นักต้านฐานทัพสหรัฐฯ ในโอะกินะวะได้ประกันแล้ว หลังถูกขังนาน 5 เดือน

ฮิโรจิ ยามะชิโระ นักกิจกรรมต้านฐานทัพสหรัฐฯ ในโอะกินะวะ ได้รับการปล่อยตัวผ่านการประกันตัวแล้วในที่สุดหลังการพิจารณาคดีในครั้งแรก จากเดิมที่เขาถูกสั่งคุมขังโดยห้ามประกันตัวเป็นเวลานานถึง 5 เดือน โดยไม่ได้รับการตัดสินว่ามีความผิดใดๆ บทความของนักสิทธิมนุษยชนใน Waging Nonviolence เล่าเรื่องราวของชายอายุ 64 ผู้นำคนโอะกินะวะต่อสู้อย่างสันติ

20 มี.ค. 2560 ไมเคิล คาสเตอร์ นักส่งเสริมสิทธิมนุษยชน ที่ปรึกษาและนักวิจัยเกี่ยวกับเรื่องเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นำเสนอเรื่องราวของผู้นำขบวนการต่อต้านฐานทัพสหรัฐฯ ในโอะกินะวะที่ถูกจับกุม หลังจากตัดรั้วลวดหนามในช่วงที่ชุมนุม เขาเป็นชายอายุ 64 ปีชื่อ ฮิโรจิ ยามะชิโระ ถูกจับกุมตั้งแต่วันที่ 17 ต.ค. ปีที่แล้วและเพิ่งจะได้รับการปล่อยตัวเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมานี้เอง นอกจากยามะชิโระแล้วยังเหลือผู้ถูกจับกุมและยังคงไม่ได้รับการปล่อยตัวอีก 2 ราย

ยามะชิโระ เป็นประธานศูนย์เคลื่อนไหวเพื่อสันติโอะกินะวะ ที่มีความสำคัญต่อการเคลื่อนไหวอย่างสันติเพื่อต่อต้านการขยายฐานทัพสหรัฐฯ มาเป็นเวลาหลายปีแล้ว ยามะชิโระถูกจับกุมหลังจากที่เขาต้องเข้ารับการรักษามะเร็งมาตั้งแต่ปี 2558 และจากการตรวจทางการแพทย์ในช่วงสองเดือนหลังเขาถูกคุมขังก็พบว่าสภาพร่างกายของเขาทรุดลง คาสเตอร์ระบุว่า ยามะชิโระถูกคุมขังตั้งแต่ก่อนการพิจารณาคดี ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะถูกขังเดี่ยว เขาถูกปฏิเสธไม่ให้ประกันตัวและไม่ให้พบกับครอบครัว สามวันหลังถูกจับกุม เขาถูกตั้งข้อหาเพิ่มในข้อหาทำร้ายร่างกายและกีดขวางการดำเนินธุรกิจ ข้อหาหลังนี้ถูกโยงกับเรื่องที่เขาถูกกล่าวหาตั้งแต่เมื่อเกือบหนึ่งปีก่อนหน้านั้น

ชุนจิ มิยาเกะ ทนายความของยามะชิโระกล่าวว่า ฝ่ายพนักงานอัยการอ้างคุมขังยามะชิโระช่วงก่อนการดำเนินคดีซ้ำๆ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วคนที่ทำความผิดข้อหาเล็กๆ น้อยๆ อย่างยามะชิโระไม่ควรต้องเจอกระบวนการคุมขังล่วงหน้าก่อนดำเนินคดีเช่นนี้ ทำให้มิยาเกะคิดว่าการอ้างกระบวนการดังกล่าวเพื่อหาเรื่องกักขังยามะชิโระนานต่อไปเรื่อยๆ อดีตผู้พิพากษาอิซามุ นาคาโซะเนะ ก็เห็นด้วยในเรื่องนี้ โดยมองว่าพวกเขายืดเวลาการคุมขังยามะชิโระต่อไปเรื่อยๆ เพื่อยับยั้งไม่ให้เขาประท้วงต่อต้านฐานทัพสหรัฐฯ อีกทั้งยังเอาไว้ขู่ให้ผู้ประท้วงคนอื่นๆ กลัวเพราะยามะชิโระเป็นกุญแจสำคัญของการประท้วงและการก่อสร้างฐานทัพก็กำลังเข้าสู่ช่วงเวลาสำคัญ

องค์กรแอมเนสตี้อินเตอร์เนชันแนลออกปฏิบัติการณ์รณรงค์เรียกร้องปล่อยตัวยามะชิโระเมื่อเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา นอกจากนี้ในเดือน ก.พ. ยังมี ส.ส.ในสภาระดับจังหวัดออกแถลงการณ์ว่า การจับกุมในครั้งนี้เป็นการปราบปรามทางการเมืองต่อชาวโอะกินะวะผู้ขัดขืนอย่างสันติเพราะต้องการแสวงหาสันติภาพและนำศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์คืนมาสู่พวกเขา

แม้ว่าจะมีการเรียกร้องปล่อยตัว แต่ศาลสูงของญี่ปุ่นก็ปฏิเสธไม่ยอมรับการอุทธรณ์ให้ปล่อยตัวยามะชิโระยาวนานมาจนกระทั่งถึงเมื่อวันที่มีการพิจารณาคดีเป็นครั้งแรก

มีการพิจารณาคดียามะชิโระเป็นครั้งแรกตามกำหนดการเมื่อวันที่ 17 มี.ค. ที่ผ่านมา โดยที่ฝ่ายยามะชิโระให้การแก้ต่างว่าเขาไม่ได้ผิดในข้อหากีดขวางการดำเนินธุรกิจและไม่เคยทำร้ายร่างกาย แต่ยอมรับผิดในข้อหาทำลายทรัพย์สินจากกรณีตัดรั้วลวดหนาม

สื่อเจแปนทูเดย์รายงานว่าข้อหากีดขวางการทำธุรกิจที่ยามะชิโระถูกกล่าวหามาจากกรณีที่เขาวางอิฐบล็อคกั้นค่ายทหารชวาบในเขตเฮะโนะโกะเมื่อต้นปี 2559 ยามะชิโระบอกว่าสิ่งที่เขาทำเป็นการแสดงออกเชิงการประท้วงซึ่งถือเป็นการแสดงออกที่มีความชอบธรรมตามกฎหมาย ส่วนกรณีที่ถูกกล่าวหาเรื่องทำร้ายร่างกายเจ้าหน้าที่นั้นยามะชิโระยังเป็นแค่ผู้ต้องสงสัยว่า "ทำร้าย" เจ้าหน้าที่ฝ่ายกลาโหมด้วยการจับไหล่เจ้าหน้าที่รายนั้นเขย่า เหตุเกิดในเดือน ส.ค. ปี 2559 ช่วงประท้วงฐานทัพสหรัฐฯ ในเมืองฮิงาชิ

อย่างไรก็ตาม หลังจากพิจารณาคดีในครั้งแรก ยามะชิโระก็ได้รับอนุญาตให้ประกันตัวในที่สุด โดยศาลสูงฟุกุโอกะสาขานาฮะก็ทำตามคำตัดสินเดิมของศาลแขวงนาฮะที่อนุญาตปล่อยตัวยามะชิโระผ่านการประกันตัวหลังจากเขาโดนขังมา 5 เดือนแล้ว

การต่อสู้อันยาวนานของชาวโอะกินะวะ


ป้ายประท้วงในโอะกินะวะ มี.ค. 2549 
ภาพโดย Aaron (CC BY-NC-SA 2.0)

บทความของคาสเตอร์ในเว็บไซต์ Waging Nonviolence ระบุว่าในปัจจุบันโอะกินะวะมีฐานทัพสหรัฐฯ อยู่ 30 แห่ง และบางฐานทัพก็อยู่ในพื้นที่ที่มีผู้คนอาศัยอยู่หนาแน่น ผู้คนชาวโอะกินะวะไม่พอใจกับฐานทัพสหรัฐฯ ในพื้นที่ของพวกเขา โดยที่ยามะชิโระเป็นผู้นำการต่อต้านการย้ายฐานทัพอากาศสหรัฐฯ จากฟูเทนมะไปยังอ่าวเฮะโนะโกะ ชาวโอะกินะวะร้อยละ 84 ที่ไม่เห็นด้วยกับการย้ายฐานทัพสหรัฐฯ ในครั้งนี้

กรณีการตั้งฐานทัพสหรัฐฯ ในโอะกินะวะมีประวัติศาสตร์ที่สลับซับซ้อนและยาวนาน โดยตั้งแต่ปี 2495 ญี่ปุ่นและสหรัฐฯ ลงนามในสนธิสัญญาซานฟรานซิสโกที่ยกเลิกการที่สหรัฐฯ เข้ายึดครองญี่ปุ่นแต่ก็ยังคงอนุญาตให้มีการควบคุมทางการทารในโอะกินะวะได้ หลังจากนั้นในปี 2515 สหรัฐฯ ก็คืนอำนาจบริหารทั้งหมดของโอะกินะวะให้กับญี่ปุ่น แต่ตลอด 27 ปีที่อยู่ภายใต้การควบคุมของกองทัพญี่ปุ่นทำให้มีกรณีที่ฝ่ายกองทัพกระทำผิดโดยลอยนวลไม่ต้องรับผิดส่งผลสะเทือนฝังรากลึกและวัฒนธรรมการต่อต้านของชาวโอะกินะวะก็ฝังรากลึกเช่นกัน

คาสเตอร์ยกตัวอย่างกรณีโชโกะ อาฮะกอง ผู้ได้รับแรงบันดาลใจจากมหาตมะ คานธี ผู้ต่อต้านอาณานิคมบริติช อาฮะกองนำคนเดินขบวนต่อต้านฐานทัพสหรัฐฯ ในปี 2498 ยาวนานเป็นเวลา 7 เดือน หลังจากที่ชาวบ้านถูกไล่ที่และทุกทำลายอาคารบ้านเรือนเพื่อสร้างฐานทัพสหรัฐฯ มาเป็นเวลานาน จนทำให้อาฮะกองได้รับขนานนามว่าเป็น "คานธีแห่งโอะกินะวะ" การเคลื่อนไหวของเขายังกลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับการเคลื่อนไหวต่อๆ มาในโอะกินะวะรวมถึงยามะชิโระเองด้วย

แต่นี่ก็ไม่ใช่แค่การต่อต้านสิ่งตกค้างจากอาณานิคมเท่านั้น ยังเป็นประเด็นในเรื่องการเหยียดเชื้อชาติปนอยู่ด้วยจากความคิดเห็นของไทสุเกะ โคมัทสึ ผู้ประสานงานการว่าความให้กับการเคลื่อนไหวต่อต้านการกีดกันและการเหยียดเชื้อชาติทุกรูปแบบของสหประชาชาติ (U.N. Advocacy Coordinator for the International Movement Against All Forms of Discrimination and Racism) โคมัทสึบอกว่าเรื่องฐานทัพสหรัฐฯ ในโอะกินะวะเป็นเรื่องของการเหยียดเชิงโครงสร้างที่โอะกินะวะต้องเผชิญมาเป็นเวลาหลายสิบปีด้วย เขาเปรียบเทียบว่าชาวโอะกินะวะที่ถูกละเลยจากทางการกลางโตเกียวมาเป็นเวลานานรู้สึกเหมือนถูกตบหน้า นอกจากนี้ยังเคยมีกรณีการกระทำความรุนแรงทางเพศต่อเด็กหญิงในโอะกินะวะอย่างกรณีข่มขืนและสังหารยูมิโกะ นากายามะ เมื่อราว 60 ปีที่แล้ว และกรณีอื่นๆ ที่เป็นบาดแผลสำหรับชาวโอะกินะวะ

โคมัทสึกล่าวว่าแม้ชาวโอะกินะวะจะเจ็บปวดแต่การที่ทางการกลางโตเกียวยังคงไม่สนใจคนในพื้นที่แล้วอนุญาตให้สร้างฐานทัพต่อไปโดยไม่สนใจคำคัดค้านของชาวจังหวัดทำให้ชาวโอะกินะวะรู้สึกเหมือนพวกเขาถูกรัฐบาลกลางปฏิบัติเหมือนพลเมืองชั้นสอง ขณะที่เหล่านักการเมืองในท้องถิ่นของโอะกินะวะมีท่าทีแบบเดียวกับประชาชนในพื้นที่คือพยายามต่อต้านฐานทัพสหรัฐฯ

เช่นในเดือน ม.ค. 2556 ผู้ว่าการเทศบาลและ ส.ส. ในสภาท้องถิ่นโอะกินะวะรวมทั้งหมด 41 ราย ยื่นคำร้องให้ทางการกลางญี่ปุ่นสกัดกั้นการตั้งฐานทัพสหรัฐฯ ที่อ่าวเฮะโนะโกะ แต่ทางการกลางในโตเกียวก็ยังคงประกาศดำเนินแผนการสร้างต่อไป หลังจากนั้นจึงมีการประท้วงจากประชาชนจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ทางการก็ตอบโต้การประท้วงต่อต้านเหล่านี้ด้วยการใช้กำลังอย่างไม่เหมาะสม ต่อมาในเดือน พ.ย. 2557 ทาเคชิ โอะนะกะ ผู้ต่อต้านการตั้งฐานทัพสหรัฐฯ ก็ชนะการเลือกตั้งเป็นผู้ว่าการโอะกินะวะเรื่องนี้ถูกมองว่าเป็นชัยชนะของฝ่ายขบวนการสันติ แต่ทางการกลางญี่ปุ่นก็ยังคงเดินหน้าแผนการย้ายฐานทัพสหรัฐฯ ต่อไป และเหล่าประชาชนโอะกินะวะผู้ต่อต้านฐานทัพสหรัฐฯ ก็ออกมาประท้วงกันมากกว่าเดิมโดยมีองค์กรของยามะชิโระเป็นหัวหอกในการประท้วงอย่างสันติ

คาสเตอร์มองว่าการคุมขังยามะชิโระเป็นเวลานานถือเป็นการยกระดับการใช้อำนาจในทางที่ผิดของทางการกลางต่อนักกิจกรรมสันติวิธีของโอะกินะวะ ซึ่งควรมีการตอบโต้ด้วยการยกระดับยุทธวิธีในการต่อต้าน

ในสมัยของนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ มีการอ้างเรื่องความเป็นห่วงสถานการณ์ความมั่นคงกับเกาหลีเหนือที่คาดเดาไม่ได้และเรื่องที่จีนแผ่นดินใหญ่ทีท่าทีรุกล้ำมากขึ้นเรื่อยๆ เป็นความชอบธรรมในการดำเนินนโยบายแบบติดอาวุธทางการทหารอีกครั้ง รวมถึงการขยายฐานทัพในโอะกินะวะด้วย

เพราะสิทธิมนุษยชนเป็นพื้นฐานสำหรับสันติภาพและความมั่นคง

อย่างไรก็ตาม คาสเตอร์ชี้ว่าในระดับมาตรฐานสากลแล้วสิทธิมนุษยชนเป็นพื้นฐานสำหรับสันติภาพและความมั่นคง น่าละอายถ้าญี่ปุ่นจะใช้วิธีการแบบอำนาจนิยมในการปราบปรามกิจกรรมเชิงสันติในนามของการอ้างความมั่นคง และเรื่องนี้จะต้องจับตามองภายใต้ความสัมพันธ์ระหว่างอาเบะกับรัฐบาลใหม่นำโดยโดนัลด์ ทรัมป์ จากสหรัฐฯ แต่ดูเหมือนว่าทรัมป์เองก็พยายามทำลายความชอบธรรมและทำให้นักกิจกรรมเพื่อสันติภาพเป็นอาชญากรรมเช่นกัน ชาวโอะกินะวะจึงต้องหาช่องทางใหม่ในการกดดัน

ในกรณีการจับกุมยามะชิโระนั้นเมื่อช่วงต้น มี.ค. ที่ผ่านมาก็มีกลุ่มที่ชุมนุมหน้าสถานกงสุลญี่ปุ่นในนิวยอร์กถือป้ายเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวยามะชิโระ มีการวิพากษ์วิจารณ์การปฏิบัติต่อยามะชิโระในเวทีระดับโลก สิ่งเหล่านี้มีความสำคัญต่อการยกระดับการต่อสู้ขัดขืนของชาวโอะกินะวะ โดยการเรียกความสนใจในระดับนานาชาติเพื่อให้นานาชาติช่วยกดดันรัฐบาลในช่วงที่การต่อสู้จากภายในอ่อนแรงลง กลุ่มภาคประชาสังคมที่ต่อสู้กับรัฐบาลกกลางญี่ปุ่นจึงควรหาความร่วมมือจากกระบวนการสิทธิมนุษยชนระดับนานาชาติของสหประชาชาติด้วย

คาสเตอร์ระบุว่า การสนับสนุนจากนานาชาติยังรวมถึงการเรียกร้องปล่อยตัวยามะชิโระและเรียกร้องให้รัฐบาลอาเบะเลิกสั่งดำเนินคดีกับนักกิจกรรมโอะกินะวะด้วย ซึ่งในเรื่องนี้ประสบความสำเร้จบ้างแล้วเล็กน้อยในแง่ที่ยามะชิโระได้ประกันตัว แต่สำหรับคาสเตอร์แล้วเรื่องนี้ก็ไม่ใช่แค่เรื่องของยามะชิโระเพียงคนเดียว "ถึงที่สุดแล้ว นี่ไม่ใช่แค่เรื่องเกี่ยวกับการปล่อยตัวยามะชิโระ แต่ยังเป็นเรื่องของการรับประกันว่าทางการกลางโตเกียวจะเคารพสิทธิของทุกคนที่เข้าร่วมขบวนการต่อต้านอย่างสันติ"

เรียบเรียงจาก

Japan detains movement leader to silence struggle against U.S. military bases
http://wagingnonviolence.org/feature/hiroji-yamashiro-detention-japan-us-military-bases/

Antibase Okinawa activist freed after 5 months' detention, Japan Today, 18-03-2017
https://www.japantoday.com/category/crime/view/court-puts-bail-on-hold-for-antibase-okinawa-activist

Prominent antibase activist released in Okinawa, Kyodo News
https://english.kyodonews.jp/photos/2017/03/464315.html

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท