Skip to main content
sharethis

สมเกียรติ ยกงานวิจัยชี้ ปัจจุบันประเทศไทยเป็นสังคมสูงวัยแล้ว และกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัยแบบสมบูรณ์แบบ แต่ปัญหาคือ "สูงแต่วัย แต่รายได้ยังไม่สูง" แนะเตรียมความพร้อม ทั้งคนดูแลและแหล่งเงิน

 
 
17 มี.ค.2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อวันที่ 13 มี.ค.ที่ผ่านมา ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ได้นำเสนอในรายการคิดยกกำลังสอง ทางไทยพีบีเอส กับประเด็น 'เตรียมตัวเตรียมใจ…สังคมสูงวัยมาแล้ว' โดยยกงานวิจัยของ วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ นักวิจัยจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย
 
สมเกียรติ กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยเป็นสังคมสูงวัยแล้ว และกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัยแบบสมบูรณ์แบบ
 
"ประเทศจะสูงแต่วัย แต่รายได้ยังไม่สูง ในเอเชียด้วยกันประเทศที่สูงทั้งวัยสูงทั้งรายได้คือญี่ปุ่น ตามมาด้วยเกาหลี สิงคโปร์ ประเทศไทยจะเป็นประเทศแรกที่สูงแต่วัยแต่รายได้ยังไม่สูง" ดร.สมเกียรติ กล่าว พร้อมระบุว่า ประเทศอาเซียนประเทศอื่น ยังจะไม่เป็นสังคมสูงวัยไปอีกพักใหญ่ เช่น มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย เวียดนาม ประเทศเหล่านี้มีประชากรอายุไม่เยอะ" สมเกียรติ กล่าว
 
สำหรับปัญหาที่จะตามมาหากประเทศไทยไม่มีความพร้อม  ดร.สมเกียรติ กล่าวว่า ที่เกิดขึ้นแล้วคือการขาดแรงงาน เนื่องจากขณะนี้หาคนงานยากมาก ขาดสิ่งอำนวยความสะดวกเนื่องจากผู้สูงอายุจะขึ้นบรรไดก็เป็นเรื่องยากจึงจำเป็นต้องมีลิฟ หรือสิ่งอำนวยความสะดวกตามที่ชุมชนหรือที่พักอาศัย ค่าดูแลผู้สูงอายุในการรักษาพยาบาลก็จะมากขึ้น โดยเฉพาะค่ารักษาพยาบาลในระยะสุดท้ายก่อนเสียชีวิต จนกระทั่งส่งผลทำให้เกิดคำถามต่อจริยธรรมอีกมากมายตามมา
 
สมเกียรติ กล่าวอีกว่า โรคที่จะทำห้ผู้สูงอายุเสียชีวิตกัน แต่ก่อนเสียชีวิตก็จะมีความทรมานในส่วนของผู้สูงอายุเอง และจะเป็นต้นทุนของสังคมในการดูแลผู้สูงอายุ โดย 5 โรคที่ทำให้ผู้สูงอายุเสียชีวิตในประเทศไทย อันดับแรกคือโรคมะเร็ง โรคหัวใจ โรคระบบสืบพันธุ์-ทางเดินปัสสาวะ โรคเกี่ยวกับต่อไร้ท่อ และระบบย่อยอาหาร ซึ่งการรักษาพยาบาลจะแพงมาก เช่น โรคมะเร็งก่อนจะเสียชีวิตนั้น จะมีค่าใช้ในการรักษาพยาบาลสูงมาก ตัวอย่าง โรคมะเร็งในเดือนสุดท้ายก่อนจะเสียชีวิตจะมีค่าใช้จ่ายหากคิดตามบัตรทองอยู่ประมาณ 45,000 บาทต่อคนต่อเดือน 
 
 
สมเกียรติ กล่าวด้วยว่า ต่อไปผู้สูงอายุจะมีผู้ที่ติดบ้านติดเตียงมากยิ่งขึ้น และต้องการวัสดุอุปกรณ์ เช่น ต้องมีไม้เท้า มีรถเข็น มีโครงจับเดิน ขณะที่ผู้ติดเตียง ก็จะต้องมีผ้ายาง เบาะนอน ฯลฯ ส่วนผู้ป่วยระยะสุดท้ายนั้น ก็จะต้องมีเครื่องดูดเสมหะ เครื่องออกซิเจน เครื่องให้ยา เครื่องพ่นยา ฯลฯ รวมทั้งต้องการผ้าอ้อมผู้ใหญ่ แผ่นรองซับ สำลี ต่างๆ มากมาย
 
สมเกียรติ ระบุว่า ในปัจจุบันผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียงมีไม่ถึง 4 แสนคน แต่อีกไม่นานจะมีผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียง 8 แสนคน หรือใกล้เคียง 1 ล้านคน ซึ่งแปลว่าต้องการคนดูแลเพิ่มขึ้นด้วย รวมทั้งวัสดุอุปกรณ์ดูแลมากขึ้นเช่นเดียวกัน ดังนั้นค่าใช้จ่ายที่ตกกับผู้สูงอายุเองหรือภาครัฐหากต้องดูแลก็จะเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล โดยอีก 20 ปี ค่าใช้จ่ายเฉพาะส่วนนี้ส่วนผู้ดูแลผู้สูงอายุและวัสดุอุปกรณืต่างๆ จะตกถึงปีละ 2 แสนล้านบาท 
 
ซึ่ง ดร.สมเกียรติ ระบุถึงข้อเสนอที่ วรวรรณ ได้เสนอผ่านงานวิจัยนี้ว่า ต้องเตรียมตัวเตรียมใจว่าเราจะเข้าสู่สังคมสูงวัย เช่น เตรียมสิ่งอำนวยความสะดวก หนทางในบ้านต่างๆ และที่สำคัญต้องเตรียมดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย หากไปเสียชีวิตที่โรงพยาบาลค่าใช้จ่ายต่อภาครัฐแพงมาก และตัวผู้ป่วยระยะสุดท้ายจะทุกข์ทรมาน คนจำนวนมากหากจะเสียชีวิตก็ต้องการอยู่กับครอบครัว เพราะฉะนั้นเราต้องเตรียมตัว เช่น คนดูแลและแหล่งเงินเพื่อดูแลผู้สูงอายุ
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net