ สำหรับระดับยุทธศาสตร์แผนงานในอนาคตขอแลกเปลี่ยนว่า ก่อนจะทำโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน เราต้องประเมินก่อนในระดับยุทธศาสตร์ ฝ่ายพลังงานและประชาชนเปิดพื้นที่ร่วมกันได้ไหม มาคุยกันบนโต๊ะไม่ต้องไปคุยที่ข้างถนน ที่ผ่านมาเราไม่มียุทธศาสตร์ระดับท้องถิ่นมีแต่ระดับชาติ ดังนั้นจึงมีข้อเสนอให้แผนระดับตำบลด้วย เนื่องจากการทำแผนพลังงานระดับชาติไม่เคยเอาแผนระดับตำบลเข้าไปร่วม ไม่มีกระบวนการพัฒนาแผนร่วมกัน ดังนั้น SEA เราตั้งใจทำร่วมกันโดยกระบวนการตัดสินใจจากคณะกรรมการระดับภาค มีแนวคิดให้กระทรวงพลังงานทำระบบ SEA เองด้วย กระบวนการตัดสินใจต้องพยายามวิเคราะห์และตอบโจทย์ มีกลไกเชิงนโยบายจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติและคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติเพื่อประเมินผลกระทบทางสุขภาพและสามารถประเมินนโยบายได้

ศุภกิจ กล่าวอีกว่า หากดูตัวแบบ SEA จากคณะกรรมการพัฒนาที่ยั่งยืนระหว่างประเทศ มีกลไกเชิงนโยบายที่ขับเคลื่อนโดยทุกภาคส่วน ทั้งการประเมินผลกระทบ การเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยน เพื่อกำหนดให้คณะกรรมการระดับชาติเป็นคนตัดสินใจอย่างเป็นทางการต่อไป

ในกระบวนการจัดทำ SEA ต้องประสานงานกับกระทรวงพลังงานแน่นอน ให้คณะกรรมการฯ กำกับทิศทางและทุกฝ่ายเปิดพื้นที่ร่วมกัน มีการประเมินผลกระทบเพื่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ด้านพลังงานเริ่มต้นกำหนดทิศทางที่การพัฒนาอุตสาหกรรม การเกษตร การไฟฟ้า ระบบกลไกและนโยบายการบริหารจัดการ ทั้งหมดกำหนดเป็นยุทธศาสตร์และประเมินผลกระทบจากทางเลือกดังกล่าว

“การเดินหน้า SEA จะสร้างการเรียนรู้ด้วยเกม และชวนผู้ใหญ่เล่นเกม เริ่มวันที่ 27 มีนานี้ที่กรุงเทพ การทำ SEA นั้นต้องปฏิบัติจริง การลงมือทำระบบพลังงานหมุนเวียน แลกเปลี่ยนริเริ่ม มีสินเชื่อให้ประชาชนกู้ไปผลิตโซล่าเซลล์ อาจมีการสื่อสารผ่านละครเพื่อให้หลายฝ่ายเข้ามาร่วม” ศุภกิจกล่าว

ศุภกิจ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการปฏิรูป EHIA และเดินหน้า SEA เราตั้งเป้าประมาณเดือนตุลาคมปีนี้ว่าจะจัดทำให้ออกมาเป็นรายงาน โจทย์ควบคู่คือการจัดทำรายงานจากคณะกรรมการที่เหมาะสม ซึ่งขณะนี้ข้อเสนอการปฏิรูปนั้นผ่านสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) แล้วโดยให้ทำ SEA เริ่มต้นที่กระบี่และภาคใต้ ทั้งการเปิดรับฟังเพื่อให้มีกระบวนการตรวจสอบมากขึ้นและป้องกันกับดักความขัดแย้งด้านสิ่งแวดล้อมเช่นที่ผ่านมา

ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ อาจารย์จากคณะมนุษศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวเสนอความคิดเห็นว่า การจัดทำรายงาน EHIA นั้น ถ้ามีแค่ความรู้ทางวิชาการแต่ไม่มีความรู้จากท้องถิ่นจะทำให้ข้อถกเถียงไม่ประสบความสำเร็จ ดังนั้นต้องมีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน การทำรายงาน EHIA ไม่ใช่แค่โครงการพอเพียงกับจำนวนคนที่น้อยหรือมาก แต่ต้องยึดหลักความยุติธรรมทางสังคม มีภาวะที่ดีและยั่งยืน ที่สำคัญคือกระบวนการมีส่วนร่วมของสังคม คำนึงว่าคนในพื้นที่มีความพอใจมากน้อยแค่ไหน

ศุภกิจ กล่าวทิ้งท้ายว่า SEA เป็นการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ทางเลือก จากรายงาน EHIA และ EIA ที่ไม่มีความชัดเจน ถ้าไม่ลงมือทำ SEA อาจต้องรอระบบไปอีก 10 ปีหรืออาจไม่ได้ทำ อีกเรื่องคือการประเมินขีดความสามารถของประชาชน การตัดสินใจของรัฐบาลและประชาชนสำคัญไม่ต่างกัน ฝ่ายที่อำนาจและทุนมากกว่าจะยังกระทำเช่นเคยหรือไม่

บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ จากสถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีมติสั่งให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพิกถอนการทำรายงาน EIA โครงการท่าเทียบเรือบ้านคลองรั้วและการทำรายงาน EHIA โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ หลังจากพบปัญหาการจัดทำรายงานขาดการมีส่วนร่วมจากประชาชน จึงผลักดันให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ปฏิรูปโครงสร้างและกระบวนการทำรายงาน EIA และ EHIA ทั้งระบบ และต้องมีความเป็นรูปธรรม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net