ครม.ไฟเขียว ร่าง กม. 2 ฉบับ แผนและขั้นตอนปฏิรูป-การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ

ครม.เห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ พ.ศ. ...., ร่าง พ.ร.บ. การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. .... ตาม ร่าง รธน.ฉบับ ผ่านประชามติ คลอด คณะกรรมการปฏิรูปประเทศ คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติและคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ

เมื่อวันที่ 14 มี.ค.ที่ผ่านมา รายงานข่าวระบุว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบ ในหลักการร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ พ.ศ. .... และร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. .... รวม 2 ฉบับ ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง โดยให้นำผลการรับฟังความคิดเห็นของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติเมื่อร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช .... มีผลใช้บังคับต่อไป 

ครม. ยังมีมติมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติดำเนินการดังนี้ 2.1 จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้อง และวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายทั้งสองฉบับอย่างรอบด้านและเป็นระบบ ตามมาตรา 77 ของร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช .... และให้ส่งผลการรับฟังความคิดเห็นดังกล่าวไปประกอบการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาต่อไป 2.2 จัดเตรียมแผนการดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมความพร้อมในการดำเนินการเพื่อให้การจัดทำแผนการปฏิรูปประเทศหรือการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติบรรลุวัตถุประสงค์ตามกรอบระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด และ 2.3 จัดทำแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลาและกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ออกตามร่างพระราชบัญญัติทั้งสองฉบับดังกล่าวด้วย ตามนัย ครม.เมื่อวันที่ 19 เม.ย. 2559 เรื่อง การดำเนินการจัดทำกฎหมายลำดับรองและแผนการเสนอกฎหมายลำดับรอง และ การเร่งรัดดำเนินการเสนอกฎหมาย หรือปรับปรุงกฎหมายสำคัญ และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 ม.คม. 2560 เรื่อง การเสนอแผน กรอบสาระสำคัญ และระยะเวลาการจัดทำกฎหมายลำดับรอง

แจงเพื่อแผนพัฒนาประเทศที่ชัดเจน

กอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบกฎหมาย 2 ฉบับดังกล่าว เนื่องจากที่ผ่านมาไทยถูกมองว่าไม่มีแผนพัฒนาประเทศชัดเจน รัฐบาลใดเข้ามาบริหารมักดำเนินการตามยุทธศาสตร์ของตนเอง แต่ไม่มีแผนระยะยาวร่วมกัน รัฐธรรมนูญจึงกำหนดให้มีกฎหมายลูก เพื่อกำหนดแผนระยะยาว

ดังนั้น ร่าง พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ…. จึงกำหนดให้จัดทำแผนการปฏิรูปประเทศ 11 ด้านต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและแผนแม่บทตามกฎหมายว่าด้วยการจัดทำยุทธศาสตร์ โดยการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติต้องมีวิสัยทัศน์ เป้าหมาย ตัวชี้วัด  ยึดหลักตามหลักธรรมาภิบาลตามกรอบระยะเวลาที่กำหนด ระยะเวลา 20 ปี จากนั้นกำหนดให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติแต่งตั้งคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อจัดทำร่างยุทธศาสตร์ด้านต่าง ๆ ก่อนเสนอให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติพิจารณาและเสนอต่อ ครม.พิจารณา และเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบ และนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อม เพื่อมีพระบรมราชโองการประกาศในราชกิจจานุเบกษาบังคับใช้เป็นยุทธศาสตร์ชาติต่อไป

กอบศักดิ์ กล่าวด้วยว่า ยังกำหนดให้มีคณะกรรมการปฏิรูปประเทศแต่ละด้าน ประกอบด้วย ประธานกรรมการปฏิรูปประเทศ และคณะกรรมการรวมแล้วไม่น้อยกว่า 25 คน มีหน้าที่จัดทำร่างแผนการปฏิรูปประเทศด้านที่รับผิดชอบและปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติมอบหมาย รวมทั้งกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจัดทำร่างแผนการปฏิรูปประเทศ โดยให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เป็นสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ

สำหรับร่าง พ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาตินั้น ให้ ครม.แต่งตั้งคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิให้เสร็จภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ พ.ร.บ.มีผลบังคับใช้และให้คณะกรรมการแต่งตั้งคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ด้านต่าง ๆให้เสร็จภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับการแต่งตั้ง โดยให้คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาตินั้นจัดทำร่างยุทธศาสตร์ชาติเบื้องต้นให้เสร็จภายใน 120 วันนับตั้งแต่วันที่ได้รับการแต่งตั้ง โดยให้ใช้ร่างยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี จะนำมาใช้เป็นหลักในการจัดทำยุทธศาสตร์ โดยคำนึงถึงความคิดเห็นของประชาชนด้วย

จากนั้นทุกรัฐบาลต้องดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ เนื่องจากกฎหมายกำหนดไว้ แม้ต้องดำเนินนโยบายระยะสั้นตามที่หาเสียงไว้ในช่วงเลือกตั้ง แต่การดำเนินตามแผนระยะยาวต้องดำเนินการด้วย ไม่เช่นนั้น สภาสามารถลงมติและสั่งการให้ ป.ป.ช.มีคำสั่งกับผู้บริหารหน่วยงานรัฐที่ไม่ดำเนินการตามยุทธศาสตร์ ทั้งโยกย้าย ปลดออก ไล่ออก จากตำแหน่งได้ 

 

ที่มา : เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล และสำนักข่าวไทย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท