Skip to main content
sharethis

มัสยิดนิกายซูฟีมีภาพลักษณ์ที่เปิดกว้างยอมรับความหลากหลายแต่ก็ถูกโจมตีจากกลุ่มหัวรุนแรงว่า "บ่อนทำลายอิสลามแท้" และเมื่อช่วงกลางเดือนที่แล้วเกิดเหตุโจมตีมัสยิดนิกายนี้หลายครั้งในปากีสถานซึ่งบางส่วนเป็นฝีมือของกลุ่มก่อการร้าย แต่เหตุใดรัฐบาลที่อ้างการปราบปรามก่อการร้ายถึงละเลยปล่อยให้กลุ่มหัวรุนแรงบางกลุ่มก่อเหตุกับมุสลิมที่เปิดกว้างเช่นนี้

Shrine of Lal Shahbaz Qalandar view5
ลัล ชาห์บาซ คาลานดาร์ 
ภาพโดย Saqib Qayyum (Own work) [
CC BY-SA 3.0], via Wikimedia Commons


7 มี.ค. 2560 บทความในอีสต์เอเชียฟอรัมของ ซานา แอชราฟ นักศึกษาปริญญาเอกด้านมานุษยวิทยาจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลียและ โรสิตา อามิเทจ นักวิจัยจากวิทยาลัยการปกครองและสังคม มหาวิทยาลัยแห่งเบอร์มิงแฮม เขียนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ระเบิดพลีชีพเมื่อวันที่ 16 ก.พ. ที่ผ่านมาในเมืองเซห์วาน จังหวัดสินธ์ ประเทศปากีสถาน โดยเหตุเกิดในศาสนสถานของอิสลามนิกายซูฟี ชื่อ ลัล ชาห์บาซ คาลานดาร์ ในช่วงที่กำลังมีพิธีกรรมธามาลที่เป็นการนั่งสมาธิและเต้นระบำในแบบของซูฟี ซึ่งเหตุการณ์นี้เป็นเพียงหนึ่งในหลายเหตุการณ์โจมตีที่เกิดขึ้นในปากีสถานในช่วงสัปดาห์นั้น

บทความในสื่อเดอะการ์เดียนระบุว่า เหตุระเบิดพลีชีพในปากีสถานเป็นฝีมือของกลุ่มอิสลามที่เป็นสายหัวรุนแรงที่บางคนเป็นกลุ่มสนับสนุนกลุ่มก่อการร้ายอย่างไอซิส ซึ่งนอกจากจะถูกมองว่าเป็นการพยายามขยายอิทธิพลของไอซิสแล้วยังเป็นการพยายามโจมตีมัสยิดของกลุ่มอิสลามที่มีความเปิดกว้างในปากีสถานด้วย โดยมัสยิดที่ถูกโจมตีเหล่านี้เปิดกว้างทั้งกับชนกลุ่มน้อยทางศาสนาอื่นๆ รวมถึงฮินดูและคริสต์ รวมถึงต้อนรับผู้หญิง ขณะที่ลักษณะการเฉลิมฉลองตอนกลางคืนด้วยดนตรีและบทกวีทีทำให้คนเคร่งอิสลามแบบบริสุทธิ์ไม่ชอบ

แอชราฟและอามิเทจเขียนในบทความของพวกเขาว่าในปากีสถานมีพื้นที่ที่เปิดกว้างและอดกลั้นต่อความแตกต่างให้กับกลุ่มชนชั้นกลางและชนชั้นล่างน้อยมาก แต่พื้นที่ ลัล ชาห์บาซ คาลานดาร์ เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่เปิดกว้าง มีการเปิดให้มุสลิมนิกายซุนนีและชีอะฮ์เข้าไปได้รวมถึงศาสนาอื่นๆ อย่างฮินดู คริสต์ ซิกข์ และปาร์ซี แม้ว่าจะมีการกำกับจากรัฐและการบังคับให้แบ่งแยกหนักขึ้นแต่มิสยิดของซูฟีก็ยังคงอยู่ในปากีสถานมาเป็นเวลาราว 40 กว่าปีแล้ว

นิกายซูฟีมีหัวใจคือการเปิดกว้างและมีความเป็นพหุนิยม แต่นิกายซูฟีก็ถูกพวกวาฮาบีที่ได้รับเงินจากซาอุดิอาระเบียรวมถึงกลุ่มไอซิสกล่าวหาว่าเป็น "พวกนอกรีต" ซึ่งกลุ่มต้านซูฟีเหล่านี้อ้างตัวว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังเหตุโจมตีมัสยิดซูฟีหลายแห่งในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เป็นการส่งสัญญาณจากสายสุดโต่งว่าพวกเขาจะไม่ยอมอดกลั้นต่อการเคารพความหลากหลายทางศาสนาในปากีสถาน

หลังจากเกิดเหตุโจมตีต่อเนื่องในเซห์วาน มัสยิดซูฟีทั่วปากีสถานก็ปิดชั่วคราวด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย แต่กลุ่มผู้เคารพศรัทธาในลัล ชาห์บาซ คาลานดาร์ ก็ยังคงไม่ท้อถอย พวกเขายังคงทำธามาลต่อไปในวันถัดจากนั้นโดยที่มีการสนับสนุนจากชาวปากีสถานจำนวนมากรวมถึงจากคนดังและนักกิจกรรมที่เข้าร่วมในพิธีกรรมของพวกเขาด้วย

ถึงแม้ว่าชาวปากีสถานจำนวนมากจะแสดงความโกรธและความสะอิดสะเอียนต่อการสังหารคนในมัสยิด แต่ฝ่ายนักวิชาการศาสนาและกลุ่มชนชั้นกลางในเมืองที่ติดตามพวกเขาก็วิจารณ์หลักปฏิบัติของซูฟี พวกอนุรักษ์นิยมในแวดวงศาสนาก็พากันมองว่าวัฒนธรรมของซูฟีเป็นสิ่งที่บ่อนทำลาย "อิสลามแท้"

บทความของแอชราฟและอามิเทจระบุว่าพื้นที่แสดงออกของชนกลุ่มน้อยทางศาสนาในปากีสถานลดลงมากในช่วงไม่กี่สิบปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่ปี 2549 มีการโจมตีศาสนาสถานต่างๆ ไม่เพียงแต่ของนิกายซูฟี แต่ยังมีมัสยิดของนิกายอามาห์ดียะห์ โบสถ์คริสต์ วัดฮินดู และมัสยิดนิกายชีกะฮ์ต่างโดนโจมตีจากกลุ่มหัวรุนแรงต่างๆ ทั้งไอซิส, จามาต อุล อาห์ราร์ และตอลีบันสายปากีสถาน รวมถึงกลุ่มม็อบที่อ้างตัวเองว่าเป็นมุสลิมซุนนีสายกลางที่ไม่ได้ติดอาวุธ ซึ่งพวกเขามุ่งโจมตีเพื่อกำจัดชนกลุ่มน้อยทางศาสนา

ฝ่ายกองทัพรัฐบาลปากีสถานรีบออกมากล่าวถึงเหตุโจมตีมัสยิดนิกายซูฟีโดยโยนความผิดไปให้อัฟกานิสถาน อ้างว่าเป็นพวกผู้ก่อการร้ายที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐอัฟกัน กองทัพยังอวดอ้างว่าพวกเขาสังหารผู้ก่อการร้ายได้แล้ว 100 ราย หลังเกิดเหตุระเบิดมัสยิดเซห์วาน ชาร์รีฟ ไม่กี่ชั่วโมง โดยไม่มีคำอธิบายว่าผู้ก่อการร้ายเหล่านี้อยู่ที่ใดในช่วงหลังเกิดเหตุหรือทำไมไม่สามารถพบเจอผู้ก่อการร้ายเหล่านี้ก่อนหน้านี้ ที่น่าวิตกกว่านั้นคือเหตุใดรัฐบาลปากีสถานถึงรู้สึกว่าตัวเองมีความชอบธรรมจากการสังหารคนในที่เกิดเหตุนั้นๆ โดยไม่มีการไต่สวน

แอชราฟและอามิเทจระบุว่ารัฐบาลปากีสถานกำลังหาเสียงสนับสนุนให้มีการนำศาลทหารมาใช้อีกครั้งหลังจากที่ข้อกำหนดเรื่องศาลทหารหมดอายุไปแล้วเมื่อไม่นานมานี้ โดยอ้างว่าจะ "กำจัดการก่อการร้าย" ผ่านกระบวนการที่รวดเร็วแต่ก็ขาดการตรวจสอบและน่าสงสัย รวมถึงเป็นปฏิบัติการที่ขัดต่อสิทธิทางกฎหมายโดยตรงที่ระบุในรัฐธรรมนูญปากีสถานว่าผู้คนมีสิทธิในการได้รับการไต่สวนคดีอย่างอิสระและไม่ลำเอียง

อย่างไรก็ตาม ถึงจะอ้างการปราบปรามการก่อการร้ายแต่แอชราฟและอามิเทจก็มองว่ารัฐบาลปากีสถานเลือกปฏิบัติปราบปรามเฉพาะแค่บางกลุ่ม และสนับสนุนกลุ่มหัวรุนแรงบางกลุ่มเพื่อใช้หาผลประโยชน์ทางการเมือง รัฐบาลปากีสถานปล่อยปละละเลยกลุ่มนักวิชาการศาสนาที่เผยแพร่ความเกลียดชัง มีบางคนที่มีแนวคิดหัวรุนแรงถึงขั้นกล่าวชื่นชมไอซิสอย่างโมลานา อับดุล อะซิซ แล้วก็ปล่อยให้ชนกลุ่มน้อยต้องเผชิญกับความรุนแรงโดยไม่ได้รับความคุ้มครอง

"ตราบใดที่ฝ่ายอำนาจนำในกองทัพ เจ้าหน้าที่รัฐบาล และผู้นำทางการเมืองยังคงมุ่งหาผลประโยชน์ทางการเมืองของตัวเองโดยที่ชนกลุ่มน้อยทางศาสนาในปากีสถานต้องรับเคราะห์ คงยากที่จะเกิดสันติภาพ การยอมรับความต่าง และการอยู่ร่วมกันได้" แอชราฟและอามิเทจระบุในบทความ

 


เรียบเรียงจาก

Pakistan’s minorities under attack, Sana Ashraf and Rosita Armytage, East Asia Forum, 03-03-2017
http://www.eastasiaforum.org/2017/03/03/pakistans-minorities-are-under-attack/

In Pakistan, tolerant Islamic voices are being silenced, William Dalrymple, The Guardian, 20-02-2017
https://www.theguardian.com/commentisfree/2017/feb/20/islamic-state-foothold-pakistan-government-sehwan-bombing-saudi-fundamentalism

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net