จีรวัสส์ ปันยารชุน บุตรี 'จอมพล ป. พิบูลสงคราม' เสียชีวิต

จีรวัสส์ ปันยารชุน หรือนามสกุลเดิม พิบูลสงคราม บุตรีของจอมพล ป.-ท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม อดีตนายร้อยทหารบกหญิงรุ่นแรกของประเทศไทย เสียชีวิตแล้วเมื่อวันที่ 6 มีนาคม รวมอายุ 96 ปี รดน้ำศพที่ตึกติสสมหาเถระ วัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน 7 มีนาคม เวลา 17.00 น. และจะสวดพระอภิธรรมระหว่างวันที่ 7-15 มีนาคม

7 มี.ค. 2560 มีรายงานว่าจีรวัสส์ ปันยารชุน หรือนามสกุลเดิม พิบูลสงคราม บุตรีของจอมพล ป. พิบูลสงคราม และท่านผู้หญิง ละเอียด พิบูลสงคราม เสียชีวิตแล้วเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2560 รวมอายุ 96 ปี

สำหรับพิธีรดน้ำศพ จัดขึ้นในวันที่ 7 มีนาคม 2560 เวลา 17.00 น. ที่ตึกติสสมหาเถระ วัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน กรุงเทพมหานคร สำหรับพิธีสวดพระอภิธรรม วันที่ 7-10 มีนาคม เวลา 18.30 น. จะมีพิธีสวดพระอภิธรรมที่ตึกติสสมหาเถระ วันที่ 11-15 มีนาคม สวดพระอภิธรรมที่ศาลาพ่วงจินดา

จีรวัสส์เกิดเมื่อ 1 ตุลาคม 2464 เป็นบุตรีคนที่ 3 ในจำนวนบุตรและบุตรี 6 คน ของจอมพล ป. พิบูลสงคราม และท่านผู้หญิง ละเอียด พิบูลสงคราม ศึกษาที่โรงเรียนสตรีวิทยา และต่อมาเมื่ออยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ย้ายไปเข้าโรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย

ด้านชีวิตครอบครัว จีรวัสส์ สมรสกับ พันตรีรักษ์ ปันยารชุน พี่ชายของอานันท์ ปันยารชุน โดยไม่มีบุตรด้วยกัน

ทั้งนี้ในงานทำบุญเนื่องในวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 จีรวัสส์ และลูกหลานของคณะราษฎรมักเดินทางไปทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับบรรพบุรุษที่วัดพระศรีมหาธาตุบางเขน รวมทั้งมาฟังการปาฐกถาที่สถาบันปรีดี พนมยงค์ ย่านทองหล่อ อยู่เสมอ

(แฟ้มภาพ) ทายาทคณะราษฎรในวันทำบุญเมื่อ 24 มิถุนายน 2552 มีทั้งศุขปรีดา พนมยงค์ (ที่ 2 จากซ้าย) นิตย์ พิบูลสงคราม (ที่สี่จากซ้าย) และจีรวัสส์ ปันยารชุน (ที่ห้าจากซ้าย)

(จากซ้ายไปขวา) พันโทหญิง ท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม จอมพล ป. พิบูลสงคราม และว่าที่ร้อยตรีหญิงจีรวัสส์ พิบูลสงคราม

อนึ่งจีรวัสส์ ยังเป็น 1 ใน 28 นายร้อยทหารบกหญิงรุ่นแรกของประเทศไทยด้วย ระหว่างเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 หลัง 8 ธันวาคม 2484 จีรวัสส์ซึ่งขณะนั้นศึกษาต่ออยู่ที่สหรัฐอเมริกา ได้เดินทางกลับประเทศไทย ต่อมาเดือนสิงหาคม 2485 กระทรวงกลาโหมเปิดรับสมัครเข้าศึกษาวิชาในโรงเรียนทหาร

ในเว็บไซต์ของนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ระบุด้วยว่า เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2485 กรมยุทธศึกษาทหารบก (ร.ร.จปร.) ได้ประกาศรับสมัครนักเรียนนายร้อยหญิง โดยประกาศด้วยใบปลิว ทางหนังสือพิมพ์ และทางวิทยุกระจายเสียง และได้เริ่มเปิดรับสมัคร ณ ที่ว่าการกรมยุทธศึกษาทหารบก ถนนราชดำเนินนอก ตั้งแต่วันที่ 10 กันยายน 2485 ถึงวันที่ 18 กันยายน 2485 ซึ่งรับผู้หญิงที่สำเร็จชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 อายุตั้งแต่ 18 ถึง 24 ปีบริบูรณ์ มีนามตัวและนามสกุล และสัญชาติเป็นไทย บิดามารดาต้องเป็นคนไทยโดยกำเนิด ฯลฯ นักเรียนนายร้อยหญิงทหารบก เมื่อเรียนจบหลักสูตรและสอบได้แล้ว จะได้รับการบรรจุเข้ารับราชการในตำแหน่งผู้บังคับบัญชา ประจำกรมกองทหารหญิง ในตำแหน่งนายทหารชั้นสัญญาบัตร ได้เงินเดือนชั้น 26 หรือ เดือนละ 80 บาท แต่เมื่อสมรสแล้ว ต้องออกจากประจำการ

บทความของโรม บุนนาค ในเมเนเจอร์ออนไลน์ ระบุว่า ผู้ที่สมัครรุ่นแรกและได้รับคัดเลือกมีเพียง 28 คน โดยจีรวัสส์ พิบูลสงคราม เป็นผู้สมัครหมายเลข 1 โดยการฝึกนักเรียนนายร้อยหญิงเป็นหลักสูตรเร่งรัด 6 เดือนแรกเป็นภาควิชาการ 6 เดือนหลังเป็นภาคปฏิบัติ โดยนักเรียนนายร้อยหญิงที่ผ่านหลักสูตรได้รับบรรจุเข้ารับราชการเมื่อเดือนมกราคม 2487 ตำแหน่งผู้บังคับหมวด สำรองราชการมณฑลทหารบกที่ 1 เป็นว่าที่ร้อยตรีหญิง นอกจากนี้รัฐบาลในเวลานั้นยังตั้งโรงเรียนนายสิบหญิงที่ลพบุรี และตั้งกองพันทหารหญิงชื่อว่า "กองพันสุรนารี กรมทหารสุริโยทัย" มีที่ตั้งอยู่ที่ลพบุรี

อย่างไรก็ตามปลายเดือนกรกฎาคม 2488 หลังจอมพล ป. พิบูลสงคราม ลาออกเนื่องจากแพ้ลงมติในสภาไม่ยอมผ่านพระราชบัญญัติเพื่ออนุมัติพระราชกำหนด 2 ฉบับ เกี่ยวกับเรื่องสร้างเมืองหลวงใหม่ที่เพชรบูรณ์ โดยการลาออกของจอมพล ป. ทำให้นโยบายทางการทหารของไทยเปลี่ยนแปลง กองทัพบกได้ออกคำสั่งพิเศษ ให้เปลี่ยนสถานะของนายร้อยหญิงและนายสิบหญิง มาเป็นข้าราชการกลาโหมพลเรือนประเภทสามัญทั้งหมด ผู้ที่จะลาออกเพราะไม่สมัครใจจะรับราชการต่อก็ให้ออกไปได้โดยไม่มีบำเหน็จบำนาญ ทำให้กิจการนายร้อยทหารบกหญิงต้องยุติลง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท