Skip to main content
sharethis

ตอนนี้ความสนใจเรื่อง ‘วิสามัญฆาตกรรม’ น่าจะพุ่งสูงเพราะข่าวคราวของหนุ่มลาหู่ หลายคนอาจเกิดคำถามมากมาย แต่เรื่องนี้ไม่มีนิยามแน่ชัดในกฎหมาย แม้มีระบบตรวจสอบในกระบวนการยุติธรรม แต่ด้วยผู้ยิงเป็นทหาร หากเป็นคดีความ ไม่แน่ว่าคดีนี้จะได้พิจารณาในศาลทหาร  ทำความเข้าใจเรื่องนี้เต็มๆ ที่นี่

ภาพ ชัยภูมิ ป่าแส นักกิจกรรมชาวลาหู่ ผู้ถูกเจ้าหน้าที่ทหารกระทำการวิสามัญฆาตกรรม หลังจากมีการตรวจค้นรถที่ด่านตรวจบ้านรินหลวง ต.เมืองนะ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 17 มี.ค.ที่ผ่านมา

เหตุวิสามัญฆาตกรรมโดยเจ้าหน้าที่รัฐเป็นข่าวที่เห็นได้อยู่บ่อยครั้งในบ้านเรา แต่กรณีที่กำลังเป็นกระแสมาก คือ การวิสามัญฆาตกรรม ชัยภูมิ ป่าแส นักกิจกรรมชาวลาหู่ ซึ่งญาติระบุว่าอายุ 17 ปีแต่ตำรวจระบุว่าอายุ 21 ปี เมื่อวันที่ 17 มี.ค. 2560 (อ่านที่นี่)

ขณะเดียวกันผู้คนในโลกออนไลน์ซึ่งร่วมกันติดแฮชแท็ก #RIPชัยภูมิ ได้เรียกร้องให้มีการตรวจสอบสาเหตุการตายของชัยภูมิให้กระจ่างชัด จากคำบอกเล่าของผู้ใกล้ชิด กล่าวว่า ชัยภูมิเป็นเด็กไร้สัญชาติ พ่อและแม่มีโรคประจำตัว จึงต้องรับมาดูแลตั้งแต่อายุประมาณ 7-8 ขวบ และไม่เชื่อว่าผู้ตายจะขัดขืนเจ้าหน้าที่ รวมถึงลักลอบขนยาเสพติด เพราะที่ผ่านมาชัยภูมิทำกิจกรรมทางสังคมและเป็นเด็กดี หาเลี้ยงครอบครัว และไม่มีข้อมูลว่าจะเข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด

ที่ผ่านมามีการตั้งคำถามถึงกระบวนการตรวจสอบ “การวิสามัญฆาตกรรม” ว่า มีความเป็นกลางจริงหรือไม่ พยานได้รับการคุ้มครองอย่างเป็นธรรมหรือเปล่า มีข้อเรียกร้องจากหลายฝ่ายให้กระบวนการเป็นไปอย่างโปร่งใส ให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วม เพราะกระบวนการยุติธรรมควรเป็นสิ่งที่ไม่ว่าใครก็สามารถตรวจสอบและวิพากษ์วิจารณ์ได้ การทราบถึงขอบเขตการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐ และขั้นตอนในกระบวนการยุติธรรมทั้งหมดจึงเป็นสิ่งจำเป็น ซึ่งจะทำให้เราติดตามกรณีของชัยภูมิได้อย่างจริงจังและถูกจุด

พ.ต.อ.ศิริพล กุศลศิลป์วุฒิ ผู้กำกับการฝ่ายอำนวยการ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พูนสุข พูนสุขเจริญ นักกฎหมายสิทธิมนุษยชน และสาวตรี สุขศรี อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

นิยามและหลักเกณฑ์ของ “วิสามัญฆาตกรรม” ทางกฎหมายคือ?

พ.ต.อ.ศิริพล กุศลศิลป์วุฒิ ผู้กำกับการฝ่ายอำนวยการ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า วิสามัญฆาตกรรม คือหลักการป้องกันตัวของเจ้าหน้าที่ คือการที่เจ้าหน้าที่รู้สึกมีภัยอันตรายที่มีการละเมิดกฎหมาย ใช้กำลังเพื่อตอบโต้ต่อภัยอันตรายนั้น แล้วมีการเสียชีวิตเกิดขึ้น

“อย่าไปเข้าใจเรื่องวิสามัญว่าเป็นเรื่องวิเศษอะไร จริงๆ วิสามัญคือการป้องกันตัวเองของเจ้าหน้าที่ แล้วก็มีผลทำให้ผู้ละเมิดกฎหมายถึงแก่ความตาย หลักเกณฑ์คือมีภยันอันตรายอาจจะทำให้เจ้าหน้าที่เสียชีวิตได้หรือมีการละเมิดกฎหมายเกิดขึ้น เป็นหลักความรับรู้ที่สังคมทั่วไปยอมรับว่าเป็นภยันอันตรายจริงๆ สมมติมีคนจะยิงเราเราก็มีสิทธิป้องกันตัวเอง คิดง่ายๆ เรามีสิทธิป้องกันตัวเองแค่ไหน หลักของตำรวจก็มีแค่นั้น” พ.ต.อ.ศิริพล กล่าว

พูนสุข พูนสุขเจริญ นักกฎหมายสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า การวิสามัญฆาตกรรมไม่มีกฎหมายโดยเฉพาะ แต่คือการตายเนื่องจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ ต้องมีการชันสูตรพลิกศพตามมาตรา 150 ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา หรือที่เรียกกันง่ายๆ ว่า “ไต่สวนการตาย” และต้องมีอีกส่วนคือการสอบสวนเจ้าพนักงานผู้กระทำการวิสามัญเพื่อดูว่ามีความผิดตามกฎหมายหรือไม่ โดยท้ายที่สุดอัยการสูงสุดจะเป็นผู้สั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องต่อศาล

สาวตรี สุขศรี อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาไม่ได้ปรากฎคำว่า “วิสามัญฆาตกรรม” โดยตรง แต่ซ่อนอยู่ตามมาตราหรือบทที่กำหนดหน้าที่ของอัยการหรือศาล เช่น ในมาตรา 143 วรรคสุดท้าย กล่าวว่า “...ในคดีฆาตกรรม ซึ่งผู้ตายถูกเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ฆ่าตาย หรือตายในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ อธิบดีกรมอัยการหรือผู้รักษาการแทนเท่านั้นมีอำนาจออกคำสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้อง”

หมายความว่าหากเป็นการวิสามัญฆาตกรรม กฎหมายกำหนดให้อัยการสูงสุดเป็นคนสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องเจ้าพนักงานผู้กระทำการวิสามัญ โดยไม่ให้พนักงานอัยการปกติเป็นคนสั่ง เพราะมองว่าคดีวิสามัญหากคนที่สั่งคดีเป็นเจ้าหน้าที่ในระดับที่ไม่ห่างกันมาก อาจทำให้เกิดความไม่เป็นธรรม มีการช่วยกันจนอาจจะไม่สั่งฟ้องคดี

เริ่มต้นที่การชันสูตรพลิกศพและไต่สวนการตายกรณีวิสามัญฆาตกรรม

สาวตรีอธิบายว่า ในกระบวนการสอบสวน ขั้นต้นจะเป็นการชันสูตรพลิกศพและไต่สวนการตาย หากการตายนั้นเป็นเหตุทั่วไปที่ไม่เกี่ยวกับเจ้าพนักงานรัฐ จะมีแค่พนักงานสอบสวนและแพทย์เท่านั้น แต่หากเป็นกรณีวิสามัญฆาตกรรม กฎหมายกำหนดให้นอกจากพนักงานสอบสวน แพทย์ และอัยการเข้าไปร่วมชันสูตรด้วย เพื่อดูว่าผู้ตายเป็นใคร ตายอย่างไร เมื่อไร เจ้าพนักงานเป็นคนทำให้ตายหรือไม่ แต่ยังไม่ระบุว่าผิดหรือไม่ผิด

อัยการมีหน้าที่ส่งสำนวนไปยังศาลเพื่อให้ศาลทำการไต่สวนการตายตามมาตรา 150 ป.วิอาญา ซึ่งการไต่สวนนี้ญาติของผู้ตายสามารถมีส่วนร่วมได้ แต่ไม่ใช่การไต่สวนเพื่อหาคนรับผิด จึงเท่ากับเป็นการชันสูตรสองรอบคือโดยเจ้าพนักงานและโดยศาล ที่ต้องเป็นเช่นนี้เพราะคนที่มาเกี่ยวข้องกับการตายเป็นเจ้าพนักงานรัฐ เพราะฉะนั้นถ้าให้เจ้าพนักงานรัฐในระดับเดียวกันหรือระดับที่ไม่สูงมากมาเป็นคนชันสูตร สุดท้ายอาจจะไม่เป็นธรรมสำหรับประชาชนทั่วไปหรือญาติผู้เสียหาย นอกจากนี้การไต่สวนการตายศาลก็ต้องกระทำอย่างเปิดเผยด้วย

การสอบสวนคดีเจ้าพนักงานผู้กระทำการวิสามัญมีขั้นตอนอย่างไร?

สาวตรี อธิบายต่อว่า ส่วนอีกขั้นหนึ่งเป็นการสอบสวนคดีว่าจะส่งฟ้องหรือไม่ฟ้องเจ้าพนักงานในความผิดทางอาญา โดยพนักงานสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานส่งให้อัยการสูงสุด รวมทั้งรอให้กระบวนการชันสูตรพลิกศพเสร็จก่อน สำนวนชันสูตรจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของสำนวนการดำเนินคดี อัยการสูงสุดจะเป็นคนสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องคดีอาญา หากอัยการเห็นว่ากรณีเช่นนี้สั่งฟ้องก็จะไปสู่ศาลเพื่อพิจารณาว่าเจ้าพนักงานนั้นมีความผิดหรือไม่ แต่หากอัยการสูงสุดสั่งไม่ฟ้อง ถ้าญาติหรือผู้เสียหายยังติดใจอยู่ก็สามารถส่งฟ้องศาลเองได้โดยตรง

พูนสุข เพิ่มเติมว่า กรณีที่อัยการสูงสุดเห็นว่าปฏิบัติเกินหน้าที่ก็จะฟ้องเป็นคดีอาญา กฎหมายไม่มีบทบัญญัติป้องกันเจ้าหน้าที่เป็นการเฉพาะ แต่เจ้าหน้าที่ก็สามารถอ้างมาตรา 68 ในประมวลกฎหมายอาญาเช่นเดียวกับคนทั่วไปในเรื่องการป้องกันตัวเอง อย่างในกรณีของชัยภูมิ ป่าแส เจ้าพนักงานอ้างว่าผู้ตายมีระเบิดในมือ จึงต้องยิงเพื่อป้องกันการต่อสู้

ในกรณีที่ทหารเป็นคนยิง ขึ้นศาลทหาร?

สาวตรีตั้งข้อสังเกตว่า กรณีของชัยภูมิ มีโอกาสที่เมื่อทหารเป็นผู้กระทำการก็จะไปขึ้นศาลทหาร เพราะศาลทหารมีอำนาจในเรื่องที่ทหารทำผิดอาญาด้วย

กระบวนการที่ต้องให้ความสนใจคือ การสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องเจ้าพนักงานผู้กระทำการวิสามัญ ซึ่งในกรณีนี้เป็นทหาร คำถามคืออำนาจการสั่งฟ้องจะเป็นของอัยการทหารหรืออัยการสูงสุด เพราะการชันสูตรหรือการไต่สวนการตายพระธรรมนูญศาลทหารไม่ได้กำหนดเรื่องไว้ จึงต้องเป็นไปตามวิธีพิจารณาความอาญา คนที่มีอำนาจเป็นทางฝั่งพลเรือนหมด ทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ แพทย์ อัยการ และศาลยุติธรรม แต่ถ้าเป็นการดำเนินคดีการสืบพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์การกระทำของทหารว่าผิดหรือไม่ เกรงว่าจะกลายเป็นเรื่องของอัยการทหาร ซึ่งหากเป็นอัยการทหารจริง ก็ต้องติดตามกันต่อไปดูว่าจะเกิดอะไรขึ้น

อนึ่ง ศาลทหารนั้นถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่ควรมีอำนาจในการทำคดีอาญาที่เกี่ยวพันกับอุ้มหาย หรือคดีอาญาร้ายแรง เพราะคำถามที่ตามมาคือจะสามารถมั่นใจได้หรือไม่ว่า ด้วยกลไกของศาลทหาร คุณสมบัติผู้พิพากษาศาลทหาร ลักษณะกระบวนพิจารณาในศาลทหาร ทหารด้วยกันเป็นผู้จับกุมกันเอง องค์คณะในการพิจารณาคดีมีคนหนึ่งเป็นทหารผู้บังคับบัญชาของทหารที่กระทำผิด สิ่งต่างๆ เหล่านี้จะสามารถอำนวยความยุติธรรมให้แก่ผู้เสียหายได้ มีความโปร่งใส และตรวจสอบได้ ไม่มีการใช้อำนาจหรืออิทธิพลมาแทรกแซงกระบวนการพิจารณาจริงหรือ (อ่านเพิ่มเติมบทความศาลทหารมีไว้ทำไม?)

พูนสุข เพิ่มเติมว่า กรณีนี้หากไปสู่การพิจารณาของศาลทหาร ญาติหรือผู้เสียหายจะไม่สามารถเข้าเป็นโจทก์ฟ้องคดีได้ด้วย

ระบบตรวจสอบเป็นอย่างไร เจ้าหน้าที่รัฐตรวจสอบเจ้าหน้าที่รัฐ?

สาวตรีกล่าวว่า พนักงานสอบสวนที่มีอำนาจในการชันสูตรพลิกศพคือ พนักงานสอบสวนในเขตท้องที่ที่พบศพ แต่พนักงานสอบสวนที่มีอำนาจในการสอบสวนเพื่อทำคดีอาญา (กับเจ้าพนักงานผู้กระทำการวิสามัญ) คือพนักงานสอบสวนในเขตท้องที่ที่ความผิดเกิด เพราะฉะนั้นทั่วไปถ้า นาย ก.ถูกฆ่าตายในพื้นที่นั้นๆ พนักงานชันสูตรและพนักงานสอบสวนคดีก็จะเป็นพนักงานสอบสวนในเขตพื้นที่เดียวกัน

พูนสุข ให้ความเห็นว่า มันจะกลายเป็นปัญหาเรื่องความขัดแย้งทางผลประโยชน์ (conflict of interest) เมื่อบางครั้งพนักงานสอบสวนกับพนักงานชันสูตรอาจเป็นกลุ่มเดียวกัน อาจมีปัญหาเรื่องความน่าเชื่อถือ

ประการแรก การไต่สวนการตายแม้จะมีก็จริง แต่การตายในระหว่างควบคุมของเจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่ไม่มีคนเห็น คนเตรียมพยานหลักฐานก็เป็นเจ้าหน้าที่ในพื้นที่เช่นเดียวกับเจ้าหน้าที่ผู้กระทำการวิสามัญ จึงกลายเป็นว่าคนกระทำกับคนที่ตรวจสอบอาจเป็นคนกลุ่มเดียวกัน

ประการที่สอง เรื่องพยานหลักฐาน การไม่สามารถเข้าถึงที่เกิดเหตุ (crime scene) ในช่วงเกิดเหตุซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ปิดหรือพื้นที่ที่เจ้าหน้าที่ควบคุม ก็อาจไม่มีพยานเห็นเหตุการณ์นอกเหนือจากเจ้าหน้าที่

ที่สำคัญที่สุดคือ การเข้าถึงพื้นที่เกิดเหตุอาชญากรรม พอระยะเวลาล่วงเลยก็อาจทำให้ที่เกิดเหตุเปลี่ยนแปลงได้ กระบวนการตรวจสอบถ้าเลยจากนี้ก็คือการตรวจสอบในชั้นศาล ญาติสามารถเป็นผู้ร้องคัดค้าน เข้าไปร่วมกับอัยการในการจะนำคดีหรือพยานหลักฐานอีกด้านหนึ่งเข้าสู่การพิจารณาคดี ญาติรวบรวมหลักฐานได้ แต่เข้าไม่ถึงที่เกิดเหตุ คนที่เข้าถึงก่อนคือเจ้าพนักงานซึ่งมีองค์ความรู้เรื่องพยานหลักฐาน

ประการที่สาม กฎหมายแจ้งให้ญาติทราบและเชิญญาติเข้ามาด้วย แต่หลายคดีญาติไม่ได้รับทราบและไม่ได้อยู่ร่วมในกระบวนการ อย่างกรณีหมอหยองเป็นการตายระหว่างควบคุมตัว ญาติไม่ได้รับทราบ ไม่ได้เข้าร่วมกระบวนการชันสูตร ตายในพื้นที่ปิดลับ เป็นที่เคลือบแคลงสงสัย

ในขณะที่พ.ต.อ.ศิริพล ให้ความเห็นว่า ถ้าจะบอกว่าเป็นกลุ่มเดียวกันก็เป็นแน่ๆ เพราะเป็นตำรวจเหมือนกัน แต่เป็นคนละองค์กร คนที่จะไปเก็บหลักฐานว่ามีการฆาตกรรมคือพนักงานสอบสวน ขณะที่คนกระทำการวิสามัญเป็นฝ่ายป้องกันปราบปราม

“ถ้าจะวิจารณ์ว่าเป็นหน่วยเดียวกัน องค์กรเดียวกันก็วิจารณ์ได้หมด อัยการก็องค์กรเดียวกัน ศาลก็องค์กรเดียวกัน องค์กรข้าราชการเหมือนกัน ทีนี้ประเด็นที่คนทั่วไปสงสัย จริงๆ มันถูกตรวจสอบโดยแพทย์กับอัยการในการชันสูตร คือ ถ้าคนจะเบี้ยวก็เบี้ยวหมด ใครจะตรงก็ตรง แต่ระบบมันก็วางไว้อย่างนี้ ระบบมันก็วางไว้ค่อนข้างโอเค มันอยู่ที่คนที่ดำเนินการต่อ” พ.ต.อ.ศิริพลกล่าว

ส่วนเรื่องการที่ญาติไม่อาจเข้าถึงที่เกิดเหตุ พ.ต.อ.ศิริพล เห็นว่า สถานที่เกิดเหตุคนทั่วไปเข้าถึงไม่ได้อยู่แล้ว เข้าถึงก็อาจไปทำลายหลักฐาน กฎหมายทั่วโลกก็ไม่มีระบุให้คนทั่วไปเข้า แต่เจ้าพนักงานก็จะถูกควบคุมด้วยระบบจรรยาบรรณ บางเรื่องเป็นเรื่องทางเทคนิคที่คนทั่วไปไม่เข้าใจและอาจเกิดความเสียหายได้ง่าย เช่น พนักงานเก็บหลักฐานใช้ผงทางวิทยาศาสตร์ในการตรวจสอบหลักฐานซึ่งเป็นเรื่องทางเทคนิค ไม่มีประโยชน์ที่จะเข้าไป แต่ว่าเพื่อความโปร่งใสในอนาคตจะทำก็อีกเรื่องหนึ่ง

สาวตรี กล่าวว่า ภาพรวมในกระบวนการไต่สวนค่อนข้างโอเค หากเป็นไปตามกฎหมายทั้งหมด มีการถ่วงดุลและตรวจสอบระหว่างองค์กร แต่ในกรณีของชัยภูมิอาจต้องให้ความสำคัญกับ พงศนัย แสงตะหล้า ผู้ขับรถและถูกจับกุม พยานคนเดียวที่อยู่ในมือของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งไม่อาจรู้ได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับเขา อาจมีการข่มขู่ให้การเป็นประโยชน์กับเจ้าหน้าที่รัฐหรือไม่ รวมทั้งกรณีที่คดีในชั้นพิสูจน์ความผิดเป็นคดีของศาลทหาร ก็เป็นสิ่งที่สื่อและภาคประชาชนเองต้องร่วมกันจับตาต่อไป

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net