วิพากษ์ คำผกา จากกรณี “การเหยียด” เปก ผลิตโชค ด้วยมุมมองอำนาจทับซ้อน

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

ในระยะไม่กี่วันที่ผ่านมานี้ มีกระแสสังคมที่น่าสนใจ ว่าด้วย “การเหยียด”

ผู้เขียนขอเท้าความถึงที่มาของต้นเรื่องนั่นคือ รายการหน้ากากนักร้อง หรือ The Mask singer สรุปสั้นๆ สำหรับคนที่ไม่ได้ติดตาม ว่ารายการนี้ก็คือ การประกวดร้องเพลงโดยให้ผู้เข้าร่วมแข่งขัน ซึ่งเป็นคนมีชื่อเสียง ไม่ว่าจะเป็นดารา นักร้องอาชีพ ตลก เป็นเซเลบริตี้ และมีศักยภาพในการร้องเพลง มาใส่หน้ากากแล้วแข่งขันร้องเพลงเป็นรอบๆ ใครแพ้ก็ถอดหน้ากาก

ในส่วนของเทปที่ทำให้เกิดการพูดคุย ถกเถียงในวงกว้างในโซเซียลมีเดีย คือ เทปรายการวันที่ 16 มีนาคม
( http://9poto.com/ดูรายการทีวี/เดอะ-แมสค์-ซิงเกอร์/)
ซึ่งเป็นการแข่งขันรอบหาผู้ที่จะได้เข้าไปชิงชนะเลิศ ระหว่างหน้ากากจิงโจ้ กับหน้ากากทุเรียน

ผลคือ เมื่อหน้ากากจิงโจ้แพ้ และเมื่อได้ถอดหน้ากากออกมาเป็น คุณเปก ผลิตโชค ได้มีการวิพากษ์วิจารณ์กันในโลกออนไลน์ว่าจากคำชื่นชมจำนวนมากก่อนหน้าทั้งจากกรรมการและผู้ชม กลับหายไปและถูกแทนที่ด้วยการเหยียดหลายมิติทั้งอัตลักษณ์ทางเพศภาวะ (Gender Identity)และรสนิยมทางเพศ (Sexaul Oreintation) ว่ากระเทย เป็นเกย์และไม่แมน , รวมถึงการเหยียดว่ามีประสบการณ์การผ่านศัลยกรรมและสำเนียงการพูด ที่ไม่ “ไทย(Thainess)” (ผู้เขียน)

ทั้งนี้ผู้เขียนอยากจะหยิบยกเป็นประเด็น การวิเคราะห์เรื่อง “การเหยียด” จากในรายการ In Her View โดยคุณพิธีกรคือ คำผกา ได้ให้ข้อคิดเห็นไว้

(ชมคลิปย้อนหลัง http://shows.voicetv.co.th/inherview/471624.html นาทีที่ 10:10 ถึงนาทีที่ 18:10 ซึ่งถึงปัจจุบันมีคนแชร์ในเฟซบุ๊กไปแล้วมากกว่า 260 ครั้ง)

สิ่งที่ผู้เขียนสนใจ คือ ตอนท้ายคำผกา ได้ให้ข้อเสนอแนะ เพื่อรับมือกับการถูกโจมตี การถูกด่า เหยียด ในโซเชียลมีเดีย ประมาณว่า ถ้าถูกด่าว่าเป็นเกย์ เป็นกระเทย ไม่แมน (Gender Non-comforming) ถ้าถูกหาว่าไปศัลยกรรมมาหรือเปล่า หรือแม้กระทั่งในกรณีของเธอถูกหาว่าหัวนมดำ ถูกกล่าวหาว่าโง่ กลวง ก็ให้รับสิ่งเหล่านั้น (ที่คนอื่นดูถูก ด่า เหยียด) เพราะมันไม่ใช่คุณเป็นอาชญากร คุณไม่ได้กำลังทำอาชญากรรม และ(หากถูกด่า เหยียด) ต้องไม่ ดราม่า อย่าร้องให้ ฟูมฟาย อย่าเสียใจ อย่าทำตัวน่าสงสาร เพราะไม่มีสังคมใดปลอดจากการเหยียด เรา(คนที่ถูกเหยียด) ถ้าไม่ไปยอมรับเอาวาทกรรมนั้นมาทำให้ตัวเองเศร้า เหงาหงอย ก็จะนำไปสู่การตัดตอนการเหยียดได้ดีที่สุด …..

ผู้เขียนขอใช้วิธีคิดว่าด้วยมิติทางเพศ (Sex) เพศภาวะ (Gender) และรสนิยมทางเพศ (Sexual Orientation) และความรุนแรงอันมีรากฐานมาจากเพศภาวะ (Gender Based Violence) มาวิเคราะห์เรื่องเหล่านี้

หากเรายังจำได้ นอกจากจะมีข่าวเด็กและเยาวชนที่มีความหลากหลายทางเพศและบางกรณีเป็นเด็กที่มีอัตลักษณ์ชายขอบ ถูกล้อเลียน กลั่นแกล้ง รังแก จนนำไปสู่การฆ่าตัวตาย จึงมีงานวิจัยเรื่อง “การรังแกต่อกลุ่มนักเรียนที่เป็นหรือถูกมองว่าเป็นคนข้ามเพศหรือคนรักเพศเดียวกันในโรงเรียนระดับมัธยมศึกษา: รูปแบบ ความชุก ผลกระทบ แรงจูงใจ และมาตรการป้องกันใน 5 จังหวัดของประเทศไทย” จัดทำโดยองค์การแพลน อินเตอร์เนชั่นแนล, ยูเนสโก และมหาวิทยาลัยมหิดล พบว่าเกือบหนึ่งในสามของนักเรียนที่ระบุตนเองว่าเป็นเลสเบี้ยน เกย์ คนรักสองเพศ และคนข้ามเพศ (LGBT) รายงานว่าเคยมีประสบการณ์ถูกทำร้ายร่างกาย ร้อยละ 29.3 ระบุว่าเคยถูกกระทำทางวาจา นอกจากนี้ร้อยละ 7 ของผู้ที่ถูกรังแกระบุว่าเคยพยายามฆ่าตัวตาย (อ้างอิง http://3c4teen.org/post/1960)

จากข้อเท็จจริงและข้อมูลพื้นฐานนี้เอง ทำให้เกิดการร่วมกันรณรงค์ต่อต้านความรุนแรงอันมีรากฐานมาจากเพศภาวะ ขึ้นทั่วโลกทั่วโลก และรวมทั้งในประเทศไทย ซึ่งผู้เขียนและองค์กรสังกัดของผู้เขียน คือ โครงการสร้างสรรค์อนาคตเยาวชน ก็เป็นส่วนหนึ่งในการเคลื่อนไหว รณรงค์เหล่านี้ด้วย เช่น Anti- Bullying Project, Stop Bullying in the school, Purple my school campaign, Being LGBTI in Asia รวมทั้งการรณรงค์ในวันสากลยุติความเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกันและคนข้ามเพศ(IDAHOT) ซึ่งตรงกับวันที่ 17 พฤษภาคมของทุกปี  เป็นต้น

ดังนั้น เราจึงไม่สามารถที่จะนิ่งนอนใจและปล่อยให้การด่า เหยียดด้วยเหตุแห่งอัตลักษณ์ทางเพศ มาเป็นบรรทัดฐานของสังคม (Norm) เพราะผลกระทบที่สืบเนื่องมาจากการไม่มีความอ่อนไหวเรื่องภาษา การล้อเลียน ด่าทอ เหยียดหยามด้วยอัตลักษณ์และรสนิยมทางเพศ ส่งผลกระทบต่อชีวิตคนจำนวนมาก ที่เป็นและไม่เป็นผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งนับเป็นความรุนแรงแรงอันมีรากฐานมากจากเพศภาวะ

เรื่อง “ภาษา” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการกดขี่อย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะต่อชนเผ่าพื้นเมืองและชาติพันธุ์

จากพื้นฐานชีวิตของผู้เขียนซึ่งเป็นชาติพันธุ์ลาวในประเทศไทยและได้ทำงานคลุกคลีกับระบบการศึกษา กับเด็กและเยาวชน ชนเผ่าพื้นเมือง สิ่งที่คนจำนวนมากในสังคม “ทำให้เป็นเรื่องปกติ (Normalization)” คือ การใช้เหตุแห่งภาษา เป็นกลไกอำนาจ เพื่อสร้างความชอบธรรมให้เกิดรูปแบบพื้นฐานของการแบ่งแยกกีดกัน นำไปสู่การเลือกปฏิบัติและใช้ความรุนแรงทั้งทางตรงและทางอ้อม กล่าวคือ ไม่สามารถปฏิเสธ ว่า สังคมไทยมีความพยายามที่จะสถาปนาภาษาไทยให้มีความเป็นมาตรฐาน (สำเร็จหรือไม่สำเร็จเป็นอีกเรื่องหนึ่ง) โดยการสร้างหลักไวยกรณ์ หลักการเขียน และการออกเสียงที่ถูกต้อง ดีงามจริงและเป็นไทย ผ่านระบบการศึกษากระแสหลัก คือ  โรงเรียนนั่นเอง ที่ทำหน้าที่ในการผลิตความเป็นไทย(Thai-ization) ผ่านปฏิบัติการด้านภาษาซึ่งเป็นเทคโนโลยีทางอำนาจ (Bio-power) ที่รัฐสร้างขึ้นและผลิตซ้ำผ่านสภาบันทางสังคมซึ่งรวมถึงสถาบันการศึกษา  ดังนั้น เด็กที่พูดภาษาแม่ (Mother tongue)ใดๆ ที่ไม่ใช่ภาษาไทย โดยเฉพาะภาษาชนเผ่าพื้นเมืองและภาษาชาติพันธุ์ต่างๆ จะถูกปฏิเสธอัตลักษณ์ รวมทั้งอัตลักษณ์ทางภาษาอย่างเป็นระบบ

กล่าวคือ นอกจากจะไม่มีการบรรจุภาษาเหล่านั้นไว้ในหลักสูตร ยังรวมถึงการห้ามพูดในห้องเรียน ในโรงเรียน หากผ่าฝืนก็จะมีลงโทษ ตั้งแต่การตำหนิ ติเตียน ล้อเลียน จนไปถึงประจานในห้องเรียน หน้าเสาธง รวมถึงการลงโทษโดยการตี ทั้งนี้จากการทำงานของผู้เขียน ได้มีโอกาสรับรู้ประสบการณ์ตรงของชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองจำนวนมากที่ถูกตบปากเพียงเพราะพูดภาษาชนเผ่า/ชาติพันธุ์ของตนในห้องเรียนกับเพื่อน แล้วครูมาพบ

ส่วนตัวที่เองที่พูดลาวเป็นภาษาแม่ ทุกครั้งที่ตนเองบอกว่าเป็นคนลาว มาจากอุบลฯ คู่สนทนามักจะหัวเราะและพูดต่อว่า ไหนๆลองพูดลาวให้ฟังซิ หลายครั้งที่ผู้เขียนตั้งคำถามกลับไปแต่ไม่มีคือตอบกลับมาคือ

1) หัวเราะอะไร (เพราะมันไม่มีบทสนทนาใดๆ ก่อนหน้าที่จะนำไปสู่การสร้างเป็นเรื่องขบขัน) และ

2) ทำไมต้องให้พูดลาวให้ฟัง (ทั้งๆที่บทสนทนาก็เป็นภาษาไทยอยู่ดีๆ)

ถึงตรงนี้อยากให้คนอ่านได้ลองจินตนาการว่า ผู้ที่ถูกกระทำซ้ำๆแบบนี้ ตั้งแต่อนุบาลเรื่อยไป 6 ปีบ้าง 12 ปีบ้าง จะยังคงหลงเหลือความเชื่อมมั่นที่จะพูดด้วยลิ้นของแม่ ด้วยสำเนียงของตนได้อย่างไร

มากไปกว่านั้น ระบบสังคมไทย ที่พยายามสถาปณาภาษาไทยให้ยึดโยงสร้างความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ไม่เท่ากัน ส่งผลให้คนจำนวนมากนอกจากจะไม่เชื่อมั่นในการออกเสียง ในการพูด ยังส่งผลต่อการตีตราคนที่พูดไทยไม่ชัดว่าไม่มีความเป็นไทย เป็นภัยต่อความมั่นคง จึงเกิดการแบ่งแยก กีดกัน สิ่งที่สะท้อนมิติเหล่านี้ได้ คือ ตัวเลขคนชนเผ่าพื้นเมืองและชาติพันธุ์จำนวนเป็นล้านที่ไม่มีสัญชาติไทย ก็เพราะส่วนหนึ่งสังคมถูกมายาคติเหล่านี้ครอบงำนั่นเอง

ทั้งหมดที่กล่าวมาก็เพื่ออยากจะให้สังคมได้ตระหนักว่า การใช้เหตุแห่งภาษา สำเนียงพูด มาล้อเลียน ก่นด่าและ/หรือเหยียดผู้อื่นนั้น เป็นสิ่งที่ไม่ควรเป็นที่ยอมรับ ดังนั้นกรณีของเปก ผลิตโชค ผู้เขียนเห็นว่า ไม่ว่าเขาจะพูดไทยแบบไหน เราก็ไม่มีสิทธิ์ใช้มันไปก่นด่า เหยียดหยาม ตามหลักการสิทธิมนุษยชน ชึ่งเป็นหลักการสากล ที่นานาประเทศใช้เป็นหลักประกันว่า คนจะไม่ถูกแบกแยก กีดกัน เลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งภาษาและอัตลักษณ์ใดๆ

กรณีเปก คือไม่ใช่ชนเผ่านี่ การพูดไม่ชัดของเปก(เมื่อภายหลัง) มันคนละมิติ กับที่ยกมาหรือไม่ หากย้อนกลับไปดูหลักการสิทธิมนุษยชน เราพบว่า เราก็ไม่สามารถที่จะไปดูหมิ่น หยามเหยียด ด่า ด้วยเหตุแห่งการออกเสียงซึ่งสามารถพัฒนากลายเป็นตัวตนและอัตลักษณ์ของปัจเจก

ประเด็นเรื่องการทำศัลยกรรม สิทธิบนเนื้อตัวร่างกาย และสิทธิในความเป็นส่วนตัว (Right to privacy)

ประเด็นที่ผู้เขียนสนใจ ไม่ใช่การตอบคำถามว่า การพูดถึงดาราทำศัลยกรรม เป็นเพียง“เผือก (เสือก)” หรือเป็นการเหยียด เพราะมีประเด็นที่ต้องทำความเข้าใจเพื่อพาเราออกจากคำถามด้านบน คือ มนุษย์ทุกคน มีสิทธิบนเนื้อตัวร่างกายของตนเอง ดังนั้น สิทธิที่จะเข้าถึงการยุติการตั้งครรภ์อย่างปลอดภัย สิทธิอนามันเจริญพันธุ์ สิทธิที่จะทำศัลยกรรมทั้งเพื่อความงาม เพื่อการรักษา และ/หรือ เพื่อเปลี่ยนแปลงเพศ จึงนับเป็นเรื่องสิทธิมนุษยชน ส่วนการจะเปิดเผยหรือไม่ ก็ถือว่าเป็นสิทธิในความเป็นส่วนตัว (Right to Privacy) ดังนั้น เมื่อดาราถูกนำข้อมูลส่วนตัวเหล่านี้ไปเปิดเผยในที่สาธารณะ ก็นับว่าเขาถูกละเมิดสิทธิ์ การที่จะหาคำตอบว่าเป็นการเหยียด หรือ การเสือก ในเรื่องส่วนตัว จึงเป็นคำถามที่เล็กน้อยมากเพราะมันคือการละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวของปัจเจคบุคคล เมื่อใช้มุมมองเชิงฐานสิทธิมนุษยชน (Human Rights Based Approaches)

มุมมองอำนาจทับซ้อน (Intersectionality) การต่อสู้ ได้และ/หรือไม่ได้ ในโครงสร้างกดทับ

อำนาจทับซ้อน (intersectionality) คือ วิธีคิดหนึ่งที่ใช้ทำความเข้าใจเรื่องการกดขี่อย่างไม่แยกส่วน ซึ่งถ้าจะพูดให้ง่ายหมายความว่า การที่เราจะพิจารณาความเป็นจริงของคน เราไม่สามารถแยกส่วนออกมาพิจารณาได้ เพราะคนหนึ่งๆ มีอัตลักษณ์ที่หลากหลาย เช่น เพศ รสนิยมทางเพศ ความคิด ความเชื่อ ศาสนา ถิ่นที่อยู่อาศัย ภาษา ประสบการณ์ ฯลฯ ซึ่งเมื่อใดก็ตามที่อัตลักษณ์ที่ซ้อนทับกันเหล่านั้นเป็นอัตลักษณ์ชายขอบ มันจะถูกสังคมจัดวาง ตำแหน่งแห่งที่เชิงโครงสร้างและถูกโครงสร้างนั้นกดทับ ในขณะเดียวกันหากมีอัตลักษณ์ที่เป็นกระแสหลักก็จะทำให้เกิดการต่อสู้ต่อรองของเจ้าของอัตลักษณ์ ในบริบทหนึ่งๆ

ดังนั้นหากใช้มุมมอง “อำนาจทับซ้อน” มาวิเคราะห์โควทคำพูดของคำ ผกา ที่ว่า “การรับมือกับการโดนเหยียด หากมีคนบอกว่า คุณหัวนมดำ ยิ่งต้องโชว์ความดำ เพื่อยืนยันว่านี่ไม่ใช่ปัญหา คนด่าว่าโง่ก็ยอมรับ เพราะไม่ใช่อาชญากรรม”   

เราจะเห็นว่าได้ว่า ประเด็นหัวนมดำ (หรือจะสีต่างๆ) ของแต่ละคน มีมิติกดทับที่แตกต่างกันไป เพราะเมื่อต้องนับมิติทางเพศภาวะ ชาติพันธุ์ ชนชั้น ความเชื่อ ศาสนา และแหล่งอำนาจอื่นๆ จึงเป็นสาเหตุว่าทำไมผู้หญิงบางคนพูดได้ง่ายมากและก็ปลอดภัยดี แต่กับบางคน ในบางบริบทพูดไม่ได้เลย เช่น ผู้หญิงในบางประเทศ ถ้าพูดแบบนี้อาจจะนำไปสู่การถูกคุกคาม ข่มขู่ หรือแม้กระทั่งถูกสังหาร

“คนด่าว่า โง่ ให้ยอมรับเพราะไม่ใช่อาชญากรรม” คนบางคนถูกหาว่าโง่ภายใต้อัตลักษณ์ที่ซับซ้อนหลายอย่างในตัวเอง เช่น ถิ่นที่อยู่อาศัย เพศและรสนิยมทางเพศ สำเนียงพูด มิติทางด้านเศรษฐกิจ ข้อเท็จจริงคำว่าโง่ สำหรับบางคนจึงไม่ได้หมายถึงการที่ไม่รู้ หรือการเข้าใจผิด แต่เป็นภาพเหมารวม (Stereotype) เราไม่ลืมวาทกรรมโง่ จน เจ็บ ที่กล่าวหาคนที่เป็นคนชายขอบ ทั้งๆที่เมื่อได้ศึกษาถึงที่ไปที่มาของปัญหาแล้ว พบว่า คนจำนวนมากที่ถูกโครงสร้างกดทับ มีวิถีชีวิตทียากลำบาก ส่วนหนึ่งเป็นความล้มเหลวในเชิงนโยบายที่ไม่สามารถพัฒนาคุณภาพชีวิต ปัจจัยพื้นฐาน ตลอดจนสวัสดิการ มากกว่าการกล่าวหาว่า เพราะไม่มีการศึกษา จึงโง่ และจน ก็ปล่อยใจเจ็บ ให้ตายไปตามยถากรรม

ถึงตอนนี้ หลายๆ คนอาจมีความเห็นว่า อ้าว! คำผกา คิดแบบนี้ได้ ทำได้แบบนี้ ทำไมถึงจะแนะนำคนอื่นๆ ให้ทำ ให้คิดแบบนี้ไม่ได้ ก็ทำไมคนที่ถูกล้อเลียน ถูกเหยียด เรื่องภาษา เรื่องศัลยกรรม เรื่องเพศและ/หรือเรื่องลักษณ์ทางเพศต้องไปแคร์ ต้องไปใส่ใจ ดราม่า ฟูมฟาย อย่ายอมจำนน ยอมรับมันไม่เห็นเป็นไรเลย ยืนยันสิว่ามันไม่ใช้อาชญากรรม

ผู้เขียนอยากให้ใช้มุมมองเรื่องอำนาจและตำแหน่งแห่งที่ของ คำ ผกา ว่าเธอ เป็นใคร มีอำนาจและแหล่งอำนาจอะไรบ้าง จึงถูกจัดวางไว้ที่ตำแหน่งแห่งที่ใด ชนชั้น (hyrarchy) ไหน ของสังคม และเธอต่อรองกับการถูกจัดวางนั้นอย่างไร ด้วยบริบทแบบไหน เหล่านี้เองเมื่อนำมาพิจารณาทั้งหมด เราจะเห็นถึงความซับซ้อน ความแตกต่างหลากหลายของผู้คนและอัตลักษณ์ที่ทั้งถูกสร้างให้บางมิติก็เป็นกระแสหลัก และผ่านกระบวนการทำให้บางมิติก็เป็นชายขอบ(Marginalization) การมองแบบนี้เองจะทำให้เราเข้าใจว่าทำไมสำหรับบางคน แค่เปลี่ยนความคิด ชีวิตก็เปลี่ยนได้แต่บางคนไม่ใช่

เราไม่สามารถใช้ตนเองเป็นบรรทัดฐานเพื่อนำไปสู่การตัดสินว่า ทำแบบนี้แล้วดี ทำสิ! โดยที่เราลืมนึกถึงความซับซ้อนทั้งหมดในชีวิตของคนหนึ่งๆ

สุดท้าย สิ่งที่ผู้เขียนอยากจะสะท้อนในฐานะที่ตัวเองเป็นคนที่มีอัตลักษณ์ชายขอบอับซับซ้อน ต้องเผชิญกับการถูกเลือกปฏิบัติซ้ำในทุกวัน (Everyday Life) ในทุกพื้นที่ (Domestic sphere and Public Sphere) และเป็นผู้ที่พยายามที่จะต่อสู้เพื่อจะสร้างการเปลี่ยนแปลง

เราตระหนักรู้ว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้าง และเรามีความเป็นผู้ปฏิบัติการ (Agency) ที่จะไม่จำนน คือ แม้เราจะถูกเหยียด ถูกกดขี่ แต่เราก็จะใช้อำนาจทั้งหมดที่จะปฏิเสธและไม่ผลิตซ้ำ ไม่เหยียดคนอื่นเสียเอง แต่ในขณะเดียวกันเราก็จะต้องเรียกร้องให้สังคม เปลี่ยนแปลงด้วย ไม่ใช่แค่ผลักภาระให้คนที่ถูกกดขี่ยอมรับ อยู่กับมัน และอย่าฟูมฟาย 

ในขบวนการต่อสู้ในสังคม โดยเฉพาะวิธีคิดของนักสตรีนิยมก็ล้วนแต่ทำงานเพื่อที่จะทำให้สังคมมันดีขึ้น เราจึงใช้ทุกกลไกทุกอย่างที่มี รวมถึงเสียงและความเจ็บปวดซึ่งเป็นประสบการณ์ตรงของเรามาบอกเล่า มาให้การศึกษากับสังคม เพื่อให้เกิดการตระหนักถึงความรุนแรงของปัญหา แต่ก็ยังไม่พอ เราจะต้องเรียกร้องให้จัดการกับโครงสร้างที่อนุญาตให้สิ่งเหล่านี้ยังคงอยู่ นับตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงเพื่อสร้างความเป็นธรรม เท่าเทียมในระดับวิธีคิด ต่อสู้เพื่อสร้างคำ ที่สร้างสรรค์ รณรงค์ ส่งเสริมความเท่าเทียม เพื่อเบียดบังคับ การกระทำที่กดขี่ เหยียด และให้ทั้งหมดที่เราทำได้แพร่กระจายไปในสถาบันต่างๆ ในสังคม ออกมาเป็นกฎหมาย นโยบายที่ปกป้อง คุ้มครอง ส่งเสริมสิทธิที่จะอยู่ร่วมกัน และไม่สนับสนุนการกดขี่กันเป็นชั้นๆ ซึ่งจุดเริ่มต้นก็มาจากการ “เหยียด” นี่แหละ

 

 

เกี่ยวกับผู้เขียน: ปัจจุบัน มัจฉา พรอินทร์ เป็นนักศึกษาปริญาโทสตรีศึกษา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นักรณรงค์หญิงรักหญิง ที่เคลื่อนไหวประเด็นสิทธิความหลากหลายทางเพศ SOGIE (sex-ual orientation, gender identity and expression), สิทธิเด็ก สิทธิชาติพันธุ์และสิทธิสตรี ในระดับประเทศและนานาชาติ
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท