Skip to main content
sharethis

รัฐมนตรีกลาโหมไต้หวันเสนอแผนป้องกันประเทศต่อสภานิติบัญญัติ เสนอรับมือภัยคุกคามทางอากาศและทางทะเลโดยวางแผนยกเครื่อง “ฝูงบินขับไล่” เสนอจัดซื้อเครื่องบินล่องหนจากสหรัฐอเมริกา โดยแผนยกเครื่องดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจีนแผ่นดินใหญ่มีแนวโน้มคุกคามมากขึ้นแถมเพิ่มงบกลาโหมจนใช้จ่ายเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากสหรัฐอเมริกา

แฟ้มภาพเครื่องบินรบรุ่น Lockheed F-117 Nighthawk ซึ่งเป็นเครื่องบินที่ใช้เทคโนโลยีแบบล่องหน (ที่มา: defenselink.mil/Wikipedia)

แฟ้มภาพเครื่องบิน F-16 ทั้งนี้ รมว.กลาโหมไต้หวันเสนอแผนป้องกันประเทศ 4 ปี ต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติโดยมีแผนเสริมสมรรถนะฝูงบิน F-16 ด้วย (ที่มา: wikipedia/ Public Domain) 

17 มี.ค. 2560 รัฐบาลสาธารณรัฐจีน หรือไต้หวัน มีแผนเสริมสมรรถนะฝูงบิน F - 16 และจัดซื้อเครื่องบินรบล่องหน หรือ สเตลท์ (Stealth) โดยสถานีวิทยุ RTI ของไต้หวันรายงานว่า ฟงซื่อควน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมไต้หวัน รายงานต่อสภานิติบัญญัติเมื่อวันที่ 16 ว่า จะดำเนินกลยุทธ์ “ป้องกันตนเองอย่างเข้มแข็ง เสริมกำลังระดับสูงเพื่อหยุดยั้งฝ่ายตรงข้าม” อย่างไรก็ตาม สมาชิกสภามีความกังขาต่อวิธีการเสริมกำลังให้มีประสิทธิภาพสูงสุด

ไต้หวันได้ให้ความสำคัญกับวิธีการต่อสู้ภัยคุกคามทางอากาศและทะเลในยุค “สงครามอสมมาตร” หรือสงครามที่กองกำลังฝั่งหนึ่งแข็งแกร่งกว่าอีกฝั่งหนึ่งอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งต้องเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพและคุ้มค่าต่องบประมาณ โดย รมว.กลาโหมไต้หวันคาดหวังว่า งบประมาณของกองทัพซึ่งปัจจุบันมีสัดส่วนเป็น 2.05% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ จีดีพี จะขยับขึ้นเป็น 3% ในปีหน้า

เมื่อเปรียบเทียบงบประมาณกลาโหมของจีนและไต้หวัน พบว่า จีน ที่เพิ่งประกาศเพิ่มงบประมาณกองทัพเมื่อสัปดาห์นี้ มีงบประมาณอยู่ที่ 1.51 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 7% ของจีดีพี สูงเป็นอันดับสองของโลกรองมาจากสหรัฐฯ ขณะที่ไต้หวันมีขนาดงบประมาณกองทัพอยู่ที่ 1.14 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 2.05% ของจีดีพี

รมว.กระทรวงกลาโหมยกใจความในรายงานข้อปัญหาและยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง ที่เผยแพร่ทุก 4 ปีมากล่าวว่า ปัจจุบัน ไต้หวันกำลังประสบกับภัยคุกคามทางอากาศ ทะเล และหัวรบจำนวนหลักพันลูกที่หันหัวมาที่เกาะ รายงานระบุว่า เป้าหมายของจีนในประเด็นความขัดแย้งระหว่างไต้หวันคือการปิดล้อมไต้หวันเอาไว้ และใช้ “เครื่องมือทางทหารที่หลากหลาย” ในการโจมตีและยึดครองหมู่เกาะรอบๆ ทั้งนี้ รายงานยังเตือนถึงภัยการคุกคามทางไซเบอร์ที่มีกล่าวว่า จีนมีเครื่องมือในการโจมตีเครือข่าย (ไซเบอร์) ของทหารและพลเรือนได้

ในรายงานได้ระบุอีกว่า ไต้หวันควรหาเครื่องบินรบที่สามารถขึ้นสู่ท้องฟ้าในแนวดิ่ง เพิ่มจำนวนขีปนาวุธจากพื้นสู่อากาศ และเสริมขีดความสามารถของกองทัพเรือด้วยเรือดำน้ำที่ผลิตในประเทศและเรือรบจู่โจมฉับพลัน

ทั้งนี้ รัฐบาลไต้หวัน นำโดยประธานาธิบดีไช่ อิงเหวิน ได้รื้อฟื้นแผนพัฒนาอุตสาหกรรมอาวุธเพื่อแก้ไขปัญหาอุปสรรคการสั่งซื้ออาวุธจากต่างชาติอันมีที่มาจากแรงกดดันทางเศรษฐกิจและการทูตของจีนในเวทีโลก

เหตุการณ์ดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะทวีความตึงเครียดให้กับสถานการณ์ความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียตะวันออก หลังจากที่สหรัฐฯ ได้มีการติดตั้งระบบป้องกันขีปนาวุธ THAAD และกำลังดำเนินการส่งโดรนจู่โจม เกรย์ อีเกิลส์ ไปประจำการในเกาหลีใต้เพื่อรับมือภัยคุกคามจากเกาหลีเหนือ ซึ่งจีน ในฐานะประเทศที่มีความสัมพันธ์อันดีกับเกาหลีเหนืออาจตีความเป็นการยั่วยุจีนได้ ล่าสุด เร็กซ์ ทิลเลอร์สัน รมต. กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ได้เดินสายเยือนญี่ปุ่นและเกาหลีใต้เพื่อพูดคุยประเด็นการต่างประเทศ เศรษฐกิจและความมั่นคงในภูมิภาค โดยทิลเลอร์สันได้เสร็จสิ้นการเยือนเกาหลีใต้แล้ว และจะเดินทางไปเยือนจีนในวันเสาร์ที่จะถึงนี้

ข้อพิพาทระหว่างจีนและไต้หวันเรื้อรังมาตั้งแต่หลัง พ.ศ. 2492 เมื่อกองกำลังของพรรคคอมมิวนิสต์จีนเอาชนะกองกำลังของพรรคก๊กมินตั๋งบนจีนแผ่นดินใหญ่ ทำให้พรรคก๊กมินตั๋งต้องลี้ภัยไปตั้งรัฐบาลสาธารณรัฐจีนที่ไต้หวัน ที่ผ่านมา รัฐบาลปักกิ่งมีนโยบายควบรวมไต้หวันให้เป็นส่วนหนึ่งของจีนเสมอมา ในขณะที่รัฐบาลไต้หวันเองถือว่าตนมีอำนาจอธิปไตยบนพื้นที่ดังกล่าว

 

แปลและเรียบเรียงจาก

Taiwan to ask US for stealth fighters to combat China threat, The Guardian, 17 March 2017

Tillerson begins trip to S. Korea amid growing N.K. threats, Yonhap, 17 March 2017

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net