Skip to main content
sharethis

บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ ช่วยตอบคำถามปรองดอง ป.ย.ป. เชื่อกระบวนการรอบนี้เป็นเรื่องยาก หากไม่ให้ความสำคัญกับเหยื่อทางการเมือง แนะการเยียวยาเป็นตัวเงิน ไม่สามารถซื้อความตาย และชีวิต แต่สิ่งที่เหยื่อต้องการคือความยุติธรรม และความจริง

ท่ามกลางกระบวนการพูดคุยเพื่อความปรองดองที่กำลังเดินหน้าไป นักการเมืองจากพรรคต่างๆ และแกนนำกลุ่มทางการเมืองต่างพากันเดินหน้าเข้าสู่กระทรวงกลาโหม สถานที่ซึ่งจัดไว้เป็นเวทีสำหรับการนำเสนอความคิดเห็นต่อกระบวนการปรองดองที่กำลังเกิดขึ้น

ทั้งนักการเมือง และแกนนำกลุ่มการเมือง ก่อนที่จะเดินเข้าสู่กระทรวงกลาโหมเพื่อบอกเล่าความคิดเห็นให้ ปลัดกระทรวงกลาโหม ซึ่งเป็นประธานอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็น ที่อยู่ภายใต้คณะอนุกรรมการเตรียมสร้างความสามัคคีปรองดองอีกทีหนึ่ง พวกเขาจะต้องเตรียมตอบคำถามที่วางไว้แล้ว 11 ข้อ

หลังจากเข้าตอบคำถามเสร็จ นักการเมืองบางพรรคก็ออกมาให้สัมภาษณ์สื่อบ้าง หรือด้านโฆษกกระทรวงกลาโหมเองก็มักจะออกมาสรุปความคิดเห็น และบรรยากาศในการพูดคุย ซึ่งทุกอย่างมักเป็นไปด้วยความเรียบร้อย

คำถามทั้ง 11 ข้อ เปิดกว้างจนอาจจะเรียกได้ว่าครอบคลุมไปทุกเรื่องไม่ว่าจะหันไปทางใดก็ตาม เรื่องการเมือง กระบวนการยุติธรรม ปัญหาคอร์รัปชัน ประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เรื่องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การปฏิรูปสื่อฯ ความเหลื่อมล้ำในสังคม ฯลฯ

ประชาไทลองหยิบคำถามเหล่านั้น มาทำบทสัมภาษณ์นักวิชาการ หรือคนทำงานภาคประชาสังคมที่เชี่ยวชาญในประเด็นนั้นๆ เพื่อช่วยหาคำตอบ หรืออาจจะช่วยสร้างทางเลือก ว่าถึงที่สุดแล้วหากจะปรองดอง เราเลือกเดินไปทางใดได้บ้าง

เริ่มต้นกันที่คำถามแรก ด้านการเมือง โจทย์ที่ถูกตั้งไว้คือ “แนวคิดของท่านในการแก้ปัญหาโดยสันติวิธี เพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งในสังคมไทยทั้งก่อน ระหว่าง และหลังการเลือกตั้งที่จะมาถึงนี้?”

เราตั้งใจนำคำถามไปสนทนากับ ดร.บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่ดูเหมือนคำถามนี้จะไม่ใช่เรื่องที่เขาคิดถึงมันสักเท่าใด อาจเพราะคำว่า ปรองดอง สำหรับเขาหมายถึงการที่เราจะคืนความจริง และความยุติธรรม พร้อมกับนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษ พร้อมทั้งหามาตรการต่างๆ เพื่อป้องกันไม่ให้ความขัดแย้งบานปลายจนนำไปสู่ความสูญเสีย มากกว่าการที่จะมานั่งคิดว่า ต่อจากนี้ หาก คสช. ลงจากอำนาจ เราจะจัดการกับความขัดแย้งที่จะมาได้อย่างไร

หากคุณไม่ให้ความสำคัญกับเหยื่อ คุณจะปรองดองได้อย่างไ

บัณฑิตระบุว่า การปรองดองรอบนี้เป็นเรื่องที่พูดยากพอสมควร เพราะเมื่อมองดูจากบทเรียนการปรองดองในหลายประเทศ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือในภูมิภาคอื่นๆ ก็ตาม การปรองดองที่ประสบความสำเร็จจะเกิดจากแรงกดดันจากภายนอกส่วนหนึ่ง ขณะที่อีกส่วนมาจากความปรารถนาภายใน ซึ่งเข้ามาสอดคล้องกันพอดี และแม้ในบางประเทศจะไม่มีแรงกดดันจากภายนอก แต่ภายในสังคมนั้นๆ มีความเห็นพ้องร่วมกันจากทุกฝ่ายว่าตอนนี้ถึงเวลาแล้วที่สังคมควรหันหน้ามาคุยกัน และสิ่งที่สำคัญในการปรองดองคือ ไม่ควรมีใครที่อยู่ในจุดที่ได้เปรียบกว่าคนอื่นๆ

“ผมคิดว่านี่เป็นเงื่อนไขอันหนึ่ง เพราะไม่งั้นเราจะมีคนที่เสียงดังที่สุดเพียงคนเดียวโดยที่คนอื่นต้องยอมทำตาม และหากมีคนที่เสียงดังอยู่คนเดียว และคนอื่นต้องยอม การสร้างดุลยภาพของอำนาจในการเจรจาก็มักจะไม่เกิดขึ้น เพราะว่ามันจะเกิดเงื่อนไขที่ว่าฝ่ายหนึ่งเป็นคนสร้างและยื่นให้ ส่วนอีกฝ่ายก็จำต้องรับตลอด ถึงที่สุดแล้วมันไม่มีการต่อรอง ฉะนั้นผมมองว่าแรงกระเพื่อมภายใน ความต้องการภายในมันต้องได้รับการรับฟังก่อน ถึงจะนำไปสู่การปรองดองได้”

บัณฑิต ระบุต่อว่า ส่วนใหญ่แล้วการปรองดองจะมาพร้อมกับการเปลี่ยนระบอบการเมือง (Regime change) ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้ทุกอย่างเป็นไปได้ เพราะความขัดแย้งในหลายกรณีเช่น ประเทศติมอร์-เลสเต ประเทศเกาหลีใต้ ประเทศกัมพูชา ประเทศเหล่านี้เมื่อมีการเปลี่ยนระบอบการเมือง สิ่งที่ตามมาคือ โอกาสที่ประชาชนจะได้พูดถึงเรื่องที่เกิดขึ้นในอดีต และทำให้ความขัดแย้งในอดีตคลายตัวมากขึ้น แต่ถ้าระบอบการเมืองยังไม่เปลี่ยนแปลง คนที่ทำความผิด คนที่ใช้ความรุนแรงยังอยู่ในอำนาจ คนที่กระทำกับประชาชน ยังไม่สำนึกว่าสิ่งที่ตัวเองทำเป็นสิ่งผิด การปรองดองก็ยากจะเกิดขึ้น

“คำว่าระบอบการเมือง ผมไม่ได้หมายถึงรูปแบบการปกครอง แต่หมายถึงสัมพันธภาพทางอำนาจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบ้านเราถือว่ายังอยู่ในสภาวะพิเศษ สถานการณ์พิเศษ หรือสถานการณ์ยกเว้น (State of exception) และเมื่อเราอยู่กันในสถานการณ์แบบนี้ สิ่งที่เรียกว่า Rule of Law ก็ถูกยกเว้น สิ่งที่ควรจะเดินเข้าสู่ลู่ทางตามกฎหมายปกติก็ไม่ถูกบังคับใช้ หรือถูกสั่งให้ยกเว้นบางกรณี”

บัณฑิตกล่าวต่อไปว่า เรื่องที่เป็นเงื่อนไขสำคัญของการปรองดองอีกประการหนึ่งคือ รูปแบบของการจัดวางคณะกรรมการปรองดอง ซึ่งมีหลายวิธีการ เช่น เหยื่อเป็นเป็นศูนย์กลาง หรือเอาตัวคู่ขัดแย้งเป็นศูนย์กลาง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันคือ ไม่มีใครพูดถึงเหยื่อที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ทางการเมืองเลย เรื่องนี้มักจะถูกมองข้ามไป และทุกคนถูกเรียกร้องให้เสียสละ

“แต่คนตายเขาพูดไม่ได้ ผู้สูญเสียคนอื่นๆ ก็พูดได้น้อย และเสียงเบา ต้นทุนในการออกมาเรียกร้องเรื่องเหล่านี้ก็มีต้นทุนซึ่งไม่ถูกนับรวมเวลาที่มีการชดเชย ในแง่ของควมรู้สึก ตรงนี้เราต้องขบคิดกันนิดหนึ่งว่า ถ้าคุณไม่ให้ความสำคัญกับเหยื่อคุณจะปรองดองได้อย่างไร และเหยื่อเองก็มีหลายระดับ เป็นผู้ชุมนุมทางการเมืองเอง และเสียชีวิตในที่ชุมนุม หรือคนที่เป็นผู้สังเกตการณ์ เป็นผู้เข้าร่วมเพียงครั้งคราว หรือหนักที่สุดคือกลุ่มคนที่ไม่รู้ไม่เกี่ยวข้องอะไรเลย แต่ถูกผลกระทบจากการชุมนุม หรือการปฏิบัติการทางการเมือง ทางการทหารที่ทำให้คนเหล่านี้บาดเจ็บ ล้มตาย”

บัณฑิต กล่าวต่อว่า ญาติที่เหลืออยู่ของผู้สูญเสียต้องออกมาเรียกร้อง ซึ่งเป็นการดึงพลังงาน ดึงเวลา ดึงทรัพย์สิน ส่วนที่เห็นว่าเป็นปัญหาหนักที่สุดคือ คนที่ได้รับผลกระทบและทุพลภาพ ไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ และในที่สุดก็เสียชีวิตลง ลักษณะดังกล่าวมีให้เห็นจากกลุ่มที่ออกมาชุมนุม ไม่ว่าจะเหลือง หรือแดง หรือแม้แต่คนทั่วไปที่ได้รับผกระทบ สิ่งที่ต้องคิดต่อไปก็คือ แท้จริงแล้วอะไรคือปมของความขัดแย้ง หรืออะไรเป็นแรงกดดัน หรือแรงจูงใจให้คนเหล่านี้ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง จนในที่สุดนำไปสู่การปะทะกัน จนเกิดความสูญเสีย

 

"ชีวิตมันต่อรองไม่ได้ ความตายมันต่อรองไม่ได้ เราซื้อความตาย ซื้อชีวิตไม่ได้ สิ่งที่ต้องคิดก็คือ จะทำอย่างไรให้คนที่ฆ่า หรือคนที่กระทำผิดเข็ดหลาบด้วย ไม่ใช่ว่าทุกครั้งที่มีการกระทำผิด คนที่ก่อให้เกิดความเสียหาย ทำให้ประชาชนสูญเสีย จะเพียงแค่ให้รัฐจ่ายเงินชดเชยแล้วจบ แต่พวกเขาต้องรับผิดตรงนี้ด้วย"

 

ต่อให้มีอำนาจและมีปืนก็ปรองดองกันไม่ได้ หากรัฐไม่เคยสำนึกผิด

บัณฑิตกล่าวต่อว่า ทั้งหมดที่กล่าวมาเป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของผู้ถูกกระทำ แต่ในส่วนของผู้กระทำเองก็ยังเป็นปัญหาอยู่ เนื่องจากทางรัฐยังยืนยันเสมอว่า สิ่งที่ตนทำไปไม่ได้เป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุ และกระทำตามมาตรฐานสากล แม้ความจริงจะปรากฏว่ามีผู้สูญเสียจากการสลายการชุมนุมทางการเมืองจำนวนมากตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา

“แม้แต่ทางฝั่งรัฐเอง ก็ยังพูดเสมอว่า สิ่งที่ทำไปไม่ได้เกินว่าเหตุ ทำไปตามมาตรฐานสากล คือคำพูดเหล่านี้ เป็นคำพูดที่คุณมีเสียง คุณก็พูดได้ คุณมีอำนาจ คุณมีกระบอกปืน คุณก็พูดได้ ฉะนั้นมันยังเป็นปัญหาอยู่ตราบเท่าที่ระบอบการเมืองไม่เปลี่ยน และคนเหล่านี้ยังมีอำนาจในการพูด ยังมีความสามารถในการใช้อิทธิพล มันก็ยากที่จะเดินหน้าสู่การปรองดอง”

หลายครั้งที่มีการพูดถึงการปรองดอง โมเดลที่ต่างก็มีการหยิบยกกันขึ้นมาพูดถึง เช่น ประเทศแอฟริกาใต้ บัณฑิตมองว่าโมเดลนี้คือเรื่องของการสารภาพผิด และมีความพยายามที่จะยกเว้นโทษ ลดโทษให้ผู้กระทำความผิด เพื่อแลกกับความจริง และการให้อภัย คำถามสำคัญที่ตามมาคือ สังคมไทยที่กำลังจะปรองดองในแบบของ คสช. นั้น ต้องการที่จะรับรู้ความจริงกันหรือไม่ ก่อนที่เราจะให้อภัยกัน

“ที่ผมชี้ให้เห็นกรณีนี้ก็เพราะว่า เรามักจะพูดกันเสมอก็ให้อภัยกันไป แล้วก็เริ่มต้นใหม่ แต่คนตายมันให้อภัยคุณไม่ได้ มันตายไปแล้ว การจะคืนดีกับความจริงมันเป็นเรื่องที่ยาก แต่มันต้องทำ เพราะถ้าไม่ทำมันก็นำไปสู่วัฒนธรรมของการลอยนวลพ้นผิด”

บัณฑิต กล่าวต่อว่า นอกจากเรื่องของวิธีการที่จะนำไปสู่การปรองดอง ก็ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญคือ ความยุติธรรม ซึ่งเอาเข้าจริงแล้วความยุติธรรมเองก็มีหลายมุมมองเช่น ความยุติธรรมในกระบวนการปรองดองที่ทุกฝ่ายต่างมีอำนาจเท่ากันในระบอบประชาธิปไตย หรืออาจจะเป็นมุมมองแบบปัจุบันคือความยุติธรรมที่ถูกหยิบยื่นให้ ส่วนผลลัพธ์ของกระบวนการปรองดองที่จะนำมาซึ่งความยุติธรรมก็มองได้หลายแบบ เช่นความยุติธรรมเกิดจากการรับโทษที่สาสม หรือความยุติธรรมที่เกิดขึ้นจากการสำนึกผิด นำไปสู่การยกโทษและให้อภัยกันและกัน เนื่องจากมองว่า การลงโทษให้ถึงที่สุดก็ไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้น และผู้กระทำความผิดเองก็สำนึกผิด และขอโทษแล้ว

“ตรงนี้มันเป็นเรื่องที่พื้นฐานมาก ว่าเราจะมองเรื่องความยุติธรรมอย่างไร และตรงนี้มันก็จะนำไปสู่หลักเกณฑ์อื่นๆ เช่นค่าเสียหาย ชดเชย เยียวยา เช่นว่า ตัวเลข 7.5 ล้าน ในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์มาอย่างไร เขาก็คิดกันว่าถ้ายังมีชีวิตอยู่ ฐานเงินเดือนประมาณนี้ ทำงานต่อไปอีก 30 ปี เงินที่ได้ควรจะเป็นเท่าไหร่ คิดออกมาได้ประมาณ 4.5 ล้าน บวกเพิ่มเข้าไปอีก 3 ล้าน เพราะว่ามันรวมมูลค่าความสูญเสียอื่นๆ ลงไปด้วย"

“แต่สิ่งหนึ่งที่ผมคิดอยู่ต้องตลอดเวลาคือ ชีวิตมันต่อรองไม่ได้ ความตายมันต่อรองไม่ได้ เราซื้อความตาย ซื้อชีวิตไม่ได้ สิ่งที่ต้องคิดก็คือ จะทำอย่างไรให้คนที่ฆ่า หรือคนที่กระทำผิดเข็ดหลาบด้วย ไม่ใช่ว่าทุกครั้งที่มีการกระทำผิด คนที่ก่อให้เกิดความเสียหาย ทำให้ประชาชนสูญเสีย จะเพียงแค่ให้รัฐจ่ายเงินชดเชยแล้วจบ แต่พวกเขาต้องรับผิดตรงนี้ด้วย ถ้าเราคิดกันบนฐานนี้มันก็ต้องจัดการเรื่องความยุติธรรมอีกแบบหนึ่ง และผมไม่เห็นด้วยกับการคิดเป็นตัวเลข คิดแค่ว่าไหนๆ ก็ตายไปแล้ว รับเงินไปเถอะ ได้เท่านี้ก็สบายไปทั้งชีวิต ถ้าพูดกันตามจริงคือคนที่ตายเขามีชื่อ มีนามสกุล มีเพื่อนมีคนที่เขารัก และมีคนที่รักเขา ฉะนั้นโจทย์สำคัญคือ จะทำอย่างไรให้สังคมไทยเรียนรู้เรื่องพวกนี้ ไม่ใช่เพียงรับเงินแล้วก็ลืมๆ กันไป”

บัณฑิต กล่าวต่อว่า แม้แต่ฝ่ายรัฐที่เป็นผู้กระทำ ซึ่งมีทั้งปืน และเสื้อเกราะ มีทุกอย่างพร้อมที่จะรบกับประชาชน และระหว่างที่เข้าสลายการชุมนุม เกิดมีเจ้าหน้าที่รัฐเสียชีวิต พวกเขากลับได้รับการยกย่อง แต่เมื่อมองกลับมาที่ประชาชน พวกเขากลับถูกตราหน้าว่าเป็นผู้ก่อการร้าย เป็นผู้ที่ไม่ประสงค์ดีต่อชาติ

บัณฑิต เห็นว่าเรื่องความสูญเสียอันเกิดจากความขัดแย้งทางการเมืองจะต้องมีการอธิบายมากกว่า การตัดสินว่าใครถูกใครผิด การที่สังคมจะปรองดองกันได้จำเป็นต้องมีเรื่องเล่าที่ทำให้คนทุกฝ่ายตระหนักว่า ที่ผ่านมาเราผิดพลั้งและกระทำต่อกันโดยไม่ตั้งใจ เราผิดพลาด เพราะว่าแรงกระตุ้นทางการเมือง ทำให้เรารุนแรงต่อกัน และในที่สุดทำให้เราต้องฆ่าฟันฝ่ายตรงข้าม และที่สำคัญในเรื่องเล่าจะต้องมีความสำนึกผิดรวมอยู่ด้วย

บัณฑิต กล่าวด้วยว่าสังคมไทยเป็นสังคมที่อยู่กับความจริงที่ดำมืดมายาวนาน กรณี 14 ตุลา 2516 ความจริงบางส่วนก็ยังไม่ถูกเปิดเผย กรณี 6 ตุลา 2519 ก็มีความจริงที่ยังไม่ถูกพูดถึง และสำหรับกรณีพฤษภาทมิฬเอง รายงานความจริงที่ได้มีการจัดทำก็ไม่สามารถเปิดเผยได้ และไม่รู้ว่าตอนนี้อยู่ที่ไหน กล่าวคือสังคมไทยอาจจะไม่เคยรับรู้ความจริงเลย

จริงๆ แล้วโจทย์เรื่องการปรองดองของ คสช. คืออะไร

ในขณะที่การปรองดองกำลังเดินหน้าไป แต่หลายสิ่งหลายอย่าง ดูเหมือนจะไม่ได้เป็นไปตามหลักสากล เหมือนที่หลายๆ ประเทศได้ทำกันมาก่อน คำถามสำคัญประการหนึ่งคือ หากโจทย์ของประเทศอื่นๆ คือการใช้กระบวนการปรองดองเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในประเทศ แล้วโจทย์เรื่องการปรองดองของ คสช. คืออะไร

บัณฑิต ระบุว่า น่าจะเป็นเรื่องที่คนติดตามประเด็นนี้เข้าใจกันเป็นอย่างดีว่า เพราะอะไร คสช. จึงต้องการปรองดอง แต่เราก็รู้อยู่แล้วว่าบทเรียนของการทำแบบนั้นอาจจะไม่เกิดประโยชน์อะไร และคนจำนวนมากในสังคมไม่ว่าจะอยู่ฝ่ายไหนต่างก็ไม่ได้ต้องการความปรองดอง หรือการเยียวยาในช่วงนี้ แต่สิ่งที่พวกเขาต้องการคือความยุติธรรม และความเป็นธรรม

“หาก คสช. คิดว่าจะลงจากอำนาจ แล้วก็จะจัดการให้มีการปรองดองในเร็ววัน ผมคิดว่าความเป็นไปได้มันมีน้อย ความจริงคือเขาต้องทำตั้งแต่วันแรก ต้องแสดงความตั้งใจจริงว่าจะทำ แต่จนถึงทุกวันนี้ยังมีการเรียกคนเข้าไปปรับทัศนคติอยู่ คดีความที่นักกิจกรรมทางสังคมโดนฟ้อง ก็เป็นคดีที่ในความเป็นจริงแล้วหากจะปรองดองจริงก็ควรยุติ ระงับการดำเนินคดีเหล่านี้ซะ ซึ่งเขาได้ และทำได้เลยด้วยซ้ำ คุณมีมาตรา 44  แต่คุณเลือกดำเนินคดีกับคนจำนวนหนึ่งอย่างเข้มข้น กับอีกกลุ่มคุณก็ไม่ขมวดปมเข้ามา ฉะนั้นสิ่งเหล่านี้ยิ่งทำให้เห็นปัญหาเรื่อง สองมาตรฐาน หลายมาตรฐานในกระบวนการปรองดอง”

 

"หลังจากรัฐประหารปี 2549 คนที่เขากำลังรู้สึกว่าเขาได้หลุดพ้นจากพันธนาการแบบเดิม เขารู้สึกว่าตอนนั้นเขากำลังถูกฉกฉวยอำนาจไป เขาก็ต้องเดือดดาล เขาก็ต้องออกมาเรียกร้องสิทธิของเขา และการรัฐประหาร การชิงอำนาจไปจากเขา มันไม่ได้ทิ้งช่วงนาน แต่มันเกิดขึ้นซ้ำซากในรอบหลายปีมานี้”

 

ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองรอบนี้เกิดขึ้นความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของสังคม

หากเราดูจากการตั้งโจทย์ของ คสช. แล้ว พวกเขาอาจจะเห็นว่าปัญหาการเมืองที่ต้องแก้ไขคือ ความวุ่นวายทางการเมืองในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา สิ่งที่เห็นเด่นชัด มองดูง่ายๆ ไม่ต้องวิเคราะห์อะไรให้มากความ คือการมีม็อบ ความคลื่อนไหว และการเรียกร้องตามท้องถนน ซึ่งอาจจะไม่ตรงนิยามของคำว่าการเมืองสำหรับพวกเขา ซึ่งควรจะอยู่ในสภาเพียงเท่านั้น เพื่อที่ประเทศจะได้สงบเรียบร้อย เหมือนกับชื่อของคณะรัฐประหารที่เขาตั้งกันขึ้นมา แต่ถ้าพูดถึงปัญหาการเมืองในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา บัณฑิตเห็นว่า ปัญหาการเมืองที่เกิดขึ้นนั้นมีมูลเหตุหลายเรื่องประกอบกัน และไม่ได้มองแค่ผลของการเกิดความวุ่นวายทางการเมือง มีการเกิดขึ้นของมวลชนหลายฝ่าย และมีการปะทะกันเพียงเท่านั้น แต่ความขัดแย้งล้วนแล้วแต่เติบโต และมีชีวิตในตัวมันเอง

บัณฑิต อธิบายว่า ในด้านหนี่งความขัดแย้งทางการเมืองในรอบนี้เกิดจากความขัดแย้งของชนชั้นนำทางการเมือง ที่ต้องการจะหาพวก เช่น หลายคนมองว่าความขัดแย้งเกิดจากสนธิ ลิ้มทองกุล และทักษิณ ชินวัตร จนถึงที่สุดแล้วความขัดแย้งได้ขยายลงมาสู่ระดับประชาชนด้วยกัน ซึ่งนี่เป็นเพียงเรื่องเล่าหลักๆ ที่มักจะได้ยินอยู่บ่อยครั้ง แต่แท้จริงแล้วความขัดแย้งทางการเมืองในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ทางสังคมของประเทศไทยที่เปลี่ยนแปลงไป

บัณฑิต กล่าวว่า เมื่อย้อนกลับไปดูสังคมไทยก็จะพบงานวิชาการที่พยายามจะอธิบายสังคมไว้ว่าเป็นอย่างไร เช่น สังคมไทยเป็นสังคมที่มีลักษณะของการครอบงำโดยข้าราชการ (Bureaucratic polity) มาก่อนเมื่อเราผ่านพ้นจากสังคมแบบเดิมมา ก็มีการเกิดขึ้นของชนชั้นใหม่ทางการเมือง หรือที่เรียกว่า ชนชั้นกลาง ซึ่งออกมาเรียกร้องประเด็นทางการเมืองเมื่อปี 2535

“เมื่อเกิดเหตุการณ์ปี 2535 มันเกิดผู้เล่นใหม่เข้ามาด้วย ไม่ใช่เรื่องข้าราชการ การเลือกตั้ง และนักการเมืองเท่านั้น แต่มันเริ่มมีความรู้สึกนึกคิดของประชาชนที่สำนึกว่าตัวเองเป็นเจ้าของอำนาจ เป็นเจ้าของประเทศ และต้องการได้อะไรที่เป็นรูปธรรมจากรัฐบาล ซึ่งไม่ใช่เรื่องของตัวเงินเพียงอย่างเดียว แต่มันเป็นเรื่องของความผูกพันต่อการกำหนดนโยบาย ที่ตัวเองจะได้มีโอกาสเลือกผู้นำทางการเมือง และจะได้มีส่วนในการกำหนดนโยบายทางอ้อมผ่านผู้นำที่ตนเองเลือก”

บัณฑิต กล่าวต่อไปว่าจากเหตุการณ์ปี 2535 ก็ได้นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างอำนาจอีกหลายประการ เช่น นายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้ง รวมทั้งการจัดโครงสร้างสถาบันทางการเมืองใหม่ในรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 ซึ่งความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ได้ขยายพื้นที่การมีส่วนร่วมทางการเมืองออกไปสู่ประชาชนคนทั่วไปได้มากขึ้น รวมไปถึงการมีการเลือกตั้งในระดับท้องถิ่น สิ่งต่างๆ เหล่านี้ ได้ทำให้เวทีการเมืองมีตัวละครมากขึ้น

“รัฐธรรมนูญปี 2540 มันสืบทอดเจตนารมณ์จาก รัฐธรรมนูญปี 2517 หรือหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม ในแง่นี้การเปลี่ยนแปลงในชนบทมันก็เกิดขึ้นตาม หลังจากที่ก่อนหน้านั้นการเมืองท้องถิ่นใช้รูปแบบแต่งตั้งมาโดยตลอด แต่รัฐธรรมนูญปี 2540 มันไปเพิ่มพื้นที่ให้ประชาชนได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายผ่านการเลือกผู้นำในระดับท้องถิ่น พูดง่ายๆ คือทุกอย่างมันเปลี่ยน และมันเป็นจังหวะเดียวกันกับที่เรากำลังฟื้นฟูตัวเองจากวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 ด้วย ทุกอย่างมันจึงเป็นพลัง และเป็นพลวัตทางการเมืองในรอบ 10 กว่าปีมานี้”

บัณฑิตก่าวต่อไปว่า ตั้งแต่ช่วงปี 2543 เป็นต้นมาสังคมไทยได้เกิดความเปลี่ยนแปลงในหลายด้าน ประชาชนมีอำนาจในการกำหนดนโยบายสาธารณะโดยผ่านฝ่ายการเมืองอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน เริ่มมีความเปลี่ยนแปลงทางสังคม ที่มีงานวิจัยพยายามอธิบายว่าตอนนั้นกำลังเกิดอะไรขึ้นในสังคมไทย สิ่งต่างๆ เหล่านี้ทำให้เห็นว่า คนที่เดิมเคยถูกตีตราว่าเป็นพวกเสื้อแดง โง่ จน เจ็บ ทั้งหลาย แต่แท้จริงแล้วสิ่งเหล่านี้คือความเปลี่ยนแปลงทางสังคมในชนบท แม้ว่าสิ่งเหล่านี้ยังไม่ใช่ข้อสรุป และมีเรื่องที่สามารถถกเถียงกันต่อไปได้ แต่มันได้บ่งชี้แล้วว่าสังคมไทยเปลี่ยนไปแล้ว และรัฐไม่สามารถที่จะจำกัดวงของอำนาจไว้ในหมู่ชนชั้นนำเหมือนเดิมได้

“เราไม่สามารถบอกว่า บิ๊กสุไม่เอาให้บิ๊กเต้ บิ๊กเต้ไม่เอาให้บิ๊กตุ๊ย สังคมการเมืองไทยไม่ใช่แบบนั้นอีกแล้ว ฉะนั้นเมื่อเกิดความขัดแย้งในหมู่ชนชั้นนำ จะไปใช้สมการเดิม เดินมาตกลงกันใหม่คงเป็นไปไม่ได้แล้ว ฉะนั้นสิ่งที่สะท้อนออกคือ ความขัดแย้งระหว่างสนธิ ลิ้มทองกุล กับทักษิณ ชินวัตร มันได้ขยายตัวไป และหลังจากรัฐประหารปี 2549 คนที่เขากำลังรู้สึกว่าเขาได้หลุดพ้นจากพันธนาการแบบเดิม เขารู้สึกว่าตอนนั้นเขากำลังถูกฉกฉวยอำนาจไป เขาก็ต้องเดือดดาล เขาก็ต้องออกมาเรียกร้องสิทธิของเขา และการรัฐประหาร การชิงอำนาจไปจากเขา มันไม่ได้ทิ้งช่วงนาน แต่มันเกิดขึ้นซ้ำซากในรอบหลายปีมานี้”

บัณฑิต กล่าวต่อว่าการเมืองได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของผู้คนแล้ว ขณะเดียวกันผู้เล่นในเวทีการเมืองก็เพิ่มมากขึ้น แต่สิ่งที่เกิดขึ้นมาโดยตลอดในช่วงที่มีความวุ่นวายทางการเมืองก่อนการรัฐประหารปี 2557 คือพยามยามแช่แข็งเรื่องเหล่านี้ และพยายามจะดึงการเมืองให้กลับไปเป็นเหมือนเดิม ซึ่งเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้

“คือตอนนี้มันมองไม่ได้แล้วว่า ใครเป็นทาสนักการเมือง หรือใครเป็นขี้ข้าใคร มันไม่ใช่แล้ว ตอนนี้มันมีจิตวิญญาณบางอย่าง มีแรงปรารถนาบางอย่างที่ขับเคลื่อนให้คนรู้สึกว่า เขาต้องการอะไรบางอย่าง ที่เขาจับต้องได้มากกว่าที่เป็นคำสัญญาที่มาจากข้างบนลงข้างล่างอีกต่อไป”

วิธีการจัดการความขัดแย้งที่ง่ายที่สุดคือการยอมรับกติการ่วมกัน

ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย ซึ่งทำให้คนจำนวนหนึ่งรู้สึกถึงข้อดีของการได้มีส่วนในการกำหนดนโยบายของรัฐ ผ่านการเลือกผู้แทน แต่ภายในสังคมที่เต็มไปด้วยความหลากหลายก็ย่อมมีคนอีกจำนวนหนึ่งที่เห็นว่าบางครั้งการกำหนดนโยบายเหล่านั้นเริ่มเกินเลย และเกินไปกว่าจุดที่พวกเขาจะยอมรับได้ ความขัดแย้งส่วนหนึ่งจึงเกิดขึ้นจากจุดนี้ และสิ่งที่บัณฑิตเห็นว่าเป็นทางออก หรือการจัดการกับความขัดแย้งที่ง่ายที่สุดคือ การเลือกตั้ง

“แม้หลายคนจะบอกว่าเลือกตั้งแต่ละครั้งมันเปลือง แต่ต้องคิดว่ามนุษย์เราต่อสู้กันมาเป็นพันปีเพื่อที่จะหาระบอบการเมืองที่จะบอกว่า เอาแบบนี้แล้วกัน เราจำกัดอำนาจคุณ คุณอยู่ในอำนาจได้แค่ 4 ปี จากนั้นเราเลือกตั้งใหม่ ถ้าไม่พอใจก็อีก 4 ปีคนก็ไม่เลือก ตอนนี้เลือกไปแล้วโดยเสียงข้างมาก เราก็ต้องยอมรับและอยู่กับไป โดยใช้กลไกการตรวจสอบคัดค้านต่างๆ ที่มีอยู่ นี่คือมาตรฐานสากล”

บัณฑิต ทิ้งท้ายว่า การปรองดองโดย คสช. ที่กำลังจะเห็นต่อจากนี้อาจจะไม่ตอบโจทย์ พลังทางสังคมที่ได้เกิดขึ้นหลังปี 2540 และยังไม่ตอบโจทย์ปัญหาความขัดแย้งในช่วงที่ผ่านมา เพราะประเทศไทยติดอยู่ในปัญหาที่ตัวเองสร้างขึ้นแทบทั้งสิ้น และจะอยู่ไปอีกนานโดยที่เราเองอาจจะไม่รู้ตัว

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net