'นักบินหญิง' เริ่มเพิ่มมากขึ้น แต่ขึ้นสู่ ‘กัปตัน’ ยาก

แม้ว่า ‘นักบินหญิง’ จะไม่ใช่ปรากฏการณ์ใหม่ล่าสุดของโลก แต่ทุก ๆ ช่วงวันสตรีสากลก็มักจะมีการนำความสามารถทางการบินของผู้หญิงนี้มาประชาสัมพันธ์ให้กับองค์กรต้นสังกัด หรือประเทศที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องสิทธิสตรีก็มักจะประโคมข่าวนี้ พบปัจจุบันผู้หญิงก้าวสู่โลกแห่งการ(ขับเครื่อง)บินมากขึ้น แต่ก็ยังขึ้นสู่จุดสูงสุดในอาชีพยาก

นักบินหญิงมากขึ้น แต่ขึ้นสู่จุดสูงสุดในอาชีพยาก

ผู้หญิงเริ่มเข้าไปสู่ ‘โลกแห่งการ(ขับเครื่อง)บิน’ ซึ่งเคยเป็นแค่ ‘โลกสำหรับผู้ชาย’ จำนวนมากขึ้น ทั้งการขับเครื่องบินพาณิชย์ เครื่องบินรบ รวมถึงเครื่องบินอวกาศ ในภาพคือ Kate Mcwilliams เมื่อปีที่แล้ว (2559) เธอได้ทำสถิติเป็นกัปตันหญิงในสายการบินพาณิชย์ที่มีอายุน้อยที่สุด (ที่มาภาพ: express.co.uk)

สืบเนื่องจากการเติบโตของอุตสาหกรรมการบินในหลายพื้นที่ของโลกโดยเฉพาะกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่อย่างเช่นในภูมิภาคเอเชียส่งผลต่อการเกิดปัญหาขาดแคลนนักบิน ทำให้เราเห็นผู้หญิงทำอาชีพ ‘ขับเครื่องบิน’ มากขึ้น โดยใน รายงานของสำนักข่าว Bloomberg เมื่อเดือน เม.ย. 2559 ระบุว่าจากข้อมูลของสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (International Air Transport Association: IATA) ประเมินว่าในปี 2577 การโดยสารการบินจะเพิ่มเป็น 2 เท่า อยู่ที่ 7,000 ล้านครั้ง และความต้องการนักบินใหม่จะเพิ่มเป็น 558,000 อัตรา

นอกจากนี้ข้อมูลจากฝ่ายบริการการบินของโบอิ้ง (Boeing) ผู้ผลิตเครื่องบินยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ ระบุว่าการเดินทางของผู้โดยสารใหม่ในเอเชียเพิ่มขึ้น 100 ล้านคนทุกปี และอุตสาหกรรมการบินเอเชียต้องการนักบินเพิ่มอีก 226,000 คนภายในอีก 20 ปีข้างหน้า แต่มุมมองด้านอคติทางเพศในอาชีพนี้ยังเป็นปัญหาสำคัญปัจจุบันหลายสายการบินมีความพยายามปรับสมดุลจำนวนนักบินชายและหญิงเพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนนักบินในอุตสาหกรรม

ทั้งนี้หลายสายการบินเริ่มให้ความสำคัญกับการฝึกฝนและสร้างนักบินหญิงขึ้นมารองรับ ตัวอย่างเช่นสายการบินอีวา แอร์เวย์ (EVA Airways) ก็มีการประชาสัมพันธ์รับสมัครนักบินหญิงเพิ่มจากที่มีนักบินหญิง 50 คน จากนักบินทั้งหมด 1,200 คน และก็พึ่งมีกัปตันหญิงคนแรกของสายการบินไปเมื่อไม่นานนี้, สายการบินเวียดนามแอร์ไลน์ส (Vietnam Airlines) ก็ได้ปรับปรุงตารางทำงานให้สอดคล้องกับความต้องการของนักบินหญิง ยิ่งไปกว่านั้นสายการบินอีซีเจ็ท (EasyJet) ของอังกฤษก็มีการตั้งทุนการศึกษาสำหรับนักบินหญิงโดยเฉพาะ (อีซีเจ็ทยังมีโครงการเพิ่มจำนวนนักบินหญิงให้ได้จนมีสัดส่วนเป็นร้อยละ 12 ภายในระยะเวลา 2 ปี) และสายการบินบริติช แอร์เวย์ (British Airways) มีนักบินหญิง 200 คน จากนักบินทั้งหมดที่ 3,500 คน ซึ่งถือว่าเป็นสายการบินที่มีนักบินหญิงมากที่สุดในอังกฤษ

สำนักข่าว BBC รายงานข่าวเมื่อปี 2558 ว่ามีนักบินหญิงทั่วโลกอยู่ที่ประมาณ 4,000 คน จากนักบินทั้งหมด 130,000 คนทั่วโลก และจากรายงานของ The Independent เมื่อเดือน มี.ค. 2560 ซึ่งเป็นการอัพเดทข้อมูลล่าสุดในปีนี้พบว่าปัจจุบันทั่วโลกมีนักบินหญิงต่อนักบินชายอยู่ที่สัดส่วน 1:16 และเที่ยวบินที่ใช้นักบินหญิง 2 คน มีสัดส่วนอยู่ที่ 1:1,000 เลยทีเดียว

ทั้งนี้ประเด็น ‘ภาพจำนักบินที่เป็นผู้ชาย’ ทำให้ผู้หญิงส่วนใหญ่ไม่ได้มองว่าอาชีพนักบินเป็นตัวเลือกหนึ่งของอาชีพสำหรับผู้หญิง เคยมีการทำการสำรวจความเห็นผู้หญิงเรื่องนี้ในอังกฤษโดยร้อยละ 20 ระบุว่าตั้งแต่พวกเธอเติบโตมาพวกเธอเห็นนักบินในทีวีหรือภาพยนตร์ล้วนแล้วแต่เป็นผู้ชาย อีกร้อยละ 20 ระบุว่าผู้หญิงเป็นได้เพียงพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน และอีกร้อยละ 13 ระบุว่าพวกเธอไม่เคยขึ้นเครื่องบินโดยสารที่มีผู้หญิงเป็นกัปตันของเครื่องเลย

ปัญหาการขาด ‘บุคคลต้นแบบ’ นี้ถือเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ได้กระตุ้นให้ผู้หญิงเข้ามาสู่อาชีพนี้มากนัก นอกจากนี้ประเด็นความก้าวหน้าในอาชีพก็เป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งสมาคมนักบินหญิงระหว่างประเทศ (International Society of Women Airline Pilots) ก็ได้ระบุว่านักบินหญิงทั่วยากที่จะได้ขึ้นเป็นกัปตันประจำเครื่องเมื่อเทียบกับนักบินผู้ชาย

แต่กระนั้นเมื่อปีที่แล้วสื่ออังกฤษได้รายงานว่า Kate Mcwilliams แห่งสายการบินอีซีเจ็ทได้ทำสถิติเป็นกัปตันหญิงในสายการบินพาณิชย์ที่มีอายุน้อยที่สุดที่อายุ 26 ปี โดยสมาคมนักบินหญิงอังกฤษ (British Women Pilots' Association: BWPA) ได้ระบุว่าการขึ้นสู่ตำแหน่งนี้ของ Mcwilliams จะเป็นแรงบันดาลใจให้แก่ผู้หญิงตัดสินใจเข้าสู่อุตสาหกรรมการบินในฐานะนักบินมากขึ้น ซึ่งกรณีนี้เป็นการแสดงว่าหญิงสาวอายุน้อยคนอื่น ๆ ก็มีโอกาสที่จะก้าวขึ้นไปสู่ตำแหน่งกัปตันของเครื่องบินโดยสารได้เช่นกัน

‘ผู้หญิงขับเครื่องบิน’ กับการประชาสัมพันธ์สายการบินในช่วงวันสตรีสากล

3 นักบินหญิงของสายการบินรอยัล บรูไน แอร์ไลน์ (Royal Brunei Airlines) ขับเครื่อง Boeing 787 Dreamliner (เครื่องบินโดยสารขนาดใหญ่ 500 กว่าที่นั่ง) พาผู้โดยสารไปยังเมืองเจดดาห์ประเทศซาอุดีอาระเบียเมื่อช่วงวันสตรีสากลปี 2559 (ที่มาภาพ: Royal Brunei Airlines)

นอกจากนี้พบว่าในบางประเทศที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องสิทธิเสรีภาพของกลับได้นำเสนอความสามารถของผู้หญิงในวิชาชีพต่าง ๆ ในการรณรงค์เรื่องสิทธิสตรีด้วย โดยเฉพาะความสามารถของผู้หญิงในอุตสาหกรรมการบินที่มากกว่าการเป็นพนักงานต้อนรับบนเครื่อง เช่น ประเทศกลุ่มเอเชียใต้ และประเทศในโลกมุสลิม เป็นต้น

อย่างเมื่อวันที่ 6 มี.ค. 2560 ที่ผ่านมา สำนักข่าว CNN รายงานว่าสายการบินแอร์อินเดีย (Air India) ได้ระบุว่าเมื่อสัปดาห์ก่อน ในเที่ยวบินไปกลับ Delhi - San Francisco ทางสายการบินใช้นักบิน ลูกเรือหญิง ไปจนถึงพนักงานควบคุมการบิน เป็นผู้หญิงทั้งหมดครั้งแรกของโลกโดยเที่ยวบินแคมเปญนี้เป็นการร่วมเฉลิมฉลองวันสิทธิสตรีสากล 8 มี.ค. นี้ (แต่ก่อนหน้านี้พึ่งมีข่าวว่า Air India พึ่งให้แอร์โฮสเตสไปทำงานภาคพื้นดินด้วยข้อหาน้ำหนักเกิน)

ทั้งนี้ในช่วงวันสตรีสากลของปีที่แล้ว (2559) สายการบินรอยัล บรูไน แอร์ไลน์ (Royal Brunei Airlines) ก็ได้จัดให้มีเที่ยวบิน ‘ผู้หญิงล้วน’ ทั้งนักบิน ลูกเรือหญิง และพนักงานภาคพื้นดิน เที่ยวบินครั้งประวัติศาสตร์นั้นใช้เครื่อง Boeing 787 Dreamliner เครื่องบินโดยสารขนาดใหญ่ 500 กว่าที่นั่ง พาผู้โดยสารไปยังเมืองเจดดาห์ประเทศซาอุดีอาระเบียอย่างปลอดภัย (ทั้งบรูไนและซาอุดีอาระเบียเป็นประเทศที่ห้ามผู้หญิงขับรถ) อนึ่งกัปตัน Sharifah Czarena Surainy Syed Hashim กัปตันของเที่ยวบินนี้ ถือว่าเป็นนักบินหญิงคนแรกของประเทศบรูไนและคนแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เธอได้รับตำแหน่งกัปตันหญิงคนแรกของสายการบิน Royal Brunei Airlines เมื่อปี 2555 ซึ่งยังถือว่าเธอเป็นกัปตันหญิงคนแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกด้วย 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท