ม้งช่วยรบ (1) สงครามลับชายแดนกับการต่อสู้เพื่อทวงสิทธิ ตัวตน ความเป็นคนไทย

พูดคุยกับอดีตสมาชิกชุมชนม้งถ้ำกระบอก นอกจากเคยผ่านชีวิตไร้สัญชาติแล้ว ยังเคยประสบภาวะไร้ตัวตนอีกด้วย ครั้งหนึ่งในสมรภูมิบ้านร่มเกล้าปี 2531 ราชการระดมพวกเขาเข้ารับการฝึกเป็น "กลุ่มม้งช่วยรบ" มีหน้าที่ตัดเส้นทางลำเลียงของฝ่ายตรงข้ามตามแนวชายแดน จ.น่าน รวมทั้งหาข่าวอย่างไรก็ตามผ่านไปหลายปีเมื่อสถานการณ์สงบ ราชการไม่ส่งเสบียง ความอดอยากทำให้พวกเขาอพยพกลับมาที่ถ้ำกระบอก เป็นเหตุให้รัฐบาลกดดันให้พวกเขาสลายชุมชนในเวลาต่อมา

อ่านตอนที่ 2: ม้งช่วยรบ (2) ชีวิตหลังสงครามเย็น การต่อสู้เพื่อสถานะบุคคลและสัญชาติ

“ตอนนั้น ทางการไทยบอกเราว่า ถ้าไปช่วยรบ เมื่อสถานการณ์สงบและยุติแล้วจะให้สัญชาติไทยพร้อมกับที่อยู่อาศัย และที่ทำกินเป็นการตอบแทน แต่สุดท้าย เรารู้สึกเสียใจ เจ็บปวดมาก เมื่อกลับมา ไม่ได้สัญชาติไทยแล้วยังไม่พอ เรายังถูกทางรัฐบาลไทยได้สั่งการให้ทหารหน่วยอื่นมาผลักดันกองกำลังชาวม้งให้ออกจากฐานที่มั่น โดยไม่คำนึงถึงสัญญาที่ให้ไว้”

“นี่เรายังถือว่าโชคดีนะ ที่ไปรบกลับมาแล้วไม่สูญเสียอวัยวะ ยังมีร่างกายอยู่ครบ แต่ยังมีพี่น้องเราหลายคน ต้องสูญเสีย ขาขาด เป็นคนพิการอยู่ในหมู่บ้านธารทอง ซึ่งพวกเขาเสียใจมาก ที่รัฐบาลไทยไม่ได้มาเหลียวแลเลย”

“ที่สุดแล้ว เราต้องกลับมาต่อสู้เรียกร้องเรื่องสัญชาติด้วยตัวเราเอง”“อย่างที่บอกนั่นแหละว่า เราได้สัญชาติไทยในครั้งนี้ ไม่ใช่เพราะว่าเราไปช่วยรบ หรือเพราะคุณงามความดีที่เราเคยทำเพื่อประเทศชาติ แต่เราได้ต่อสู้ด้วยสิทธิของเราเอง”

000

เยี่ยปาว แซ่ซ่ง ลี แซ่ซ่ง และ ไซ แซ่ซง อดีตสมาชิกชุมชนชาวม้งถ้ำกระบอก ปัจจุบันพวกเขามาอยู่ที่หมู่บ้านธารทอง อ.เชียงแสน จ.เชียงราย

เยี่ยปาว แซ่ซ่ง

ไซ แซ่ซ่ง หลานชายของเยี่ยป่าว โชว์รูปถ่ายสมัยทำหน้าที่ "ม้งช่วยรบ"

พวกเขาได้รับการฝึกระยะสั้น ก่อนปฏิบัติงาน "ม้งช่วยรบ" ขึ้นตรงกับ บ.ก.3091 ทำงานภายใต้สังกัดหน่วยข่าวกรองของกองทัพภาคที่ 3 ในช่วงสมรภูมิบ้านร่มเกล้า และต้องทำงานตามแนวชายแดนอีกหลายปี

 

นั่นคือคำบอกเล่าของ เยี่ยปาว แซ่ซ่ง กับ ลี น้องชาย และ ไซ หลานชายของเขา ที่ครั้งหนึ่งพวกเขาเคยอาสาไปเป็นทหารช่วยรบ ไปเป็นกองกำลังช่วยรบให้กับรัฐบาลไทย

บ่ายวันนั้น พวกเขายืนล้อมวงกันบนโต๊ะในกระท่อมไม้ไผ่ ในหมู่บ้านธารทอง อ.เชียงแสน จ.เชียงราย เยี่ยปาว แซ่ซ่ง เข้าไปค้นบัตรประจำตัววัดถ้ำกระบอกในกระท่อมนำออกมาวางให้ทุกคนดู ในขณะลี กับไซ แซ่ซ่ง น้องชายและหลานชาย รื้อค้นรูปภาพเก่าๆ สมัยที่พวกเขาอยู่ในสำนักสงฆ์วัดถ้ำกระบอก และอาสาไปเป็นทหารช่วยรบกับคอมมิวนิสต์ลาว มาวางบนโต๊ะให้ทุกคนดู ด้วยสีหน้าเคร่งขรึม ฮึกเหิมและจริงจังในห้วงชีวิตหนึ่งที่ต้องเผชิญกับความเป็นความตายในราวป่า

แต่ในขณะเดียวกัน พวกเขากลับมีสีหน้าที่ดูเหมือนเจ็บปวดและเศร้า เมื่อนึกถึง ผลตอบแทนที่ได้รับ เมื่อกลับมา...

เยี่ยปาว แซ่ซ่ง บอกเล่าเรื่องราวในวัยเด็กให้ฟังว่า ตนเองเกิดในปี พ.ศ. 2509 ที่บ้านขุนน้ำหมาวตำบลหนองแดงอำเภอแม่จริม จังหวัดน่าน ซึ่งตั้งอยู่บนบริเวณชายแดนจังหวัดน่านกับประเทศลาว หลังจากตนเองเกิดแล้ว พ่อแม่ก็อยู่อาศัยอยู่ที่ดังกล่าวเรื่อยมา โดยการประกอบอาชีพเกษตรกรรมเลี้ยงครอบครัว เป็นหลัก

“จนกระทั่งต้นปี พ.ศ.2531 พี่น้องชาวม้งทราบข่าวว่าสำนักสงฆ์วัดถ้ำกระบอกเปิดรับคนติดยาเสพติดเข้าบำบัด พ่อแม่ของตนเองซึ่งติดยาเสพติดอยู่แล้ว และมีความต้องการบำบัด ก็เลยพากันอพยพครอบครัวเข้าไปอาศัยอยู่ที่สำนักสงฆ์วัดถ้ำกระบอก นับตั้งแต่นั้นมา”

ในขณะที่ สถานการณ์ของประเทศไทยในช่วงเวลานั้น รัฐไทยกำลังมีปัญหาความขัดแย้งเรื่องพรมแดนกับประเทศลาว จนกระทั่งเกิดการสู้รบกันอย่างหน่วงหนัก ที่เรียกกันว่า ‘สงครามบ้านร่มเกล้า’บนเนิน 1428 ตำบลบ่อภาค อำเภอชาติตระการ จังหวัดพิษณุโลก ตั้งแต่ในช่วงปี พ.ศ.2530-2531

สงครามบ้านร่มเกล้า ครั้งนั้น ทหารไทยล้มตายกันเป็นจำนวนมาก ซึ่งรัฐบาลไทย พยายามหาทางออกและยุติสงครามโดยเร็ว

เนื่องจากหลายฝ่ายวิเคราะห์กันว่า นี่ไม่ใช่สงครามความขัดแย้งระหว่างไทยกับลาวเท่านั้น เพราะนับจากปี พ.ศ. 2518 จนถึงต้นทศวรรษ 2530 ในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ ยังคงอยู่ในยุคสงครามเย็น และภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ยังร้อนระอุไปด้วยสงครามการต่อสู้ระหว่างฝ่ายคอมมิวนิสต์ที่หนุนหลังโดยสหภาพโซเวียตกับจีน กับฝ่ายเสรีนิยมที่มีสหรัฐและประเทศยุโรปอื่นๆ เป็นแกนนำ เมื่อฝ่ายคอมมิวนิสต์เข้ายึดประเทศลาว เวียดนามใต้และกัมพูชาได้ในปี พ.ศ. 2518 โลกเสรีนิยมจึงกังวลว่าประเทศไทยและประเทศอื่นในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์จะกลายเป็นประเทศคอมมิวนิสต์ต่อไป ตามทฤษฎีโดมิโน รัฐบาลไทยจึงต้องเฝ้าระวังและป้องกันแนวชายแดนฝั่งลาวกับกัมพูชาเป็นพิเศษ ด้วยการใช้ทั้งกองทัพไทยและกองกำลังกู้ชาติที่เป็นผู้อพยพจากประเทศเพื่อนบ้านเหล่านั้น

ที่มากไปกว่านั้นคือ รัฐบาลได้ใช้กลุ่มนักรบที่เป็นผู้อพยพดังกล่าวมาช่วยฝ่ายเสรีนิยมรบกับฝ่ายคอมมิวนิสต์ที่เคลื่อนไหวต่อสู้อยู่ในป่าในประเทศไทยด้วย เช่น ที่เขาค้อ และภูเมี่ยง-ภูสอยดาว

และนี่จึงทำให้รัฐบาลไทย ได้หันมายังกลุ่มชาวม้งที่อาศัยอยู่ในวัดถ้ำกระบอกกลุ่มนี้ ด้วยเหตุผลที่ซับซ้อนและแยบยลมาก โดยทางการไทยพยายามให้เหตุผลว่า หากเอาบุคคลที่มีสัญชาติไทยไปช่วยรบในรูปแบบกองโจรเร่งด่วนถ้าทางการลาวจับกุมตัวได้ระหว่างการสู้รบ และรู้ว่าบุคคลนั้นถือสัญชาติไทย ก็จะผิดสัญญาว่าด้วยการสู้รบ และจะเกิดปัญหาบานปลายตามมาแต่ถ้านำบุคคลซึ่งไม่มีสัญชาติไทยไปช่วยในการสู้รบกับทหารไทยในรูปแบบกองโจรเร่งด่วน แล้วทหารลาวจับได้ก็จะไม่มีผลกับความมั่นคงของประเทศไทย

“วันหนึ่ง มีนายทหารไทยระดับพันเอกนายหนึ่ง เดินทางเข้ามาที่วัดถ้ำกระบอก แล้วได้บอกกับประชา โกษา หรือชื่อม้งเรียกว่า เยี่ยล่ง หมั่ว ว่ายังไงก็ขอให้ม้งไปช่วยปราบปรามให้ด้วย ซึ่งในตอนแรก ประชา ก็ได้ตอบปฏิเสธไป แต่พันเอกนายนี้ก็ยังกลับเข้ามาชักชวนอีก จนกระทั่งครั้งที่สาม หลวงพ่อจรูญ ได้บอกย้ำและรับปากกับพวกเขาว่า...ถ้ารบกลับมา ถ้ารัฐบาลไทยไม่ให้สัญชาติ ไม่ให้ที่อยู่อาศัย หลวงพ่อก็จะให้ทุกคนอาศัยอยู่ในวัดถ้ำกระบอกนี้แหละ”

“บวกกับความตั้งใจของพวกเรา ที่ตกลงจะอาสาไปช่วยรบในครั้งนี้ นอกจากเพื่อจะได้สัญชาติไทยแล้ว ก็จะได้ช่วยตอบแทนคุณแผ่นดินไทย ที่ทุกคนได้อาศัยอยู่กันมานานแล้วด้วย” เยี่ยปาว บอกย้ำให้ฟัง เยี่ยปาวและพี่น้องม้งกลุ่มนี้ จึงตกลงรับคำ และตัดสินใจไปเป็นทหารช่วยรบ

กลุ่มม้งช่วยรบ กลุ่มดังกล่าว นำโดยนายประชา โกษาหรือชื่อม้งว่า ‘เยี่ยล่ง หมั่ว’ ได้รับการจัดตั้งขึ้นเป็นหน่วย บ.ก.3091 ทำงานภายใต้สังกัดหน่วยข่าวกรองของกองทัพภาคที่ 3 ของไทย

รัฐบาลไทยได้นำกลุ่มชาวม้งที่ไม่มีสัญชาติไทยกลุ่มนี้ เข้าฝึกที่กองพันทหารม้าที่ 15 อำเภอเมือง จังหวัดน่านเป็นหลักสูตร การฝึกอบรม ในห้วงระยะเวลาสั้นๆ

“เป็นการฝึกที่สั้นจริงๆ ฝึกให้ใช้อาวุธ จับปืน ยิงปืน แล้วชุดทหารที่สวมใส่ ก็เป็นชุดทหารที่ทางการไทยจัดซื้อให้ เป็นชุดทหารทั้งลายพรางและสีเขียวเหมือนชุดทหารคอมมิวนิสต์นั่นแหละ สวมรองเท้าหนังยางสีดำ ส่วนอาวุธที่ทางการไทยมอบให้นั้น ส่วนใหญ่ก็เป็นอาวุธปืนอาก้า ที่ยึดได้จากกลุ่มคอมมิวนิสต์ที่ยอมมอบตัวกลับใจก่อนหน้า เมื่อปี 2528 นั่นเอง” เยี่ยปาว เล่าให้ฟัง

จากนั้น กองกำลังช่วยรบชาวม้ง จำนวน 400 กว่าชีวิต จึงถูกส่งตัว เดินเท้าเข้าป่าผ่านเส้นทางบ้านน้ำปูน อำเภอแม่จริม จังหวัดน่าน เข้าสู่ชายแดนลาว ถือเป็นหน่วยกองโจรเร่งด่วน เป้าหมายเพื่อตัดเส้นทางลำเลียงอาวุธและกองกำลังของฝ่ายข้าศึก

“การเดินทางเข้าป่า ไปตามแนวชายแดนจังหวัดน่าน ในขณะนั้น พวกเราไม่มีเอกสารแสดงตัวตนใดๆ เลย จะมีก็คือเอกสารฉบับหนึ่งที่ทหารไทยออกให้ เพื่อแสดงว่าเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่ให้ราชการทหาร พร้อมกับระบุว่ามีผู้ติดตามมาด้วยจำนวนหนึ่งเท่านั้นเอง” เยี่ยปาว บอกเล่า

เป้าหมายและภารกิจอยู่ที่บริเวณบ้านน้ำปูน ชายแดนจังหวัดน่าน

“บ้านน้ำปูนแห่งนี้ เป็นที่อยู่ของครอบครัวที่พวกเรามาร่วมทำภารกิจ โดยพี่น้องม้งเดินทางมาจากหลายที่ พื้นที่ที่พวกตนไปตั้งบ้านเรือนอยู่เป็นที่ตั้งของหมู่บ้าน ผู้หญิงและเด็กจะอาศัยอยู่ในหมู่บ้านแห่งนี้ ส่วนชายที่ออกไปเป็นอาสาสมัครช่วยรบ จะออกจากหมู่บ้านไปอยู่ที่ค่ายทหาร โดยจะออกทำภารกิจครั้งละ 20 วัน พัก 20 วัน หรือตามแต่จะถูกสั่งมา การมาเป็นอาสาสมัครช่วยรบไม่มีค่าตอบแทนใดๆ แต่จะได้รับเสบียงอาหาร และอาวุธปืนเท่านั้น” เยี่ยปาว บอกเล่าให้เห็นภาพการใช้ชีวิตและการต่อสู้

ผู้ชายออกไปช่วยรบ ส่วนผู้หญิง ก็ดูแลครอบครัวอยู่ในหมู่บ้าน ทำการเกษตรในบริเวณใกล้เคียง เพื่อเอามายังชีพในครอบครัว

สงครามการต่อสู้ยังคงดำเนินต่อไปอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่ง กองกำลังช่วยรบชาวม้ง ชุดดังกล่าวสามารถทำลายฝ่ายตรงข้ามจนสำเร็จ จนถอยร่นกลับไปยังชายแดนของตน

ว่ากันว่า ภารกิจหลักของม้งช่วยรบกลุ่มนี้ นอกจากสู้รบ ผลักดันไม่ให้ทหารลาวรุกล้ำเข้ามาแล้ว บางครั้งก็ออกไปหาข่าวในประเทศลาวอีกภารกิจหนึ่ง นั่นคือ ยังเป็นตัวกลางเจรจาชักจูงผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ให้กลับตัวกลับใจและยอมเข้ามอบตัวกับทางการไทยด้วย

“เขาให้เราไปเป็นตัวกลาง ระหว่างทหารไทยกับทหารลาวที่กำลังสู้รบกันอยู่ อีกอย่างก็คือ ให้เราเป็นตัวกลาง เวลาเข้าไปเจอพี่น้องม้งคนไหนที่ฝักใฝ่คอมมิวนิสต์ ที่หนีเข้าป่า เราก็พยายามชักชวนโน้มน้าวให้เขากลับมาร่วมมือกันได้ไหม ถ้ามอบตัว แล้วทางรัฐบาลไทยเขาจะให้ความช่วยเหลือ เราก็ไปเรียกพวกผู้ใหญ่มาคุยกัน ตกลงกัน สุดท้าย พวกเขายอมมอบตัว ตอนนี้หลายครอบครัวก็ได้ใช้ชีวิตปกติอยู่ที่ชายแดน จังหวัดน่าน”

ดังที่หลายคนรู้ข่าวกันดีว่า มีพี่น้องม้งกลุ่มล่าสุด นำโดย สัมพันธ์ และ เยี่ยจ้า ซ่ง ได้นำประชาชนจำนวน 50 ครอบครัว กว่า 400คนที่ยังฝักใฝ่ลัทธิคอมมิวนิสต์ เข้ามอบตัวต่อพันเอกพจนา สายสะอาด รักษาการ บ.ก. 3091โดยปัจจุบัน กลุ่มที่มอบตัวดังกล่าวได้สัญชาติไทยแล้ว และอาศัยอยู่บ้านสว่างและบ้านน้ำตวง ตำบลน้ำพาง อำเภอแม่จริม จังหวัดน่าน

000

หลังจากทำภารกิจได้เป็นระยะเวลา 5 ปี เหตุการณ์สงครามความขัดแย้งตามแนวชายแดนเริ่มสงบลง

เยี่ยปาว และพี่น้องม้งกลุ่มนี้ เริ่มเห็นความผิดปกติเกิดขึ้น...

ในปี พ.ศ. 2535 เมื่อสถานการณ์เริ่มสงบลง จู่ๆ ทางกองทัพไม่ยอมส่งเสบียงอาหารมาให้อีกเหมือนแต่ก่อน จนทำให้เยี่ยปาวและพี่น้องม้ง ที่ยังคงอาศัยอยู่ในหมู่บ้านริมแนวชายแดน เกิดความอดอยากมากขึ้น

“พวกเราจึงวางแผนออกจากหมู่บ้าน กลับไปอาศัยอยู่ที่สำนักสงฆ์ถ้ำกระบอก เหมือนเดิม หลังจากเตรียมเสบียงพร้อมแล้ว เราจึงได้เดินเท้าออกจากหมู่บ้าน เพื่อเดินทางกลับไปยังสำนักสงฆ์วัดถ้ำกระบอก โดยเดินทางมาพักที่บ้านน้ำตวง และขึ้นรถมามาพักชั่วคราวที่ตำบลป่ากลาง อำเภอปัวและขึ้นรถโดยสารไปที่สำนักสงฆ์ฯ การอพยพครั้งนั้นมีจำนวนประมาณ 600 คน แทบทั้งหมดไม่มีเอกสารใด ๆ แต่แปลกใจที่ไม่มีเจ้าหน้าที่คนใดมาจับกุม ส่วนการเดินทางต่อไปยังสำนักสงฆ์ฯ จะเดินทางโดยรถโดยสารประจำทาง ไปครั้งละ 5– 6 ครอบครัว เพื่อไม่ให้เป็นการผิดสังเกต” เยี่ยปาว บอกเล่าให้ฟัง

เมื่อเดินทางไปถึงที่สำนักสงฆ์ฯ เยี่ยปาวและพี่น้องม้งได้ไปรายงานตัวต่อหลวงพ่อจรูณ ปานจันทร์ ทันที

“ตอนนั้น คนที่ติดฝิ่นก็รายงานตัว เพื่อแจ้งความจำนงว่าต้องการบำบัด ทางสำนักสงฆ์จะจัดที่สำหรับสร้างบ้านพักอาศัย ส่วนวัสดุสำหรับสร้างบ้านก็หาจากป่าบริเวณใกล้เคียง ส่วนหญ้าคา และไม้ไผ่นั้นต้องซื้อเนื่องจากในพื้นที่ไม่มี ที่เรามาอยู่อาศัยที่สำนักสงฆ์ฯ ก็เพราะเกิดจากการชักชวนของนายประชา โกษา แกนนำม้ง ที่เคยบอกกับทุกคนว่า...หากเป็นคนม้งที่ไม่มีสัญชาติไทยให้มาอาศัยอยู่ที่นี่ เราจึงต้องมาที่นี่”

ในขณะเดียวกัน ได้มีคนม้งอพยพเข้ามาอยู่อีกเป็นจำนวนมาก ด้วยความหวังลึกๆ ว่าสหรัฐอเมริกา จะรับพวกเขาไปอยู่ประเทศที่สาม

จนทำให้สำนักสงฆ์ถ้ำกระบอก กลายเป็นชุมชนแออัดขนาดใหญ่ไปโดยปริยาย

เยี่ยปาวเล่าถึงการเรียนหนังสือของตนเองว่า “ผมไม่ได้เรียนหนังสือตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการแต่อย่างใด แต่ผมรู้หนังสือเมื่อครั้งไปเป็นอาสาสมัครช่วยรบที่จังหวัดน่านแล้ว มีครูฝึกมาสอนให้ หลังจากย้ายมายังสำนักสงฆ์วัดถ้ำกระบอกแล้ว ผมก็ได้มาเรียนต่ออีก แต่ไม่ได้เรียนตามหลักสูตรเหมือนเดิม ทำให้ผมพออ่านออกเขียนได้ แต่ไม่มีวุฒิการศึกษาใด ๆ ระหว่างที่อยู่ที่นั่น ผมได้เรียนรู้การทำเครื่องเงิน และสามารถทำเครื่องเงินขายเลี้ยงครอบครัวได้”

ครอบครัวของเยี่ยปาว อาศัยอยู่ที่สำนักสงฆ์ อย่างมีความสุขตามอัตภาพ โดยไม่ได้เดือดร้อนอะไร

แต่แล้ว ชีวิตครอบครัวของเขาก็เจออุปสรรคปัญหาระลอกใหม่

การที่ชาวม้งไปรวมตัวกันอยู่ที่สำนักสงฆ์ถ้ำกระบอกเป็นจำนวนมาก จึงทำให้รัฐบาลมีความพยายามกระทำการกดดันให้มีการสลายชุมชนม้งดังกล่าว

 

ข้อมูลประกอบ

1. มูลนิธิศึกษาพัฒนาประชาชนบนที่สูง. (2559) สรุปบทเรียนการดำเนินงานกลุ่มม้งถ้ำกระบอก บ้านธารทอง หมู่ที่ 11 ตำบลแม่เงิน อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย

2. ประสิทธิ์ ลีปรีชา. (2559) บุคคลไร้รัฐพลัดถิ่น ม้งถ้ำกระบอก โครงการคุ้มครองสิทธิเด็กไร้รัฐไร้สัญชาติ ระยะที่ 2, 2559

3. เยี่ยปาว แซ่ซ่ง,ลี แซ่ซ่ง,ไซ แซ่ซ่ง,บทสัมภาษณ์ กลุ่มม้งช่วยรบ บ้านธารทอง หมู่ที่ 11 ตำบลแม่เงิน อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย สัมภาษณ์ปี 2559

4. พัชยานี ศรีนวล,รายงานพิเศษ: ม้งถ้ำกระบอก แสงดาวกลางป่า กับความหวังที่ยังรอคอย, ประชาไท, 4 ตุลาคม 2556

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท