Skip to main content
sharethis

'ยูนิเซฟ-สถิติแห่งชาติ' เผยความไม่เท่าเทียมในวัยเด็ก ด้านสุขภาพ พัฒนาการ การศึกษาและการคุ้มครองเด็ก สะท้อนความเหลื่อมล้ำเป็นน่ากังวล พบความล้าหลังของเด็กในพื้นที่ชนบทและครอบครัวที่ยากจน คุณภาพชีวิตต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน

28 มี.ค.2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้(27 มี.ค.60) เวลาประมาณ 13.30  น. องค์การยูนิเซฟและสำนักงานสถิติแห่งชาติ เผยแพร่ผลสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทยล่าสุด ซึ่งแสดงให้เห็นความก้าวหน้าด้านเด็กและสตรีหลายด้าน เช่น อัตราการจดทะเบียนเกิด ร้อยละ 99 อัตราการใช้น้ำดื่มจากแหล่งน้ำสะอาด ร้อยละ 98 อัตราการเข้าเรียนในระดับในระดับชั้นประถมศึกษา ร้อยละ 95 แต่ในขณะเดียวกัน ผลสำรวจยังได้สะท้อนให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำที่น่ากังวล โดยชี้ให้เห็นว่า เด็กและเยาวชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ชนบท ในครอบครัวยากจน และเด็กที่พ่อแม่ขาดการศึกษายังคงล้าหลังทั้งในด้านสุขภาพ การศึกษาและพัฒนาการ โดยรวมเมื่อเทียบกับเด็กกลุ่มอื่นๆ ด้วย

การสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย หรือที่เรียกว่า MICS (Multiple indictors Clusster Survey) จัดทำโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติด้วยการสนับสนุนหลักจากยูนิเซฟ โดยได้จัดเก็บข้อมูลเกี่ยวกับเด็กและสตรีในด้านต่างๆ เช่น สุขภาพ พัฒนาการ การศึกษา และการคุ้มครองเด็ก จากครัวเรือนกว่า 28,000 แห่งทั่วประเทศระหว่างเดือน พ.ย. 2558 - มี.ค. 2559

ผลสำรวจชี้ว่า เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ในระเทศไทยประมาณ 1 ใน 10 คนมีภาวะเตี้ยแคระแกร็น ซึ่งหมายถึงมีความสูงต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานเมื่อเทียบกับอายุ อัตรานี้สูงขึ้นในเด็กที่แม่ไม่มีการศึกษา ร้อยละ 17 นอกจากนี้ ผลสำรวจยังพบว่า เด็กผู้ชาย เด็กในภาคใต้ และเด็กในครัวเรือเรือนยากจนมากมีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน มีภาวะเตี้ยแคระแกร็นและมีภาวะโภชนาการเฉียบพลันสูงกว่าเด็กกลุ่มอื่น

โธมัส ดาวิน ผู้แทนองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวว่า ความเป็นอยู่ของเด็กและสตรีในประเทศไทยได้รับการพัฒนามากในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา แต่ในขณะเดียวกัน ผลสำรวจครั้งนี้ได้ตอกย้ำความเป็นอยู่ที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิงของเด็กกลุ่มต่างๆ โดยขึ้นอยู่กับพื้นที่ซึ่งเด็กอาศัยอยู่ ชาติพันธุ์ของเด็ก รายได้ของครอบครัว และระดับการศึกษาของแม่ ความไม่เท่าเทียมกันนี้ถือเป็นเรื่องที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังและเร่งด่วน ซึ่งเราเชื่อว่าประเทศไทยสามารถจัดการได้

ขณะที่ นวลนภา ธนศักดิ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้เปิดเผยผลสำรวจที่สำคัญในงานแถลงข่าวซึ่งจัดขึ้นที่โรงแรมเซ็นทาราลาดพร้าวในวันนี้ โดยนอกเหนือจากด้านสุขภาพและโภชราการแล้ว ผลสำรวจครั้งนี้ยังชี้ให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำในด้านอื่นๆ ได้แก่

1.  มีเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีในประเทศไทย ร้อยละ 41 ที่มีหนังสือเด็กอย่างน้อยสามเล่มที่บ้าน ทั้งที่หนังสือเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการส่งเสริมพัฒนาการเด็ก อัตรานี้ลดลงอีกในครัวเรือนที่ยากจนมาก กล่าวคือ มีเด็กในครัวเรือนยากจนมากเพียงร้อยละ 23 เท่านั้นที่มีหนังสือเด็กอย่างน้อยสามเล่มที่บ้าน  เมื่อเทียบกับเด็กในครัวเรือนที่ร่ำรวยมากซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 73

2.  สำหรับการส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็ก โดยการทำกิจกรรมร่วมกันนั้น มีพอเพียง 1 ใน 3 คนเท่านั้นที่ทำกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้กับลูกในช่วงสามวันก่อนสำรวจ โดยสัดส่วนพ่อที่ทำกิจกรรมร่วมกับลูกยิ่งน้อยลงอีกในครัวเรือนที่ยากจนมาก คือ เพียง 1 ใน 4 คนเท่านั้น เมื่อเทียบกับพ่อในครัวเรือนที่ร่ำรวยมาก (1 ใน 2 คน)

3.  หากพิจารณาระดับการศึกษาของแม่ พบว่า มีความสัมพันธ์กับสุขภาพ พัฒนาการและการศึกษาของลูก ผลสำรวจระบุว่า ร้อยละ 24 ของเด็กที่แม่ไม่มีการศึกษาไม่ได้เข้าเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษา เมื่อเทียบกับเด็กเพียงร้อยละ 0.4 ที่แม่มีการศึกษาสูงกว่ามัธยมศึกษา และพบว่าสัดส่วนนี้สูงสุดในเด็กที่มีหัวหน้าครัวเรือนที่ไม่ได้พูดภาษาไทย (ร้อยละ 34)

4.  สำหรับอัตราการมีบุตรของวัยรุ่นอายุ 15-19 ปี ในประเทศไทย พบว่าอยู่ที่ 51 คนต่อ 1,000 คน โดยในภาคเหนือมีสัดส่วนสูงที่สุดเมื่อเทียบกับภาคอื่นๆ คือ 72 คน ต่อ 1,000 คน นอกจากนี้ยังพบว่าวัยรุ่นที่มีการศึกษาเพียงชั้นประถมศึกษาให้กำเนิดบุตรสูงมาก คือ 104 คนต่อ 1,000 คน และวัยรุ่นในครัวเรือนยากจนก็ให้กำเนิดบุตรสูงเช่นกัน คือ 82 คนต่อ 1,000 คน เมื่อเทียบกับวัยรุ่นที่มีการศึกษาสูงกว่ามัธยมศึกษา (3 คนต่อ 1,000 คน) และวัยรุ่นที่ร่ำรวยมาก (12 คนต่อ 1,000 คน)

5.  ด้านการอยู่อาศัยของเด็ก พบว่า เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 17 ปี ประมาณ 1 ใน 5 คน หรือราว 3 ล้านคนในประเทศไทยไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ ทั้งๆที่พ่อและแม่ยังมีชีวิตอยู่ อัตรานี้สูงสุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและในกลุ่มเด็กที่มาจากครัวเรือนที่ยากจนมาก โดย เด็กในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและในครัวเรือนยากจนมากประมาณ 1 ใน 3 คนที่ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่

โธมัส ดาวิน กล่าวอีกว่า ผลสำรวจชี้ให้เห็นว่า เด็กในชนบทและเด็กที่อยู่ในครอบครัวยากจนต้องเผชิญกับเส้นทางชีวิตที่ยากลำบากที่สุดในการเติบโตขึ้น ซึ่งมันไม่ควรเป็นเช่นนั้นเลย เด็กทุกคนควรได้รับโอกาสที่เท่าเทียมกันในชีวิต ซึ่งยูนิเซฟมุ่งมั่นและพร้อมที่จะร่วมมือกับทุกภาคส่วนเพื่อพัฒนาระบบบริการทางสังคมตลอดจนนโยบายคุ้มครองทางสังคม เพื่อให้เด็กทุกคนในประเทศไทย มีโอกาสที่เท่าเทียมกันในชีวิต

ด้าน ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เปิดเผยว่า กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมมีวาระขับเคลื่อนการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ สร้างรายได้ ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนทั่วประเทศ มุ่งหวังให้ทุกพื้นที่มีการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตประชารัฐ ซึ่งมีแผนติดตั้งอินเตอร์เน็ตให้กับ 24,000 หมู่บ้านภายในสิ้นปี 2560 และกำลังดำเนินการจัดตั้งศูนย์ดิจิทัลชุมชน 2,000 แห่ง เพื่อสนับสนุนนโยบาย E-commerce ชุมชน ซึ่งจะเป็นการสร้างการจ้างงานและเพิ่มรายได้ให้กับคนในพื้นที่ นอกจากนี้กระทรวงฯอยู่ระหว่างการสร้างความร่วมมือด้านสาธารณสุขอิเล็กทรอนิกส์ให้เข้าสู่ระดับหมู่บ้าน ซึ่งจะเป็นการนำเทคโนโลยีดิจิทัลและบริการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมาเชื่อมโยงระหว่างผู้ให้บริการด้านสุขและประชาชน เพื่อให้สามารถเข้าถึงบริการสุขภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั่วถึง เป็นธรรมและปลอดภัย โดยเชื่อมั่นว่าเทคโนโลยีดิจิทัลจะส่งผลดีเป็นอย่างยิ่งต่อคุณภาพชีวิตประชาชน ไม่จำกัดเพียงเด็กและสตรีเท่านั้น

ผลสำรวจครั้งนี้ยังแสดงให้เห็นถึงข้อมูลเกี่ยวกับเด็กในด้านต่างๆอีกด้วย เช่น อัตราเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ การอบรม และดูแลเด็ก ความรู้และทัศนคติเกี่ยวกับเอชไอวี/เอดส์ เป็นต้น โดยสามารถดาวน์โหลดรายงานฉบับเต็ม ฉบับย่อและรายงาน Every Child Counts : เด็กทุกคนสำคัญเสมอ ได้ที่ https://www.unicef.org/thailand/tha/resources.html

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net