ไทยมีความสุขเชิงเศรษฐกิจที่สุดในโลก? 'บลูมเบิร์ก' ตั้งข้อสังเกตว่างงานต่ำ เหตุนอกระบบใหญ่มาก

โฆษกสำนักนายกฯ เผย 'ประยุทธ์' พอใจหลังไทยติดอันดับมีความสุขเชิงเศรษฐกิจที่สุดในโลก 3 ปีซ้อน แต่ 'บลูมเบิร์ก' ตั้งข้อสังเกตไทยมีวิธีการคำนวณอัตราการมีงานทำที่แปลกประหลาดไม่เหมือนใคร ชี้ว่างงานต่ำ เหตุเศรษฐกิจนอกระบบใหญ่มาก

พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

9 มี.ค. 2560 จากกรณีเมื่อวันที่ 7 มี.ค.ที่ผ่านมา เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล รายงานว่า พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตามที่สำนักข่าวบลูมเบิร์ก (ฺBloomberg) ได้เผยแพร่ดัชนีความทุกข์ยาก (Misery Index) ประจำปี 2560 ว่า ประเทศไทยมีระดับความทุกข์ยากต่ำที่สุดในโลก หรือมีความสุขที่สุดนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รับทราบข้อมูลแล้ว โดยรู้สึกพอใจและชื่นชมหน่วยงานของรัฐที่สามารถรักษาระดับอัตราการว่างงานและอัตราเงินเฟ้อได้ดีเป็นปีที่ 3 ต่อเนื่องกัน

“ท่านนายกฯ กล่าวว่า ในสายตาของต่างประเทศ ไทยมีพัฒนาการที่ดีขึ้นหลายด้าน เช่น การบริหารจัดการบ้านเมืองที่ดี การแก้ไขปัญหาใหญ่ ๆ ทั้งเรื่องไอยูยู ไอเคโอ หรือการละเมิดลิขสิทธิ์ และเศรษฐกิจยังมีลู่ทางที่แจ่มใสท่ามกลางปัญหาเศรษฐกิจโลก ซึ่งหลายประเทศมีสภาพที่แย่กว่าเรา โดยปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจขยายตัวได้ถึงร้อยละ 3.2 จากการใช้จ่ายของภาครัฐ การลงทุนด้านคมนาคมขนส่ง การบริโภคภาคเอกชน รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย" พล.ท.สรรเสริญ กล่าว 

สำหรับ 10 ประเทศที่มีความสุขเชิงเศรษฐกิจมากที่สุดตามลำดับ คือ 1.ไทย 2.สิงคโปร์ 3.สวิตเซอร์แลนด์ 4.ญี่ปุ่น 5.ไอซ์แลนด์ 6.ไต้หวัน 7.เดนมาร์ก 8.อิสราเอล 9.เกาหลีใต้ 10.ฮ่องกง

วันเดียวกัน พิภพ อุดมอิทธิพงศ์ นักแปลอิสระโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวในลักษณะสาธารณะถึงกรณีดังกล่าวว่า แต่ที่ไทยได้คะแนน Misery Index ต่ำสุดสามปีซ้อนนั้น ไม่ใช่เรื่องน่ายินดี บลูมเบิร์ก ก็ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า ประเทศไทยมีวิธีการคำนวณอัตราการมีงานทำที่แปลกประหลาดไม่เหมือนใคร  ปีที่แล้ว บลูมเบิร์ก เขาก็เตือนแบบนี้ เตือนทุกปี แต่นักข่าวที่เขียนข่าวไม่อ่านกัน โดย พิภพได้ให้ ลิงค์สำหรับอ่านเพิ่มเติมด้วย 2 ยูอาร์แอล จากบลูมเบิร์ก คือ http://bloom.bg/2lkCu4x และ http://bloom.bg/2mnTOoo)

พิภพ กล่าวว่า Blomberg เคยวิเคราะห์ไว้แล้วว่า อัตราการว่างงานของไทยมันโคตรต่ำ ต่ำสุดในโลกก็ว่าได้ เพราะไทยมีเศรษฐกิจนอกระบบ หรือ informal sector ที่ใหญ่มาก ๆ คนว่างงานก็กลับไปทำไร่ไถนา ไม่ถูกจัดเป็นคนว่างงาน อีกส่วนหนึ่งคือระบบประกันการว่างงาน ประกันสังคมของเราไม่ครอบคลุมประชากรส่วนใหญ่ ใครจะยอมตกงานเป็นเวลานาน? ฝรั่งที่ตกงานจะได้รับเงินชดเชย จึงมีคนที่พร้อมจะ “ตกงาน” เป็นเวลานาน  ส่วนคนไทยต้องดิ้นรน เพื่อไม่ให้ตกงาน เพราะไม่มีเงินจากรัฐหรือกองทุนไหนมาช่วย พึ่งตนเองมาก ๆ อย่างนั้น

"การที่เรามีอัตราการว่างงานต่ำก็ดี เรามี Misery Index ต่ำสุดในโลกก็ดี ไม่ได้เป็น ของดี เสมอไป กลับแสดงว่าระบบสวัสดิการสังคมของเราไม่เข้มแข็งและครอบคลุมประชากรส่วนใหญ่ และเรามีเศรษฐกิจสีเทา ๆ ที่อยู่นอกระบบมาก มันจะเป็นของดีได้ยังไง สื่อไทยลงข่าวเชียร์แบบนี้" พิภพ โพสต์

หมายเหตุจาก บลูมเบิร์ก ไทยว่างงานต่ำ เหตุเศรษฐกิจนอกระบบใหญ่มาก

บลูมเบิร์ก รายงานว่า ไทยมีอัตราว่างงานต่ำกว่า 1 เปอร์เซนต์มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 โดยจิรเทพ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา โฆษกธนาคารแห่งประเทศไทยให้ความเห็นว่า มีสาเหตุมาจากปัญหาเชิงโครงสร้าง ดังนี้ เศรษฐกิจนอกระบบของไทยมีอัตราส่วนแรงงานสูงถึง 64 เปอร์เซนต์จากจำนวนแรงงานทั้งหมดในปี พ.ศ. 2556 สะท้อนถึงขนาดเศรษฐกิจนอกระบบที่สามารถดูดซับแรงงานที่หลุดจากการจ้างงานในระบบ แรงงานในเศรษฐกิจนอกระบบยังรวมถึงร้านค้ารถเข็น แท็กซี่ มอเตอร์ไซค์รับจ้างและเจ้าของธุรกิจส่วนบุคคลบางจำพวก ประกอบกับไทยไม่มีโครงสร้างสวัสดิการเพื่อรองรับผู้ว่างงาน จึงไม่มีแรงจูงใจต่อภาวะตกงานเป็นเวลานาน ท้ายที่สุดจึงต้องไปเข้าตลาดแรงงานนอกระบบซึ่งจะไม่ถูกนับเป็นบุคคลว่างงาน

ที่มา : https://www.bloomberg.com/news/articles/2017-03-03/these-countries-are-getting-more-miserable-this-year

ประชากรไทยมากกว่า 40 เปอร์เซนต์ทำงานอยู่ในภาคการเกษตร โดยภาคส่วนนี้จะมีสัดส่วนของแรงงานไม่เต็มเวลา (Underemployment) และอัตราว่างงานนอกฤดูเกษตรกรรมสูง โดยแรงงานไม่เต็มเวลาถูกรวมอยู่กับแรงงานปรกติ และมีสัดส่วนถึง 0.5 เปอร์เซนต์ ยกตัวอย่างเช่น คนตกงานที่กลับไปทำการเกษตรที่บ้านเกิดวันละไม่กี่ชั่วโมงก็ถูกนับว่าได้รับการว่าจ้าง

ไทยมีแรงงานข้ามชาติจากกัมพูชา ลาวและเมียนมาร์ที่ส่วนใหญ่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นจำนวนถึง 3 ล้านคนจากสถิติของ Human Rights Watch และปัญหาด้านภาษายังคงเป็นอุปสรรคในการนำจดทะเบียนแรงงาน รวมถึงยกระดับแรงงานเหล่านี้ให้เป็นแรงงานมีฝีมือ

อัตราการเกิดในไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 - 2555 มีอัตราส่วน 1.4 จากสถิติของ United Nations Population Fund เปรียบเทียบกับฟิลิปปินส์ที่มีอัตราส่วนสูงถึง 3.4 ผนวกกับไทยมีกลุ่มประชากรที่อายุเกิน 60 ปี สูงถึง 15 เปอร์เซนต์ สะท้อนว่ามีประชากรออกจากตลาดแรงงานมากกว่ากลุ่มที่เข้ามาใหม่

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท