ดิอิโคโนมิสต์ วิจารณ์โดนัลด์ ทรัมป์ ไม่เป็นการเมืองเคยชินแต่ใช้อำนาจตรงดิ่ง

ในเวลาไม่นานรัฐบาลของโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศใช้คำสั่งพิเศษกลายคำสั่งที่ถูกระบบการเมืองของสหรัฐฯ สกัดเอาไว้ ดิอิโคโนมิสต์วิจารณ์เรื่องนี้ว่าทรัมป์ดำเนินนโยบายเหมือนทำตัวเป็นผู้บริหารธุรกิจแบบชี้สั่งแต่ไม่เข้าใจโลกการเมือง ขาดการแสวงความร่วมมือจากภาคส่วนต่างๆ ขณะเดียวกันสิ่งที่เขาคิดเองว่า "ดี" ก็กำลังส่งผลกระทบต่อทั้งสหรัฐฯ และต่อโลก

ดิอิโคโนมิสต์วิเคราะห์ว่า ในขณะที่ฝายพรรคเดโมแครตมีลักษณะการเล่นการเมืองแบบนักการเมืองอยู่สูง โดนัลด์ ทรัมป์ เป็นผู้ที่มีลักษณะแบบนักธุรกิจมากกว่าที่พยายามทำอะไรตามที่เคยบอกไว้ บางคนมองว่าการพูดอะไรหยาบๆ ของเขาเป็นลักษณะของ "พระผู้มาโปรด" ที่จะปราบการทุจริตคอร์รัปชัน อยางไรก็ตามหลังจากการเป็นประะธานาธิบดีผ่านไป 70 วัน ดูเหมือนทรัมป์จะตกหลุมทรายเสียเอง

สิ่งที่ทรัมป์ทำไม่สำเร็จมีตั้งแต่เรื่องกฎหมายสวัสดิการสุขภาพฉบับใหม่ที่ถูกสภาซึ่งถูกครอบงำโดยพรรครีพับลิกันล้มไปเรียบร้อย คำสั่งห้ามเดินทางของเขาก็ถูกศาลสกัดกั้น มีเรื่องอื้อฉาวที่ว่าเขาอาจจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับรัสเซีย อีกทั้งคนที่โหวตเขาดูจะไม่ประทับใจ เขามีคะแนนนิยมต่ำที่สุดในหมู่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่ดำรงตำแหน่งในรอบแรก แต่การที่ทรัมป์เพลียงพล้ำมากขนาดนี้ก็อาจจะไม่ส่งผลดีต่อสหรัฐฯ เองในยุคที่มีสงครามการค้า ความเสี่ยงที่จะเกิดวิกฤตคาบสมุทรบอลติก หรือความขัดแย้งในคาบสมุทรเกาหลี

ดิอิโคโนมิสต์ระบุว่า ในโลกของธุรกิจแตกต่างจากโลกของการเมือง โลกของธุรกิจเมื่อคุณดำเนินธุรกรรมผิดพลาดในภาคส่วนหนึ่งคุณก็อาจจะหันไปจับภาคส่วนอื่นได้ แต่ในทางการเมืองต่อให้ทรัมป์ไม่พอใจฝ่ายรีพับลิกันในเรื่องกฎหมายสวัสดิการสุขภาพแค่ไหนเขาก็ยังต้องพึ่งพารีพับลิกันในรัฐสภาเพื่อออกกฎหมายอื่นๆ นอกจากนี้การใช้อำนาจทางการเมืองยังแตกต่างจากการใช้อำนาจในการเป็นเจ้าของธุรกิจใน ดิอิโคโนมิสต์ระบุว่าในฐานะประธานกรรมการบริหารบริษัท ทรัมป์อาจจะมีอำนาจควบคุมเสร็จสรรพ แต่รัฐธรรมนูญสหรัฐฯ และกระบวนการต่างๆ รวมถึงความคิดเห็นที่แตกต่างในพรรคการเมืองเขาเองก็ทำให้ทรัมป์ไม่สามารถเป็นเผด็จการเบ็ดเสร็จได้ เช่นกรณีการยกเลิกสวัสดิการเดิมเปลี่ยนมาใช้สวัสดิการใหม่ขอทรัมป์ที่จะทำให้คนเสียภาษีได้รับการคุ้มครองแย่กว่าเดิมก็ไม่ได้รับการสนับสนุนมากพอจากรีพับลิกัน

ดิอิโคโนมิสต์ยังวิเคราะห์ต่อไปว่า สิ่งที่ทรัมป์ขาดอีกเรื่องหนึ่งคือศิลปะในการรอมชอมทางการเมือง เขามัวแต่คิดถึงเรื่องผลประโยชน์มากเกินไปจนทำให้หาความร่วมมือจากภาคส่วนอื่นๆ ทางการเมืองได้ยากจนเผชิญข้อจำกัดหลายอย่าง เขาไม่ได้รับความไว้วางใจจากหน่วยงานข่าวกรอง เขาถูกดักฟังโทรศัพท์ และแสดงออกผ่านทวิตเตอร์ด้วยลักษณะของคนที่หวาดระแวงบวกกับโอหัง

ดิอิโคโนมิสต์ระบุว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงจากการกระทำของทรัมป์คือสถาบันทางการเมืองของสหรัฐฯ เอง สหรัฐฯ กลายเป็นประเทศที่มีความแตกแยกอย่างหนัก ถ้าทรัมป์ไม่เปลี่ยนแปลงวิธีการก็เสี่ยงที่จะทำให้ประเทศแย่ลงกว่าเดิม ความท้าทายต่อไปของเขาคือเรื่องงบประมาณถ้าหากพรรครีพับลิกันไม่สามารถตกลงกันด้านงบประมาณประจำปีได้ก็จะเกิดภาวะรัฐบาลกลางหยุดทำการ (Government shutdown) ภายในวันที่ 29 เม.ย. ที่จะถึงนี้ ซึ่งเหล่านักลงทุนหวังว่าจะมีการผ่านร่างกฎหมายของทรัมป์ไปได้โดยเฉพาะการปฏิรูปภาษีและการปฏิรูประบบโครงสร้างพื้นฐาน

บริษัทอเมริกันมักจะมองว่าพวกเขามีอัตราภาษีสูงแต่ไม่มีแรงจูงใจด้านกำไรมากพอ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในสหรัฐฯ เองก็มีลักษณะซับซ้อนอิรุงตุงนังไปด้วยการใช้อภิสิทธิ์และการอาศัยช่องว่างกฎหมายที่เอื้อต่อคนที่รวยอยู่แล้ว ส่วนสภาพโครงสร้างพื้นฐานก็มีปัญหาจนลดกำลังการผลิต แต่ทรัมป์ต้องเผชิญอุปสรรคอย่างมากถ้าหากต้องการได้รับความร่วมมือจากพรรครีพับลิกันที่ล้าหลังในด้านเศรษฐกิจขณะเดียวกันการหนุนเรื่องโครงสร้างพื้นฐานก็อาจจะเอาใจเรียกเสียงสนับสนุนจากฝ่ายเดโมแครตได้

ในแง่การพยายามใช้อำนาจผ่านคำสั่งพิเศษของทรัมป์นั้น ดิอิโคโนมิสต์มองว่า แม้การกระทำของทรัมป์จะแสดงออกเหมือนกับการใช้อำนาจโดยไม่ต้องผ่านระบบแบบราชการ โดยอาจจะส่งผลผ่อนปรนการควบคุมในภาคเศรษฐกิจบางส่วนเช่นภาคการเงินที่บางครั้งรัฐก็เข้าไปกำกับมากเกินไป แต่คำสั่งพิเศษของทรัมป์ในด้านอื่นๆ ก็ดูเป็นละครหน้าม่าน เช่น เรื่องการพยายามยกเลิกข้อตกลงด้านสิ่งแวดล้อมสมัยรัฐบาลบารัก โอบามา ก็ไม่ได้ทำให้สหรัฐฯ กลับมาเป็นประเทศแห่งถ่านหิน ในแง่การค้าก็เช่นเดียวกันทรัมป์แสดงท่าทีว่าจะเจรจาให้องค์กรการค้าโลก (WTO) เปิดตลาด มีความเป็นได้สูงที่กลุ่มชาตินิยมทางเศรษฐกิจในทีมของทรัมป์จะได้ประโยชน์ สหรัฐฯ จะเจรจาด้วยวิธีแบบทวิภาคีมากขึ้น มีโอกาสที่จะเกิดการควบคมทางการค้าที่จะจำกัดโควตาการนำเข้าสหรัฐฯ ขณะที่นโยบายการต่างประเทศจะมีการเผชิญหน้ากันมากขึ้น

"สำหรับชาวอเมริกันผู้ที่โหวตเลือกทรัมป์นั้น ถ้าไม่ใช่เพราะไม่สนใจเรื่องโวหารคุยโวของเขาแล้ว ก็อาจจะมองว่าเขาเป็นเศรษฐีผู้ที่เชื่อมั่นในตัวเองที่จะมาเปลี่ยนแปลงสหรัฐฯ แต่ถึงแม้ว่าเข้าจะดำรงตำแหน่งไปเพียงไม่นานเรื่องนี้ก็ดูเหมือนการตัดสินใจที่ผิดไปเสียแล้ว" ดิอิโคโนมิสต์ระบุในบทความ

"นโยบายของเขาตั้งแต่เรื่องการปฏิรูปสวัสดิการสุขภาพไปจนถึงเรื่องคนเข้าเมืองล้วนทำได้แย่ทั้งสิ้น ไม่แม้กระทั่งจะผ่านการทดสอบที่จะเป็นผลประโยชน์ต่อคนที่เลือกทรัมป์เข้ามา สิ่งที่น่าเป็นห่วงที่สุดสำหรับสหรัฐฯ และสำหรับโลกคือนักธุรกิจในสำนักงานประธานาธิบดีผู้นี้แสดงให้เห็นว่าเขาไม่เหมาะสมกับตำแหน่งได้รวดเร็วแค่ไหน" ดิอิโคโนมิสต์ระบุในบทความ

 

เรียบเรียงจาก

The Trump presidency is in a hole,The Economist, 01-04-2017

https://www.economist.com/news/leaders/21719794-and-bad-americaand-world-trump-presidency-hole

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท