ก.แรงงาน เผยเตรียมคุยหน่วยงานอื่นวางมาตรการโซนนิ่งแรงงานข้ามชาติ 5 หมื่น 13 จังหวัด

โฆษกกระทรวงแรงงาน แจ้งการจัดเขตพื้นที่ส่งเสริมที่พักอาศัยแรงงานข้ามชาติ เตรียมหารือร่วมร่วมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดพื้นที่ หวังแก้ปัญหาด้านอาชญากรรมและยาเสพติด สุขภาพอนามัยจากโรค ขยะมูลฝอยและที่พักอาศัยไม่ได้มาตรฐาน

29 มี.ค.2560 รายงานข่าวจากกระทรวงแรงงานแจ้งว่า อนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ  ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงานและโฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กระทรวงแรงงาน มีนโยบายจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวในจังหวัดต่าง ๆ เพื่อให้สามารถบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นไปตามมาตรฐานสากลและหลักสิทธิมนุษยชน ทั้งนี้ จากการเข้ามาทำงานของแรงงานต่างด้าวโดยเฉพาะแรงงาน 3 สัญชาติ  ในระยะที่ผ่านมา พบว่า การพักอาศัยร่วมกันเป็นชุมชนอย่างกระจัดกระจายของแรงงานเหล่านี้ ได้เกิดปัญหาขึ้นในหลายๆ ด้าน เช่น ปัญหาด้านอาชญากรรมและยาเสพติด ปัญหาด้านสุขภาพอนามัยจากโรคต่าง ๆ ปัญหาขยะมูลฝอย และปัญหาที่พักอาศัยไม่ได้มาตรฐานและไม่ปลอดภัย เป็นต้น  โดยเฉพาะจังหวัดที่มีแรงงานต่างด้าวอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น ระนอง สมุทรสาคร เป็นต้น 

จากกรณีดังกล่าว กระทรวงแรงงานจึงมีแนวคิดการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวในจังหวัดที่มีแรงงานต่างด้าวมากกว่า 50,000 คน ที่มีอยู่ประมาณ 13 จังหวัด ได้แก่ สมุทรสาคร ระนอง ปทุมธานี ชลบุรี สมุทรปราการ สุราษฎร์ธานี เชียงใหม่ นนทบุรี นครปฐม ระยอง ภูเก็ต สงขลา และตาก โดยได้ขอความร่วมมือจังหวัดในการพิจารณาจัดเขตพื้นที่ส่งเสริมที่พักอาศัยแรงงานต่างด้าว (Zoning) เพื่อให้สถานประกอบการหรือนายจ้าง นำแรงงานต่างด้าวเข้าพักอาศัย อันเป็นส่วนหนึ่งที่จะให้นายจ้างดูแลด้านสวัสดิการ สามารถจัดบริการรถรับ-ส่งได้โดยสะดวก มีความเป็นระเบียบเรียบร้อยทั้งการพักอาศัยและการเดินทาง ขยายผลถึงการป้องกันปัญหาด้านสาธารณสุข การจัดการปัญหาขยะในพื้นที่  ตลอดจนการบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะส่งผลดีต่อทั้งชุมชนและสังคมโดยส่วนรวม จัดเป็นมาตรการที่เกิดประโยชน์ในภาพรวมของประเทศ 

“กรณีจัดเขตพื้นที่ส่งเสริมที่พักอาศัยแรงงานต่างด้าว (Zoning) ขณะนี้เป็นเพียงแนวคิดเริ่มต้นในการจัดพื้นที่เท่านั้น ยังไม่ได้เป็นข้อยุติเนื่องจากจะต้องมีการหารือร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมโยธาธิการและผังเมือง และกรมที่ดิน ถึงความเหมาะสมของการจัดพื้นที่ โดยคำนึงถึงสภาพแวดล้อมทางสังคมของคนไทยในพื้นที่ก่อนในเบื้องต้นอย่างไรก็ตาม ในการจะดำเนินการใด ๆ จะต้องผ่านการรับฟังความคิดเห็นทั้งจากประชาชน นายจ้าง ลูกจ้าง ผู้เกี่ยวข้องต่าง ๆ เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปด้วยความเหมาะสม” โฆษกกระทรวงแรงงาน กล่าวท้ายสุด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท