เยาวลักษ์ อนุพันธุ์: เมื่อศาล “จำกัดสิทธิเสรีภาพประชาชนและมุ่งขยายอำนาจรัฐ”

เมื่อศาลจำกัดสิทธิเสรีภาพประชาชนและมุ่งขยายอำนาจรัฐ หัวหน้าศูนย์ทนายเพื่อสิทธิมนุษยชนระบุศาลรับรองอำนาจจากรัฐประหาร ให้คำสั่ง คสช. ชอบด้วยกฎหมาย กระทบสิทธิเสรีภาพประชาชน เชื่อเหตุเพราะศาลไม่ยึดโยงกับประชาชน การเรียนการสอนนิติศาสตร์มีปัญหา จมอยู่กับตัวบทกฎหมาย

‘ศาล’ แขวงรัฐบาลกลางฮาวาย มีคำพิพากษาฉุกเฉินระงับคำสั่งของโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่ห้ามประชาชนในประเทศมุสลิมเข้าประเทศอีกครั้งหนึ่ง อาจเป็นตัวเปรียบเทียบที่ไม่ได้ทาบทับกันสนิท แต่อย่างน้อยคงเห็นว่า อำนาจตุลาการของสหรัฐฯ พยายามปกป้องสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ

กลับมาที่บ้านเรา อำนาจตุลาการกลับทำในสิ่งตรงกันข้าม คือจำกัดสิทธิเสรีภาพประชาชนและมุ่งขยายอำนาจรัฐ เป็นประโยคที่เยาวลักษ์ อนุพันธุ์ หัวหน้าศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวกับประชาไท

เป็นที่รับรู้กันดีว่า ทุกครั้งที่เกิดรัฐประหาร ศาลซึ่งเป็นหนึ่งในสามอำนาจหลักจะให้ความชอบธรรมแก่คณะรัฐประหาร โดยใช้เหตุผลว่าเมื่อคณะรัฐประหารยึดอำนาจสำเร็จย่อมมีฐานะเป็นรัฏฐาธิปัตย์ และคำสั่งหรือการกระทำใดๆ ของคณะรัฐประหารผู้เป็นรัฏฐาธิปัตย์ย่อมเป็นกฎหมาย เมื่อฐานคิดของอำนาจตุลาการเป็นเช่นนี้ สิ่งที่ตามมาจึงมักยืนอยู่คนละฟากกับสิทธิเสรีภาพของประชาชน

เยาวลักษ์ อธิบายผ่านตัวอย่างคดี 8 แอดมินเพจเรารัก พล.อ.ประยุทธ์ ที่ถูกควบคุมตัวไปโดยอ้างว่านำไปตรวจสอบเพราะอาจจะเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ทั้งที่ความผิดนี้ไม่ได้อยู่ในฐานความผิดตามคำสั่งที่ 3/2558 และคำสั่งที่ 13/2559 ที่จะสามารถควบคุมตัวได้ 7 วันในค่ายทหาร

“เราก็ยื่นคำร้องว่าเป็นการควบคุมตัวโดยมิชอบ ปรากฏว่าพอเรายื่นคำร้องปุ๊บ วันรุ่งขึ้นทางพล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติก็เอา 8 แอดมินมาแถลงที่กองปราบ แล้วเราก็แถลงเลยว่าช่วงที่มีการควบคุมตัวไม่เข้าคำสั่งทั้งสอง เราได้ยื่นคำร้องคุมตัวไม่ชอบต่อศาล แต่ศาลไม่ตรวจสอบคำสั่งว่าชอบหรือไม่ชอบ ศาลบอกว่าถ้ามีคำสั่งที่ 3/2558 กับ 13/2559 ถือว่าควบคุมตัวชอบ โดยไม่ได้ดูคำสั่งว่าเนื้อหากฎหมายชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ นี่คือชั้นต้นเลย

“แล้วทางตำรวจก็เอา 8 แอดมินมาแถลงว่า มีการกระทำความผิดตามมาตรา 116 เป็นคดีความผิดฐานความมั่นคง ซึ่งเข้าองค์ประกอบของคำสั่งที่ 3/58 พอศาลทำการไต่สวน ศาลก็ดูจากเนื้อข่าว แล้วศาลก็บอกว่าเมื่อเป็นคดีความผิดตามมาตรา 116 ก็ถือเป็นความผิดเข้า 3/58 ก็ยกคำร้องของเราเลย”

เยาวลักษ์ตั้งข้อสังเกตว่า เมื่อศาลไม่ตรวจสอบเนื้อหาของคำสั่งเช่นนี้จึงทำให้เกิดช่องว่าง โดยการที่เจ้าหน้าที่รัฐพยายามใช้คดีความมั่นคงเป็นข้ออ้างจับประชาชนที่แสดงความคิดเห็นเข้ามาควบคุมตัวตามคำสั่งทั้งสอง

อีกตัวอย่างหนึ่งที่เยาวลักษ์ยกขึ้นมาเพื่อแสดงถึงประเด็นนี้ คือคดีของไผ่ ดาวดิน หรือจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา นักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่นที่ถูกจับตามมาตรา 112 จากการแชร์ข่าวของบีบีซีไทย โดยศาลไม่ยอมให้ประกันตัว

เยาวลักษ์ อนุพันธ์

“ศาลบอกว่า พิเคราะห์แล้วคดีมีอัตราโทษสูง และเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร มันกลายเป็นการปิดตาย ไม่ให้สิทธิในการประกันตัว ซึ่งขัดแย้งกับหลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่า จำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด ศาลยังบอกว่า จำเลยเคยถูกดำเนินคดีอาญาหมายเลขดำที่ 61 ของมณฑลทหารบกที่ 23 ในความผิดฐานร่วมชุมนุมและมั่วสุมทางการเมืองโดยไม่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้า คสช. (คณะรักษาความสงบแห่งชาติ) จำเลยได้เคยรับการปล่อยตัว แต่จำเลยยังคงมีพฤติการณ์แสดงความเห็นในสื่อออนไลน์ ซึ่งเป็นเชิงสัญลักษณ์เย้ยหยันอำนาจรัฐโดยไม่เกรงกลัวและต่อต้านกฎหมายบ้านเมือง ซึ่งตรงนี้ไม่มีฐานกฎหมายรองรับเลย เพราะหลักของการประกันตัวต้องไม่ยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน แล้วไผ่ก็ไปรายงานตัวทุกนัด ไม่ได้มีพฤติการณ์หลบหนี ซึ่งกฎหมายบ้านเมืองที่ศาลว่าคือคำสั่ง คสช.

“คือการแสดงออกของจำเลยที่อยู่ในกรอบของระบอบประชาธิปไตย ซึ่งมันเป็นหลักการพื้นฐาน แต่ศาลมาใช้ศัพท์ว่าพฤติการณ์ของจำเลยส่อให้เห็นว่ามีแนวโน้มจะกระทำความผิดซ้ำ คือศาลมองว่าการแสดงออกของไผ่เป็นการกระทำความผิด มันก็เลยทำให้เห็นว่าวิธีคิดของศาลที่ไม่ยอมรับเรื่องสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน”

ย้อนกลับไปดูรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 มาตรา 4 ที่ระบุว่า ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค บรรดาที่ชนชาวไทยเคยได้รับการคุ้มครองตามประเพณีการปกครองประเทศไทย ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยมีอยู่แล้ว ย่อมได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญนี้ ทำให้เยาวลักษ์สรุปว่าเป็นมาตราที่ไม่เป็นจริง แต่เขียนไว้เพื่อหลอกชาวโลก

อีกคดีหนึ่งที่ยิ่งแสดงชัดเจนถึงฐานคิดของศาลไทยต่ออำนาจรัฏฐาธิปัตย์คือคดีของพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ ที่ออกเดินจากบ้านไปศาลทหาร และถูกแจ้งข้อหาตามมาตรา 116 ให้เป็นคดีความมั่นคง ทางเยาวลักษ์และศูนย์ทนายได้ทำการโต้แย้งกับศาลทหารว่าเป็นพลเรือนต้องไม่ถูกพิจารณาคดีในศาลทหารตามกติการะหว่างประเทศ ซึ่งศาลทหารได้ส่งให้ศาลยุติธรรมให้ความเห็น โดยศาลอาญาได้ให้ความเห็นที่ 1/2559 เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2559 ว่า

‘ศาลอาญาพิเคราะห์แล้ว เห็นว่า การที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติยึดอำนาจการปกครองประเทศได้เป็นผลสำเร็จ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติย่อมมีอำนาจออกประกาศหรือคำสั่งอันถือว่าเป็นกฎหมายใช้บังคับประชาชนได้’

“ปกติอำนาจตุลาการต้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ตรวจสอบอำนาจรัฐ แต่ระบบยุติธรรมเราตอนนี้รับรองอำนาจรัฐเผด็จการ ยอมรับอำนาจของ คสช. แล้วตรวจสอบการใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชน มันกลับตาลปัตรกัน”

ทำให้คำสั่ง คสช. ฉบับที่ 37/2557 เรื่องความผิดที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทหาร ชอบด้วยกฎหมาย

และทำให้พลเรือนต้องขึ้นศาลทหารตามคำสั่งนี้

“เรารู้สึกว่าประกาศฉบับนี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญ เราก็ยื่นให้ศาลทหารส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อตีความวินิจฉัย” เยาวลักษ์ เล่าต่อว่า “ศาลทหารบอกว่าศาลทหารเป็นอิสระและเป็นกลางแล้ว แม้จะสังกัดกระทรวงกลาโหม แต่ระบบยุติธรรมก็เป็นอิสระและเป็นกลาง ศาลทหารก็ไม่ยอมส่งคำร้องของเราไปยังศาลรัฐธรรมนูญ โดยบอกว่าไม่มีบทบัญญัติที่ให้ศาลทหารมีอำนาจส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เขาพูดในทำนองว่าตามรัฐธรรมนูญให้อำนาจเฉพาะศาลปกครองและศาลยุติธรรม แต่ไม่ได้อำนาจศาลทหาร ดังนั้น จึงไม่อาจส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยได้”

ซักไซ้เยาวลักษ์ต่อไปว่า อะไรคือสิ่งที่ทำให้สถาบันศาลและตุลาการมีฐานความคิดโอนเอียงไปทางอำนาจนิยม เธอให้ทัศนะว่า

“ในสามอำนาจคืออำนาจบริหาร นิติบัญญัติ ตุลาการ มีอำนาจตุลาการอำนาจเดียวที่ไม่ได้ยึดโยงกับประชาชน ฉะนั้น จึงเห็นว่าตุลาการไม่ได้คำนึงถึงสิทธิเสรีภาพของประชาชน ทั้งที่เจตนารมณ์ของสามอำนาจเขียนไว้ชัด และยังเป็นเรื่องของวิธีคิด การเรียนการสอนของหลักสูตรนิติศาสตร์ของไทยด้วย คือสอนแต่ตัวบทกฎหมาย เขาชอบแซวว่าพวกนักกฎหมายเป็นพวกที่กักขังตัวเองอยู่กับตัวบท อ่านแต่ตัวบท แต่ไม่ได้เห็นเจตนารมณ์ของกฎหมายว่ามีที่มาอย่างไร ตอนหลังเราจึงเห็นคดีที่วินิจฉัยตามตัวบท โดยไม่มีมิติสังคม การเมือง ไม่มีอะไรเลย วินิจฉัยแบบมุ่งดูแค่พยานหลักฐาน กลายเป็นนักกฎหมายเทคนิค

“ในต่างประเทศ ถ้าจะเรียนนิติศาสตร์ คุณต้องจบปริญญาตรีก่อนใบหนึ่ง แล้วเรียนนิติศาสตร์เป็นใบที่สอง ประสบการณ์ในการใช้ชีวิต ประสบการณ์การทำงานด้านกฎหมายควรมีมากกว่า 10 ปีถึงจะไปเป็นผู้พิพากษาได้ แต่ของเราคือ จบนิติศาสตร์ สอบเนติบัณฑิต แล้วก็เข้าเส้นทาง อายุ 25 ก็เป็นผู้พิพากษา การให้คุณค่าของตำแหน่งตุลาการก็ถูกให้ค่าไว้สูงมาก กลายเป็นตำแหน่งที่พิเศษมากกว่าอาชีพนักกฎหมายอื่น”

เป็นสองเหตุผลหลักที่เยาวลักษ์แสดงความเห็นกับประชาไท

“ปกติอำนาจตุลาการต้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ตรวจสอบอำนาจรัฐ แต่ระบบยุติธรรมเราตอนนี้รับรองอำนาจรัฐเผด็จการ ยอมรับอำนาจของ คสช. แล้วตรวจสอบการใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชน มันกลับตาลปัตรกัน”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท