'ต้มยำกุ้งวิทยา วิชานี้อย่าเลียน' นิทรรศการ 20 ปีวิกฤตเศรษฐกิจ ดูอดีตหนาวถึงปัจจุบัน

“คุณแม่เล่าให้ฟังว่า สถานการณ์ของบริษัทตอนนั้นไม่ค่อยดี เศรษฐกิจไม่ดี รายได้ลด รายจ่ายเพิ่ม บริษัทอื่นๆ ปิดตัวแบบรายวัน ยังไม่รวมถึงสถานภาพของบริษัทที่กำลังกระท่อนกระแท่นอีก

ในวันนั้น ขณะที่คุณแม่กำลังนั่งทำงานอยู่ ก็ได้รับโทรศัพท์จากเจ้านาย เพื่อสอบถามงานที่ค้างคาและแผนการดำเนินงานต่อไป ซึ่งเป็นสายปกติที่แม่จะได้รับอยู่เสมอ แต่ที่ไม่ปกติ คือ เจ้านายทิ้งท้ายว่า 'ฝากดูแลงานหน่อยนะ' ในตอนแรกที่วางสายไปก็แอบแปลกใจอยู่บ้าง แต่ยังไม่คิดอะไร จนเวลาผ่านไป มีโทรศัพท์ดังอีกครั้ง ครั้งนี้ไม่ใช่สายของเจ้านาย แต่เป็นเลขาที่โทรมาบอกว่า เจ้านายผูกคอฆ่าตัวตายในห้องทำงาน”

"ต้มยำกุ้งวิทยา : วิชานี้อย่าเลียน” เป็นนิทรรศการที่จำลองสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจครั้งประวัติศาสตร์ของไทยในปี พ.ศ.2540 ออกมาในรูปแบบห้องเรียน เพื่อให้คนรุ่นใหม่ได้เข้าใจถึงสถานการณ์และผลกระทบด้านลบกับวิถีชีวิตของคนในสมัยนั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเมืองระดับมหภาค, วิถีชีวิตคนทั่วไป คนหาเช้ากินค่ำที่ต้องตกงานจำนวนมาก รวมถึงด้านวัฒนธรรมหรือนวัตกรรมที่เกิดขึ้นจากความพยายามเอาตัวรอดจากวิกฤตของผู้คน นิทรรศการนำเสนอออกมาได้อย่างร่วมสมัย ผ่านกำแพงข้อมูลภาพ (Infographic Wall) และจัดวางวัตถุ (Installation) ที่สะท้อนอารมณ์ความทุกข์ของผู้คนในช่วงเวลานั้นได้เป็นอย่างดี

นิทรรรศการบอกนี้บอกเราว่า เราใช้หนี้ IMF หมดแล้วในยุครัฐบาล พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร เมื่อปี 2546 ก็จริง แต่ในภาพใหญ่ของหนี้ทั้งหมดเราปลดหนี้ไปเพียงบางส่วนเท่านั้น

จนปัจจุบันเรายังมีหนี้อีกก้อนคือ หนี้ของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ที่รัฐบาลเข้าช่วยเหลือสถาบันการเงินที่ “ล้มบนฟูก” ในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งยังเหลืออยู่อีก 930,288 ล้านบาท (จาก 1.4 ล้านล้านบาท-ปี 2541)

หากยังนึกภาพไม่ออกว่าเยอะขนาดไหน นิทรรศการนำเสนอจินตนาการรูปธรรมด้วยการวางธนบัตร 100 บาทต่อกัน จะได้เป็นระยะทาง 1,395,433 กม. หรือ ไป-กลับโลกและดวงจันทร์ได้เกือบ 4 เที่ยว เป็นต้น

นิทรรศการจะแบ่งเป็น 2 โซนหลักๆ ในช่วงแรกก่อนทางเข้า เป็นการจำลองเรื่องเศรษฐกิจของประเทศไทยผ่านรูปแบบเครื่องเล่นในสวนสาธารณะ เรียกว่า “สวนสรุป” แม้ไม่ใช่สวนสนุก แต่การสรุปนั้นก็สนุกอยู่ไม่น้อย ถัดมามี "กำแพงข่าวเล่าสถานการณ์” เล่าเรื่องในลักษณะการ์ตูนล้อเลียนของ บัญชา คามิน ซึ่งสามารถช่วยให้เราเข้าใจสถานการณ์สังคมไทยในยุควิกฤตต้มยำกุ้งมากขึ้น

เมื่อเดินผ่านกำแพงข่าวเล่าสถานการณ์ มาจะเข้าสู่ห้องเรียนหลักซึ่งจะมีข้อมูลเบื้องต้นถึงจำนวนหนี้สินในยุค 2540 ซึ่งเป็นผลมาจากการลอยตัวค่าเงินบาทของไทย มีคนที่ได้รับผลกระทบอย่างมาก โดยแบ่งเป็น คนที่ร่ำรวย, คนฐานะปานกลาง, และคนที่มีหนี้สินอยู่แล้ว มีการจัดแสดงวัตถุจำลองเพื่อให้เห็นภาพ เช่น ไม้กอล์ฟ, จดหมาย, โทรศัพท์จากเจ้านายครั้งสุดท้าย

ภายในนิทรรศการ มีการจำลองเหตุการณ์ที่สำคัญๆ ในยุคนั้นหลายเหตุการณ์ เช่น การเปิดท้ายขายของ, อุตสาหกรรมภาพยนตร์ และผลิตภัณฑ์ที่เกิดในยุควิกฤตต้มยำกุ้ง อย่าง ศิริวัฒน์แซนวิช ที่ชีวิตพลิกผันจนต้องเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินชีวิตไปอย่างสิ้นเชิง

สำหรับคนที่เกิดไม่ทันในปี พ.ศ. 2540 นิทรรศการนี้จะช่วยให้คุณเข้าใจถึงวิกฤตครั้งนี้อย่างเข้าใจมันยิ่งขึ้น  การจำลองสถานการณ์ต่างๆ ถือว่าทำได้ดี เราได้เข้าใจถึงที่มาของคำคุ้นหูอย่าง "เปิดท้ายขายของ” ซึ่งเป็นคำฮิตที่ยังใช้มากันจนถึงทุกวันนี้ และการพึ่งไสยศาสตร์ในการแก้ปัญหา

ภายในงานยังมีกิมมิกเล็กๆ ที่น่าสนใจคือเมื่อเข้าไปในนิทรรศการ เราจะได้บัตรใบเล็กๆ ใบหนึ่งซึ่งจะมีคำตอบในตอนท้ายว่า บัตรใบนี้เอาไว้ใช้ทำอะไร

นิทรรศทารต้มยำกุ้งวิทยา วิชานี้อย่าเลียน  จัดโดย สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (สพร.)

จัดแสดงตั้งแต่วันนี้ - 2 กรกฎาคม 2560 ที่ Museum Siam

ตั้งแต่ 10.00 น – 18.00 น. (ยกเว้นวันจันทร์)

ไม่เสียค่าเข้าชม

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท