ทหาร ตำรวจ กันกลุ่มค้านโรงงานน้ำตาล-โรงไฟฟ้าชีวมวล ร่วมเวทีรับฟังความเห็น อ้างที่ไม่พอ

เครือข่ายอนุรักษ์ลุ่มน้ำลำเซบายจังหวัดยโสธร อำนาจเจริญ พร้อมเครือข่ายนักศึกษาอีสาน-เหนือ เจรจาเข้ายื่นหนังสือรองผู้ว่าราชการจังหวัดอำนาจเจริญและตัวแทนบริษัทมิตรผล กรณีการทำ EIA ไม่เป็นธรรม หลังถูกเจ้าหน้าที่กันไม่ให้เข้าร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 2 โดยมีเจ้าหน้าที่ชุดควบคุมฝูงชน ทหาร ตำรวจ ป้องกันจังหวัด กว่า 800 คน เฝ้าระวัง

10 มี.ค. 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เครือข่ายอนุรักษ์ลุ่มน้ำลำเซบาย จังหวัดยโสธรและอำนาจเจริญ กว่า 500 คนพร้อมด้วยเครือข่ายนักศึกษา 2 ภาค เดินทางเข้าร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 2และเวทีทบทวนร่างรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ที่จัดโดยบริษัทมิตรผลอำนาจเจริญ บริเวณสนามฟุตบอลโรงเรียนบ้านดงบังพัฒนา ตำบลน้ำปลีก อำเภอเมือง จังหวัดอำนาจเจริญ แต่ได้มีการสกัดกั้นจากเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนประมาณสองร้อยคน ไม่ให้กลุ่มดังกล่าว เข้าร่วมในเวทีกลาง โดยตัวแทนจากป้องกันจังหวัดได้ชี้แจงว่า ได้จัดพื้นที่สำหรับกลุ่มผู้คัดค้านอยู่ห่างจากเวทีกลาง พื้นที่เวทีกลางมีจำกัด ทำให้กลุ่มประชาชนไม่พอใจ เพราะเสียงที่ดังไม่ชัดเจน ไม่สามารถแสดงความคิดเห็นได้ โดยทางกลุ่มยืนยันว่า เครือข่ายประชาชนเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย อยู่ในรัศมี 5 กิโลเมตร ต้องมีสิทธิ์เข้าร่วมรับฟังในเวทีกลาง

ผู้สื่อข่าวรายงานต่อว่า หลังจากการเจรจากับทางเจ้าหน้าที่ และบริษัทเกือบหนึ่งชั่วโมง ทางเจ้าหน้าที่กล่าวกับทางกลุ่มว่า ให้ส่งตัวแทนชาวบ้านเข้าร่วมรับฟังที่เวทีกลางได้เพียง 10 คน แต่ทางกลุ่มยืนยันว่าทุกคนที่มาวันนี้ไม่ว่ากลุ่มผู้สนับสนุน ผู้คัดค้าน ควรมีสิทธิ์ได้เข้าทุกคน

ต่อมาได้มีการเจรจาขอเข้าพื้นที่ โดยเจ้าหน้าที่บอกว่า สามารถเข้าไปส่วนของเวทีกลางได้เพียง หนึ่งร้อยคนเพราะมีพื้นที่นั่งไม่เพียงพอและขอตรวจบัตรประชาชนทุกคน ซึ่งทางกลุ่มชาวบ้านกล่าวว่า ขนาดคนที่ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียในการตั้งโรงงาน ก็ถูกเกณฑ์จากต่างจังหวัดเพื่อมางานนี้ ยังเข้าไปได้ และทางกลุ่มยังขอตรวจสอบดูรายชื่อผู้ที่มาร่วมรับฟังว่ามาจากพื้นที่ในรัศมี 5 กิโลเมตรจริงหรือไม่ แต่ทางเจ้าหน้าที่และโรงงานไม่ยินยอม พร้อมเสนอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดอำนาจเจริญและตัวแทนบริษัทออกมารับหนังสือด้วยตัวเอง หากไม่ออกมาทางกลุ่มจะปักหลักรอจนกว่า ผู้ว่าฯ จะออกมาพบ

ทั้งนี้ทางกลุ่มชาวบ้านได้แสดงออกเชิงสัญลักษณ์ โดยการชูกระดาษที่เขียนว่า EIA ไม่ชอบธรรมและฉีกกระดาษ เพื่อเป็นการแสดงออกว่าการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้ไม่มีความชอบธรรม เพราะมีเพียงกลุ่มผู้สนับสนุน แต่ไม่มีกลุ่มของผู้คัดค้านร่วมด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า รองผู้ว่าราชการจังหวัดได้กล่าวกับชาวบ้านว่า เป็นตัวแทนของผู้ว่าราชการจังหวัดมารับหนังสือกับทางกลุ่มชาวบ้าน เพราะผู้ว่าราชการจังหวัดติดราชการ มาเพียงเปิดงานและกลับไปแล้ว หากจะยื่นหนังสือสามารถยื่นกับตนได้เลยและรับปากว่าจะส่งหนังสือถึงมือผู้ว่า

ทางกลุ่มจึงยื่นหนังสือกับรองผู้ว่าราชการจังหวัดและมีการเซ็นในหนังสือที่ยื่น พร้อมอ่านแถลงการณ์ของเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำลำเซบายและเครือข่ายนักศึกษาสองภาค ก่อนเดินทางกลับ

จิราพร แก้วดี ตัวแทนเครือข่ายอนุรักษ์ลุ่มน้ำลำเซบาย กล่าวว่า ขนาดคนมารับจดหมาย เราคาดหวังว่าโรงงานจะมีส่งผู้รับผิดชอบร่างEIA มาโดยตรง แต่เขาส่งใครมาก็ไม่รู้ เราอยากให้เขารู้ว่ามันไม่ชอบธรรมทั้งกระบวนการ ส่วนทางราชการเอง เราก็รอนานเกือบชั่วโมง พอออกมาพบ ชาวบ้านตั้งคำถามเขาก็ตอบไม่ได้ บอกเพียงเขายังไม่ตั้งโรงงานหรอก อ้างอยู่ในกรอบกฎหมาย เรื่องแบบนี้ชาวบ้านก็รู้ดี แต่มันเป็นการละเมิดสิทธิชาวบ้าน สิทธิชุนชน ซึ่งมันอยู่นอกกรอบ ชาวบ้านหวังเพียงว่า ทำยังไงให้มีสิทธิ์ มีเสียงมากขึ้น ทำยังไงเขาถึงจะรับฟังเรา พวกเราไม่ได้มาคัดค้านแต่พวกเราคือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในรัศมี 5 กิโลเมตร อย่างน้อยก็ให้พวกเรามีพื้นที่ในเวทีบ้าง

“คนเขาก็เกณฑ์มาตั้งเยอะหลายพันคน พื้นที่หนึ่งสนามฟุตบอล ทำไมจะไม่พอ ทางกลุ่มเครือข่ายมาเพียงห้าร้อยคน และเรามาแบบสันติวิธี ทำไมเราไม่สามารถเข้าไปได้ เราก็ประชาชนเหมือนกัน”จิราพร กล่าว

ด้าน ไพฑูรย์ ประภาถะโร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานอ้อยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ2 เผยว่า ในฐานะของบริษัทน้ำตาลมิตรผลกาฬสินธุ์ จังหวัดอำนาจเจริญต้องใช้เวลาไปอีกนานในการประสานพื้นที่ ต้องเข้าไปทำความเข้าใจกับชุมชนในสิ่งที่ ชุมชนยังมีข้อกังวล เราต้องเข้าไปชี้แจงทำความเข้าใจ บรรยากาศวันนี้ก็เป็นที่น่าพอใจระดับหนึ่งเพราะเวทีเรียบร้อยสงบดี ส่วนกลุ่มคัดค้านด้านนอกมีประมาณร้อยถึงร้อยห้าสิบคน ซึ่งผมคิดว่าความเห็นต่าง การแสดงออก เป็นเรื่องที่สามารถ ทำได้ ในส่วนราชการก็ดูแลความเรียบร้อยได้เป็นอย่างดีไม่เกิดความรุนแรง

00000

หนังสือคัดค้านกระบวนการจัดทำรายงานการกำหนดขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ เวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 1 และเวทีการทบทวนร่างรายงานกระบวนการจัดทำรายงานการกำหนดขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ เวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 1 และเวทีการทบทวนร่างรายงานไบโอเพาเวอร์ อำนาจเจริญ จำกัด และโครงการโรงงานน้ำตาล บริษัทน้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์ จำกัด

เรียน     ผู้ว่าราชการจังหวัดอำนาจเจริญ

ด้วยกลุ่มเครือข่ายอนุรักษ์ลุ่มน้ำลำเซบาย ต.น้ำปลีก อ.เมือง จ.อำนาจเจริญ   ต.เชียงเพ็ง  อ.ป่าติ้ว จ.ยโสธร และเครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ติดตามกระบวนการชี้แจงการดำเนินโครงการในเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2559 ที่ผ่านมา ซึ่งกระบวนการเข้าร่วมเวทีของกลุ่มผู้มีส่วนที่กังวลต่อผลกระทบได้ถูกกำหนดจำนวนคนในการเข้าร่วม  ตลอดจนเวทีในวันที่ 10 มีนาคม 2560 ยังมีรูปแบบและวิถีการดำเนินการของบริษัทเหมือนเดิม จากข้อกังวลต่อผลกระทบสิ่งแวดล้อมลำน้ำเซบายและวิถีชีวิตของคนลุ่มน้ำเซบาย ที่จะมีการดำเนินโครงการก่อสร้างโรงงาน ไฟฟ้าชีวมวล (บริษัทมิตรผลไบโอเพาเวอร์ อำนาจเจริญ จำกัด) จากเดิม 38 เมกะวัตต์ ปัจจุบันเพิ่มเป็น     61 เมกะวัตต์ และโรงงานน้ำตาล(บริษัทมิตรกาฬสินธุ์ จำกัด) ขนาด 20,000 ตันอ้อย/วัน  ซึ่งพื้นที่ตั้งโครงการอยู่ที่ ต.น้ำปลีก อ.เมือง จ.อำนาจเจริญ ผ่านการดำเนินกระบวนการศึกษาของบริษัท คอนซัลแทนท์ ออฟ เทคโนโลยี จำกัด ผู้ที่เป็นหลักในการศึกษาผลกระทบ พบว่า

            1.ปกปิดข้อมูลข่าวสารในการดำเนินการศึกษาผลกระทบ ซึ่งก่อนที่จะดำเนินการจัดประชุมการกำหนดขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ครั้งที่ 1 ชาวบ้านที่อาศัยในพื้นที่ใกล้ที่ตั้งโครงการ ไม่รู้ว่าจะมีโครงการก่อสร้างโรงงานดังกล่าวมาก่อนล่วงหน้า ในกระบวนการเกี่ยวกับการจัดทำ EIA หรือ EHIA แต่อย่างใด

            2.กระบวนการในการชี้แจงข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณะ ทางบริษัทจะอธิบายแต่ข้อดีของการดำเนินโรงงานน้ำตาล และโรงไฟฟ้าชีวมวล ซึ่งทางกลุ่มผู้ติดตามกระบวนการมองว่า บริษัทจะต้องอธิบายข้อมูลความเป็นจริงในด้านของผลกระทบที่จะเกิดขึ้นทั้งในปัจจุบันและอนาคตด้วย

            3. ในการจัดประชุมกำหนดขอบเขตทางการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ        ครั้งที่ 1 ในวันที่ 24 สิงหาคม 2559 ที่ผ่านมา และในวันที่ 10 มีนาคม 2560 ที่จะจัดขึ้น จะต้องให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่จะได้รับผลกระทบในรัศมี 5 กิโลเมตร ตามพื้นที่กำหนดการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมจริงๆ แต่ทางบริษัทกลับน้ำมวลชนสนับสนุนที่ไม่อยู่ในรัศมี 5 กิโลเมตร มาเข้าร่วมเวทีรับฟังดังกล่าว

            จากที่กล่าวมาข้างต้น บ่งชี้ให้เห็นถึงกระบวนการดำเนินการประชุมกำหนดขอบเขตการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม(EIA) ครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2  ทางคณะผู้ติดตามกระบวนการจัดเวทีทั้งครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 ไม่มีความชอบธรรมตามกระบวนการทางกฎหมาย และการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่

            ดังนั้น ทางคณะผู้ติดตามผลการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม(EIA) ที่มาจากกระบวนการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม(EIA) ทั้งครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 จึงมีข้อเสนอต่อกระบวนการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น ดังนี้

            1.ให้บริษัท คอลซัลแทนท์ ออฟ เทคโนโลยี จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่รับจ้างศึกษาผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นใหม่ เริ่มตั้งแต่เวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 1 เนื่องจากกระบวนการในการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นที่ผ่านมา ขาดความชอบธรรม

            2.ให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องชี้แจงข้อมูล ข้อเท็จจริง เกี่ยวกับข้อมูลการดำเนินโครงการโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล  

            3.รัฐจะต้องให้ชาวบ้านที่มีข้อกังวลเกี่ยวกับผลกระทบจากการดำเนินโครงการน้ำตาล และโรงไฟฟ้าชีวมวล ในรัศมี 5 กิโลเมตร เข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมตั้งแต่เริ่มต้นในสัดส่วนที่เท่าเทียมกัน

            ทั้งนี้ ขอให้ผู้บริหารบริษัท คอนซัลแทนท์ ออฟ เทคโนโลยี จำกัด แจ้งความคืบหน้าหลังได้รับเอกสารคัดค้านและข้อเสนอแนะฉบับนี้ พร้อมตอบกลับเป็นลายลักษณ์อักษรภายใน 10 วัน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท