หน้าที่ 6 ประการของการสื่อสารด้วยภาษา: ข้อพิจารณาเกี่ยวกับข้อความ ‘แค็ป’ จากสื่อสังคม

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

บทความนี้เขียนขึ้นเพื่อนำเสนอแนวความคิดเกี่ยวกับปัจจัยและหน้าที่ของการสื่อสารด้วยภาษา ซึ่งอ้างอิงจากแนวคิดแรกเริ่มของโรมัน ยาคอบสัน (Jakobson, 1960) นักภาษาศาสตร์ชาวรัสเซียสัญชาติอเมริกัน ที่มุ่งเน้นการอธิบายลักษณะจำเพาะของการใช้ภาษาในวรรณกรรม (Eagleton, 1996: 85-86) และต่อมาได้แพร่หลายไปสู่ผู้ศึกษากระบวนการสื่อสารด้วยภาษาโดยทั่วไป (Danesi, 2013: 375-376) แม้ว่าแนวความคิดนี้จะไม่ใช่แนวความใหม่ในวงวิชาการด้านภาษาและการสื่อสาร แต่เนื่องจากในปัจจุบันลักษณะของ ‘สื่อ’ ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสื่อสารผ่านระบบคอมพิวเตอร์ประเภทสื่อสังคม ที่ทำให้การสื่อสารระหว่างบุคคลในชีวิตประจำวันและการสื่อสารมวลชนกลายเป็นสิ่งที่แยกขาดจากกันได้ยากขึ้น การนำแนวคิดของยาคอบสันเกี่ยวกับปัจจัยและหน้าที่ของการสื่อสารด้วยภาษากลับมาพิจารณาใหม่บริบทปัจจุบัน ย่อมจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่เกี่ยวข้องกับการใช้ ‘หลักฐานทางภาษา’ เพื่อให้เห็นความละเอียดซับซ้อนของการสื่อสารด้วยภาษา อันจะนำไปสู่การเพิ่มความแม่นยำของการตีความหลักฐาน

ตามทฤษฎีของยาคอบสัน การสื่อสารด้วยภาษา (verbal communication) ต้องอาศัยปัจจัย 6 ประการ คือ

- ผู้ส่งสาร (addresser)

- สารหรือข้อความที่ถูกสื่อออกมา (message)

- ผู้รับสาร (addressee)

- บริบทของการสื่อสาร (context)

- ภาษาหรือรหัสที่ใช้ในการสื่อสาร (code)

- ช่องทางถ่ายทอดที่เชื่อมโยงระหว่างผู้ส่งสารและผู้รับสาร (contact)

ในกรณีของการสื่อสารด้วยภาษา ผู้ส่งสาร ได้แก่ผู้พูด-ผู้เขียน เป็นต้น คือต้นทางของ ‘สาร’ หรือความที่ผู้ส่งสารส่งให้ผู้รับสาร ส่วนผู้รับสาร ได้แก่ ผู้ฟัง-ผู้อ่าน เป็นต้น ทำความเข้าใจสารที่ถูกส่งมาโดยมีบริบท กาลเทศะ หรือเป้าประสงค์ของการสื่อสารเป็นเครื่องกำกับความหมายของการสื่อสาร และอาศัยภาษาหรือรหัสที่ผู้ส่งสารและผู้รับสารใช้ร่วมกันเป็นปัจจัยก่อให้เกิดความเข้าใจกันทั้งสองฝ่าย ผ่านการเชื่อมโยงติดต่อถึงกันทางช่องทางใดช่องทางหนึ่ง เช่น การพูดคุยกันต่อหน้า การโทรศัพท์ระหว่างบุคคล หรือการพูดผ่านไมโครโฟนเพื่อขยายเสียงไปให้ถึงผู้ฟังหลายคนพร้อมกัน

อย่างไรก็ตาม การสื่อสารด้วยภาษาอาจทำหน้าที่อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างพร้อมกัน โดยอาศัยปัจจัย 6 ประการที่กล่าวถึงข้างต้น หน้าที่ของการสื่อสารด้วยภาษานี้ยาคอบสัน (1960) ระบุไว้ว่ามี 6 ประการตามปัจจัยของการสื่อสารด้วยภาษานั่นเอง ดังนี้

- หน้าที่บ่งบอกอารมณ์ความรู้สึกของผู้ส่งสาร (emotive)

- หน้าที่โน้มนำพฤติกรรมผู้รับสาร (conative)

- หน้าที่ชี้แสดงวรรณศิลป์ของสาร (poetic)

- หน้าที่ระบุความหมายตามบริบท (referential)

- หน้าที่เชื่อมโยงระหว่างผู้ส่งสาร-รับสาร (phatic)

- หน้าที่อธิบายความหมายของตัวภาษาเอง (metalingual)

การส่งเสียงร้องเมื่อเจ็บปวด ตกใจ หรือประหลาดใจ เช่น โอ๊ย! เฮ้ย! โอ้แม่เจ้า! ทำหน้าที่บอกภาวะที่ผู้พูดกำลังประสบอยู่มากกว่าจะเป็นการส่งสารอย่างหนึ่งอย่างใดไปถึงผู้ฟัง ในขณะที่การถาม การขอร้อง หรือออกคำสั่ง เป็นการใช้ภาษาเพื่อก่อให้เกิดพฤติกรรมบางอย่างในฝั่งของผู้รับสาร เช่น หยุดคุยกันได้แล้ว เปิดประตูให้หน่อย สองบวกสิบเจ็ดเป็นเท่าไหร่? ซึ่งไม่ได้เน้นบอกกล่าวความหมายในฝั่งผู้พูด แต่เน้นที่พฤติกรรมที่ผู้พูดคาดหมายจากผู้ฟัง นั่นคือการที่ผู้ฟังหยุดคุยกัน ประตูถูกเปิดออก และคำตอบ 19 เป็นต้น

ในบางกรณี สารบางอย่างอาจมีความสละสลวยงดงามเป็นพิเศษจนกระทั่งผู้รับสารให้ความสนใจกับตัวสารในระดับเดียวกับความหมายที่เฉพาะเจาะจงของมัน หรือบางครั้งก็ทำให้สารนั้นได้รับการพิจารณาในเชิงวรรณศิลป์ของตัวมันเอง โดยข้ามพ้นความจำกัดด้านกาลเทศะหรือบริบทที่สารนั้นถูกสร้างขึ้นในครั้งแรก ซึ่งเป็นกรณีที่สอดคล้องกับการใช้พิจารณาตัวบทวรรณคดี ที่บางครั้งตัวบทเองไม่ได้ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป้าหมายทางศิลปะแต่แรก เช่น พระราชหัตถเลขาของล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 ถึงพระโอรสธิดา ที่ภายหลังมีการนำมาศึกษาในฐานะตัวบทที่ทรงคุณค่าในตัวเอง แม้แรกเริ่มทีเดียวตัวบทดังกล่าวจะทำหน้าที่ในการสื่อสารภายในบริบทที่เฉพาะเจาะจง ในฐานะจดหมายส่วนตัวระหว่างพ่อ-ลูกในยามที่อยู่ห่างไกลกัน

หน้าที่สื่อสารความหมายที่มีความเฉพาะเจาะจงภายในบริบทหนึ่ง ๆ นี้เองที่เป็นการสื่อสารในชีวิตประจำวันและใช้มากที่สุด เพราะภาษาเป็นระบบสัญลักษณ์ที่ผู้ใช้อาจใช้กล่าวถึงสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ได้ตามขอบเขตที่ของความหมายที่มันมีอยู่ โดยคำพูดคำเดียวกันหรือประโยคเดียวกันอาจมีความหมายแตกต่างกันไปตามบริบทที่แปรไป เช่น ใครเป็นคนพูด พูดกับใคร พูดถึงสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่ผู้พูดผู้ฟังเข้าใจตรงกัน แต่ผู้ที่ได้ยินการสนทนานั้นอาจไม่ทราบเลยว่าคู่สนทนากำลังคุยถึงเรื่องอะไรกันอยู่

ส่วนการใช้ภาษาเพื่อตรวจสอบประสิทธิผลของช่องทางสื่อสารหรือสร้างสัมพันธภาพระหว่างผู้พูด-ผู้ฟังนั้น เราอาจพบเจอได้เป็นครั้งคราวในชีวิตประจำวัน เช่น การนับเลขเพื่อตรวจสอบว่าไมโครโฟนและลำโพงใช้งานได้ การสอบถามคู่สนทนาทางโทรศัพท์ว่าได้ยินข้อความหรือไม่ การคุยเรื่องดินฟ้าอากาศเพื่อแสดงความเป็นพวกพ้องกัน เป็นต้น

หน้าที่สุดท้ายที่จะกล่าวถึงก็คือการใช้ภาษาเพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับตัวภาษานั้นเอง ซึ่งใช้มากในทางวิชาการ เช่น การบอกประเภทและหน้าที่ทางไวยากรณ์ของคำในพจนานุกรม การให้นิยามของคำที่ใช้ เป็นต้น

ภาพที่ 1: ปัจจัยและหน้าที่ของการสื่อสารด้วยภาษา

ประเด็นปัญหาในการพิจารณารูปแบบสื่อสารทางสื่อสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่องทาง Facebook ผู้เขียนพบว่ามีความยากในการระบุความหมายของข้อความด้วยเหตุผลสองประการ ประการแรกคือการควบคุมขอบเขตของการสื่อสารหรือความเป็นส่วนตัว แม้ว่าการโพสต์ข้อความแสดงสถานะจะมีข้อกำหนดในการเห็นข้อความได้ก็ตาม แต่เนื่องจากผู้ใช้ Facebook เชื่อมโยงถึงกันในลักษณะเครือข่าย ผู้ที่ได้เห็นข้อความของผู้โพสต์อาจจะไม่ใช้ผู้รับสารที่ผู้โพสต์จงใจจะให้เห็นข้อความนั้นก็ได้ ประการที่สอง บริบททางความหมายของการสื่อสารผ่านข้อความแสดงสถานะหนึ่ง ๆ อาจสัมพันธ์กับความเข้าใจร่วมระหว่างผู้โพสต์และผู้รับสารที่ผู้โพสต์ตั้งใจจะสื่อสารด้วย ซึ่งก็อาจจะระบุได้อย่างตรงไปตรงมา ผ่านการแท็กชื่อบุคคลที่อยากให้รับรู้ การโพสต์บนกระดานข้อความของผู้อื่นทำให้คนเหล่านั้นทราบว่าผู้โพสต์กำลังกล่าวถึงอะไรอยู่ ในขณะที่ผู้อ่านคนอื่นอาจเข้าใจความหมายไปอีกอย่างหนึ่ง

ด้วยเหตุนี้เอง สารของข้อความในสื่อสังคมออนไลน์จึงมีความอ่อนไหวต่อบริบททางเวลาและหัวข้อการสื่อสารอย่างยิ่ง การพิจารณาความหมายของข้อความนอกบริบทเวลาและสถานการณ์ที่มันถูกเขียนขึ้นจะยิ่งทำได้ยากขึ้นไปอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาข้อความนั้นหลังจากข้อความถูกสร้างขึ้นในตอนแรกไประยะเวลาหนึ่ง นอกจากนั้นหากผู้พิจารณาข้อความมีความรู้พื้นหลังเกี่ยวกับข้อความนั้นแตกต่างไปจากที่ผู้รับสารเป้าหมายมากเท่าไร ผู้พิจารณาข้อความก็จะมีโอกาสในการเข้าใจความหมายของข้อความน้อยลงเท่านั้น

ยิ่งไปกว่านั้น การใช้โปรแกรมจับภาพจากหน้าจอ หรือที่เรียกเป็นภาษาปากว่าการ ‘แค็ปเจอร์’ หรือ ‘แค็ป’ เพื่อประโยชน์ในการใช้เป็นข้อมูลประกอบการศึกษาก็ดี หรือเพื่อใช้เป็นหลักฐานยืนยันว่าผู้เขียนข้อความจงใจละเมิดกฎหมายด้วยวาจาอย่างใดอย่างหนึ่งก็ดี เป็นวิธีการที่เสี่ยงต่อการตีความหมายคลาดเคลื่อนไปจากบริบทเดิมของข้อความ โดยเฉพาะเมื่อผู้พิจารณาความหมายของข้อความพิจารณาข้อความนั้นในบริบทเวลาและเหตุการณ์ที่ห่างไกลไปจากบริบทดั้งเดิมของการสื่อสาร

ดังนั้น การมีข้อมูลเกี่ยวกับบริบทในการสื่อสารของข้อความที่ถูก ‘แค็ป’ จึงมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการช่วยให้ผู้พิจารณาความหมายและเป้าประสงค์ของข้อความที่อยู่ในการพิจารณา เพราะการกำหนดกรอบหรือบริบทของการพิจารณาย่อมส่งผลต่อการสรุปความหมายของข้อความ

ในการเก็บรวบรวมข้อมูลจำเป็นต้องคำนึงถึงปัจจัยและหน้าที่ของการสื่อสารด้วยภาษาทั้ง 6 ประการตามที่ได้อธิบายมาแล้วข้างต้น ว่าผู้ส่งสารเป็นใคร อยู่ในสภาวการณ์เช่นไร เขากำลังสื่อสารอะไรด้วยความรู้สึกนึกคิดอย่างไร ใครคือผู้รับสารที่เขาตั้งใจจะสื่อสารด้วย และด้วยความคาดหวังเชิงพฤติกรรมเช่นไร เขาใช้ช่องทางการสื่อสารแบบไหน อาทิ การสื่อสารด้วยการโพสต์สถานะส่วนตัวอาจแตกต่างจากการแช็ทผ่านกล่องข้อความระหว่างคนสองคนหรือเป็นกลุ่ม แตกต่างจากการโพสต์ข้อความลงบนกระดานของผู้อื่น แตกต่างจากการให้ความเห็นสนับสนุนหรือตอบโต้ในโพสต์ของคนอื่น เป็นต้น และภาษาที่เขาใช้เป็นการจำกัดวงเพื่อให้เข้าใจในกลุ่มเฉพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งหรือไม่อย่างไร

การเก็บข้อมูลเกี่ยวกับปัจจัยของการสื่อสารด้วยภาษาที่เสนอแนะไว้ข้างต้น แม้จะทำได้ยากแต่ก็เป็นประโยชน์สำหรับการพิจารณาความหมายของข้อความที่มีความละเอียดอ่อน อันส่งผลต่อการตัดสินความผิดถูกชั่วดีของผู้กล่าวหรือผู้ใช้ข้อความ มิฉะนั้นจะถือเป็นการด่วนสรุปและตัดสินบุคคลอย่างไม่ให้ความเป็นธรรม

 

 

Danesi, Marcel, ‘Jakobson’s Model of Communication,’ in Encyclopedia of Media and  

     Communication (ed. Marcel Danesi), 2013.

Eagleton, Terry, Literary Theory: An Introduction (2nd edition), 1996.

Jakobson, Roman, ‘Closing Statement: Linguistics and Poetics,’ in Style in Language (edited

     by Thomas Sebeok), 1960.

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท