ศาลชั้นต้นสั่งจำคุก 14 ปี นายกประมงตรัง และพวกในคดีค้ามนุษย์ปี 58

ศาลจังหวัดตรัง พิพากษาจำคุก 14 ปี นายกสมาคมประมงจังหวัดตรัง และพวกรวม 6 คนพร้อมให้ชดใช้ค่าเสียหายแก่ลูกเรือประมง และสั่งปรับห้างหุ้นส่วนจำกัดบุญลาภการประมง ในข้อหาฐานร่วมกันกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์

20 มี.ค. 2560 รายงานข่าวจาก โครงการต่อต้านการค้ามนุษย์ มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา แจ้งว่า เมื่อวันที่17 มี.ค.ที่ผ่านมา ศาลจังหวัดตรังได้อ่านคำพิพากษา ในคดีที่พนักงานอัยการจังหวัดตรังเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง สมจิตหรือแมซอ ศรีสว่าง กับพวกรวม 10 คนและห้างหุ้นส่วนจำกัดบุญลาภการประมง นิติบุคคล ต่อศาลจังหวัดตรัง เป็นคดีดำเลขที่ คม.1/2559 ในข้อหาร่วมกันเป็นธุระจัดหา จัดให้อยู่อาศัย รับไว้ซึ่งบุคคลใด หรือหน่วงเหนี่ยวกักขัง ข่มขู่และใช้กำลังบังคับผู้เสียหายซึ่งเป็นแรงงานข้ามชาติชาวพม่า จำนวน 15 คน เกิดความกลัวว่าจะเกิดอันตรายแก่ชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ (รายละเอียดเพิ่มเติม  http://hrdfoundation.org/?p=1497 )

รายงานข่าวระบุว่า ศาลจังหวัดตรัง ได้อ่านคำพิพากษา โดยมีเนื้อหาโดยสรุปว่า 1. สมจิต ศรีสว่างหรือ แมซอ, ไพวงค์ ไชยพลฤทธิ์,  เมมิวและกัลยาณี ชุมอิน ได้กระทำการในลักษณะของนายหน้าโดยการชักชวน ผู้เสียหายมาทำงานเป็นลูกเรือประมงที่แพปลาของห้างหุ้นส่วนจำกัดบุญลาภการประมง ซึ่งมี สมพล จิโรจน์มนตรี เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ โดยให้ผู้เสียหายทั้ง 15 คน พักอาศัยอยู่ในบริเวณที่จัดไว้ให้โดยมีผู้ควบคุม กักขังเพื่อไม่ให้ผู้เสียหายหลบหนีออกไป ทั้งยังสร้างภาระหนี้สินที่เกินความเป็นจริง เพื่อบังคับให้ผู้เสียหายทำงานเป็นลูกเรือประมงของห้างหุ้นส่วนจำกัดบุญลาภการประมง โดยมี ประวิทย์ กิ้มซ้าย เป็นไต้ก๋งเป็นผู้สั่งให้ผู้เสียหายทำงาน ซึ่งเมื่อผู้เสียหายได้รับค่าจ้าง นางแมซอและพวกก็จะเป็นผู้เก็บไว้ทั้งหมด

2. กรณี สมพล จิโรจน์มนตรีหรือโกหนั่ง มีฐานะเป็นนายจ้างของผู้เสียหาย เนื่องจากเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ของห้างหุ้นส่วนจำกัดฯ และมีหน้าที่ในการจ่ายค่าจ้างให้แก่ผู้เสียหาย โดย สมพล ได้ยินยอมให้นางแมซอและพวก อยู่ร่วมด้วยทุกครั้งในสำนักงานในขณะจ่ายเงินค่าจ้าง ดังนั้นนายสมพลย่อมรู้เห็นการกระทำซึ่งกันและกันของผู้กระทำความผิดทั้งหมดจึงนับเป็นผู้ได้ผลประโยชน์ร่วมกัน อีกทั้งการกระทำของนายสมพลนับว่าเป็นการกระทำในหน้าที่เพื่อดำเนินกิจการของห้างหุ้นส่วนฯ จึงถือได้ว่าการกระทำของนายสมพล ย่อมผูกพันต่อห้างหุ้นส่วนฯ ด้วย

3.  ดังนี้ ศาลเห็นว่าพฤติการณ์ของ สมพล จิโรจน์มนตรี หรือ โกหนั่ง กับพวก มีความผิดฐาน ข่มขืนใจผู้อื่นโดยมีอาวุธ ฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่นหรือกระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นปราศจาก เสรีภาพในร่างกาย ฐานเอาคนลงเป็นทาส  และฐานร่วมกันค้ามนุษย์โดยร่วมกันกระทำด้วยกันตั้งแต่สามคนขึ้นไป ตามประมวลกฎหมายอาญา และพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 จึงพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย 6 คน กล่าวคือ สมพล จิโรจน์มนตรี สมจิต ศรีสว่าง, ไพวงค์ ไชยพลฤทธิ์, เมมิว, กัลยาณี ชุมอิน และประวิทย์ กิ้มซ้าย คนละ 14 ปี และให้ชดใช้ค่าเสียหายให้กับผู้เสียหาย รวมเป็นเงินจำนวนทั้งสิ้น 1,992,000 บาท สำหรับห้างหุ้นส่วนจำกัดแพปลาบุญลาภ ศาลพิพากษาปรับเป็นเงินจำนวน 600,000 บาท นอกจากนี้ส่วน ไพวงค์ ไชยพลฤทธิ์ ยังต้องรับโทษในข้อหาความผิดฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตจึงต้องรับโทษจำคุกเพิ่มอีก 1 ปี

4. ส่วนจำเลยอีก 4 คนที่เหลือ กล่าวคือ ไต้ก๋งประจำเรือและเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ของห้างหุ้นส่วนจำกัดบุญลาภการประมง ศาลเห็นว่าไม่มีพยานหลักฐานเพียงพอที่ทำให้เห็นได้มีส่วนร่วมในการกระทำความผิด ต่อผู้เสียหายและลูกเรือประมงคนอื่นๆ ศาลจึงมีคำพิพากษายกฟ้อง

ทั้งนี้ กาญจนา อัครชาติ ผู้ช่วยผู้ประสานงานโครงการต่อต้านการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา เห็นว่า คำพิพากษานี้มีความสำคัญต่อการให้ความช่วยเหลือแรงงานประมง ซึ่งตกเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ ในรูปแบบ การใช้บังคับใช้แรงงาน ในลักษณะแรงงานขัดหนี้ เนื่องจากในอดีตที่ผ่านมายังไม่ค่อยมีคำพิพากษาที่วินิจฉัยลักษณะการใช้แรงงานขัดหนี้ของผู้เสียหายที่เป็นแรงงานประมงที่ชัดเจนมากนัก ซึ่งคำพิพากษาคดีนี้สามารถเป็นกรณีศึกษาให้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐในการช่วยเหลือผู้เสียหายและดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดในลักษณะเดียวกัน ในข้อหาค้ามนุษย์ อีกทั้งคำพิพากษาคดีนี้ยังสอดคล้องกับการปรับแก้ไข พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ซึ่งได้มีการแก้ไขในปีพ.ศ. 2560 โดยการเพิ่มรูปแบบแรงงานขัดหนี้เป็นหนึ่งในรูปแบบการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบจากการบังคับใช้แรงงาน และการส่งเสริมให้เกิดการนำ อนุสัญญาอาเซียนว่าด้วยการต่อต้านการค้ามนุษย์ที่ประเทศไทยให้สัตยาบัน เมื่อวันที่ 24 ก.ค. 2559 มาบังคับใช้ ซึ่งประเทศไทยได้แสดงความมุ่งมั่นในการต่อต้านการค้ามนุษย์และประกาศให้การป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์เป็นวาระแห่งชาติ รวมทั้งเร่งส่งเสริมความร่วมมือระดับภูมิภาคอาเซียนในการป้องกันและปราบปรามปัญหาดังกล่าว

ที่มาของคดี : 

เมื่อวันที่ 21 ต.ค. 2558 เจ้าหน้าที่ศูนย์ต่อต้านการค้ามนุษย์ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจท้องถิ่น และองค์กรภาคประชาสังคม ได้ร่วมกันเข้าช่วยเหลือแรงงานประมงชาวเมียนมาร์จำนวน 15 คน ที่ร้องขอความช่วยเหลือผ่านองค์กรภาคประชาสังคม โดยให้ข้อมูลเบื้องต้นว่าถูกกักขัง หน่วงเหนี่ยว ถูกทำร้ายร่างกาย และถูกหักค่าแรง และจากการสืบสวน รวบรวมพยานหลักฐานของเจ้าหน้าที่ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจท้องถิ่น เจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ และเจ้าหน้าที่จากสำนักปราบปรามการฟอกเงิน สามารถจับกุม สมพล จิโรจน์มนตรี หรือ โกหนั่ง หุ้นส่วนผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัดบุญลาภการประมงพร้อมพวก เมื่อวันที่ 7 พ.ย. 2558 ในข้อหาร่วมกันค้ามนุษย์และสมคบกันตั้งแต่ 3 คนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ ตามพระราชบัญญัติป้ องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 โดยผู้เสียหายทั้ง 15 คน ได้แต่งตั้งทนายความโดยการสนับสนุนของมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา ในการให้คำปรึกษาทางกฎหมายรวมทั้งยื่นเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการในคดี

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท