ปมจ่อไล่เก็บภาษีนักการเมืองยุค 'อภิสิทธิ์-ยิ่งลักษณ์' ประยุทธ์ ยันไม่ได้กลั่นแกล้ง

กรณี สตง.แจ้งเก็บภาษีจากนักการเมืองยุค รบ.อภิสิทธิ์-ยิ่งลักษณ์ 30 คน 'ประยุทธ์' ชี้ไม่ได้กลั่นแกล้ง 'ประวิตร' ยันไม่กระทบปรองดอง 'วิษณุ' แจงเหตุเข้าขายเลี่ยงภาษี พร้อมรับว่าการตามทรัพย์สินของทักษิณในต่างประเทศทำได้ยาก เหตุติดข้อกฎหมาย

17 มี.ค.2560 รายงานข่าวระบุว่า วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แจ้งกรมสรรพากรให้เรียกเก็บภาษีจากนักการเมือง ในรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะและยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่เสียภาษีไม่ถูกต้อง เข้าข่ายการหลีกเลี่ยงภาษีประมาณ 60 คน ว่าได้รับรายงานแล้ว แต่เท่าที่ทราบมีนักการเมืองที่เข้าขายเลี่ยงภาษี ประมาณ 20-30 คน ไม่ใช่ 60 คน และยังไม่เห็นรายชื่อว่ามีใครบ้าง โดยแจ้งระหว่างที่มีการประชุมกรณีเรียกเก็บภาษีของทักษิณ และหากจะการดำเนินการเรียกเก็บภาษีก็จะต้องใช้มาตรฐานเดียวกันกับกรณีของอดีตนายกรัฐมนตรี ส่วนบรรทัดฐานว่าใครจะถูกหรือผิด อยู่ที่ศาลจะตัดสิน ซึ่งการดำเนินการจะเป็นไปตามกระบวนการยุติธรรมปกติไม่ใช้มาตรา 44 และไม่อยากให้นำไปโยงกับการสร้างความปรองดองที่รัฐบาลกำลังทำอยู่ เพราะเป็นคนละเรื่องกันและไม่อยากให้เอาเรื่องนี้มาต่อรองกับเรื่องสร้างความปรองดอง

“เรื่องนี้เรารู้อยู่แล้วก่อนจะทำว่าเป็นเรื่องที่พูดในสังคมว่าหากรัฐบาลไม่ทำอะไรเลยปล่อยให้กระบวนการหมดอายุความรัฐบาลก็จะโดยฟ้องมาตรา 157 ละเว้นปฎิบัติหน้าที่ แต่หากทำการเก็บภาษีก็จะโดนกล่าวหาเลือกปฎิบัติไล่บี้ทำอยู่ฝ่ายเดียว คนคนเดียว ได้ไป 4.7ล้านบาทไม่พอยังจะเอาอีก เราจึงไม่หลวมตัวออกมาตรา 44 แต่ให้ว่าตามกระบวนการปกติ เพราะเรื่องนี้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งการเมืองตัดสินแล้วการซื้อขายหุ้นผิดกฎหมายดังนั้นจึงต้องทำตามกฎหมายและการเรียกเก็บภาษีก็ต้องดำเนินการแต่แม้เป็นการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ แต่ก็มีกฎหมายกำหนดไว้ เหมือนคนไปขโมยของเมื่อศาลตัดสินให้มีโทษจำคุก 10 ปี หรือตลอดชีวิตแล้ว แต่ก็ต้องไล่บี้เอาทรัพย์สินคืน ซึ่งก็ต้องขึ้นอยู่กับศาลที่จะเป็นผู้ตัดสิน” วิษณุ กล่าว

วิษณุ กล่าวว่า การเรียกเก็บภาษีกับอดีตนายกรัฐมนตรี นอกจากกระบวนการของสรรพากรแล้ว ยังมีกระบวนการของหน่วยงานอื่นดำเนินการควบคู่กันไปด้วย แต่ไม่ขอเปิดเผย เพราะเกรงจะเสียรูปคดี  พร้อมย้ำว่า การดำเนินการของรัฐบาล เนื่องจากสังคมตั้งข้อสังเกต หากรัฐบาลไม่ดำเนินการจะถูกกล่าวหา ว่าปล่อยปละละเลยต่อการปฏิบัติหน้าที่ได้ และหากศาลตัดสินว่าอดีตนายกรัฐมนตรี จะต้องจ่ายภาษี แต่ทรัพย์สินส่วนใหญ่อยู่ต่างประเทศ ก็ต้องไปพิสูจน์กันว่าทรัพย์สินที่โอนให้บุตรก่อน หรือหลังจากถูกฟ้องร้องดำเนินคดีภายใน 1 ปีหรือไม่ หากพิสูจน์ได้ ก็สามารถนำกลับมา เพื่อจ่ายภาษีให้กรมสรรพากรได้

“การเรียกเก็บภาษีย้อนหลังจะต้องเรียกเก็บกับเจ้าตัว เพราะถือเป็นความผิดต่อบุคคล แต่ยอมรับว่าการตามทรัพย์สินของทักษิณในต่างประเทศทำได้ยาก เพราะติดข้อกฎหมาย ดังนั้นต้องดูว่าทรัพย์สินมีทรัพย์สินของทักษิณอยู่ในประเทศไทยหรือไม่ หรือมีทรัพย์สินที่ยักย้ายถ่ายเทจำหน่ายไปยังบุคคลอื่นหรือไม่ถ้าสืบตรวจสอบพบก็สามารถที่จะเรียกเก็บได้ เหมือนกฎหมายล้มละลายผู้ที่ถูกฟ้องล้มละลายคือไม่มีทรัพย์สินติดตัว แต่ถ้าลูก ภรรยา ญาติพี่น้องมี และสืบทราบว่าเป็นการยักย้ายถ่านโอนให้ 1 ปีก่อนถูกศาลมีคำสั่งก็สามารถยึดเอาทรัพย์สินส่วนนั้นมาได้” วิษณุ กล่าว

ประยุทธ์ ชี้ไม่ได้กลั่นแกล้ง

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. กล่าวถึงกรณี สตง. เตรียมแจ้งสรรพากรให้เรียกเก็บภาษีจากนักการเมืองในยุครัฐบาลอภิสิทธิ์ และรัฐบาลยิ่งลักษณ์ เนื่องจากพบว่ามีรัฐมนตรีบางคนมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นจำนวนมาก หลังจากพ้นตำแหน่ง แต่ส่วนใหญ่เป็นการแจ้งเฉพาะเงินเดือน ไม่ได้นำ ทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้นมาคำนวณภาษี ว่า เมื่อมีการส่งเรื่องมา ก็ได้มอบให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องไปตรวจสอบ เพราะนายกรัฐมนตรี ไม่ได้มีหน้าที่ตรวจสอบเอง ซึ่งหลังจากนี้ คงมีการส่งเรื่องในกรณีเดียวกันเข้ามาเพิ่มเติมอีกหลายเรื่อง และหากคดีใดที่มีความเชื่อมโยงกับคดีอื่น ๆ เชื่อว่าเจ้าหน้าที่จะตรวจสอบหาข้อเท็จจริงได้ ไม่ใช่เรื่องของการกลั่นแกล้ง เพราะ มีทั้งกฎหมายปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) กฎหมายป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาครัฐ( ปปท.). และกฎหมายป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)

“รัฐบาลต้องอำนวยความสะดวกให้หน่วยงานเหล่านี้ทำงานตามขั้นตอน  รัฐบาลมีหน้าที่ที่จะต้องติดตามความคืบหน้าต่าง ๆ  ขออย่าตีความว่า เมื่อการตัดสินออกมาแล้วจะมีการฮั้วเกิดขึ้น หรือต่อมาก็จะไม่มีความผิด เพราะทุกอย่างอยู่ที่หลักฐานและหลักการในการพิจารณา ซึ่งบางเรื่องเมื่อผิดก็ต้องผิด แต่บางเรื่อง ดูเหมือนผิดแต่ไม่ผิด” นายกรัฐมนตรี กล่าว

ประวิตร ยันไม่กระทบปรองดอง

พล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคงและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กรณีนี้ด้วยว่า ไม่กระทบแนวทางการสร้างความปรองดอง เพราะทุกอย่างต้องว่าไปตามกระบวนการกฎหมาย กฎหมายไม่ได้กำหนดให้ต้องละเว้นใคร ขออย่านำมาเชื่อมโยงกับการสร้างความปรองดอง เพราะเป็นคนละส่วนกัน
 
“ขณะนี้การสร้างปรองดองเดินหน้าไปได้ด้วยดีการเชิญพรรคการเมืองมาหารือแสดงความเห็น เป็นไปตามกรอบเวลาที่วางไว้และในวันที่ 20 มีนาคมนี้ ผมจะเป็นประธานประชุมคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องกับการสร้างความปรองดองทั้งหมดของคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความปรองดอง (ป.ย.ป.) เพื่อสรุปการทำงานและเตรียมการเข้าสู้กรอบการทำงานในระยะที่ 2 ที่ตั้งไว้” พล.อ.ประวิตร กล่าว
 
เรียบเรียงจาก สำนักข่าวไทย 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท