เมื่อคนตาย เราควรฟังเสียงใคร?

จากเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่รัฐได้กระทำการวิสามัญคุณชัยภูมิ ป่าแส ชวนให้นึกถึงเรื่องราวในเหตุการณ์จังหวัดชายแดนใต้ และอยากหยิบยกเล่าถึงเหตุการณ์และประสบการณ์ที่ได้พบเจอ เพื่อเปรียบเทียบในบางประเด็นกับปรากฎการณ์ความตายของคุณชัยภูมิ ป่าแส

(1)

อยากชวนย้อนไปวันพุธที่ 13 ก.พ. 2556 หลังจากมีการปะทะกันในเขตฐานปฎิบัติการนาวิกโยธิน อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส เป็นการปะทะที่ทำให้ฝ่ายผู้ก่อการติดอาวุธจำนวน 16 คน ได้เสียชีวิตทันที นับว่าเป็นการปะทะครั้งใหญ่ที่สุดที่มีผู้เสียชีวิตเป็นฝ่ายกลุ่มขบวนการอย่างชัดเจน มีอาวุธครบมือ หลายฝ่ายโดยเฉพาะฝ่ายความมั่นคงถือว่าเป็นเหตุการณ์ที่ประสบความสำเร็จอย่างไม่เคยมาก่อนหน้านี้

หากทว่าภายในวันเดียวกันหลังจากเกิดเหตุการณ์ นาวาเอก สมเกียรติ ผลประยูร (ยศในขณะนั้น) ได้กล่าวว่า 16 คนที่เสียชีวิตไม่ใช่ชัยชนะของเจ้าหน้าที่ ไม่เคยมีชัยชนะจากความสูญเสียของผู้คนในแผ่นดินเดียวกัน ในทุกกรณีที่ผ่านมา

และหลังจากนั้นนาวาเอก สมเกียรติ ได้ตอบคำถามสื่อต่างๆจำนวนมาก โดยได้ให้สัมภาษณ์ทางวิทยุ ทีวี ด้วยท่าทีอ่อนน้อมและย้ำตลอดเวลาว่า "การมีคนตายไม่ใช่เรื่องชัยชนะของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่เป็นการสูญเสียร่วมกัน"

การแสดงออกดังกล่าวได้มีผลในทางระงับการแสดงความรู้สึกสะใจของกองเชียร์ หรือผู้ที่ไม่ได้อยู่ในสนามรบจริง และช่วยในการบรรเทาความรู้สึกโกรธแค้นของครอบครัว ท่าทีข้างต้นมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและถือว่าได้ช่วยคลี่คลายสถานการณ์ไปได้บางส่วน

ผมเข้าใจเอาเองว่า นี้คงไม่ใช่ระบบทหารแน่ๆ แต่เป็นทักษะเฉพาะบุคคลของ นาวาเอก สมเกียรติ ผลประยูร ที่รู้จักสื่อสารกับสังคมโดยเฉพาะหลังจากมีคนตายจากเหตุการณ์ปะทะครั้งใหญ่ และหลังจากเหตุการณ์ไม่ประมาณไมเกินหนึ่งสัปดาห์เห็นจะได้ นาวาเอกสมเกียรติก็ได้ต้อนรับเดินทางมางานเสวนาที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี  เพื่อร่วมกันงานเสวนาเกี่ยวกับเหตุการณ์ข้างต้นต่อหน้าผู้ฟังทั้งคนมลายูและคนพุทธ เจ้าหน้าที่รัฐและองค์กรพัฒนาเอกชนในพื้นที่มาร่วมงานแน่นห้องประชุมใหญ่

หลายคนได้ให้ความสนใจต่อการพูดของ นาวาเอก สมเกียรติ ที่เป็นมือปราบ 16 ศพ หากทว่าวันนั้นเป็นการพูดโดยไม่มีท่าทีถึงการแสดงความสำเร็จจากการปะทะข้างต้น แต่กลับย้ำว่า หากจับเป็นได้ผมอยากจะจับเป็นเพื่อจะได้คุยกับพวกเขา และยอมรับว่าขบวนการที่ต่อสู้ที่ปะทะด้วยกันคงไม่ใช้พวกที่ติดยาเสพติดแน่ๆ เพราะการโจมตีเป็นระบบที่ผ่านมาฝึกมาอย่างดี

ทำให้บรรยากาศคลี่คลายไปในทิศทางที่เข้าใจได้เป็นการปฎิบัติการของเจ้าหน้าที่ ชาวบ้านที่มาร่วมงานทุกคนก็ยอมรับฟังคำอธิบายที่ตรงไปตรงมาและให้เกียรติแก่ผู้ตาย โดยเหตุการณ์ครั้งนั้นไม่มีฝ่ายใดออกมาพูดจาโจมตีทหารหรือตั้งข้อสงสัยใดๆเลย

มันช่างแตกต่างกับกรณีความตายของชัยภูมิ ป่าแส ที่เจ้าหน้าที่ได้ออกมาให้ความเห็นโดยไม่มีท่าทีเสียใจและปล่อยให้กระบวนการยุติธรรมทำงานอย่างโปร่งใส ทั้งเรื่องของพยานหลักฐานและการตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจเข้ามาตรวจสอบ

การที่แม่ทัพภาคที่ 3 ออกมากล่าวว่า "ปกติการตัดสินใจของน้องพลทหารเขายิงเพียงนัดเดียว ขณะที่เขาทำท่าขว้างระเบิด ถ้าเป็นผม ณ. เวลานั้นอาจกดออโต้ได้” เป็นปฎิกริยาและคำพูดที่ตัดสินไปแล้วว่าอีกฝ่ายมีระเบิดอย่างแน่นอน หากทว่าปราศจากการเคารพและให้เกียรติแก่ญาติ พี่น้อง และเพื่อนฝูงของผู้ตาย

คงต้องกล่าวตรงๆทำให้ผมนึกถึงประโยคจากภาพยนตร์เรื่อง 2499 อันธพาลครองเมือง ที่ว่า "ถ้าคิดจะยิงใคร ต้องยิงแม่งให้ตาย ถ้าแม่งไม่ตาย เราตาย" — หมู่เชียร พูดกับแดง ไบเลย์

ฟังแล้วเหมือนจะทำให้ข้อเท็จเกี่ยวกับความตาย หายไปด้วยการกดออโต้  โดยไม่กล่าวถึงสิ่งที่สำคัญคือ การให้ความยุติธรรมแก่ผู้ตาย และมากกว่านั้นที่ไม่ได้ยินประโยคที่สำคัญคือ คำขอโทษและเสียใจที่มีคนตาย จากการปฎิบัติการของเจ้าหน้าที่

(2)

หลังจากเหตุการณ์การเสียชีวิตจำนวน 16 คน ทางผมและคณะได้เข้าไปดูในเขตฐานปฎิบัติการของฝ่ายทหารที่เกิดการปะทะขึ้นและได้พูดคุยกับเจ้าหน้าที่เรียบร้อยแล้ว ก็ต้องเดินทางกลับเพราะดวงอาทิตย์กำลังหมดแสง และอีกประการคือ ได้มีคำสั่งออกประกาศให้เป็นพื้นที่กฎอัยการศึก สุ่มเสี่ยงที่จะเกิดภัยอันตรายหากขับรถกลางคืนกลับจังหวัดปัตตานี เพราะในใจคาดเดาว่าจะมีการปะทะรอบดึกอีกรอบ

ขณะขับรถออกจากฐานทหาร ระหว่างทางได้พบบ้านหลังหนึ่งมีชาวบ้านรวมอยู่เป็นจำนวนมาก ทางเราจึงได้ชะลอรถถามว่า มีอะไรเกิดขึ้น ชาวบ้านก็ตอบว่า มาเยี่ยมบ้านคนที่ตาย นี่คือบ้านหนึ่งใน 16 ศพ ทางเราก็สอบถามว่าจะขอลงไปเยี่ยมได้ไหม ชาวบ้านก็ยินดี

หลังจากแนะนำตัวเพื่อให้รู้ว่าเป็นใครมาจากไหนเป็นที่เรียบร้อย  ผมและกลุ่มคณะที่ลงพื้นที่ด้วยอีก 3 คนก็ได้มีโอกาสพูดคุยกับพ่อแม่ของผู้ตาย ตามบันทึกสั้นๆ ในสมุดบันทึกโน๊ต และความทรงจำอันเลือนลางในรายละเอียด แต่ยังชัดเจนในใจความสำคัญ

พ่อและแม่ของผู้ตายได้สลับกันพูดเรื่องราวเกี่ยวกับลูกของเขาว่า ลูกชายมีนิสัยเป็นคนขี้กลัว เพราะรู้จักลูกเขาดี จึงไม่คิดว่าจะกล้าตัดสินใจสู้กับเจ้าหน้าที่รัฐได้ ผู้เป็นพ่อเล่าให้ฟังว่า หลังจากที่ลูกกลับมาจากการเป็นทหารเกณฑ์ ก็มาอยู่บ้าน และได้ช่วยที่บ้านทำงานกรีดยาง รับจ้างต่างๆ แต่ก็ไม่พอกิน ลูกเขาก็เลยตัดสินใจไปหางานในตัวเมืองจังหวัดนราธิวาส และช่วงระหว่างหางานก็ได้ขับมอเตอร์ไซด์ผ่านด่านตรวจทางเข้าหมู่บ้านตลอด ลูกของเขาได้เล่าให้ฟังว่า เขาอึดอัดมากที่ต้องโดนตรวจตลอดเวลา โดยโดนเจ้าหน้าที่ถามซ้ำๆ ว่าไปไหน ไปทำอะไร จนถึงขั้นโดนแกล้ง เช่นโดนตบหัว โดนซักถามนานๆ จนบางครั้งก็ไม่ทันเวลาละหมาด หลายครั้งที่ผู้เป็นพ่อได้เห็นลูกของเขาร้องไห้ด้วยความกลัวและความอึดอัด จากการโดนตรวจบ่อยครั้ง แต่ผู้เป็นพ่อก็คิดว่าไม่มีอะไร เพราะเขาบอกว่าเขารู้จักลูกชายของเขาดี ว่าเป็นเด็กขี้กลัว แม้จะอายุยี่สิบต้นๆ แล้วก็ตาม จึงไม่ได้คิดอะไรมาก

หลังจากนั้นไม่นานลูกของเขาก็เปลี่ยนไป และหายตัวไปจากบ้านบ่อยๆ เป็นเวลานาน เป็นเวลาเกือบสองปี มีบางครั้งที่กลับมาที่บ้านบ้าง แต่ก็อยู่ไม่นาน  ครั้งสุดท้ายที่เจอเป็นช่วงกลางคืน ก่อนเกิดเหตุการณ์หนึ่งสัปดาห์  ลูกชายของเขาได้มาบอกว่าจะมีงานใหญ่ที่ต้องทำ และทนไม่ไหวแล้วกับเรื่องที่ผ่านมา แต่นั้นคือเป็นครั้งสุดท้ายที่ได้เจอ ก่อนจะมาเจอศพที่ฐานปฎิบัติการทหาร ในเช้าวันที่ 13 ก.พ. ที่เป็นหนึ่งใน 16 ศพที่เสียชีวิต

ผมและคณะที่ไปด้วยได้ถามไถ่ด้วยความห่วงใยว่าเสียใจมากไหม ทางผู้เป็นมารดาก็บอกว่าเสียใจที่รู้ว่าตาย แต่มันก็ยุติธรรมแล้ว เพราะลูกของเขาเลือกเส้นทางที่ไปใช้อาวุธ และทหารเขาก็ป้องกันตัว ไม่ได้ติดใจอะไร

หลังจากฟังคำพูดของผู้เป็นพ่อเป็นแม่ที่ต้องสูญเสียลูกชายไป มันเป็นความรู้สึกเหมือนกับว่าไม่ได้สนทนาแค่เพียงระหว่างคณะผมกับพ่อและแม่ของผู้ตาย เพราะในการสนทนาก็จะมีชาวบ้านมามุงดูแน่นทั้งในบ้านและบริเวณรอบๆ บ้าน การสนทนาใช้ภาษามลายู โชคดีที่วันนั้นมีล่ามช่วยแปลภาษาให้ ทุกๆ คำตอบจะมีสายตาชาวบ้านจับจ้องและสนใจมาก อาจจะเป็นเพราะทุกคนที่นั้นอยากทราบความจริงและความรู้สึกจากปากของคนที่ต้องสูญเสียลูกชายไป

ระหว่างทางกลับ บริเวณข้างทางมืด เงียบสงัดและบรรยากาศเย็นยะเยือกสอดรับกับการประกาศกฎอัยการศึกของรัฐบาล  สายตาผมมองออกไปข้างทางเห็นด่านตรวจบนถนน แต่ไม่มีทหารประจำการ เห็นแต่แท่งปูนสี่เหลี่ยมและเศษไม้ท่อนขนาดกลางที่ถูกประกอบขึ้นเป็นสิ่งกีดขวางทางเพื่อชะลอความเร็วรถ วางสลับกันไปมา เป้าหมายเพื่อให้คนขับรถชะลอความเร็วและใช้ทักษะในการประคองรถหลบซ้ายและขวา

แต่ก็อีกนั้นแหละ คำถามจึงโผล่ขึ้นมาว่า จะมีนักรบและกลุ่มขบวนการต่อสู้ใดที่ใช้ถนนสายหลักทางเข้าหมู่บ้านในการลำเลียงอาวุธหรือเสบียง เพราะดูจากสายตาประมาณสองร้อยเมตร ก็จะเห็นมาว่ามีด่านตรวจ ยิ่งเป็นนักรบในพื้นที่แล้วย่อมเจนจัดเส้นทางกว่าเจ้าหน้าที่ที่มาประจำการชั่วครั้งชั่วคราว

พูดก็พูดเถอะ มาถึงตรงนี้ก็ทำให้นึกถึงข้อเสนอของคุณภัควดี วีระภาสพงษ์ ที่เคยเขียนในบทความ "ถ้าข้าพเจ้าเป็นรัฐบาลประชาธิปไตย ข้าพเจ้าจะปฎิรูปกองทัพ" ข้อเสนอข้างต้นจะทำให้กองทัพมีประสิทธิภาพทั้งด้านการรบและทักษะอยู่ร่วมกับประชาชนจำนวนมากในประเทศไทย เพราะรัฐ/ชาติย่อมต้องการทหารเป็นกองทัพแน่ๆ แต่รัฐ/ชาติจะอยู่ได้อย่างไรหากประชาชนไม่มีสิทธิทวงถามสาเหตุของการตายภายใต้กระบวนการยุติธรรมที่เชื่อมั่นและใว้ใจได้ และความตายของชัยภูมิก็เช่นกัน มันคือบทพิสูจน์ศักดิ์ศรีความเป็นคนเท่ากันของสังคมนี้ ความจริงและความยุติธรรมย่อมเป็นเครื่องหมายของสังคมที่มีอารยะ

หากถามหาความยุติธรรมไม่เจอแล้ว ก็คงต้องจบด้วยประโยคจากภาพยนตร์ "2499 อันธพาลครองเมือง" ที่ว่า "แถวนี้แม่งเถื่อน บอกตรงๆนะถ้าไม่แน่จริงอยู่ไม่ได้" — หมู่เชียร พูดกับแดง ไบเลย์

 

หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกใน pataniforum.com

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท