250 ปีปัจฉิมกาลอยุธยา: มิกกี้ ฮาร์ท สำรวจหลักฐานชุมชนชาวสยามและพระเจ้าอุทุมพรที่พม่า

นักวิชาการอิสระชาวพม่านำเสนอร่องรอย หลักฐาน รวมทั้งมรดกทางวัฒนธรรมจากชุมชนชาวสยามที่ไปอยู่อังวะ-อมรปุระ ภายหลังสงครามเสียกรุงศรีอยุธยา พ.ศ. 2310 พร้อมหลักฐานทางโบราณคดีในบริเวณที่สันนิษฐานว่าเป็นสถานที่จำพรรษา และสถูปบรรจุพระบรมอัฐิของสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร กษัตริย์ของอยุธยา

ในงานเสวนา “250 ปี ปัจฉิมกาลกรุงศรีอยุธยา: ปริวรรตบทเรียน เพื่อสร้างสรรค์อนาคต” จัดเมื่อวันที่ 24 มีนาคม ที่หอประชุม มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา นั้น ในช่วงเช้ามีการเสวนาทางวิชาการหัวข้อ “250 ปี ปัจฉิมกาลกรุงศรีอยุธยา reset to mindset” วิทยากรโดยมิกกี้ ฮาร์ท นักวิชาการทางประวัติศาสตร์ชาวพม่า ผู้ศึกษาแหล่งโบราณคดีที่สันนิษฐานว่าเป็นที่ประดิษฐานพระบรมอัฐิของพระเจ้าอุทุมพร ที่อมรปุระ สมฤทธิ์ ลือชัย พิธีกรรายการโทรทัศน์และผู้เชี่ยวชาญวัฒนธรรมอุษาคเนย์ และ ดุลยภาค ปรีชารัชช ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ประจำโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

มิกกี้ ฮาร์ท นักวิชาการทางประวัติศาสตร์ชาวพม่า

โดย มิกกี้ ฮาร์ท เริ่มต้นเล่าว่า เรามักได้ยินเรื่องราวของคนสยามสมัยเสียกรุงเสียอยุธยา ว่าถูกพม่ากวาดต้อนไป ปีนี้อยุธยาเสียกรุง 250 ปี เช่นเดียวกับชาวสยามที่ไปอยู่พม่าครบ 250 ปีเช่นกัน แต่มีนักวิชาการหรือนักประวัติศาสตร์น้อยมากที่ไปค้นหาชีวิตของชาวสยามในประเทศพม่าว่าอยู่อย่างไร ชีวิตเขาเป็นอย่างไรบ้าง เชลยศึกไปเป็นทาสของพม่าจริงหรือเปล่า และบันทึกทางประวัติศาสตร์ก็มีน้อยมากเพราะว่าไม่ใช่ราชวงศ์ ทั้งนี้ชาวสยามที่ไปส่วนใหญ่เป็นคนธรรมดา นักวิชาการค้นหาข้อมูลไม่ค่อยได้

มิกกี้ ฮาร์ท กล่าวว่า เรื่องที่จะนำเสนอต่อไปนี้ส่วนใหญ่ไม่มีในพงศาวดาร แต่ว่าใช้วิธีการค้นพบด้วยตัวเองทางโบราณคดี มากกว่าศึกษาผ่านบันทึกประวัติศาสตร์หรือพงศาวดาร

นักวิชาการอิสระผู้นี้ยังตั้งคำถามชวนคิดว่าคนสยามในประเทศพม่า ลำบากจริงหรือเปล่า หรือ พอตั้งกรุงธนบุรี ทำไมชาวสยามทั้งหลายไม่กลับมาประเทศไทยบ้าง และเสนอด้วยว่าในประเทศพม่าเรื่องนาฏศิลป์ดนตรี ตอนนี้มหาวิทยาลัยศิลปากรกำลังศึกษาแม่แบบนาฏศิลป์โยเดีย เพลงโยเดีย และจิตรกรรมโยเดีย รวมทั้งเรื่องการกิน ขนมต่างๆ ของโยเดีย ก็ยังคงอยู่ หมายความว่า คนสยามในพม่าอยู่เป็นอิสระ จึงเริ่มศึกษาเรื่องนี้

โดยมิกกี้ ฮาร์ท นำเสนอหลักฐานทางโบราณคดีที่พบรอบเมืองอังวะ โดยเฉพาะที่อมรปุระ ซึ่งพบศิลปะที่มีลักษณะผสมผสานกับทั้งศิลปะพม่าและอยุธยา เจดีย์ที่มีลักษณะเฉพาะ ชุมชนชาวสยามที่มีการขุดคลองที่ชื่อ “นายกุศล” โดยคำว่า “กุศล” ทั้งไทยและพม่ามีคำนี้ใช้เหมือนกัน แต่คำว่า “นาย” เป็นคำนำหน้าชื่อคนไทย ไม่ใช่คนพม่า ทั้งนี้ในอดีตที่ดินตลอดแนวคลอง 20 กม. เป็นคนสยามอาศัยทั้งหมด แต่น่าเสียดายที่สภาพคลองไม่สะอาดเหมือนอย่างอดีตแล้ว

ในบริเวณดังกล่าวยังพบองค์พระพุทธรูปที่มีข้อความจารึกภาษาไทย นอกจากนี้ยังพบว่ายังมีพระพุทธรูปสมัยอยุธยาจำนวนหนึ่ง ที่หลังกรุงศรีอยุธยาแตก ทหารพม่านำกลับไปบูชาต่อด้วย โดยยังพบพระพุทธรูปที่ตัวองค์พระเป็นศิลปะอยุธยา แต่พระเศียรเป็นแบบพม่า สันนิษฐานว่าเนื่องจากพระเศียรหัก และเป็นธรรมเนียมพม่าที่ต้องซ่อมพระพุทธรูป ส่วนของพระเศียรเลยเป็นศิลปะพม่า

นักวิชาการชาวพม่ายังนำเสนอเรื่องวัดที่จำพรรษา ของภิกษุพระเจ้าอุทุมพรที่เสด็จไปอยู่พม่าด้วย โดยมีการพบพระโกศอัฐิที่วัดโยเดีย หรือวัดอยุธยา โดยสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นของพระเจ้าอุทุมพร ในเจดีย์ยังพบบาตรแก้ววางอยู่บนฝาพาน ซึ่งในธรรมเนียมพม่าผู้ที่จะมีสิทธิใช้จะมีเพียงกษัตริย์หรือพระมเหสีเท่านั้น หรือในกรณีนี้คือกษัตริย์พม่าอนุญาตให้ภิกษุผู้นี้ใช้

นอกจากนี้ยังมีการค้นพบบาตรและเครื่องใช้ของพระสงฆ์ในบริเวณดังกล่าว พบเหรียญที่จารึกว่า จ.ศ. 1143 หรือ พ.ศ. 2324 ซึ่งตรงกับช่วงที่สร้างกรุงอมรปุระ มีการบันทึกวันที่มีการบูรณะวัด การสร้างวัด หรือการสร้างเมืองอมรปุระ

ในสมัยพระเจ้ามินดง ที่ไปสร้างเมืองหลวงใหม่ที่มัณฑะเลย์ มีบันทึกถึงภิกษุพระเจ้าอุทุมพรด้วยว่าหลังเสียกรุงศรีอยุธยา ทรงมามรณภาพที่อมรปุระ โดยยังครองสมณเพศ กษัตริย์พม่าคือพระเจ้าปดุงจัดงานให้ยิ่งใหญ่ที่สุสานล้านช้าง

มิกกี้ ฮาร์ท ยังนำเสนอการขุดค้นทางโบราณคดี บริเวณที่เชื่อว่าเป็นวัดที่พระเจ้าอุทุมพรผนวชอยู่ นอกจากนี้ยังพบหม้อบรรจุอัฐิซึ่งไม่มีธรรมเนียมแบบนี้ในพม่า นอกจากนี้ยังพบพระพุทธรูปทำด้วยทอง เงิน มรกต 11 องค์ บางองค์มีข้อความจารึกเป็นภาษาไทย อ่านข้อความได้ว่า “เจ้าฟ้าเดื่อ” และยังพบกระดูกส่วนพระทนต์บรรจุในพระเจดีย์ด้วย ซึ่งในธรรมเนียมพม่ามีแต่พระธาตุของพระพุทธเจ้าหรือพระอรหันต์เท่านั้น คนธรรมดานำอัฐิไปบรรจุในพระเจดีย์ไม่ได้ การพบพระทนต์ในเจดีย์สันนิษฐานว่าเป็นของพระสงฆ์ผู้เป็นบุคคลสำคัญมากๆ

ข้อสังเกตอีกอย่างคือ ในเจดีย์ยังพบส่วนที่เป็นเถ้า และกระดูกที่ไฟไหม้ไม่หมด พบผ้ารัดประคด สันนิษฐานว่าเจ้าของอัฐิเป็นพระ และพระมหากษัตริย์พม่าคงจัดงานศพให้ นอกจากนี้ยังพบกระดูกส่วนกราม โดยนักวิชาการชาวพม่าสันนิษฐานว่าหลังงานศพของพระภิกษุรูปนี้ มีกระดูกส่วนพระทนต์ที่ไฟไหม้ไม่หมด ลูกศิษย์จึงนำไปบรรจุในเจดีย์ ถ้าเป็นไปได้น่าจะมีการพิสูจน์ว่ากระดูกส่วนกรามที่พบกับพระทนต์ เข้ากันหรือไม่

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท