Skip to main content
sharethis

คุยกับเอกอัครราชทูตสวีเดนประจำประเทศไทย เคล็ดลับกฎหมายเสรีภาพสื่ออายุ 250 ปี ประเทศนี้ไม่กลัวเสรีภาพล้นเกิน ยิ่งขัดแย้งยิ่งต้องสื่อสารเพื่อหาทางออกโดยไม่ใช้กำลัง สื่อและสังคมแลกเปลี่ยนความเห็นจนตกผลึกสร้างชุดจริยธรรมมากำกับกันเองได้จริง รัฐห้ามยุ่ง

สตัฟฟาน แฮร์สเติร์ม เอกอัครราชทูตสวีเดนประจำประเทศไทย

สวีเดนมีกฎหมายรับรองคุ้มครอง “เสรีภาพสื่อ” มาครบ 250 ปีพอดีเมื่อปีนี้ หันมองเมืองไทย เราก็เพิ่งมีประเด็นนี้เป็นข่าวครึกโครมเช่นกัน เพราะสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) โดยคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนประเทศด้านการสื่อสารมวลชนฯ ยกร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน เพื่อเสนอให้ สปท.รับรองและส่งให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) นอกจากนี้ยังมีเรื่องสดๆ ร้อนๆ เกี่ยวกับการลงดาบ วอยซ์ ทีวี โดยบอร์ดการสื่อสารแห่งประเทศไทย (กสท.) สั่งให้พักใช้ใบอนุญาตและงดออกอากาศเป็นเวลา 7 วัน โดยอ้างว่ามีการนำเสนอข่าวที่บิดเบือน ยุยงให้เกิดความแตกแยก (อ่านต่อที่นี่)

จากภาวะคุกคามเสรีภาพของสื่อมวลชนไทยและเสรีภาพในการแสดงออก ประกอบกับคำถามมากมายเกี่ยวกับการทำงานของสื่อมวลชนอาชีพของไทยที่ดังมาต่อเนื่อง ตัดไปที่อีกซีกหนึ่งของโลก สวีเดนมีกฎหมายนี้มายาวนาน และสื่อมวลชนก็มีสถานะความเป็นอิสระสูง สวนทางกันสุดขั้ว ดังที่เห็นจากดัชนีเสรีภาพสื่อ ปี พ.ศ. 2559 โดย Reporters without Borders พบว่า ประเทศในสแกนดิเนเวีย(ฟินแลนด์ นอร์เวย์ สวีเดน ฟินแลนด์) อยู่ใน 8 อันดับแรกของโลก ในขณะที่ไทยอยู่อันดับที่ 136 จาก 180 ประเทศ (วัดจากอัตราการถูกควบคุม ผูกขาด ข้อบัญญัติทางกฎหมาย ความโปร่งใสและคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่มีผลต่อการทำข่าว) จึงเป็นเรื่องน่าสนใจถอดบทเรียนและวิธีคิดของสวีเดนให้ผู้อ่านชาวไทยได้รับรู้

ประชาไทได้รับเกียรติจากเอกอัครราชทูตแห่งสวีเดนประจำประเทศไทย สตัฟฟาน แฮร์สเติร์ม (Staffan Herrström) ให้สัมภาษณ์ถึงพัฒนาการ เคล็ดลับการมีกฎหมายเสรีภาพสื่อที่ใช้กันมาอย่างยาวนาน การสร้างระบบจริยธรรมบนฐานการกำกับกันเองของสื่อที่สังคมยอมรับ ความเป็นกลางในทัศนะของสื่อสวีเดน และข้อท้าทายของสื่อในยุคออนไลน์ที่ทุกคนทำข่าวได้ด้วยตนเอง

ที่สำคัญเอกอัครราชทูตสวีเดนคนนี้ยังเคยเป็นอดีตนักข่าวหนังสือพิมพ์ที่ชื่อ Göteborgs-Posten มาก่อนด้วย เรียกว่าเหมาะเจาะเป็นอย่างยิ่ง

000000

กฎหมายสวีเดนมีลักษณะและพัฒนาการอย่างไร

ทูตสวีเดน กล่าวว่า กฎหมายสื่อนั้นต้องสร้างขึ้นและพัฒนาจากเจตจำนงของประชาชน โดย พ.ร.บ.เสรีภาพของสื่อสวีเดน มีหลักพื้นฐานที่นำมาซึ่งกฎหมายอายุยืนยาวดังกล่าว 4 ประการ

1.ยกเลิกการเซนเซอร์สื่อโดยรัฐ

2. เปลี่ยนหลักการจากการ “ห้าม” เป็นการ “อนุญาต”
ก่อน ค.ศ. 1766 ซึ่งยังเป็นยุคที่ประชาธิปไตยยังไม่เข้มแข็งเหมือนปัจจุบัน รัฐห้ามไม่ให้จัดพิมพ์สื่อหากไม่ได้รับอนุญาตจากทางการเป็นพิเศษ แต่ในปัจจุบันทุกคนสามารถเผยแพร่สื่อได้ตามต้องการนอกจากสิ่งที่ห้ามไว้ในกฎหมาย

3. จัดให้ประชาชนเข้าถึงเอกสารของภาครัฐ

4. บรรจุหลักกฎหมายเสรีภาพสื่อไว้ในรัฐธรรมนูญ

เป็นเหตุทำให้ยากต่อการแก้ไข ทั้งยังเป็นการประกาศว่ารัฐไม่สามารถบัญญัติข้อจำกัดเสรีภาพดังกล่าวได้ เนื่องจากจะเป็นการละเมิดตัวรัฐธรรมนูญเสียเอง

ดังหลักพื้นฐานสี่ประการ จะเห็นได้ว่าสวีเดนมีขอบเขตเสรีภาพที่กว้างมาก และเนื่องจากทุกอย่างสามารถเผยแพร่ได้อย่างถูกกฎหมาย จึงต้องมีระบบควบคุมจริยธรรมกันเองขึ้นมา เพราะประเด็นการเผยแพร่สิ่งที่เหมาะสมในสังคมนั้นเป็นคนละเรื่องกับความถูกต้องตามกฎหมาย ยกตัวอย่างเช่น การเปิดเผยชื่อผู้ต้องหาที่ยังไม่ถูกตัดสินคดีความถือเป็นความไม่เหมาะสมในเชิงจริยธรรม แต่ตามกฎหมายสามารถทำได้ สื่อทั้งหลายจึงร่วมกันสร้างแนวทางปฏิบัติขึ้นมากำกับกันเอง รวมถึงสร้างระบบพิจารณาและลงโทษผู้ละเมิดแนวทางปฏิบัติดังกล่าวโดยไม่ได้ผ่านการชี้นำจากรัฐ

อดีตนักข่าวหนังสือพิมพ์ Göteborgs-Posten ยังกล่าวว่า แม้ภาพรวมของสื่อเปลี่ยนไปมากในปัจจุบันเนื่องจากพัฒนาการทางเทคโนโลยี แต่หลักเสรีภาพของสื่อที่เป็นพื้นฐานแต่แรกเริ่มนั้นไม่เปลี่ยน โดยเลือกใช้วิธีการแยกใช้ข้อบังคับที่แตกต่างตามลักษณะเฉพาะของสื่อแต่ละชนิด ในขณะที่ยังคงหลักเสรีภาพสื่อตามแบบดั้งเดิมไว้เป็นพื้นฐาน

อะไรคือแก่นที่สำคัญในเสรีภาพของสื่อ

สตัฟฟาน กล่าวว่า เสรีภาพในการแสดงออกเป็นหลักใหญ่ใจความในกฎหมาย นักข่าวสวีเดนได้รับการคุ้มครองในระดับที่สูงมาก ถ้าการรายงานข่าวได้รับความผิดประการใด หรือไปละเมิดข้อห้ามรุนแรง เช่น การปล่อยข้อมูลด้านความมั่นคง จะเป็นตัวผู้ตีพิมพ์ที่จดทะเบียนเท่านั้นที่ขึ้นศาล

วงการสื่อสวีเดนสถาปนาระบบจริยธรรมที่ตัวสื่อและผู้บริโภคเห็นพ้องต้องกันได้อย่างไร

ทูตสวีเดน กล่าวว่า การสร้างชุดจริยธรรมที่สอดคล้องกันระหว่างสื่อและผู้เสพสื่อมีที่มาจากความต้องการรักษาเสรีภาพการแสดงออกที่กว้างขวางเอาไว้ ในขณะเดียวกันก็ต้องการคงไว้ซึ่งสิทธิส่วนบุคคลที่พึงมี ชาวสวีเดนจึงคิดที่จะสร้างกรอบพฤติกรรมขึ้นมาภายใต้ฐานจริยธรรมที่เหมาะสมเพื่อรักษาไว้ซึ่งหลักการข้างต้น จึงเกิดสภาสื่อมวลชนขึ้นมา

สภาสื่อมวลชนถูกก่อตั้งขึ้นเมื่อ 50 ปีก่อนโดยสื่อด้วยกันเอง เพื่อพิจารณากรณีข้อร้องเรียนการละเมิดชุดจริยธรรมและใช้มาตรการลงโทษ เช่น การเสียค่าปรับ สภาสื่อมวลชนมีส่วนช่วยอย่างมากในการหาข้อบังคับใช้ทางจริยธรรมต่างๆ ที่ใช้ได้ดีที่สุดในทางปฏิบัติ อย่างไรก็ตาม ข้อสรุปดังกล่าวล้วนเกิดมาจากการพูดคุยถกเถียงระหว่างคนในวงการสื่อด้วยกันที่คอยจุดประเด็นผ่านประสบการณ์และการแลกเปลี่ยนความเห็น

ความต่อเนื่องทางการเมืองและฉันทามติของสังคมมีผลอย่างไรต่อการสร้างระบบจริยธรรมสื่อ

เสรีภาพการแสดงออกเป็นเหตุผลที่ทำให้ประชาธิปไตยของสวีเดนมีความมั่นคง เพราะเสรีภาพการแสดงออกทำให้ข้อขัดแย้งต่างๆ ถูกดึงออกมาตีแผ่ในพื้นที่สาธารณะ และทำให้การแก้ไขความขัดแย้งผ่านการพูดคุยแทนที่จะใช้กำลังเข้าสู้กัน

มีกรณีการห้ามสื่อออกอากาศในสวีเดนไหม

ทูตสวีเดนกล่าวถึงพัฒนาการของกฎหมายเสรีภาพของสื่อว่า ข้อห้าม พันธนาการต่างๆ ค่อยๆ ลดลงสวนทางกับความเข้มแข็งขึ้นของเสรีภาพการแสดงออกและระบอบประชาธิปไตย ต่อข้อคำถามนี้ เขาจำไม่ได้ว่ามีกรณีดังกล่าวหรือไม่ แต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ถือเป็นหนึ่งจุดหักเหที่สำคัญ เพราะในช่วงดังกล่าว สวีเดนพยายามเอาตัวเองออกจากสงคราม สื่อในเวลานั้นจึงถูกรัฐบาลควบคุมอย่างหนัก แต่มาตรการควบคุมดังกล่าวได้ยุติลงพร้อมกับสงคราม หลังจากนั้นก็มีการถกเถียงในสังคมอย่างหนักว่าสิ่งที่รัฐบาลทำลงไปนั้นสมเหตุสมผลจริงหรือไม่เรื่อยมา

แล้วมีการถกเถียงตีความข้อห้ามในกฎหมายบ้างไหม ในเมื่อมีเสรีภาพการแสดงออกสูงมาก

ข้อห้ามตามกฎหมายนั้นมีความจำเพาะเจาะจงมาก ในส่วนของการฟ้องสื่อในข้อหาหมิ่นประมาท ผู้ถูกไต่สวนต้องคำนึงเสมอว่าตนมีสิทธิ เสรีภาพการในการที่จะแสดงออก และกลไกกฎหมายก็ถูกสร้างบนหลักพื้นฐานเสรีภาพในการแสดงออก การฟ้องร้องในชั้นศาลจึงมีโอกาสน้อยที่โจทก์จะชนะ อีกทั้งระบบข้อบังคับทางจริยธรรมที่มีก็ทำหน้าที่ดูแลกรณีการหมิ่นประมาทอยู่แล้ว จึงไม่ค่อยมีการฟ้องคดีหมิ่นประมาท และโทษคดีหมิ่นประมาทที่ผ่านมาก็ไม่ได้รุนแรง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โทษตามกฎหมายสวีเดนสำหรับคดีหมิ่นประมาท มีตั้งแต่โทษปรับ ไปจนถึงจำคุก 6 เดือนถึง 2 ปี อย่างไรก็ตาม สื่อในสวีเดนแทบไม่เคยถูกดำเนินคดีในฐานหมิ่นประมาทเลย และการพิพากษาโทษหมิ่นประมาทที่หนักที่สุด เกิดขึ้นในปี 2555 โดยศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ให้ปรับ KT Rajasingham บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ Asian Tribune และ World Institute for Asian Studies เป็นเงินจำนวนทั้งสิ้นราว 2 หมื่นดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 7 แสนบาท ให้กับนักข่าวชาวนอร์เวย์

มีการถกเถียงเรื่องความเป็นกลางหรือไม่ อย่างไร ในสวีเดน

จุดยืนทางการเมืองของสำนักข่าวกับการทำหน้าที่ของนักข่าวนั้นแยกจากกันชัดเจน นักข่าวเองก็ต้องซื่อตรงต่อหน้าที่ของนักข่าวโดยไม่คำนึงถึงขั้วความคิดและการเมืองของสำนักข่าวที่ตนสังกัด แต่ละสำนักข่าวก็มีขั้วความคิด ขั้วการเมืองที่ต่างกันไปและต่างก็ทราบดีว่ามีผลถึงกลุ่มผู้อ่านที่จะเลือกอ่านหรือไม่อ่าน ดังนั้นเรื่องของความเป็นกลางจึงไม่ค่อยเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันมากนัก

คิดว่าอะไรคือข้อท้าทายที่สุดสำหรับวงการข่าว

ทุกวันนี้สื่อทั่วโลกเป็นสื่ออิสระได้ยากขึ้น ทั้งๆ ที่การมีอิสระเป็นเครื่องมือต่อสู้การคอร์รัปชัน และจุดประกายการพัฒนาภาคส่วนต่างๆ ของสังคม ความท้าทายของสื่อปัจจุบันคือการภาระหน้าที่ของการเป็นสื่อที่มีความเป็นอิสระและทำเนื้อหาที่เจาะลึกได้คุณภาพในเวลาเดียวกัน และใช้ศักยภาพดังกล่าวบริการผู้อ่านโดยไม่อิงแอบกับกลุ่มอำนาจใดๆ ซึ่งก็เป็นเรื่องดีที่ในสวีเดนยังมีสื่อแบบนั้น และสื่อเหล่านั้นมีส่วนช่วยประเทศอย่างมากในการช่วยให้ประชาธิปไตยทำหน้าที่ของมันได้อย่างดี และใช้ความสร้างสรรค์ สรรสร้างสังคมให้เกิดความคิดใหม่ๆ

“คุณจะคิดอะไรใหม่ๆ ไม่ได้เลยถ้ามีใครซักคนคอยบอกว่าคุณต้องเชื่ออย่างนั้นอย่างนี้ ศักยภาพเช่นว่าเกิดขึ้นจากเสรีภาพในการคิดนอกกรอบ” ทูตสวีเดนกล่าว

รู้จักกับสภาสื่อมวลชนสแกนดิเนเวีย องค์กรอิสระที่สังคมยอมรับและวางใจได้

ในประเทศแถบสแกนดิเนเวีย (สวีเดน เดนมาร์ค ฟินแลนด์และนอร์เวย์) มีสภาสื่อมวลชนที่เข้มแข็ง ประสิทธิภาพสูงและเป็นที่เคารพนับถือในวงกว้างในฐานะองค์กรที่มีระบบกำกับกันเองที่ “เป็นอิสระ รวดเร็วและเป็นธรรม และสภาสื่อของประเทศแถบนี้ถูกออกแบบในสภาพคล้ายคลึงกันภายใต้รายละเอียดปลีกย่อยที่ต่างกันไปเท่านั้น

ระบบสภาสื่อของสวีเดน (Pressens Opinionsnämnd) จะมีตำแหน่งผู้ตรวจการ (Ombudsman) นั่งเป็นประธานและรับเรื่องร้องเรียนแค่สื่อสิ่งพิมพ์เท่านั้น ส่วนการร้องเรียนสื่อวิทยุ โทรทัศน์จะไปที่คณะกรรมการอีกชุดที่รัฐดำเนินการเองภายใต้ระเบียบวิธีการเดียวกัน การร้องเรียนก็สามารถทำได้ฟรี ไม่มีค่าธรรมเนียมเพราะองค์กรสมาชิกเป็นคนรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเป็นรายปี สื่อเองจะเข้ารับการตรวจสอบและยอมรับคำตัดสินจากสภาโดยสมัครใจ เพราะการยอมรับนั้นสร้างภาพลักษณ์ของตนในฐานะสื่อที่รับผิดชอบ เป็นธรรมและวางใจได้
ตามโครงสร้างที่มี สภาสื่อมวลชนในสแกนดิเนเวียถูกออกแบบให้เป็นอิสระจากระบบยุติธรรม แม้ในเดนมาร์คจะถูกควบคุมด้วยกฎหมาย และในฟินแลนด์ได้รับงบประมาณจากกระทรวงยุติธรรม แต่การปฏิบัติหน้าที่ทุกอย่างเป็นอิสระจากรัฐบาลเหมือนกัน

เมื่อมีข้อร้องเรียนที่เกี่ยวข้องกับพันธะทางกฎหมาย สภาสื่อจะส่งเรื่องต่อให้ศาล คำถามต่อมาคือ แล้วทำไมจะต้องส่งเรื่องไปที่สภาด้วยล่ะ? เพราะผู้ร้องเรียนส่วนมากมักจะเลี่ยงกระบวนการทางกฎหมายร้อยแปดก่อน จึงเลือกที่จะลองเส้นทางนี้ก่อน

สภาสื่อในแถบนี้ปรับตัวกับเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมสื่อที่เปลี่ยนไปเรื่อยๆ มีการร้องเรียนเข้ามาในสภามากขึ้นเกี่ยวกับการเพิ่มขึ้นของจำนวนข่าวที่มีพาดหัวเกินจริง ล่อคนคลิกเข้ามาดู (Click Bait) และข้อมูลที่ผิดพลาดอันเกิดจากการแข่งขันกันนำเสนอข่าวที่รวดเร็วบนโลกออนไลน์ สภาสื่อของฟินแลนด์ได้จัดทำกรอบจริยธรรมของสื่อมวลชนเพื่อการดูแล ควบคุมการแสดงความเห็นอย่างเหมาะสม ในนอร์เวย์ก็มีการออกอากาศการประชุมรายเดือนผ่านการถ่ายทอดสดออนไลน์(ไลฟ์)

ในประเด็นจำนวนข้อร้องเรียน สภาสื่อของนอร์เวย์ ฟินแลนด์ และสวีเดนได้รับข้อร้องเรียนราว 300 เรื่องต่อปี เดนมาร์คได้รับราว 100 เรื่อง ส่วนคณะกรรมการดูแลข้อร้องเรียนการออกอากาศของโทรทัศน์และวิทยุของสวีเดน รับเรื่องต่อปีถึงกว่า 800 เรื่อง แต่จากข้อร้องเรียนจำนวนมหาศาล มีจำนวนน้อยที่ถูกวิจารณ์จากสภา นอกนั้นถูกปัดตกไป แต่ว่าทุกข้อร้องเรียนนั้นจะได้รับการตอบกลับจากทางสภาไม่ว่าเรื่องจะได้ไปต่อหรือถูกปัดตกก็ตาม นิน่า พอร์ร่า เลขานุการของสภาสื่อฟินแลนด์ ได้กล่าวสำทับว่า “ไม่ว่าอย่างไรคุณจะได้รับคำตอบกลับมา มีบางคนตามเรื่องคุณอย่างจริงจัง ซึ่งสำหรับคนจำนวนมาก นั่นถือเป็นอะไรที่สำคัญมากๆ แล้ว”
 

อ้างอิง: Columbia Journalism Review, Self-Regulation Done Right: How Scandinavia’s press councils keep the media accountable

หมายเหตุ: ประชาไทแก้ไขรายละเอียดทีว่า พ.ร.บ. เสรีภาพสื่อสวีเดนมีอายุ 251 ปี เป็น 250 ปี เพราะว่า พ.ร.บ. ดังกล่าวจะมีอายุครบ 251 ปี ในวันที่ 2 ธ.ค. 2560  (แก้ไขเนื้อหาเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2560 เวลา 15.58 น.)

Kelly/ Warner, Defamation Law in Sweden

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net