ศาสนา ‘แท้-เทียม’ มีจริงหรือ?

คุยเบาๆ เสาร์อาทิตย์ จับกระแสแท้-เทียมของศาสนามาถกเถียงว่ามีอยู่จริงหรือไม่? เมื่อความจริงสูงสุดของศาสนา (ถ้ามี) ต้องตกอยู่ในมือมนุษย์ที่เดินเหินในสังคม ผ่าน 2 มุมมองนักมานุษยวิทยา 2 แนวทาง-ความจริงเชิงประสบการณ์เป็นตัวตัดสิน หรือ แท้-เทียมคือการยัดเยียดความเข้าใจทางศาสนาให้ผู้อื่น

สถานการณ์ธรรมกายถูกขยายประเด็นไปสู่ความแท้-ความเทียม ข้อกล่าวหาก็คือธรรมกายเป็นพุทธเทียม เป็นพุทธที่บิดเบือนคำสอนพุทธศาสนา เมื่อหลายปีก่อน คำสอนธรรมกายที่ระบุว่านิพพานเป็นอัตตาสร้างการโต้เถียงในวงวิชาการพุทธศาสนาอย่างกว้างขวาง บ้างถือว่านี่คือการบิดเบือนคำสอนอย่างรุนแรงที่สุดและผิดจากแก่นแกนพุทธศาสนาที่วางบนหลักอนัตตา ประยุทธ์ ปยุตโต หรือสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ก็เป็นผู้หนึ่งที่เขียนหนังสือออกมาตอบโต้ประเด็นนี้

เราคงไม่มาร่วมถกเถียงว่า ธรรมกายเป็นพุทธแท้หรือพุทธเทียม

แต่ตัว ‘ศาสนา’ ที่ไม่ว่าจะอ้างอิงความจริงสูงสุดแบบใด (ซึ่งอาจจะมีอยู่จริงก็ได้) อยู่ในมือพระผู้เป็นเจ้าหรือในมือกฎธรรมชาติ แต่เมื่อถูกดึงลงมาสู่สังคมและอยู่ในมือมนุษย์ ก็ดูเหมือนว่ามันจะมีหน้าที่และถูกหยิบฉวยช่วงใช้โดยไม่มียกเว้น ดังนั้น เมื่อผ่านแว่นและมือของความเป็นมนุษย์ที่เดินเหินอยู่ในสังคมแล้ว ความแท้-ความเทียมของศาสนาจะดำรงตนอยู่ได้หรือไม่

ความจริงเชิงประสบการณ์คือตัวตัดสิน

อภิญญา เฟื่องฟูสกุล จากภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เจ้าของงานวิจัยเรื่อง ‘ศาสนทัศน์ของชุมชนเมืองสมัยใหม่: ศึกษากรณีวัดพระธรรมกาย’ เริ่มต้นอธิบายถึงความแท้-ความเทียม ว่า

“ไม่อยากให้มองแท้กับเทียมเป็นคู่ตรงข้าม เพราะมันมีความลื่นไหล เหลื่อมกันตลอด เวลาพูดถึงความแท้ ถ้าหมายถึงแท้ที่มีไม่การปนเปื้อนจากสิ่งอื่นที่ไม่ใช่ตัวมัน มันเป็นไปไม่ได้ นั่นเพราะ เมื่อเราลากเส้นแบ่งอัตลักษณ์ใดๆ สมมติว่านี่คือวงกลม ก็ต้องตัดสิ่งที่ไม่กลมออกไป สิ่งที่ถูกปฏิเสธไปจึงเป็นด้านตรงข้ามที่ทำให้สิ่งนี้ดำรงความหมายของมันอยู่ได้ ความแท้ของสิ่งหนึ่งจึงอ้างอิงสิ่งที่ไม่ใช่ตัวมันตลอดเวลา”

เมื่อกลับมากล่าวถึงพุทธศาสนา ในสมัยของพระพุทธเจ้า คำสอนจำนวนหนึ่งก็เกิดจากการโต้วาทีกับพราหมณ์ คำศัพท์ต่างๆในพุทธ ก็ปรับเอาของพราหมณ์มาใช้ แต่มีการใส่ความหมายใหม่เข้าไป เช่นพราหมณ์บูชาไฟ พระพุทธเจ้าท่านตีความว่า ไฟคือ โลภะ โทสะ โมหะ ทำให้พราหมณ์ได้คิดและหันมานับถือพุทธศาสนา เพราะฉะนั้นมโนทัศน์พุทธตรงนี้ จึงเกิดจากอ้างอิงแต่พลิกความหมายเดิมของพราหมณ์ ฉะนั้น อะไรคือความแท้ที่ไม่ปะปนสิ่งอื่น?

อย่างไรก็ตาม ศาสนาใหญ่ๆ ในโลกอาจจะมีสิ่งหนึ่งที่เป็นมาตรฐานในการวัดความ ‘แท้’ หรือที่เรียกว่า The Absolute หรือสิ่งสัมบูรณ์ได้ ในศาสนาพุทธ การวัดเรื่องสิ่งสัมบูรณ์หรือความเป็นพุทธแท้อาจจะมีอยู่ 2 อย่างคือพระไตรปิฎกหรือคัมภีร์กับประสบการณ์ของผู้ปฏิบัติ

"ศาสนาพุทธอาศัยความเป็นจริงในเชิงประสบการณ์เพื่อบอกว่าอะไรใช่-ไม่ใช่ เป็นตัวตัดสิน”

“ในพุทธมีความจริง 2 ระดับ อย่างแรกคือระดับภาษา พระพุทธเจ้าไม่ได้ปฏิเสธความเป็นจริงระดับนี้ อย่างที่สอง ความจริงระดับปรมัตถ์หรือเหนือภาษา เป็นความจริงระดับประสบการณ์ พระไตรปิฎกเป็นความจริงระดับภาษาที่สื่อถึงความจริงระดับเหนือภาษาหรือความจริงระดับประสบการณ์ ในยุคของเรา พระไตรปิฎกถูกจารึกหลังพระพุทธเจ้าปรินิพพานสี่ร้อยกว่าปี ก่อนหน้านั้นถูกส่งผ่านมาทางการท่องจำ ก็ต้องมีการกลั่นกรองแยกแยะ แล้วจะทำอย่างไร ก็ต้องมีตัวตัดสินอีกตัวคือตัวประสบการณ์

“พระพุทธเจ้าให้ความสำคัญกับตัวประสบการณ์มาก หรือที่พูดว่าธรรมะเป็นสิ่งรู้ได้เฉพาะตน ลักษณะของSubjective Experience มีทั้งจุดอ่อนจุดแข็ง จุดแข็งคือมันเป็นประสบการณ์เชิงลึกในระดับจิตวิญญาณของมนุษย์ สิ่งนี้ไม่ใช่เฉพาะในทางศาสนา ในปรัชญาตะวันตกก็พูดถึง Subjective Experience ในฐานะหัวใจของความเป็นมนุษย์ ตัวอย่างเช่นแนวคิดอัตถิภาวะนิยมที่จะเน้นเรื่องความแท้ (Authentic) ของประสบการณ์”

แต่จุดอ่อนของ Subjective Experience คือสังเกตและวัดในเชิงปรนัยได้ยากยิ่ง อย่างไรก็ตาม ก็มีความพยายามศึกษาวิจัยประสบการณ์ดังกล่าวในเชิงประจักษ์  มีงานวิจัยของตะวันตกที่เปรียบเทียบการทำสมาธิของคนต่างศาสนา ต่างนิกาย โดยตัวผู้ศึกษาเองก็ปฏิบัติด้วย และยังศึกษาจากคัมภีร์ จากการสัมภาษณ์คนปฏิบัติ จนได้ผลสรุปที่น่าสนใจมากว่าแม้จะใช้วิธีการทำสมาธิที่แตกต่างกัน แต่พบว่าผู้ปฏิบัติมีขั้นตอนพัฒนาการของประสบการณ์ทางจิตที่มีลักษณะคล้ายกันและเมื่อถึงจุดหนึ่งจะพบลักษณะที่อธิบายเป็นภาษาไม่ได้ หมายความว่าพัฒนาการของจิตมีความเป็นสากล ไม่ว่าจะใช้วิธีการปฏิบัติแบบไหน

“แต่มีหักมุมว่า เมื่อออกจากการปฏิบัติและต้องใช้ภาษามาอธิบายประสบการณ์แปลกประหลาดนั้น แต่ละคนจะใช้กรอบศาสนาของตัวเองอธิบายประสบการณ์ของตนเองแตกต่างกันไป แม้เนื้อแท้ของตัวประสบการณ์คล้ายกัน นี่เป็นข้อพิสูจน์ในเชิงระบบว่าพัฒนาการของมนุษย์ในทางจิตวิญญาณอาจจะมีความใกล้เคียงกัน คือมีลักษณะเป็นสากลและคล้ายคลึง แต่สิ่งที่เป็นลักษณะเฉพาะทางวัฒนธรรมคือตัวภาษาหรือวาทกรรมที่จะใช้อธิบายประสบการณ์นั้นแตกต่างกันไปในแต่ละศาสนา จะเห็นว่าความจริงระดับภาษาและความจริงเหนือภาษามันปะปนซ้อนทับอยู่ด้วยกัน”

ถ้าเช่นนั้น การพิสูจน์ความแท้-ความเทียมในพุทธศาสนานั้นมีอยู่หรือไม่ อย่างไร อภิญญา กล่าวว่า

“ในพุทธ ถ้าปฏิบัติถูกทาง ความยึดติดจะต้องหายไป ตัวตนหายไป และเกิดความเป็นอุเบกขามากขึ้น ดังนั้น ถ้าสำนักไหนปฏิบัติไปแล้ว อาจารย์ยังอยากเป็นต้นธาตุของจักรวาล สะสมของมีค่า อาณาจักรหมื่นล้าน ก็บอกได้ว่าไม่ใช่ พระไตรปิฎกจะย้ำถึงการละความยินดียินร้ายในโลก ว่าเป็นผลจากการปฏิบัติ มันมีหลักการพิสูจน์อยู่ ตัวชี้วัดคือการไร้ความยึดติด ศาสนาพุทธอาศัยความเป็นจริงในเชิงประสบการณ์เพื่อบอกว่าอะไรใช่-ไม่ใช่ เป็นตัวตัดสิน”

แต่ทำไมความแท้-ความเทียมของศาสนาจึงสำคัญนักต่อมนุษย์ จนถึงขั้นโต้เถียงและก่อสงคราม? มีบางสำนักคิดเสนอว่า ลึกลงไปในโครงสร้างจิตใจ เรามี ‘ความพร่อง’ (Sense of Lack) ที่ถมไม่เต็ม ผู้คนดิ้นรน หลีกหนีด้วยการนิยามตนเองผ่านศาสนา ศิลปะ หรืออุดมการณ์การเมือง ในวิถีการเติมเต็ม  เราจึงเพียรสร้างโครงสร้าง สถาบันสังคมวัฒนธรรมต่างๆ มารองรับปฏิบัติการของเรา เมื่อสร้างมากๆ เข้า ตัวประสบการณ์จึงถูกกลบ หลงลืมอยู่ใต้เปลือกของวาทกรรม และปฏิบัติการแห่งอำนาจ มันมีความน่ากลัวตรงที่ว่า หลายๆ ครั้งในนามของศาสนา ก็ใช้สิ่งนี้เป็นมาตรการแห่งอำนาจไปกดข่มคนอื่น เราจะเห็นสิ่งนี้เกิดขึ้นในหลายยุค

กลับมาในส่วนขององค์กรพุทธบ้านเรา อภิญญา กล่าวว่า รัฐก็ดีหรือมหาเถรสมาคมก็ดี มีความรับผิดชอบเชิงโครงสร้างสถาบัน คือการจัดระเบียบสังคม เมื่อเขามีหน้าที่ตรงนี้ เขาก็จะต้องสถาปนาหรือชี้ว่าอันไหนใช่หรือไม่ใช่ แท้ หรือไม่แท้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทุกสิ่งที่เขาสถาปนาขึ้นมาจะเป็นสิ่งที่ถูกต้องเสมอไป ถึงที่สุดแล้ว น่าจะดูว่ามันเป็นทัศนคติที่สอดคล้องกับการละคลายตัวตนหรือไม่  

“พระพุทธเจ้าสิ้นไปแล้ว ยุคนี้ไม่มีใครที่พูดแล้ว ทุกคนยอมรับ จึงเหลือแต่ตัวพระไตรปิฎกซึ่งถูกตีความไปต่างๆ ก็มองว่าการที่ปล่อยให้มีการดีเบตกันดีกว่าไม่ให้มีการดีเบตเลย การดีเบตจะเป็นการให้ความรู้แก่คน อาจทำให้คนกลับไปอ่านพระไตรปิฎกมากขึ้น แล้วเอามาสอบทานกับประสบการณ์การเดินทางทางจิตวิญญาณของตนเอง ปัญหาอย่างหนึ่งของสังคมไทยคือการมองการวิพากษ์ในเชิงลบ ทั้งที่การดีเบตจะทำให้คนไตร่ตรองและคิด ไม่ต้องห่วงว่ามีการดีเบตแล้ว จะไม่มีหลักการมาตัดสินได้ว่า ดีเบตเอดีกว่าหรือถูกกว่าดีเบตบีหรือไม่ ก็คือกลับไปหาตัวชี้วัดในการปฏิบัติหรือประสบการณ์จากการปฏิบัติ ว่าเมื่อคุณปฏิบัติแล้วกิเลสลดลงหรือไม่ ในสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าดีเบตบ่อยมาก และบ่อยครั้ง ท่านให้คู่ดีเบตมาลองปฏิบัติดูเลย แต่เมื่อใด เจอคนที่ไม่เน้นดีเบต แต่ตั้งใจก่อกวน หรือสร้างความเท็จมาใส่ร้าย ท่านใช้การนิ่ง ไม่ดีเบตด้วย นี่อาจเป็นแนวทางสำหรับการวางท่าทีในปัจจุบันได้”

แท้-เทียมคือการยัดเยียดความเข้าใจศาสนาแบบหนึ่งให้แก่ผู้อื่น

ด้านยุกติ มุกดาวิจิตร จากคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แสดงทัศนะเรื่องความแท้-ความเทียมของศาสนาว่า ไม่มีความแท้-ความเทียมของศาสนา ไม่ว่าจะศาสนาไหนๆ ทั่วโลก เพราะศาสนาถูกเข้าใจ ถูกจัดการ ถูกตีความ ถูกดัดแปลง ไปตามยุคสมัยและวัฒนธรรมที่ตัวศาสนาเข้าไปสัมพันธ์ด้วยเสมอ ทำให้พบว่าคริสต์ศาสนาในฟิลิปปินส์ไม่เหมือนกับคริสต์ศาสนาในอเมริกาใต้ แล้วก็ไม่เหมือนกับในวาติกัน หรืออย่างน้อยที่สุด บางส่วนที่ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นในแต่ละที่ก็ไม่เหมือนกัน

“ถ้าจะยกตัวอย่างงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ศึกษาเรื่องฟิลิปปินส์ คริสต์ศาสนาที่เขาศึกษามีการหยิบยกเอาพิธีการ เอาการไถ่บาปของพระเยซู ตอนที่พระเยซูตรึงกางเขน หยิบมาแสดงโดยชาวบ้านเองมาแสดง และแสดงความเจ็บปวดด้วย คือไม่ใช่แสดงเป็นละครธรรมดา แต่ว่าแสดงในพื้นที่โล่งแจ้ง มีการตอกตะปูกับมือลงบนกางเขนจริงๆ แล้วการตอกนี้ไม่ได้อยู่ในภาวะที่คนคนนั้นเข้าฌานบางอย่าง แต่เป็นภาวะที่เขารู้สึกตัวเสมอ คือเจ็บจริง แต่เต็มใจ

“มันไม่ใช่พิธีกรรมที่ที่อื่นทำกัน แต่ก็เป็นส่วนหนึ่งของคริสต์ศาสนาเหมือนกัน แน่นอนก็จะมีคนบอกว่านี่ไม่ใช่ศาสนาคริสต์ที่แท้จริง แต่หลังการปฏิรูปศาสนาเป็นต้นมา ข้อถกเถียงก็เริ่มตั้งแต่ตรงนั้นแล้วว่าตกลงศาสนาคริสต์ที่แท้จริงคืออะไร ในแบบคาทอลิกก็ไม่จริง ในแบบโปรเตสแตนท์ พวกคาทอลิกก็บอกว่าไม่จริงเหมือนกัน ณ ปัจจุบันก็มีอีกหลายนิกาย ในแต่ละที่ก็ไม่เหมือนกัน แล้วคุณจะบอกว่าศาสนาคริสต์ที่แท้จริงอยู่ตรงไหน ในคัมภีร์ไบเบิ้ลเหรอ แล้วจะเอาคัมภีร์เก่าหรือคัมภีร์ใหม่ ศาสนาที่แท้จริง เถียงกันไปก็ไม่รู้จบ”

ยุกติกล่าวอีกว่า แม้อาจสรุปได้ว่าศาสนาขึ้นอยู่กับการตีความ แต่ก็ไม่ใช่เสียทีเดียว ความต่างอยู่ที่ศาสนาไม่ใช่หนังสือเล่มเดียวที่ผู้อ่านตีความ แต่ศาสนาเป็นหลักความคิดและมีองค์กร มีสถาบันทางสังคมรองรับ ฉะนั้น การที่หลักความคิดถูกอ่านหรือถูกตีความโดยคนจำนวนมากที่นับถือศาสนานั้น จึงไม่เหมือนการอ่านหนังสือบางเล่มแล้วตีความ เพราะความหมายของแต่ละคัมภีร์ศาสนาที่ถูกตีความโดยสถาบันทางศาสนายังขึ้นกับว่าสถาบันนั้นอยู่กับส่วนไหนของสังคม

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าสถาบันศาสนาอยู่กับชนชั้นสูงของสังคม การที่ศาสนาถูกตีความโดยชนชั้นสูง ก็ย่อมเป็นแนวทางที่เอื้อประโยชน์ให้กับชนชั้นสูงมากกว่า แต่ถ้าศาสนาถูกสร้างขึ้นมาโดยกลุ่มคนที่อยู่ในชนชั้นล่างก็จะถูกตีความคนละแบบ

“การพูดถึงความแท้ ความเทียม มันคือการยัดเยียดเอาความเข้าใจศาสนาแบบหนึ่งให้แก่ผู้อื่นเสียมากกว่า”

ยุกติอธิบายประเด็นนี้ผ่านงานศึกษาเรื่องพระเวชสันดรว่า การเทศน์พระเวชสันดรในแต่ละถิ่นในประเทศไทย เทศน์ไม่เหมือนกัน ในภาคกลางจะเน้นเรื่องทานบารมี การทำให้พระเวชสันดรมีสถานะที่ได้รับการยอมรับสูงมาก เป็นที่เคารพยกย่อง และมีลักษณะการเทศน์ที่เรียบร้อย ขณะที่ในอีสานการเทศน์พระเวชสันดรจะเป็นงานบุญใหญ่ ชุมชนทั้งชุมชนมาเข้าร่วม ไม่เหมือนการเทศน์ในกรุงเทพฯ ที่มีลักษณะที่พวกเจ้านายไปจัดงานเทศน์เพื่อทำบุญ แต่ในภาคอีสานมีลักษณะงานบุญทางสังคมมากกว่า แต่กัณฑ์ที่ภาคอีสานเน้นจะเป็นกัณฑ์ที่มีลักษณะประนีประนอม คือการกลับเข้าสู่นครของพระเวชสันดร คือกัณฑ์สุดท้าย

“แต่ภาคเหนือจะมีลักษณะพิเศษ การเทศน์ของภาคเหนือจะเน้นกัณฑ์ชูชก ทำไมชูชกจึงถูกยกย่องในภาคเหนือ ทั้งที่เราเรียนเวอร์ชั่นของภาคกลาง ที่ชูชกน่าเกลียด ตะกละ มักมาก ไม่ควรเอาเป็นเยี่ยงอย่าง แต่สำหรับคนภาคเหนือทำไมกัณฑ์ชูชกจึงสำคัญ เพราะเขาเน้นบทบาทของการล้อเลียนผู้มีอำนาจ พระเวชสันดรชาดกของคนเหนือไม่ใช่จำนนต่ออำนาจ แต่สิ่งที่เขาให้ความสนใจคือการท้าทายอำนาจ ชูชกเป็นตัวตลกที่ล้อเลียนอำนาจ วิธีเทศน์ก็จะเทศน์อย่างสนุกสนาน ตลกโปกฮา ดังนั้น คุณจะบอกว่าอันไหนคือศาสนาพุทธที่แท้ มันก็ไม่มีอยู่ดี

“หรือถ้าไปดูตามภาคต่างๆ พุทธศาสนาก็มีจุดเน้นที่ต่างกัน มีความสนใจที่ต่างกัน แนวครูบาของทางภาคเหนือ คนภาคกลางก็ไม่มีวันเข้าใจหรอกว่า โลกทัศน์ของการมีครูบาเป็นยังไง แล้วการที่ศาสนาพุทธพยายามจะเป็นเอกภาพก็เกิดขึ้นมาจากส่วนกลางที่พยายามควบคุมศาสนามากกว่า”

เหตุนี้ สำหรับยุกติแล้ว การถกเถียงเรื่องความแท้ ความเทียมของศาสนา ในที่สุดแล้วก็เป็นเพียงการข่มกันเสียมากกว่า เขาตั้งคำถามว่าศาสนาพุทธที่เข้าไปในชุมชนขนาดเล็กสักแห่ง คนในชุมชนจะเข้าใจศาสนาพุทธนั้นอย่างไร สมมติว่ามีวัดหนึ่งในชุมชน คนในชุมชนจะคิดว่าศาสนาพุทธหรือวัดวัดนี้มีไว้เพื่ออะไรในแบบเดียวกันทั้งหมดหรือ? เขาตอบคำถามนี้เองว่า เป็นไปไม่ได้ แม้แต่พระในวัดเดียวกันก็อาจจะมองบทบาทของวัดในแบบที่ต่างกันออกไป

“การพูดถึงความแท้ ความเทียม มันคือการยัดเยียดเอาความเข้าใจศาสนาแบบหนึ่งให้แก่ผู้อื่นเสียมากกว่า”

ขณะเดียวกัน ยุกติก็ไม่เชื่อว่าคัมภีร์ศาสนาจะสามารถบอกความแท้ ความเทียมได้ เพราะแม้แต่พระไตรปิฎกก็มีความขัดแย้งกันเองตั้งมากมายอยู่ในนั้น หรือในศาสนาที่มีคัมภีร์อยู่เล่มเดียว อย่างศาสนาอิสลาม ก็ยังมีการโต้เถียงกันอยู่ตลอดเวลาว่าตกลงสิ่งนี้ สิ่งนั้นทำได้หรือไม่

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท