Skip to main content
sharethis

ดุลยภาค ปรีชารัชช นำเสนอ “กรอบคิดสงครามพม่า-กรุงศรีอยุธยา” ศึกษาปัจจัยนำเข้า-กระบวนการ-ผลลัพธ์ ของการศึกเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 พิจารณาเหตุปัจจัยที่ทำให้พม่าดีดตัวออกมารบนอกบ้าน ยุทธศาสตร์-ยุทธวิธี และพิชัยสงครามการจัดกระบวนทัพพยุหะรับศึกพม่า-สยาม ขณะที่ในยุคปัจจุบันแนวคิด ‘เสนา-ราชาชาตินิยม’ ยังคงตกค้างอยู่ในผู้นำกองทัพไทย-พม่า เฉกเช่นเดียวกับประวัติศาสตร์ชาตินิยมซึ่งทำให้ทั้ง 2 ฝ่ายเกิดปมร้าวฉาน

ในงานเสวนา “250 ปี ปัจฉิมกาลกรุงศรีอยุธยา: ปริวรรตบทเรียน เพื่อสร้างสรรค์อนาคต” จัดเมื่อวันที่ 24 มีนาคม ที่หอประชุม มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยานั้น ในช่วงเช้ามีการเสวนาทางวิชาการหัวข้อ “250 ปี ปัจฉิมกาลกรุงศรีอยุธยา reset to mindset” วิทยากรโดยมิกกี้ ฮาร์ท นักวิชาการทางประวัติศาสตร์ชาวพม่า สมฤทธิ์ ลือชัย พิธีกรรายการโทรทัศน์และผู้เชี่ยวชาญวัฒนธรรมอุษาคเนย์ และ ดุลยภาค ปรีชารัชช ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ประจำโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยประชาไทนำเสนอส่วนของอาจารย์มิกกี้ ฮาร์ทไปแล้วนั้น (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

ดุลยภาค ปรีชารัชช ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ประจำโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ในช่วงต่อมา ดุลยภาค ปรีชารัชช นำเสนอหัวข้อ “กรอบคิดปัจฉิมกาลกรุงศรีอยุธยา” โดยเริ่มต้นนำเสนอว่า จะทำอย่างไรในเมื่อปัจฉิมกาลกรุงศรีอยุธยาผ่านมา 250 ปีแล้ว และเรายังมีปมในใจหลายอย่างที่เป็นหน่อพื้นฐานของทั้งความสัมพันธ์และความร้าวฉานไทยพม่าด้วย ทางออกเดียวก็คือทำกรอบความคิดการศึกษา หรือทำในสิ่งที่โทมัส คุน (Thomas Kuhn) เรียกว่าการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ เพื่อร้อยเรียงเหตุปัจจัย กระบวนการ และผลของการศึกสงครามโดยเฉพาะการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 โดยเลือกนำเสนอ “กรอบคิดสงครามพม่า-กรุงศรีอยุธยา” ศึกษาผ่านปัจจัยนำเข้า (Input) กระบวนการ (Process) ผลผลิต (Output) ผลลัพธ์ (Outcome) และผลกระทบ (Impact)

ในการทำความเข้าใจสงครามพม่า-กรุงศรีอยุธยา มีความจำเป็นต้องเข้าใจปัจจัยนำเข้า ซึ่งมีหลากหลายปัจจัย ทั้งปัจจัยจำเป็น และปัจจัยพอเพียงในการหักโค่นรัฐบาลกรุงศรีอยุธยา โดยในที่นี้รวบรวมมาโดยสังเขปของปัจจัยพื้นฐานที่ทำให้พม่าสามารถดีดตัวออกมารบนอกบ้านได้ อย่างมีกำลังวังชา ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยอุดมการณ์ทางการเมืองทั้งแนวคิดพระจักรพรรดิราช หรือนโยบายขยายปริมณฑลแห่งอำนาจของพระราชาในพม่า ไม่ว่าจะเป็นราชวงศ์ตองอูยุคต้น หรือราชวงศ์คองบอง การสร้างเสถียรภาพทางการเมือง ด้วยการที่ทุกครั้งที่พม่ารุกขึ้นมา จะต้องผ่านกระบวนการที่ทำให้บ้านเมืองเป็นปึกแผ่น ในขณะที่อยุธยามักประสบกับเหตุรัฐประหาร การชิงราชสมบัติ ซึ่งนับเป็นอีกตัวแปรหนึ่งที่อธิบายเสถียรภาพและความระส่ำระสายของราชสำนักอยุธยา

ขณะเดียวกันเรื่องภูมิศาสตร์การเมืองก็เป็นตัวที่ทำให้เราเห็นว่าทุกครั้งที่พม่ายกมา มักจะยกพลมาแบบมืดฟ้ามัวดิน พสุธากระหน่ำระส่ำระสาย เพราะพม่าเกณฑ์คนได้เยอะมาก ตัวแปรหนึ่งคือเราต้องต้องทำความรู้จักย่านภูมิศาสตร์สำคัญ เขตชลประทาน ส่งผลต่อการบ่มเพาะกำลังไพร่พลที่ทำให้ดีดตัวออกมารบนอกบ้านได้อย่างไร

แต่ที่กล่าวมานี้ก็เป็นปัจจัยพื้นฐานที่จำเป็นเท่านั้น ยังต้องอาศัยปัจจัยที่พอเพียงจึงจะหักโค่นอยุธยาได้ ซึ่งจะต้องมีปัจจัยเชิงกระบวนการ ซึ่งอาจจะมีทั้งกระบวนการทางการเมืองในลักษณะที่เป็นกระบวนการตัดสินใจ หรือการกำหนดนโยบายของกษัตริย์อยุธยากับราชสำนักพม่าทำอย่างไร และมีจุดอ่อนจุดแข็งอย่างไร

โดยในที่นี้จะขอนำเสนอกรอบกระบวนการทางการทหารในการทำสงครามไทย-พม่า ก็จะแบ่งออกเป็นยุทธศาสตร์และยุทธวิธี เราจะได้เห็น Operation หรือปฏิบัติการต่างๆ

ยุทธศาสตร์ พูดง่ายๆ ก็คือ ขั้นเตรียมการ พม่าเตรียมกำลังพล การข่าว วางแผน มียุทธปัจจัยอย่างไร ฝ่ายอยุธยาเตรียมการอย่างไร ส่วนยุทธวิธี ก็คือในขั้นปฏิบัติการ ก็จะมีการตั้งกระบวนทัพพยุหะ หรือกลศึกต่างๆ และจะมีจุดแตกหัก (Breaking point) ที่ทำให้ทัพพม่าหักโค่นกำแพงพระนครศรีอยุธยา ก็คือกลศึกที่เรียกว่า “tunnel warfare” หรือสงครามอุโมงค์แบบฉบับของ “มโหสถชาดก” ในการขุดอุโมงค์เข้าไปในกรุง

เมื่อนำปัจจัยนำเข้าและกระบวนการมาประมวลแล้ว ก็ออกมาเป็น Output หรือผลผลิต ก็คือการล่มสลายของอยุธยา เมื่อ พ.ศ. 2310 เมื่อผลผลิตนั้นออกมาได้สักพัก วันเวลาผ่านไปหลายสิบปีก็จะเกิด Outcome ตามมา ซึ่งเราเห็นได้ชัดจากนโยบายขยายพระราชอาณาเขตของพระเจ้ากรุงธนบุรี และรัชกาลที่ 1 ในการรับศึกพม่า โดยนำบทเรียนจากกรุงศรีอยุธยามาใช้

แต่เมื่อวันเวลาผ่านมาเป็นร้อยปี เราจะเห็นผลกระทบ หรือ Impact มากกว่า เราจะเห็นวาทกรรมชาตินิยม ราชาชาตินิยม หรือลัทธิเสนา-ราชาชาตินิยม ที่ยังตกค้างและไม่ตกตะกอนด้วยซ้ำในปัจจุบันที่อยู่ในความสัมพันธ์ หรือมุมมองที่ไทยมีต่อพม่า

แม้ผลที่เกิดขึ้นหลังสงครามเสียกรุงศรีอยุธยาคือทำให้อาณาจักรอยุธยาล่มสลาย แต่ผลลัพธ์หลังจากนั้นคือรัฐบาลของพระเจ้ากรุงธนบุรี และพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รับบทเรียน ด้วยการขยายแกนของรัฐอยุธยาเก่า ให้พุ่งเข้าไปในหัวเมืองประเทศราชมากขึ้น มีการแก้ยุทธศาสตร์การทหาร ไม่ใช้พระนครเป็นฐานรับศึก แต่จะเป็นการรับเชิงรุก ดังจะเห็นได้จากสงคราม 9 ทัพ หรือศึกอะแซหวุ่นกี้

ในส่วนของผลกระทบปัจจุบัน สำหรับรัฐอยุธยาที่คลายสัณฐานเข้าสู่รัฐสมัยใหม่ บางยุคสมัยประวัติศาสตร์ชาตินิยม ประวัติศาสตร์บาดแผลถูกหยิบยกขึ้นมา ทำให้เกิดความร้าวฉานกับพม่าและเกิดปมในใจ นี่คือผลที่ทางฝ่ายไทยที่ได้รับ ส่วนพม่าก็ได้รับความเจ็บปวดคล้ายๆ กัน ทั้งนี้แม้ว่าพม่าจะไม่ถึงกับล่มสลายเมื่อเจอกองทัพอยุธยา แต่ในสมัย ค.ศ. 1752 ที่อาณาจักรมอญฟื้นฟูขึ้นมาก็ทำให้ราชวงศ์ตองอูล่มสลาย แต่พม่าก็เรียนรู้บทเรียนรวดเร็ว นำไปสู่การเกิดขึ้นของผู้นำคนใหม่ที่มีพื้นเพจากพรานป่าอย่าง “อลองพญา” ที่ต่อต้านมอญและสามารถตั้งราชวงศ์ใหม่อย่างรวดเร็ว

สำหรับบทเรียนที่ได้รับจากสงครามล้อมอยุธยา เมื่อพม่าเป็นฝ่ายมีชัย ก็ทำให้มีหน่อความคิดฝังอยู่ในชนชั้นนำพม่าว่าอย่างไรเสียต้องมีการขยายปริมณฑลแห่งอำนาจเพื่อครอบอยุธยาให้ได้ กษัตริย์พม่าในยุคหลังๆ ทั้งพระเจ้ามังระ พระเจ้าปดุง ก็รับพระจักรพรรดิราชแบบนี้มาใช้ในการสู้กับกองทัพสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น

นอกจากนี้ในช่วงที่พม่าตกเป็นเมืองขึ้นอังกฤษ ต่อมามีการจุดเชื้อขบวนการชาตินิยมในช่วงเรียกร้องเอกราช ซึ่งในช่วงที่กองทัพพม่า BDA แยกตัวออกจากญี่ปุ่นและสู้กับญี่ปุ่นในช่วงท้ายสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็มีการนำหนังสือเสนาทัพพยุหะ ที่เคยพิมพ์ในสมัยพระเจ้าปดุง กลับมาพิมพ์อีกครั้ง เพื่อปลุกเร้าขวัญในการรบกับญี่ปุ่นและสร้างชาตินิยม และได้นายพลอองซาน เขียนอารัมภบทให้กับหนังสือที่พิมพ์ใหม่

ในช่วงท้ายดุลยภาคนำเสนอภาพอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ของพม่าที่กรุงเนปิดอว์ เปรียบเทียบกับอนุสาวรีย์บูรพมหากษัตริย์ไทยที่อุทยานราชภักดิ์ จ.ประจวบคีรีขันธ์ โดยชี้ให้เห็นว่ารัฐบาลทหารพม่าในอดีตครองอำนาจโดยไม่ได้มีที่มาจากการเลือกตั้ง สิ่งที่รัฐบาลทหารพม่าในอดีตทำ คือย้อนกลับไปหาราชาชาตินิยม หรือประเพณีของบูรพกษัตริย์ ในสมัย พล.อ.อาวุโสตานฉ่วยครองอำนาจ ก็มีการจับช้างเผือก และมีการสร้างโรงช้างเผือกทั้งที่เนปิดอว์และย่างกุ้ง และตอนย้ายเมืองหลวงใหม่ก็มีการสร้างอนุสาวรีย์ 3 กษัตริย์ประกอบด้วยพระเจ้าอโนรธามังช่อ พระเจ้าบุเรงนอง และพระเจ้าอลองพญา ซึ่งทั้งหมดเป็นผู้ผนวกอาณาจักรมอญ ขณะที่พระเจ้าบุเรงนองและพระเจ้าอลองพญาทำศึกมาถึงอยุธยาในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา และทุกๆ วันที่ 27 มีนาคม ซึ่งเป็นวันกองทัพพม่าก็จะมีการสวนสนามของทหารต่อหน้าอนุสาวรีย์ด้วย แสดงให้เห็นว่าพม่าไม่ว่าจะเปลี่ยนรูปแปลงสัณฐานไปเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น แต่ระบบคิดของทหารพม่านั้นพื้นฐานยังมีสิ่งเหลานี้อยู่ ไม่แตกต่างจากระบบการเรียนของทหารไทย หรือ รด. ที่ยังมีตำราเรื่องสงครามไทย-พม่า และในส่วนของอุทยานราชภักดิ์ที่มีอนุสาวรีย์บูรพกษัตริย์ 7 พระองค์ และในที่นี้มีกษัตริย์ถึง 4 พระองค์ที่เกี่ยวข้องหรือร่วมสมัยอยู่ยุคของพระนครศรีอยุธยา ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็สะท้อนให้เห็นว่ากองทัพไทยก็ยังให้ความนิยมกับสิ่งที่เรียกว่าเสนาราชาชาตินิยมไม่ต่างจากกองทัพพม่า และหากมีช่วงที่ไทย-พม่าเกิดขัดแย้ง ทั้ง 2 ฝ่ายก็คงมีการหยิบยกประวัติศาสตร์ยุคจารีตขึ้นมา แต่ตอนที่ปกติสุข ก็เชื่อว่าน่าจะเข้าใจสถานการณ์ซึ่งกันและกัน ทั้งนี้เคยมีข้อมูลที่ระบุว่า พล.ท.โซวิน ผู้บัญชาการทหารบกกองทัพพม่า ซึ่งเป็นรองแต่ ผบ.สส.กองทัพพม่า พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ก็เคยชื่นชมการสร้างอุทยานราชภักดิ์ของไทย เพราะสร้างที่หัวหินทำให้ประชาชนมาเที่ยวได้ ในขณะที่พม่าสร้างอนุสาวรีย์ 3 กษัตริย์ไว้ในค่ายทหารที่อยู่ไกลถึงเนปิดอว์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net