Skip to main content
sharethis

โฆษก กอ.รมน. แจงเหตุห้ามนำเครื่องมือสื่อสารเข้าคุยปรองดองในเวทีต่างจังหวัด หวั่นคนนำข้อมูลในการพูดคุยไปขยายความ หรือบิดเบือนจนผิดข้อเท็จจริง ระบุชัดผู้จดบันทึกการพูดคุยจะมีเพียงรัฐบาลเท่านั้น ด้านพลเอกประยุทธ์ เปิดประชุมป.ย.ป. พบปะ 39 ผู้ทรงคุณวุฒิเป็นครั้งแรก

6 มี.ค. 2560 มติชนออนไลน์ รายงานว่า ธนาคม จงจิระ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ เป็นประธานเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดองจังหวัดนครสวรรค์ ณ ศาลาประชาคม ศาลากลางจังหวัดนครสวรรค์ โดยมีวิทยากร อาจารย์ ผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ นักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยภาคกลาง และวิทยาลัยพยาบาลนครสวรรค์ เป็นผู้แทนเสนอความคิดเห็นในประเด็นต่างๆ 10 ด้าน ซึ่งรัฐบาลได้กำหนดมาแล้วนั้น

ธนาคมเปิดเผยว่า การเปิดเวทีเพื่อรับฟังความคิดเห็นเพื่อสร้างความสามัคคีและปรองดองจังหวัดนครสวรรค์ เป็นครั้งแรกจากจำนวน 3 ครั้ง เพื่อการบันทึกข้อมูลจากเวทีจังหวัดเสนอไปยังรัฐบาลเพื่อการปฏิรูปต่อไป ซึ่งในวันนี้มีผู้แทนจากสถาบันการศึกษาในจังหวัดมาเสนอความคิดเห็นแบบสร้างสรรค์ โดยเบื้องต้นได้ให้คณะกรรมการรวบรวมรายงานทั้งหมดจากทุกความคิดเห็นเพื่อเสนอไปยังรัฐบาล

“ในการเปิดเวทีครั้งนี้เป็นการรับฟังความคิดเห็นเพื่อความปรองดองลดความขัดแย้ง จะไม่ให้สื่อสารมวลชนเข้าร่วมฟัง จากนี้จะปิดห้องประชุมรับฟังความคิดเห็น เพื่อให้คนเสนอความคิดเห็นได้เสนออย่างเต็มที่ จะมีเพียงผู้บันทึกรายงานเสนอรัฐบาลท่านนั้น ผู้ร่วมเสนอความคิดเห็นจะไม่มีมือถือเข้ามาด้วย จะต้องเอาไว้ข้างนอก เพราะว่าหากใครเอาภาพหรือข้อความในห้องประชุมไปตัดต่อ จะสร้างความเข้าใจผิด จะเพิ่มความขัดแย้ง ดังนั้น เวทีรับฟังความคิดเห็นจะไม่ให้ผู้อื่นที่ไม่เกี่ยวข้องเข้าร่วมฟังหรือเสนอข่าวสารใด” ธนาคมกล่าว

ด้าน พ.อ.อนุสรณ์ ธูปทอง รอง กอ.รมน.จังหวัดนครสวรรค์ กล่าวว่า ให้นิสิตที่เข้าร่วมเสนอความคิดเห็นทั้ง 3 มหาวิทยาลัยนำเอามือถือไปไว้ข้างนอกห้องประชุมทุกคน เพื่อความสบายใจที่ทุกคนจะได้เสนอความคิดเห็นเต็มที่ ไม่ต้องถ่ายรูปหรือบันทึกเสียงไปบอกต่อนอกห้องประชุมนี้ เพราะว่าเวทีดังกล่าวจะนำเสนอความเห็นแบบปิด ไม่ต้องการขยายความไปข้างนอก จะมีเพียงเจ้าหน้าที่และผู้ร่วมเสนอความคิดเห็นเท่านั้น

ขณะที่ พ.อ. พีรวัชฌ์ แสงทอง โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) กล่าวถึงกระบวนการปฏิบัติในการรับฟังความคิดเห็นเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดองในพื้นที่จังหวัด ที่ กอ.รมน.จังหวัด ได้จัดขึ้นในขณะนี้ ว่า ในลำดับแรก กอ.รมน.จังหวัด จะแต่งตั้งคณะทำงานรับฟังความคิดเห็นเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดองในพื้นที่จังหวัด ซึ่งคณะทำงานจะประกอบไปด้วยหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และหรือบุคคลที่ผู้ว่าราชการจังหวัด ในฐานะผอ.รมน.จังหวัดพิจารณาแล้วเห็นว่ามีความเหมาะสม โดยคณะทำงานชุดนี้จะมีหน้าที่ เรียนเชิญกลุ่มต่างๆในพื้นที่จังหวัดมาให้ความคิดเห็น ประสานการปฏิบัติ และจัดทำแผนงานการรับฟังความคิดเห็น และรวบรวมความคิดเห็นของกลุ่มต่างๆนำเสนอ กอ.รมน. ตามสายงานบังคับบัญชา โดยกระบวนการรับฟังความคิดเห็นนั้น ทางคณะทำงานจะรับฟังความคิดเห็นจากกลุ่มต่างๆในกรอบหัวข้อเดียวกันกับคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง ทั้ง 10 หัวข้อ แต่อาจจะมีการปรับคำถามให้สอดคล้องกับพื้นที่ของตนเองได้บ้าง โดยให้หัวข้อรับฟังความคิดเห็นยังคงอยู่ในกรอบของคำถามหลักที่ได้ตั้งไว้ ซึ่งในการรับฟังความคิดเห็นนั้นจะให้ทุกภาคส่วนแสดงความคิดเห็นอย่างอิสระ เสรี ปราศจากการครอบงำ และเป็นข้อมูลเชิงสร้างสรรค์เพื่อประโยชน์ต่อส่วนรวม

“เพื่อเป็นการป้องกันการนำข้อมูลหรือข้อคิดเห็นในการประชุมทั้งของตนเองหรือผู้เข้าร่วมประชุมไปเผยแพร่ก่อนเวลาอันควร ซึ่งอาจจะเป็นการชี้นำความคิดเห็นให้กับกลุ่มอื่นๆหรือพื้นที่อื่นๆได้ ทางกอ.รมน. จึงได้กำหนดข้อห้ามไม่ให้นำอุปกรณ์เครื่องมือสื่อสารหรืออุปกรณ์อิเลคทรอนิคส์ทุกชนิดนำเข้าในที่ประชุมรับฟังความคิดเห็น” พ.อ.พีรวัชฌ์ กล่าว

ประยุทธ์ เปิดประชุม ป.ย.ป. พร้อมพบปะ 39 ผู้ทรงคุณวุฒิเป็นครั้งแรก

ด้านสำนักข่าวไทย และผู้จัดการออนไลน์ รายงานด้วยว่า 12.30 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิ รูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.)

โดยสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะเลขานุการฯ แถลงภายหลังการประชุมว่า วิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ได้ชี้แจงถึงยุทธศาสตร์ชาติ การขับเคลื่อนการปฏิรูปหลังจากมีรัฐธรรมนูญ ถึง พ.ร.บ. หรือกฎหมายรองรับในทั้ง 7 ด้านมีอย่างไรบ้าง ซึ่งในที่ประชุมนายกฯ มองว่าผู้ทรงคุณวุฒิทั้ง 39 คน ไม่ได้มีหน้าที่เฉพาะให้คำปรึกษากับคณะกรรมการมินิคาบิเนตเท่านั้น แต่จะให้มีการหารือกันระหว่าง ป.ย.ป. และผู้ทรงคุณวุฒิในองค์รวม หรือจัดทำเวิร์คช็อปร่วมกัน โดยในวันนี้หลายท่านมีความคิดเห็นที่หลากหลาย โดยเฉพาะศุภชัย พานิชภักดิ์ ได้ระบุว่าดัชนีชี้วัดหลายตัวของประเทศไทยในเวทีนานาชาติ ทั้งเรื่องธรรมาภิบาล นวัตกรรมอยู่ในทิศทางที่ดีขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องดีที่สื่อจากภายนอกมองภาพประเทศไทยเป็นบวกมากขึ้น นอกจากนี้ประเด็นที่มีความเห็นพ้องต้องกันคือเรื่องคุณภาพคน ที่ต้องร่วมกันพัฒนาโดยมองว่าทรัพยากรมนุษย์ไม่ใช่เรื่องกระทรวงศึกษาธิการอย่าเดียว แต่ต้องร่วมดำเนินการหลายภาคส่วนโดยใช้แนวทางประชารัฐ ขณะที่เรื่องการขับเคลื่อนการปฏิรูปนั้นก็มีหลายเรื่องที่ดำเนินการไปแล้ว ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งจะทำอย่างไรให้ ประชาชนทราบในสิ่งที่ได้ทำไปแล้ว
       
“จุดที่เน้นมากในการประชุมวันนี้ คือการทำอย่างไรให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้น ผมได้รับมอบหมายให้ประสานกับผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อดูว่าเราจะสร้างกลไกลงไปขับเคลื่อนเรื่องยุทธศาสตร์การปฏิรูป และการปรองดองในภาพรวม และจะสร้างกลไกให้ประชาชนมีส่วนร่วมในเรื่องเหล่านี้อย่างไร โดยใช้กระบวนการประชารัฐ” สุวิทย์ กล่าว

สุวิทย์ กล่าวต่อว่า ในที่ประชุมได้พูดถึงเรื่องยุทธศาสตร์ชาติ โดยมีความเห็นหลากหลายว่าใน 7 มิตินั้น น้ำหนักความสำคัญด้านความมั่นคง ทรัพยากรมนุษย์ ขีดความสามารถ จนกระทั่งเรื่องความเลื่อมล้ำ หัวใจสำคัญเห็นควรว่าจะต้องไปเน้นเรื่องคนเป็นพิเศษ อย่างไรก็ตามจากนี้ผู้ทรงคุณวุฒิที่เกี่ยวข้องทั้ง 4 คณะ ก็จะลงไปช่วยให้ข้อคิดเห็นและคำแนะนำตามคณะของตนเอง พร้อมกับหารือในภาพใหญ่ขององค์ รวมทั้ง 39 คน เนื่องจากที่ประชุมเห็นว่าผู้ทรงคุณวุฒิทั้งหมดมีประสบการณ์ และองค์ความรู้ที่มากกว่าในคณะของตนเอง ทั้งนี้นายกฯ ย้ำว่าให้เริ่มผลักดันในเรื่องการสร้างความรับรู้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

 ส่วนกรณีประชาชนเริ่มสับสนเนื่องจากมีคณะทำงานจำนวนมากยากต่อการจดจำ สุวิทย์ กล่าวว่า ไม่น่าจะสับสน เพราะหลังจากนี้จะเป็นการรวบยอดการทำงาน การขับเคลื่อนประเทศคือกลไกของป.ย.ป. ไม่ว่าจะเป็นยุทธศาสตร์ปฏิรูปหรือปรองดอง คณะที่เหลือจะเป็นการระดมสรรพกำลังและให้ผู้ทรงคุณวุฒิมาช่วยกันขับเคลื่อน หากซ้ำซ้อนหรือภารกิจเสร็จสิ้นจะยุบรวมกัน ไม่ให้เกิดความสับสน หลังจากนี้หนึ่งเดือนจะจัดทัพ  บางคณะเริ่มคิกออฟทำงานแล้ว ทั้งคณะของพล.อ.อ.ประจินต์ จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี คณะปฏิรูปที่นายกรัฐมนตรีนำเองเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

“คณะปรองดองมีความคืบหน้าระดับหนึ่ง หลังจากนี้จะมาจัดลำดับความสำคัญในการขับเคลื่อนและกลไกไหนที่ทับซ้อนจะยุบเลิก อีกส่วนเป็นเรื่องที่จะประชุมเลขานุการของทุกคณะเพื่อช่วยการบูรณาการ จะมีการประชุมช่วงหลังสงการนต์ อาจจะประมาณวันที่ 25 เมษายน” สุวิทย์ กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net