คดีเรียกค่าเสียหายปุโละปุโย แพทย์ยัน 5 ปชช. เป็นโรคเครียด หลังทหารพรานยิงใส่รถชาวบ้าน

คดีปุโละปุโย ฟ้องเรียกค่าเสียหาย ทบ.-สำนักนายก แพทย์เบิกความยืนยันโจทก์มีอาการป่วยเป็นโรคเครียดหลังประสบเหตุสะเทือนขวัญ จากเหตุการณ์ทหารพรานยิงปืนใส่รถชาวบ้านที่กำลังจะไปละหมาดศพ เมื่อปี 2555 

10 มี.ค. 2560 รายงานข่าวจาก มูลนิธิผสานวัฒนธรรม แจ้งว่า เมื่อวันที่ 7 และ 8 มี.ค.ที่ผ่านมา ผู้พิพากษาศาลจังหวัดปัตตานี ออกนั่งพิจารณานัดสืบพยานโจทก์และจำเลยคดีแพ่ง หมายเลขดำที่ พ.519/2558 ระหว่าง ยา ดือราแม กับพวกรวม 5 คน โจทก์ กับ กองทัพบก ที่ 1 และสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 2 จำเลย เพื่อฟ้องเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนทางละเมิด ค่าเสียหาย ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539  ซึ่งโจทก์ทั้ง 5 เป็นชาวบ้านผู้ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์เจ้าหน้าที่ทหารพรานยิงรถยนต์ชาวบ้านขณะเดินทางจะไปละหมาดศพ เหตุเกิดเมื่อวันที่ 29 ม.ค. 2555 ที่ ต.ปุโละปุโย อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เป็นเหตุให้ชาวบ้านเสียชีวิต 4 ราย และโจทก์ทั้ง 5 ได้รับบาดเจ็บ บางคนบาดเจ็บสาหัสถึงขั้นพิการ

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ระบุว่า เมื่อวันที่ 7 มี.ค. ที่ผ่านมา ทนายโจทก์ทั้งห้านำแพทย์ผู้รักษาอาการทางจิตใจแก่โจทก์ทั้งห้า ขึ้นเบิกความต่อศาล แพทย์ได้ยืนยันว่าโจทก์ทั้งห้ามีอาการป่วยเป็นโรคเครียดหลังประสบเหตุสะเทือนขวัญ หรือ PTSD (Post-traumatic Stress Disorder) กรณีโจทก์ทั้งห้าเกิดจากประสบเหตุการณ์ทหารพรานยิงปืนใส่รถชาวบ้านที่กำลังจะไปละหมาดศพ เมื่อปี 2555 แพทย์ได้ให้การรักษาทั้งทางร่างกายและจิตใจ ให้ยารับประทาน มีการรักษาต่อเนื่องในช่วงปี 2555 - 2557 หลังจากนั้น มีบางช่วงที่ผู้ป่วยขาดการพบแพทย์ ส่วนใหญ่มีอาการดีขึ้น บางรายยังมีอาการไม่ดีขึ้นแต่ก็ไม่ได้มาพบแพทย์อีก และโจทก์ทั้งห้ามาพบแพทย์ครั้งสุดท้ายในช่วงต้นปี 2559

โจทก์ทั้งห้า ได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ว่าเป็นโรคเป็นโรคเครียดหลังประสบเหตุการณ์ร้ายแรง (Post Traumatic Stress Disorder / PTSD) ถือว่าเป็นโรคทางจิตเวช ในทางการแพทย์โจทก์ทั้งห้าต้องได้รับการบำบัดรักษาอย่างต่อเนื่อง การพยากรณ์โรค (Prognosis) สำหรับผู้ป่วยแต่ละรายจะแตกต่างกันไป ผู้ป่วยบางรายอาจจะยังไม่อาการโรคเครียดหลังเหตุการณ์สะเทือนขวัญ (PTSD) แต่เวลาผ่านหลายปีอาจเกิดอาการดังกล่าวได้ บางกรณีมีอาการ PTSD ทันทีหลังประสบเหตุการณ์ เรื่องระยะเวลาในการรักษาไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่าจะหายเป็นปกติเมื่อไร ขึ้นอยู่กับปัจจัยก่อนเกิดเหตุการณ์ ขณะเกิดเหตุการณ์ หลังเกิดเหตุการณ์ และสิ่งเร้าต่าง ๆ ที่ผู้ป่วยประสบด้วย เนื่องจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ยังคงดำเนินอยู่จนถึงปัจจุบัน การรับรู้หรือเห็นเหตุการณ์คล้าย ๆ กัน กับเหตุการณ์ที่ตนเองเคยประสบมา มีผลต่อสภาวะทางจิตใจที่อาจทำให้ระยะเวลาในการรักษายาวนานขึ้น ซึ่งถ้าผู้ป่วยได้รับการรักษาเยียวยาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอย่างต่อเนื่องก็จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นตามลำดับ โดยวิธีการรักษาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละรายจะมีรายละเอียดมากน้อยแตกต่างกัน อาจมีทั้งการรับประทานยา การบำบัดทางพฤติกรรมและความคิด การรักษาด้วยการให้ผู้ป่วยเข้าหาและเผชิญหน้ากับเหตุร้ายและสิ่งกระตุ้นนั้นซ้ำแล้วซ้ำอีก (Exposure Therapy) และอื่น ๆ โดยโจทก์ทั้งห้า มีอาการนอนไม่หลับ เบื่อหน่าย ใจสั่น หวาดกลัว หวาดผวา ไม่กล้าเข้าสังคม มีพฤติกรรมหลีกเลี่ยงไม่กล้าเผชิญกับเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่มีลักษณะคล้ายกับที่ตนเคยประสบมา ไม่สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างปกติ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้โจทก์ทั้งห้ามีความทุกข์ และเกิดผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตเป็นอย่างมาก

ต่อมาเมื่อวันที่ 8 มี.ค. 2560 ซึ่งเป็นวันนัดสืบพยานจำเลย พนักงานอัยการซึ่งเป็นทนายจำเลยได้แถลงต่อศาลว่าพยานฝ่ายจำเลย เป็นเจ้าหน้าที่ทหาร 5 คน ที่ได้ขอให้ศาลออกหมายเรียกไปแล้วนั้น ไม่สามารถมาศาลได้เนื่องจากติดภารกิจ จึงขอให้ศาลเลื่อนนัดสืบพยานออกไปอีกสักหนึ่งนัด ทนายโจทก์ทั้งห้าแถลงไม่คัดค้านประการใด ผู้พิพากษาพิจารณาแล้วเห็นว่ามีเหตุสมควรจึงได้เลื่อนนัดสืบพยานจำเลยออกไปอีก โดยนัดสืบพยานจำเลย ในวันที่ 22 พ.ค. 2560 พร้อมทั้งกำชับทนายจำเลยให้เตรียมพยานมาให้พร้อมสืบตามวันนัดดังกล่าว

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท