Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 16 มี.ค.ที่ผ่านมา รายงานข่าวระบุว่า พล.ต.สิทธิ ตระกูลวงศ์ เลขานุการคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ นำตัวแทนคณะพูดคุยฯ ตอบข้อซักถามสื่อมวลชน ถึงความคืบหน้าในการพูดคุยฯ ว่า ฝ่ายไทยและผู้เห็นต่างได้กำหนดพื้นที่ปลอดภัย (เซฟตี้โซน) ในจังหวัดชายแดนภาคใต้เบื้องต้น 5 พื้นที่ของ 3 จังหวัดชายแดนใต้ โดยคณะทำงานเทคนิคร่วม 2 ฝ่ายจะพิจารณาจากเกณฑ์คัดเลือก คือ เป็นพื้นที่ที่เกิดเหตุรุนแรงบ่อยครั้ง สามารถควบคุมการปฏิบัติได้ทั้ง 2 ฝ่าย ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาในการสำรวจประมาณ 1 เดือน จากนั้นจะเข้าสู่ขั้นตอนการปฏิบัติ ซึ่งแบ่งเป็น 2 ช่วง ช่วงแรกคือการเตรียมพื้นที่ ใช้เวลา 3 เดือน จากนั้นจะเข้าสู่ช่วงจัดตั้งพื้นที่และประเมินผล ซึ่งใช้เวลา 3 เดือนเช่นกัน โดยจะมีคณะกรรมการบริหารจัดการพื้นที่ปลอดภัย ที่ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่รัฐ ฝ่ายผู้เห็นต่าง และประชาชนในพื้นที่ เบื้องต้นพื้นจะนำร่องใน 1 อำเภอ

“การกำหนดพื้นที่ปลอดภัยหรือเซฟตี้โซน ถือเป็นมาตรการทดสอบความไว้วางใจระหว่างกันของฝ่ายรัฐและฝ่ายผู้เห็นต่าง ซึ่งปัจจุบันยังเกิดความไม่เชื่อมั่นซึ่งกันและกัน เป็นการลดจำนวนเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้น และเพื่อให้คนในพื้นที่ได้รับการพัฒนาในสิ่งที่ต้องการ อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่ายังมีอีกหลายปัจจัยที่ทำให้เกิดเหตุรุนแรงนอกเหนือจากกลุ่มก่อความไม่สงบ นั่นคือภัยแทรกซ้อน เช่น ยาเสพติด ค้าน้ำมันเถื่อน การเมืองท้องถิ่น จึงได้มีการกำหนดร่วมกันเบื้องต้นว่าในพื้นที่ปลอดภัยจะเกิดเหตุรุนแรงได้ไม่เกิน 3 ครั้ง และจะต้องพิสูจน์ทราบร่วมกันว่าใครเป็นคนทำ แต่ถ้าหากหาคนรับผิดชอบไม่ได้ ก็จะยกเลิกพื้นที่ปลอดภัย” พล.ต.สิทธิ กล่าว

ด้าน ธวัชชัย ฤทธากรณ์ รองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติด้านการข่าวกรองและต่อต้านข่าวกรองต่างประเทศ สำนักข่าวกรองแห่งชาติ หนึ่งในคณะพูดคุยฝ่ายไทย กล่าวว่า กลุ่มผู้เห็นต่างที่มาร่วมพูดคุยกับฝ่ายไทยทั้งหมดมีรายชื่ออยู่ในบัญชีด้านความมั่นคง ซึ่งคงไม่ต้องระบุว่าเป็นตัวจริงหรือไม่ แต่ยอมรับว่าในแต่ละกลุ่ม เช่น บีอาร์เอ็นก็มีกลุ่มย่อยออกไป ซึ่งบางกลุ่มก็ยังไม่สามารถควบคุมกันเองได้ แต่ไม่ว่าจะมีการพูดคุยเพื่อสันติสุขหรือไม่ เหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็เกิดขึ้นตลอดเวลา การใช้ความรุนแรงแก้ปัญหาก็จะไม่มีทางทำให้เหตุการณ์ยุติได้อย่างยั่งยืน

น.อ.จักรพงษ์ อภิมหาธรรม หัวหน้าสำนักงานคณะประสานงานระดับพื้นที่และคณะทำงานเทคนิคร่วม กล่าวว่า ยอมรับว่ามีเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติงานในพื้นที่ยังไม่เข้าใจและไม่เห็นด้วยกับการพูดคุยเพื่อสันติสุข แต่ส่วนใหญ่เข้าใจและเห็นด้วย ดังนั้นจำเป็นต้องมีการชี้แจงทำความเข้าใจกับผู้บังคับหน่วยและกำลังพลผู้ปฏิบัติงาน ซึ่งถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญต่อการสร้างพื้นที่ปลอดภัย อย่างไรก็ตาม หากมองสถิติเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดใช้แดนภาคใต้ตั้งแต่ปี 2547 จนถึงปัจจุบัน มีคดีเกิดขึ้นทั้งหมด ประมาณ 200,000 คดี แต่เป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงเพียง 9,900 คดี ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 4.4 เท่านั้น

ที่มา : สำนักข่าวไทย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net