Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

ถ้าพูดถึงบุคคลในเอเชียเรา ผู้มีวิสัยทัศน์ทางด้านธุรกิจไอที 4.0 และเป็นผู้หนึ่งที่ถูกเชิญตัวไปพูดบรรยายให้ความรู้และข้อคิดเกี่ยวกับธุรกิจไอทีมากที่สุดในทศวรรษนี้ ย่อมไม่พ้นชื่อ “แจ็ค หม่า” ประธาน อาลีบาบา เจ้าของธุรกิจอีคอมเมิร์ช ใหญ่ที่สุด ชายสัญชาติจีน ที่ล่าสุดเพิ่งเปิดดีลลงทุนเครือข่ายต่างประเทศของอาลีบาบาที่กัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย ซึ่งก็ทำให้ตลาดอีคอมเมิร์ช ละตลาดที่เกี่ยวข้องในมาเลเซีย พลอยบูมไปด้วยพร้อมๆกับการสร้างงานให้คนจำนวนมาก

ไม่น่าแปลกใจว่าสื่อนานาชาติ รวมถึงสื่ออเมริกัน ได้รายงานข่าวนี้ออกไปหลังดีลกัวลาลัมเปอร์เกิดขึ้นได้ไม่นาน

เกิดอะไรขึ้นกับการเคลื่อนไหวของยักษ์ใหญ่เอเชียทางด้านอีคอมเมิร์ซอย่างอาลีบาบา ข่าวดังกล่าวดูเหมือนจะทำให้แจ็ค หม่า และบริษัทอีคอมเมิร์ซ ของเขากลายเป็นคนหนึ่งเดียวในโลกที่ยืนซดกับยักษ์ใหญ่คู่แข่งที่เป็นบริษัทอเมริกันอย่าง อีเบย์ และ อเมซอน ทำให้คู่แข่งทางธุรกิจอีคอมเมิร์ช 2 บริษัทดังกล่าวเกิดอาการกลืนไม่เข้าคายไม่ออก ตัดสินใจไม่ได้ว่าจะเอาอย่างไรดีกับการเปิดตลาดในเอเชียที่กำลังการบริโภคเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลแค่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา หรือไม่?

เสมือนว่า อาลีบาบาเป็น “กขค.” ของบริษัทอเมริกันทั้งสองเต็มประตู โดยเฉพาะอีเบย์นั้นเป็นบริษัทอีคอมเมิร์ซสัญชาติอเมริกันที่มีชื่อเสียงมานานกว่าสองทศวรรษ ทุกๆ ปีในอเมริกาบริษัทนี้จัดประชุมสมาชิกในบางเมือง เช่น ที่เมืองลาสเวกัส ถือว่าการประชุมสมาชิกเครือข่ายอีเบย์เป็นหนึ่งในคอนเวนชั่นที่ใหญ่คอนเวนชั่นหนึ่งประจำเมืองบาปแห่งนี้

อีเบย์นั้นเคยซดกับอาลีบาบาของ แจ๊ค หม่า มาก่อนหน้านี้ เหตุเกิดที่เมืองจีนในขณะนั้นที่อีเบย์พยายามรุกตลาดจีน เนื่องจากพิจารณาแล้วว่าจะเป็นตลาดที่มีศักยภาพสูงในตลาด ซึ่งการคาดการณ์ดังกล่าวก็ปรากฏผลให้เห็นจากสภาพตลาดจีนในปัจจุบันที่ทรงพลานุภาพ กล่าวคือมีมีการเทรดผ่านตลาดอีคอมเมิร์ซปีหนึ่งๆ นับมูลค่าเป็นหมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งก็มากพอที่จะทำให้อาลีบาบา กลายเป็นบริษัทอีคอมเมิร์ซที่โดดเด่นมากที่สุดทั้งในเอเซียและอเมริกา

ที่สำคัญคือ อาลีบาบา เป็นบริษัทอีคอมเมิร์ซ สัญชาติจีนที่นักธุรกิจอเมริกันรู้จักกันดี รวมถึงยังเข้าไปใช้บริการของบริษัทแห่งนี้เป็นจำนวนมากด้วย สะท้อนให้เห็นถึงเครดิตหรือความไว้เนื้อเชื่อใจของผู้ลงทุนหรือผู้ประกอบการชาวอเมริกันต่ออาลีบาบา จนถึงกับทีมงานของประธานาธิบดีคนใหม่ โดนัลด์ ทรัมป์ เชิญตัวแจ็ค หม่า ไปเยือนทำเนียบขาว เพื่อให้เกียรติประธานาธิบดีคนใหม่ เท่ากับว่าประธานของอาลีบาบา กับประธานของคนอเมริกันได้พบกันแล้ว เป็นนิมิตรหมายที่ดีในการทำมาค้าขายซึ่งกันและกันระหว่างประชาชนของทั้งสองประเทศ เหนือไปจากการมองว่าทั้งสองประเทศมหาอำนาจแข่งขันกันในรูปแบบการเป็นศัตรูกันและกัน

หากดูจากวิสัยทัศน์การทำธุรกิจกิจของแจ็ค หม่า ที่อาศัยตลาดจีนหรือตลาดเอเซียเป็นฐานที่มั่นในการทำธุรกิจอีคอมเมิร์ซก็แสดงให้เห็นว่า เขาเชื่อมั่นในศักยภาพของตลาดเอเชียบ้านเรา จากวิสัยทัศน์ในการพูดของเขาหลายๆ ครั้ง แจ็ค หม่า ไม่ได้มองแคบแค่ตลาดจีนเท่านั้น แต่เขากวาดสายตามองตลาดเอเชียหลายประเทศ รวมถึงตลาดในโซนอาเซียน (asean) ว่า มันคือคำตอบของความสำเร็จของธุรกิจอีคอมเมิร์ซ เขาถึงได้ลงทุนเดินสายสร้างความสัมพันธ์กับเหล่าผู้มีอำนาจ ซึ่งก็คือรัฐบาลของแต่ละประเทศกลุ่มอาเซียนนั่นเอง

ดังการไปเยือนประเทศไทยครั้งหนึ่งของเขา จนได้เข้าพบและพูดคุยกับตัวแทนของรัฐบาลไทยชุดปัจจุบันที่กรุงเทพ นี่เป็นการแผ้วถางทางไปสู่การขยายเครือข่ายของอาลีบาบาออกไปจากฐานเดิมในประเทศ แต่เป็นที่น่าเสียดายว่า ในที่สุด แจ็ค หม่า เลือกมาเลเซียให้เป็นที่สถานที่ตั้งของเครือข่ายอีคอมเมิร์ซที่ยิ่งใหญ่ของเขาแทนที่จะเลือกเมืองไทย

หากพิจารณาตามเหตุผลที่เขาเคยพูดแสดงวิสัยทัศน์หลายๆ ครั้งก็ย่อมจะเห็นว่า ทำไม? แจ็ค หม่า ไม่เลือกเมืองไทย ทั้งที่รัฐบาลไทยโดยหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ กำลังโปรโมทนโยบาย “ไทยแลนด์ 4.0” และ “Startup” อย่างหนักอยู่ในตอนนี้ ก็นโยบายที่ว่านี้ ไร้ค่าสำหรับ แจ็ค หม่า หรืออย่างไร

แน่นอนว่าการไปเยือนกรุงเทพของแจ็ค หม่า คราวที่แล้วชี้ให้เห็นว่านโยบาย ไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาลไทยไม่ไร้ค่า แต่หากดูจากประวัติการทำงานของนักธุรกิจสมัยใหม่ชาวจีนรายนี้ก็จะเห็นว่า เขาทำงานเข้ากับรูปแบบของโลกาภิวัตน์ กล่าวคือ ปรับตัวให้เข้ากับโลกาภิวัตน์ซึ่งเป็นโลกไร้พรมแดนได้อย่างดี

แจ็ค หม่า เคยกล่าวตำหนิลูกน้องของเขาบนเวทีแห่งหนึ่งต่อหน้าแขกเหรื่อ หลังจากที่ลูกน้องคนหนึ่งซึ่งทำหน้าที่เป็นพิธีกรในงานอีคอมเมิร์ซแห่งหนึ่ง กล่าวผ่านไมโครโฟนต่อคนฟังจำนวนมากว่า บริษัท (อาลีบาบา) ในฐานะบริษัทคนจีน จะต้องเตะสกัดบริษัทที่มิใช่บริษัทสัญชาติจีนออกไปให้พ้นๆ (ตอนนั้นลูกน้องเขาน่าจะหมายถึงบริษัทอีคอมเมิร์ซอีเบย์ของอเมริกัน)

แจ็ค หม่า คว้าไมค์มาถือเอง พลางบอกทำนองสอนลูกน้องในทีมงานของเขาว่า “ใครก็พูดอย่างนี้ไม่ได้ การทำธุรกิจในโลกปัจจุบัน ไม่มีเชื้อชาติ ไม่มีสัญชาติ คุณต้องขอโทษคนฟัง เพราะอาลีบาบา เปิดโอกาสสำหรับทุกๆ คนทั่วโลก ไม่ใช่ชาวจีนเพียงชาติเดียว” (อาลีบาบาเอง มีฝรั่งมาทำงานในบริษัทตั้งแต่เริ่มก่อตั้งด้วยซ้ำ เท่ากับฝรั่งเหล่านั้นเป็นลูกน้องของแจ็ค)

ครับ นี่คือ มุมมองแจ็ค หม่า อดีตครูสอนภาษาอังกฤษที่เมืองจีน ปัจจุบันเขาคือ มหาเศรษฐีอีคอมเมิร์ซของโลก เทียบเท่าหรืออาจมากว่า อีเบย์ และอะแมซอนของอเมริกันเสียด้วยซ้ำ

สะท้อนให้เห็นว่า ในอนาคตนั้น มิใช่แค่กำแพงการค้า (การกีดกัน) เช่น ภาษี หรือสัญชาติ เกี่ยวกับการค้าขายสินค้าโดยทั่วไปเท่านั้นที่จะต้องถูกทำลาย แต่กำแพงการค้าขายผ่านระบบอีคอมเมิร์ซเอง  เช่น สัญชาติ เชื้อชาติ) ก็จะต้องถูกทำลายลงไปด้วย พร้อมๆ กับความเท่าเทียมในการค้าขายหรือเสรีภาพในการแข่งขันนั่นเอง มองเข้ามาที่ตัวเราก็คือ ไม่มีความเป็นคนไทยหรือคนชาติอื่นในธุรกิจอีคอมเมิร์ซ หรือแม้แต่การค้าขายสินค้าแบบทั่วไป

หรือแม้แต่ธุรกิจบริการที่หากเป็นธุรกิจบริการแบบ 4.0 ก็ต้องละลายความเป็นไทยลง ให้บริการไทยกับต่างชาติหรือฝรั่งอย่างเท่าเทียม

แต่อย่างที่เห็นอยู่เวลานี้ธุรกิจบริการของไทย แม้แต่รัฐบาล ยังคิดว่าคนไทยต้องมาก่อนหรือคนไทยต้องที่หนึ่ง ถ้าอิงกับหลักของแจ็ค หม่า ก็ “ผิดฝาผิดตัว” อย่างยิ่ง แล้วจะไปส่งเสริมให้คนนานาชาติมาอุดหนุนสินค้าและบริการของไทยได้อย่างไร?

ดูอย่างธุรกิจบริการด้านท่องเที่ยว ค่าเข้าชมสถานที่ท่องเที่ยว “ไทยเข้าฟรี ฝรั่งเก็บตังค์” อย่างนี้ใช้ได้หรือไม่กับไทยแลนด์ 4.0 ฝรั่งกลับมาบ่นเรื่องนี้ก็มีให้ได้ยิน สื่อฝรั่งบางเจ้า เขียนบทความประจานเสียด้วยซ้ำ

สาระก็คือ เขาไม่ได้เสียดายเงินค่าเข้าชมสถานที่หรอก แต่เขาเสียดายที่ยังมีการตีค่าความเป็นคนไม่เท่ากันระหว่างฝรั่งกับไทย...ยังแยกชั้นกันอยู่ แล้วเราเอง เป็นฝ่ายแยก ไม่ใช่เขา

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net