Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis



ไม่นานมานี้ “หมายเหตุประเพทไทย” ชวน ดร.วริตตา ศรีรัตนา แห่งคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มานั่งคุยกันเรื่องงานแปลเล่มล่าสุดของเธอ โดยเป็นงานแปลจากภาษาเช็ก ในชื่อ “พรชีลิช ฮลุชนา ซาโมตา” หรือ “ความเปลี่ยนดายอันกึกก้องเกินต้าน” โดย “โบฮุมิล ฮราบัล”

การได้อ่านงานแปลของ ดร.วริตตา ในวันอันมืดหมองเศร้า และไร้อนาคตของสังคมไทย ภายใต้รัฐเผด็จการทหาร ชวนให้เห็นภาพสังคมไทย ลอยขึ้นอยู่เป็นระยะในแทบทุกย่อหน้า เพราะบริบทของงานเขียนชิ้นนี้ คือเรื่องราวของ “คนงานบดอัดกระดาษขยะรีไซเคิลคนหนึ่งนามฮัญจาที่ต้องอยู่ในสภาวะอันย้อนแย้ง คือรักหนังสือและการอ่านหนังสือเป็นชีวิตจิตใจ แต่ต้องประกอบอาชีพทำลายหนังสือในสมัยที่รัฐสังคมนิยมเชโกสโลวะเกีย (ค.ศ.1948-1990) เซ็นเซอร์งานเขียนและงานศิลปะต่างๆ ที่ขัดต่อวาทกรรมการเมืองเผด็จการและอุดมการณ์ความเชื่อของผู้มีอำนาจ”


หน้า 84 – ครูคนหนึ่งหยิบหนังสือเล่มหนึ่งขึ้นมา ชูให้นักเรียนทุกคนเห็นก่อนแล้วจึงสาธิตวิธีฉีกทึ้งหน้าปกออกจากตัวเล่ม หลังจากนั้นนักเรียนทุกคนก็หยิบหนังสือขึ้นมาฉีกตาม โยนปกที่กระชากออกจากเล่มหนังสือทิ้งไปและแม้นิ้วมือของเด็กๆ จะเล็ก แม้หนังสือพยายามสู้พยายามยื้อชีวิตตัวเอง แต่นิ้วมือเล็กๆ เหล่านี้ได้รับชัยชนะในที่สุด หลังจากนั้นคิ้วที่ขมวดของนักเรียนก็คลาย กิจการทำลายหนังสือท่ามกลางเสียงให้กำลังใจและเชิญชวนของเหล่ากองทัพยุวชนคนใช้แรงงานก็ดำเนินต่อไปไม่มีอะไรติดขัด ....

เด็กชายและเด็กหญิงคู่หนึ่งถึงกับนิ้วเคล็ดหลังจากที่พยายามโรมรันฟันตูกับปกหนังสือหัวแข็งจอมขบถจำนวนหนึ่งที่ไม่ยอมแพ้ จนคนงานต้องวิ่งเข้ามาช่วยเหลือและจัดการปัดหนังสือหัวดื้อพวกนั้นลงแท่นอัดไปจนหมดด้วยการเคลื่อนไหวข้อมือเพียงครั้งเดียว ครูก็วิ่งเข้ามาพร้อมผ้าพันแผลเพื่อปฐมพยาบาลพันนิ้วเล็กๆของนักเรียนสองคนนั้น 


โบฮุมิล ฮราบัล

4 เมษายน 2560 – วันนี้ “ไผ่ ดาวดิน” ถูกจองจำมาแล้ว 104 วัน

เฉพาะตัวบทในหน้าที่ 84-85 ที่ยกมาในข้อเขียนนี้ บอกกับเราว่า

ไผ่นั่นเองที่ไม่ยอมฉีกทึ้งหนังสือ อย่างที่สังคมนี้ปรารถนา เขาจึงถูกลงโทษทัณฑ์ด้วยการถูกจองจำยาวนานเช่นนี้ อย่างไร้ตรรกะในแบบที่กระบวนการยุติธรรมที่ดีควรจะดำเนินไป

ไผ่นั่นเองที่ไม่ยอมฉีกทึ้งหนังสือ อย่างเชื่องๆตามที่ผู้มีอำนาจในสังคมนี้อยากจะเห็น ถ้าไผ่ว่านอนสอนง่ายแบบนั้น ป่านนี้เขาคงได้รับการตอบแทนอย่างดี คงเรียนจบ ได้งานทำ มีรายได้ดี มีชีวิตที่ดี ได้รางวัลด้านความยุติธรรมสักรางวัลเป็นการตอบแทน พ่อแม่ก็คงได้รับการชื่นชม ได้ดอกไม้ว่าลูกชายเป็นประชาชนที่ดีในนิยามของชาติอันล้าหลัง แต่ก็เพราะเขาตั้งคำถามต่อรัฐและผู้มีอำนาจในประเทศนี้ ชะตากรรมของเขาจึงเป็นเช่นนี้

มีเหตุการณ์หนึ่งฝังในใจผู้เขียนมาถึงทุกวันนี้ “ทันทีที่รับฟังคำสั่งศาลจังหวัดขอนแก่นเสร็จสิ้น นางพริ้มได้เอาหัวโขกที่บริเวณผนังคอนกรีตในห้องพิจารณาคดีต่อหน้าองค์คณะผู้พิพากษา” แม่ของไผ่ตัดสินใจทำเช่นนั้น ก็เพราะเธอเอาตัวเอง แลกกับกระบวนการยุติธรรมที่ดีให้ลูก มันคือสัญญาณบอกว่า กระบวนการยุติธรรมในประเทศนี้ตกต่ำจนผู้หญิงคนหนึ่งต้องใช้วิธีการแบบนี้เพรียกหาแสงสว่างให้ลูก

ฉับพลันที่ข่าวดังกล่าวโพสต์ในแฟนเพจของสำนักข่าวชื่อดังแห่งหนึ่ง มีเพื่อนคนไทยคนหนึ่ง โพสต์คอมเม้นต์ทันทีว่า “แม่ของไผ่ควรเอาเวลาที่เอาหัวไปโขกผนังคอนกรีต ไปสั่งสอนไผ่ ดาวดินจะดีกว่า”

เพื่อนร่วมชาติและสภาพแวดล้อมในชาติ เป็นไปอย่างที่งานแปลของวริตตาบอกว่า “กิจการทำลายหนังสือท่ามกลางเสียงให้กำลังใจและเชิญชวนของเหล่ากองทัพยุวชนคนใช้แรงงานก็ดำเนินต่อไปไม่มีอะไรติดขัด”

ใช่แล้ว กิจการตั้งคำถามต่อรัฐแบบไผ่, กิจการตั้งคำถามต่อกระบวนการยุติธรรมแบบที่พ่อและแม่ของไผ่ทำ ไม่เคยได้รับเสียงให้กำลังใจในประเทศนี้ โหดเหี้ยมไปกว่านั้น ยังเป็นกิจกรรมที่รัฐ และเพื่อนร่วมชาติในรัฐพร้อมใจโยนก้อนหินให้ทุกข์ระทม สมน้ำหน้า และไม่มีทีท่าว่าพวกเขาจะเปลี่ยนความคิดนี้

ไผ่เลือกแล้ว...เลือกที่จะปฏิเสธการฉีกทึ้งหนังสือ เลือกที่จะไม่เชื่อง เลือกที่จะไม่เชื่อ เลือกที่จะไม่ยอมจำนน ในทางกลับกัน “ไผ่ ดาวดิน” นั่นเองที่เป็นหนังสือเล่มเล็กๆ แต่ใจใหญ่ ที่ “พยายามสู้พยายามยื้อชีวิตตัวเอง” หรือในทางหนึ่ง “พยายามสู้พยายามยื้อชีวิตของประชาธิปไตย” ในสังคมไทย

ไผ่คือ “ปกหนังสือหัวแข็งจอมขบถจำนวนหนึ่งที่ไม่ยอมแพ้” ที่แม้จะถูก “แท่นอัดหนังสือ” บดอัดขยี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่เขาก็ยังสู้ต่อไป ลองคิดภาพถ้าเราๆ ติดคุกวันนี้ แล้วพยายามขอประกันตัวครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ไม่ได้ประกันตัวกันบ้างจะเป็นอย่างไร ลองคิดภาพถ้าเราๆ ติดคุกวันนี้ มาแล้ว 104 วัน ที่แคบๆ แห่งนั้นจะเปลี่ยนเราไปขนาดไหน

ทนายอานนท์ บอกเล่าความทรงจำ หลังจากเข้าเยี่ยมไผ่เมื่อปลายเดือนมีนาคมว่า “กลับจากขอนแก่นคราวนี้ สังเกตได้ว่าแววตาไผ่เปลี่ยนไป จากเดิมที่เต็มไปด้วยความหวัง วันนี้ดูอ่อนล้าและไร้แววหวัง คุกมันกร่อนความหวังของคนเรา และคงเป็นแบบนี้อีกหลายปีเดือน โปรดขังมันไว้และเรียกมันว่านี่คือความดีงาม  โปรดขังมันไว้และเรียกมันว่านี่คือความยุติธรรม”

ในรัฐเผด็จการ ผู้ที่ไม่ตั้งคำถามต่อรัฐก็มักได้รางวัลอยู่เสมอ เหมือนที่เมื่อเด็กชายและเด็กหญิงบาดเจ็บจากการฉีกทึ้งหนังสือ “ครูก็วิ่งเข้าพร้อมผ้าพันแผลเพื่อปฐมพยาบาลพันนิ้วเล็กๆของนักเรียนสองคนนั้น”

หวังว่าวันเวลาที่สังคมไทยจะให้รางวัลกับไผ่ และคนแบบ “ไผ่” จะไม่เกินเลย 104 วันไปมากกว่านี้มากนัก หรือตลกร้ายกว่านั้นคือไม่เกินชั่วอายุคนๆหนึ่ง

เขียนวันที่ 4 เมษายน – อีก 2 วัน ประเทศที่อาศัยอยู่จะเริ่มใช้ “รัฐธรรมนูญ” ฉบับใหม่

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net