TCIJ: จบ ป.ตรี ทะลักตลาดแรงงาน 7.38 แสนคน สวนทางนายจ้างต้องการมัธยมมากกว่า

รายงานพิเศษจาก TCIJ คาดผู้สำเร็จการศึกษาปี 2560-2561 มีรวม 3,812,927 คน จะเข้าสู่ตลาดแรงงาน 1,189,621 คน ผู้จบ ป.ตรี จะเข้าสู่ตลาดแรงงานมากที่สุด 738,218 คน แต่ผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมต้องการแรงงานวุฒิการศึกษาแค่มัธยมศึกษาซึ่งค่าแรงถูกกว่า นอกจากนี้พบ ป.ตรี ผลิตสาย ‘บริหารธุรกิจ’ มากที่สุด ส่วนสาย 'สังคมศาสตร์' มีโอกาสตกงานสูงกว่าเพื่อน

ประมาณการผู้สำเร็จการศึกษาปี 2560-2561 ที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงานเป็นระดับ ป.ตรี มากที่สุด ในขณะที่ภาคการผลิตในอุตสาหกรรมไทยกลับต้องการแรงงานระดับปฏิบัติการและแรงงานกึ่งไร้ทักษะ จบการศึกษา ม.ต้น-ม.ปลาย มากกว่า ที่มาภาพประกอบ: pixabay.com/paseidon (CC0)

ในช่วงเดือนมีนาคมจะมีนักเรียน-นักศึกษาจบใหม่ในระดับต่าง ๆ เข้าสู่ตลาดแรงงานหลักแสนคนต่อปี ทั้งนี้พบว่าในปัจจุบัน ระบบการศึกษาของไทยที่ผลิตแรงงานป้อนสู่ตลาดนั้น กำลังประสบปัญหาการผลิตบุคคลากรไม่ตรงกับงานที่มี รวมทั้งโครงสร้างอุตสาหกรรมไทยที่ยังนิยมใช้แรงงานค่าแรงต่ำวุฒิการศึกษาไม่สูงนักในภาคการผลิต ก็อาจเป็นปัญหาใหญ่ที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในอนาคต

จากรายงาน 'ข้อมูลผู้สำเร็จการศึกษาและประมาณการผู้เข้าสู่ตลาดแรงงานปี 2560' ของกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ซึ่งเป็นการรวบรวมข้อมูลผู้สำเร็จการศึกษาและผู้กำลังศึกษาปี 2558 จากสถาบันการศึกษาทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล มหาวิทยาลัยราชภัฎ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการการส่งเสริมการศึกษาเอกชน สถาบันการพลศึกษา สำนักการศึกษากรุงเทพมหานคร และนำมาประมวลข้อมูลคาดการณ์ของผู้สำเร็จการศึกษาและผู้เข้าสู่ตลาดแรงงานปีการศึกษา 2560-2561 ได้ข้อมูลที่น่าสนใจดังนี้

ประมาณการผู้สำเร็จการศึกษาปี 2560 จำนวนทั้งสิ้น 1,817,994 คน เมื่อจำแนกตามระดับการศึกษา พบว่าอันดับ 1.จบระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 697,837 คน (ร้อยละ 38.39) 2.ระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 397,997 คน (ร้อยละ 21.89) 3.ประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.3) จำนวน 183,233 คน (ร้อยละ 10.08) 4. ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.2) 161,924 คน (ร้อยละ 8.91) 5.ปริญญาตรี จำนวน 377,003 คน (ร้อยละ 20.73)  ประมาณการผู้สำเร็จการศึกษาปี 2561 จำนวนทั้งสิ้น 1,994,933 คน เมื่อจำแนกตามระดับการศึกษา พบว่าอันดับ 1.จบระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 725,660 คน (ร้อยละ 36.38) 2.ระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 413,469 คน (ร้อยละ 20.73) 3.ประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.3) จำนวน 246,426 คน (ร้อยละ 12.35) 4.ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.2) จำนวน 161,924 คน (ร้อยละ 8.12) 5.ปริญญาตรี จำนวน 447,454 คน (ร้อยละ 22.42) รวมแล้วผู้สำเร็จการศึกษาปีการศึกษา 2560 และ 2561 จะมีรวมกันถึง 3,812,927 คน   ประมาณการผู้เข้าสู่ตลาดแรงงานปี 2560 จำนวนทั้งสิ้น 555,416 คน เมื่อจำแนกตามระดับการศึกษา พบว่าอันดับ 1.จบระดับปริญญาตรี จำนวน 337,568 คน (ร้อยละ 60.78) 2.ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.2) จำนวน 95,600 คน (ร้อยละ 17.21) 3.มัธยมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 66,923 คน (ร้อยละ 12.05) 4.ประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.3) จำนวน 35,584 คน (ร้อยละ 6.41) 5.มัธยมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 19,741 คน (ร้อยละ 3.55) ประมาณการผู้เข้าสู่ตลาดแรงงานปี 2561 จำนวนทั้งสิ้น 634,205 คน เมื่อจำแนกตามระดับการศึกษา พบว่าอันดับ 1.จบระดับปริญญาตรี จำนวน 400,650 คน (ร้อยละ 63.17) 2.ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.2) จำนวน 95,600 คน (ร้อยละ 15.07) 3.มัธยมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 69,591 คน (ร้อยละ 10.98) 4.ประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.3) จำนวน 47,856 คน (ร้อยละ 7.55) 5.มัธยมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 20,508 คน (ร้อยละ 3.23) รวมแล้วผู้ที่จะเข้าสู่เข้าสู่ตลาดแรงงานในปี 2560 และ 2561 จะมีรวมกัน 1,189,621 คน โดยผู้จบในระดับปริญญาตรีจะเข้าสู่ตลาดแรงงานมากที่สุด 738,218 คน

ภาคอุตสาหกรรมต้องการแรงงานปฏิบัติการ-กึ่งไร้ทักษะ-จบมัธยมศึกษา

ตัวอย่างประกาศรับสมัครงานของภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะฝ่ายผลิตที่ต้องการแรงงานวุฒิการศึกษามัธยมศึกษาและประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) มากที่สุด ที่มาภาพ: jobprachin.com

ข้อมูลจากสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย ที่เปิดเผยเมื่อเดือน ก.พ. 2560 ระบุว่า ปัจจุบันประเทศไทยกำลังประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงานระดับปฏิบัติการและแรงงานกึ่งไร้ทักษะ ซึ่งเป็นกลุ่มใช้แรงงานเข้มข้นในภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ จบการศึกษาระดับมัธยมต้นและมัธยมปลายเข้าสู่ตลาดแรงงานเพียงร้อยละ 16 ต่อปีของจำนวนแรงงานทั้งหมด ทั้งที่ความต้องการใช้แรงงานเข้มข้นในกลุ่มนี้มีสูงมาก ในภาคอุตสาหกรรมส่งออกมีมูลค่าปีละ 5.45 ล้านล้านบาท หรือ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 72.3 ของมูลค่าการส่งออกภาคอุตสาหกรรมทั้งหมด และหากไม่ได้รับการแก้ปัญหาไม่เกิน 7 ปี จะเกิดวิกฤตปัญหาแรงงานเข้มข้นและจะส่งผลกระทบต่อภาอุตสาหกรรม และภาคเศรษฐกิจในวงกว้างแน่นอน

อาจเป็นแค่กระดาษแผ่นเดียว ?

TCIJ ได้พูดคุยกับผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรีที่ไม่ได้ใช้วุฒิการศึกษาของตนไปสมัครงาน 2 ท่าน คืออดีตพนักงานฝ่ายผลิตในย่านนิคมอุตสาหกรรม จ.ลำพูน และผู้ประกอบอาชีพค้าขายตามตลาดนัด โดยอดีตพนักงานฝ่ายผลิตให้ข้อมูลว่าเธอเป็นคน จ.เชียงราย มาเรียนระดับปริญญาตรีในมหาวิทยาลัยเอกชนแห่งหนึ่งใน จ.เชียงใหม่ จบการศึกษาบริหารธุรกิจมาตั้งแต่ปีการศึกษา 2549 หลังจากที่ไม่สามารถสอบแข่งขันบรรจุเป็นพนักงานข้าราชการและพนักงานส่วนท้องถิ่นได้ (รอบแรกหลังเรียนจบ) เธอจึงได้ตัดสินใจไปสมัครงานในโรงงานประกอบชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แห่งหนึ่ง ในนิคมอุตสาหกรรม จ.ลำพูน โดยใช้วุฒิการศึกษาระดับมัธยมปลาย เนื่องจากการสมัครงานตำแหน่งฝ่ายผลิตซึ่งมีตำแหน่งงานมากที่สุดในย่านนิคมอุตสาหกรรมนั้นต้องใช้วุฒิการศึกษาระดับมัธยมปลายในการสมัครงาน หลังจากทำงานได้ 2 ปี เธอก็ได้ลาออกจากงานแล้วกลับไปดูแลร้านชำซึ่งเป็นกิจการของครอบครัวและทำการเกษตรที่ จ.เชียงราย พร้อมกับตั้งหน้าตั้งตาสอบแข่งขันบรรจุเป็นพนักงานข้าราชการและพนักงานส่วนท้องถิ่น (รอบที่ 2) ซึ่งการเป็นข้าราชการหรือพนักงานของรัฐ คือเป้าหมายชีวิตของเธอ

“ที่ต้องไปสมัครงานฝ่ายผลิตที่นิคมฯ ตอนนั้นเพราะวุฒิ ป.ตรี ไม่ค่อยเปิดรับสมัครหรือตำแหน่งไม่ตรงกับสายที่เราเรียนมา ส่วนใหญ่จะเป็นพวกวิศวกรหรือบัญชี แต่ฝ่ายผลิตที่เปิดหลายโรงงานนั้นเขาให้ใช้วุฒิมัธยมก็พอ เลยไม่ได้ใช้วุฒิ ป.ตรี สมัครงาน ต้องใช้วุฒิ ม.6 แทน … ความฝันคืออยากทำงานราชการเพราะมั่นคง แต่ที่เรียน ป.ตรี บริหารธุรกิจ เพราะไม่รู้ว่าจะเรียนอะไรตอนจะจบ ม.6 เพื่อนเรียนต่อที่ไหนก็ตามเพื่อนมา ตอนนั้นไม่ได้คิดว่าจบมาแล้วจะไปทำอะไร มาคิดอีกทีก็ตอนเรียนจบ ป.ตรี แล้ว ” เธอเล่า 

ส่วนผู้ประกอบอาชีพค้าขายตามตลาดนัดอีกหนึ่งท่าน จบการศึกษาพลศึกษาระดับปริญญาตรีจากสถาบันการพลศึกษาแห่งหนึ่งในภาคเหนือเมื่อปี 2550 ระบุว่าสาขาวิชาที่ตนจบมา หากจะนำวุฒิการศึกษาไปสมัครงานก็จะมีแต่งานการเป็นครูพละที่ถือว่าเป็นการทำงานตรงสายวิชาชีพที่เรียนมา นอกจากนั้นก็เป็นงานพนักงานบริษัทต่าง ๆ ซึ่งตนเห็นว่าไม่น่าจะก้าวหน้า น่าจะได้เป็นแค่พนักงานระดับล่างไปตลอดชีวิต จึงเลือกที่จะทำค้าขายเอง เพราะเนื่องจากครอบครัวไม่ได้มีความลำบากอะไรมากมาย

“ที่เลือกเรียนพละเพราะหัวไม่ค่อยดี เรียนไม่ค่อยเก่ง ตอนจบ ม.6 ก็สอบหลายที่แต่ได้ที่วิทยาลัยพละ ตอนสมัครเรียนไม่ได้คิดหรอกว่าจบแล้วจะทำงานที่ไหน ตอนนั้นขอแค่ให้มีที่เรียนก่อน พอเรียนเราก็รู้ว่าจะไปเป็นนักกีฬาอาชีพอะไรก็น่าจะยากเพราะเราเรียนแค่ผ่าน แถมไม่ได้เล่นกีฬาเก่งอีก คือหัวไม่ค่อยดีอยู่แล้วเล่นกีฬาก็ไม่เก่งมาก พอจบมาก็มีอาชีพแค่ครูพละกับหัวหน้ายามที่เขารับวุฒิ ป.ตรี คนจบพละโดยตรง ซึ่งสอบเป็นครูเราก็สู้คนอื่นไม่ได้ … ถ้าสมัครงานลูกจ้างออฟฟิศก็คงไม่มีตำแหน่งอะไรที่ได้ก้าวหน้า บ้านอยู่เชียงใหม่เราไม่เดือดร้อนอยู่แล้วเลยมาค้าขายดีกว่า อาชีพอิสระกว่าและมีโอกาสรวยกว่าเป็นพนักงานออฟฟิศ” พ่อค้าตลาดนัดอดีตบัณฑิตจากสถาบันการพลศึกษากล่าว

 

จากการสำรวจประกาศรับสมัครงานในย่านอุตสาหกรรมต่าง ๆ เบื้องต้น TCIJ พบว่าโรงงานตามนิคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ มักจะรับสมัครฝ่ายผลิตวุฒิการศึกษาจบระดับมัธยมศึกษามากที่สุด เนื่องจากสามารถ ‘จ่ายค่าแรง’ ตามเพดานค่าแรงได้ต่ำที่สุด (ดูเพิ่มเติม: อัตราค่าจ้างขั้นต่ำของประเทศไทยที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2560) ซึ่งหากแรงงานปฏิบัติการและแรงงานกึ่งไร้ทักษะวุฒิการศึกษามัธยมศึกษาขาดแคลนไปมากกว่านี้ ภาคอุตสาหกรรมไทยก็จะต้องไปใช้แรงงานต่างด้าวมากขึ้น สอดคล้องกับการให้ข้อมูลของนายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย ที่ระบุว่าแรงงานกึ่งไร้ทักษะขาดแคลนและคนไทยไม่นิยมไปทำนั้น จะส่งผลให้ในอนาคต ภาค อุตสาหกรรมจะต้องพึ่งพิงแรงงานต่างด้าวมากขึ้น

“กระทรวงแรงงานจะต้องเร่งปฏิรูปการใช้แรงงานต่างด้าวในประเทศไทยทั้งหมด และอย่าคำนึงถึงแต่ความมั่นคงเท่านั้น ควรคำนึงในแง่ผลกระทบต่อเศรษฐกิจด้วย เริ่มตั้งแต่การสำรวจแต่ละภาคอุตสาหกรรม มีความต้องการแรงงานต่างด้าวเท่าไรและปรับปรุงขั้นตอนการใช้แรงงานต่างด้าวให้ถูกกฎหมายมากขึ้น เพราะขณะนี้มีแรงงานต่างด้าวในระบบที่ขึ้น ทะเบียนถูกกฎหมายประมาณ 1.4 ล้านคน และมีแรงงานต่างด้าวไม่ถูกกฎหมายกว่า 1 ล้านคน เจ้าของโรงงานจะต้องจ่ายส่วย หรือค่าหัวคิวประมาณ 5,000 บาทต่อคนต่อปี หรือคิดเป็นค่าส่วยปีละประมาณ 5,000 ล้านบาท แต่หากภาครัฐ แก้ไขให้ถูกต้อง จะเข้าสู่ระบบของภาครัฐแทน” นายธนิตระบุกับสื่อมวลชนในช่วงเดือน ก.พ. 2560

และเมื่อช่วงต้นเดือน มี.ค. 2560 ที่ผ่านมาพลเอกศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมติดตามผลการดำเนินงานการเตรียมแรงงานรองรับระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) โดยระบุว่าจะมีการเพิ่มบทบาทสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานให้เป็นสถาบันพัฒนาบุคลากรด้านเทคโนโลยีอัตโนมัติและหุ่นยนต์ภาคตะวันออกจังหวัดระยอง เพื่อฝึกให้แรงงานมีความพร้อมรองรับความต้องการภาคอุตสาหกรรมและโลจิสติกส์ เน้นการพัฒนาทักษะด้านเทคโนโลยีชั้นสูงให้แก่ผู้ที่จบการศึกษาและแรงงานใหม่ที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงาน

"เนื่องจากปัจจุบันในพื้นที่ภาคตะวันออก 3 จังหวัด คือ ระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา มีความต้องการแรงงานประมาณ 9,400 อัตราในตำแหน่ง งานการผลิต ขายส่ง-ขายปลีกซ่อมแซมยานยนต์ เครื่องใช้ในครัวเรือนและก่อสร้าง โดยส่วนใหญ่ต้องการผู้ที่จบการศึกษาในระดับมัธยมศึกษา ปวช. และ ปวส. ให้ทำงานพื้นฐานทั่วไปและด้านช่างเทคนิคช่างประกอบ" พลเอกศิริชัย ระบุกับสื่อมวลชน

ป.ตรี ‘บริหารธุรกิจ’ มากสุด 'สังคมศาสตร์' ตกงานสูงสุด

ก่อนหน้านี้ สภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย ได้เคยคาดการณ์ตลาดแรงงานไทยปี 2560 ไว้เมื่อเดือน ธ.ค. 2559 ว่า นักศึกษาจบใหม่ที่จะเข้ามาในระบบเดือน มี.ค. 2560 นั้น ส่วนหนึ่งอาจตกงานโดยเฉพาะผู้ที่จบปริญญาตรี ทั้งนี้จำนวนแรงงานที่ว่างงาน เมื่อเดือน ต.ค. 2559 ก็อยู่ที่ 467,000 คนแล้ว ทำให้ในปี 2560 เด็กจบใหม่ก็จะตกงานเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะปริญญาตรีที่ไม่ใช่สายเฉพาะทาง หรือวิชาชีพ เช่น สังคมศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ นิเทศศาสตร์ เป็นต้น ส่วนการพัฒนาอุตสาหกรรม 4.0 ในอนาคต ที่เน้นให้การศึกษาไอที คอมพิวเตอร์ ภาษาอังกฤษ ช่างกล ฯลฯ และนวัตกรรมในอุตสาหกรรม 4.0 ที่พัฒนาอย่างรวดเร็วนั้น จะทำให้ตลาดแรงงานผู้จบการศึกษาด้านสื่อสารมวลชน การเงินการธนาคาร มีความเสี่ยงถูกเลิกจ้างงานเพิ่มขึ้นด้วย

TCIJ รวบรวมข้อมูล ‘ประมาณการ 10 อันดับแรกของผู้จบปริญญาตรีในคณะ/วิชาต่าง ๆ ที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงานปี 2560 และ 2561’ ของกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน พบว่า 10 อันดับ ได้แก่ 1. บริหารธุรกิจ 2. มนุษย์ศาสตร์และ สังคมศาสตร์ 3. ครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ 4. วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 5. วิทยาการจัดการและสารสนเทศ 6. รัฐศาสตร์ 7. นิติศาสตร์ 8. ศิลปศาสตร์ 9. วิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม และ 10. นิเทศศาสตร์ (อ่านรายละเอียดทั้ง 50 รายคณะ/วิชาที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงานได้ที่ ‘จับตา: จบ ป.ตรี สาขาอะไร? จำนวนเท่าไร? ที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงานปี 2559-2561’) จะเห็นได้ว่าในช่วงปี 2560-2561 มีผู้จบบริหารธุรกิจเข้าสู่ตลาดแรงงานสูงสุดถึง 124,163 คน ส่วนผู้จบมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ ที่หลายฝ่ายมีความกังวลว่าจะเป็นสาขาวิชาที่ตกงานมากที่สุดมีถึง 77,287 คน

 

อ่านเรื่องเกี่ยวข้อง:
บัณฑิต ป.ตรี ที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงานปี 2559-2561

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท