Skip to main content
sharethis

สนช. รับหลักการ ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม กำหนดนายจ้างจ่ายค่าชดเชยเกษียณอายุ ใน 30 วันหลังลูกจ้างใช้สิทธิ ขณะอธิบดีกรมสวัสดิการฯ ยัน ลูกจ้างสามารถรับสิทธิประโยชน์ได้ทั้งตามกฎหมายประกันสังคมและกฎหมายฉบับนี้   

แฟ้มภาพ

5 เม.ย. 2560 ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติรับหลักการร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ .. )พ.ศ. ....  ด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย 175 เสียง ไม่เห็นด้วย ไม่มี งดออกเสียง 4 เสียง และไม่ลงคะแนน 1 เสียง พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ เพื่อศึกษาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว จำนวน 15 คน  ภายใต้กรอบดำเนินงาน 60 วัน แปรญัตติ 15 วัน 

พล.อ.ศิริชัย  ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้ชี้แจงเหตุผลที่ต้องตราร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ว่า เนื่องจาก พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ใช้บังคับมาเป็นเวลานานและมีบทบัญญัติบางประการที่ไม่เหมาะสมกับสภาพการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป  ดังนั้น จึงต้องเพิ่มบทบัญญัติเกี่ยวกับกับการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำสำหรับลูกจ้างบางกลุ่มหรือบางประเภท เช่น นักเรียน นักศึกษา คนพิการและผู้สูงอายุ เพื่อให้มีการส่งเสริมการจ้างงานและคุ้มครองแรงงานสำหรับลูกจ้างบางกลุ่มหรือบางประเภทดังกล่าว   ซึ่งอาจมีลักษณะการทำงานที่แตกต่างจากลูกจ้างทั่วไป  รวมถึงต้องปรับปรุงบทบัญญัติเรื่องข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานเพื่อลดภาระของนายจ้างในการส่งสำเนาข้อบังคับดังกล่าว   ปรับปรุงบทบัญญัติเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานให้สอดคล้องกันและเหมาะสมยิ่งขึ้น  และเพิ่มบทบัญญัติเกี่ยวกับการเกษียณอายุและการจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างกรณีเกษียณอายุ เพื่อคุ้มครองลูกจ้างกรณีเกษียณอายุ และเพื่อให้เกิดความชัดเจนในการบังคับใช้กฎหมาย รวมทั้งเพิ่มบทกำหนดโทษกรณีนายจ้างไม่จ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างกรณีเกษียณอายุ

ด้าน สมาชิก สนช.  เห็นด้วยกับร่างกฎหมายดังกล่าว เนื่องจากครอบคลุมการการจ้างงานผู้สูงอายุ ผู้พิการ และลูกจ้างบางประเภท พร้อมมีข้อเสนอแนะ ให้ทุกสถานประกอบการ กำหนดระยะเวลาเกษียณให้ตรงกัน เพื่อป้องกันการลักลั่นในการถือปฏิบัติ

ขณะที่ สุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน  กล่าวว่า  ร่างกฎหมายมุ่งคุ้มครองสิทธิให้กับลูกจ้างกลุ่มพิเศษดังกล่าว ขณะที่การกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำสำหรับลูกจ้างกลุ่มพิเศษไว้ ชั่วโมงละ 40 บาทนั้น   ไม่ขัดกับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท เมื่อคำนวณตามชั่วโมง  และยังช่วยให้เกิดการทำงานภายใต้เงื่อนไขข้อจำกัดของบุคคลเหล่านี้อย่างเหมาะสม  และเป็นการช่วยโน้มน้าวให้เกิดการจ้างงานผู้สูงอายุมากยิ่งขึ้น  ซึ่งขอย้ำว่า คณะกรรมการกำหนดอัตราค่าจ้างฯ  จะไม่กำหนดสิทธิของลูกจ้างกลุ่มพิเศษต่ำกว่าสิทธิโดยปกติอย่างแน่นอน  พร้อมระบุว่า  ข้อกำหนดในกฎหมายนี้ต่างกับข้อกำหนดในกฎหมายประกันสังคม  เพราะในร่างกฎหมายนี้ กำหนดให้นายจ้างเป็นผู้รับผิดชอบการจ่ายเงินชดเชยให้กับผู้เกษียณอายุ   โดยลูกจ้างอายุ 60 ปี  จะทำงานต่อไปก็ได้ หรือสามารถแจ้งขอเกษียณตามกฎหมายนี้เพื่อขอรับสิทธิค่าชดเชยได้  ซึ่งนายจ้างจะต้องดำเนินการจ่าย ภายใน 30 วัน เมื่อลูกจ้างใช้สิทธิ และยืนยันว่า ลูกจ้างสามารถรับสิทธิประโยชน์ได้ทั้งตามกฎหมายประกันสังคมและกฎหมายฉบับนี้   

 

ที่มา : เว็บไซต์วิทยุและโทรทัศน์รัฐสภา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net