ม้งช่วยรบ (ตอนจบ) บทสรุปของการต่อสู้เพื่อทวงคืนความเป็นคนไทย

สนทนากับอดีตสมาชิกชุมชนถ้ำกระบอกหลังผ่านยุค “ม้งช่วยรบ” เมื่อพวกเขาเห็นว่าการเป็นคนไร้สัญชาตินั้น เหมือนชีวิตวิ่นแหว่ง ไม่มีความสมบูรณ์ จึงเริ่มต้นเรียกร้องสิทธิเพื่อสัญชาติไทยมาตั้งแต่ปี 2545 ซึ่งต้องใช้เวลานับ 10 ปีจึงจะเริ่มคืบหน้า “อย่างที่บอกนั่นแหละว่า เราได้สัญชาติไทยในครั้งนี้ ไม่ใช่เพราะว่าเราไปช่วยรบ หรือเพราะคุณงามความดีที่เราเคยทำเพื่อประเทศชาติ แต่เราได้มาเพราะต่อสู้ด้วยสิทธิของเราเอง” เยี่ยปาว อดีตสมาชิก “ม้งช่วยรบ” กล่าว

000

เพราะการเป็นคนไร้สัญชาตินั้น เหมือนชีวิตนั้นวิ่นแหว่ง ไม่มีความสมบูรณ์
พวกเขาจึงเริ่มต้นเรียกร้องสิทธิ เพื่อให้ได้มาซึ่งสัญชาติไทย
เป็นการต่อสู้ที่ใช้เวลายาวนาน และต้องเรียนรู้ด้วยตัวเอง

เยี่ยปาว แซ่ซง อดีตอาสาสมัคร “ม้งช่วยรบ” เล่าให้ฟังว่า เขากับญาติพี่น้อง ได้เดินทางไปยื่นเอกสารที่ อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย เพื่อขอให้ดำเนินการเรื่องสัญชาติ โดยเริ่มต้นจากปี พ.ศ. 2545 เป็นต้นมา

“พวกผมได้ยื่นคำร้องตามมาตรา 7 ภายใต้การประสานงานจากทหาร แต่หลังจากยื่นคำร้อง ก็ไม่มีความคืบหน้าใด ๆ ประมาณปี พ.ศ. 2551 ได้รับแจ้งจากผู้นำหมู่บ้านว่าให้พวกตนสำรวจใหม่เนื่องจากบัตรประจำตัวที่ขึ้นต้นด้วยเลข 6 ดำเนินการมานานแล้วไม่คืบหน้า ให้เปลี่ยนมาสำรวจทำบัตรประจำตัวเลข 0 ใหม่ทั้งหมด มีคนจำนวนหนึ่งมาสำรวจและทำบัตรเลข 0 ส่วนพวกตนไม่ยอมทำบัตรเลข 0 เนื่องจากพวกตนคิดว่าบัตรเลข 6 ของพวกตนมีคุณสมบัติที่ดีกว่า”

แน่นอนว่า การถือบัตรเลข 6 ของเยี่ยปาวและญาติพี่น้องของเขา ทำให้รู้ว่าถูกจำกัดสิทธิในหลายๆ ด้าน

“ยกตัวอย่างเช่น เราไม่มีสิทธิ์ที่จะเช่าซื้อรถ หากใครต้องการซื้อก็ให้คนรู้จักในหมู่บ้านไปเป็นผู้จดทะเบียน ส่วนการเดินทางถ้าเราขับมอเตอร์ไซค์เข้าไปข้างนอก ไปในเมือง ก็มักถูกเรียกตรวจ และถูกปรับในข้อหาไม่มีใบอนุญาตขับขี่”

การใช้ชีวิตของพวกเขา จึงพยายามอยู่กันในหมู่บ้านธารทอง แต่เมื่อถึงกรณีจำเป็นที่ต้องออกเดินทางไปทำธุระในการเดินทางต่างอำเภอ ต่างจังหวัด ก็จะเกิดปัญหาตามมาทันที

“เวลาเราจำเป็นต้องเดินทางออกนอกพื้นที่ พวกเราจะใช้เอกสารที่ทางการออกให้เพื่อใช้สำหรับเดินทางไปใน 20 จังหวัดภาคเหนือที่กระทรวงออกให้ก่อนออกมาจากถ้ำกระบอกเป็นหลักฐาน บางครั้งก็ถูกโต้แย้งจากเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าไม่สามารถใช้ได้ แต่เมื่อได้รับการอธิบายก็ไม่ถูกจับกุม”

และนั่นทำให้พวกเขา เริ่มหันกลับมาเรียกร้องสิทธิ เรียกร้องขอสัญชาติกันอีกครั้ง

“การเรียกร้องต่อสู้เรื่องขอสัญชาติ ตอนแรกๆ เราก็ต่อสู้ด้วยตัวเอง มาตอนหลังก็เริ่มเรียนรู้จากองค์กรที่เกี่ยวข้องต่างๆ ตอนนั้น มีองค์การแพลน เข้ามาสนับสนุนงบประมาณในการปรับปรุงโรงเรียน สนับสนุนก่อตั้งกลุ่มออมทรัพย์ และมาถ่ายรูปทำข้อมูลเด็กแพลน และในช่วงนั้นเองพวกเรา ได้มีโอกาสเข้าร่วมอบรมเรื่องสัญชาติ ผมจึงได้เสนอเรื่องม้งถ้ำกระบอกไปในที่ประชุม เพื่อขอความช่วยเหลือ จนทำให้กรณีม้งถ้ำกระบอกเป็นที่รู้จักมากขึ้น และยังได้รับเชิญเข้าร่วมเวทีประชุมเรื่องสัญชาติบ่อยมากขึ้น และจากการประชุมที่ศาลากลางจังหวัดพะเยาครั้งนั้น พวกเราจึงได้ทำหนังสือขอความช่วยเหลือ โดยในที่ประชุมครั้งนั้น เราได้พบกับครูแดง เตือนใจ ดีเทศน์ด้วย”

เยี่ยปาว แซ่ซ่ง และแสง แสงยาอรุณ จากมูลนิธิ พปส.ที่ ช่วยเหลือไปตามเรื่องสัญชาติ ที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี

แสง แสงยาอรุณ มูลนิธิศึกษาพัฒนาประชาชนบนที่สูง(พปส.) หนึ่งในทีมงานที่่เข้ามาช่วยเหลือกลุ่มม้งช่วยรบ จนได้สัญชาติไทย

เยี่ยปาว บอกว่า หลังจากได้บอกเล่าเรื่องราวให้ครูแดง เตือนใจ ดีเทศน์ ครูแดงได้แนะนำให้แสง แสงยาอรุณ จากมูลนิธิศึกษาพัฒนาประชาชนบนที่สูง (พปส.) ขอให้เข้ามาช่วยดูแลกรณีม้งถ้ำกระบอก เนื่องจากเป็นปัญหาที่มีความละเอียดอ่อนและยุ่งยากซับซ้อนกว่ากรณีรายอื่นๆ

แต่ที่แน่ๆ ทุกคนรู้ดีว่า ปัญหาในการดำเนินการเรื่องสัญชาติกรณีนี้ จริงๆ แล้ว ปัญหามันอยู่ที่อำเภอเชียงแสนไม่ยอมรับว่า ม้งถ้ำกระบอกมีฐานข้อมูลอยู่ที่อำเภอ

“ซึ่งหลังจากได้รับคำปรึกษาในเรื่องนี้ พวกผมก็เลยทำหนังสือถึงจังหวัด และก็ได้รับคำตอบว่า พวกเรามีฐานข้อมูลอยู่ที่อำเภอเชียงแสนจริง” เยี่ยปาว บอกย้ำอย่างหนักแน่น

นั่นทำให้เยี่ยปาวและชาวบ้าน ได้กลับมาคุยกัน วางแผนและหาข้อมูลหลักฐานกันใหม่ โดยมีหลายหน่วยงานองค์กรคอยเป็นพี่เลี้ยงสนับสนุนและชี้แนวทางในการทำงานให้

“ใช่ โดยเฉพาะทางมูลนิธิ พปส. พวกเราได้มาเรียนรู้กับเจ้าหน้าที่ พปส. กันหลายเรื่อง แม้กระทั่งเรื่องการสื่อสาร การเจรจา เวลาไปติดต่อกับเจ้าหน้าที่รัฐ กับอำเภอ ต้องติดต่อยังไง ต้องคุยอย่างไรกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ต้องหาพยานหลักฐานอย่างไร เราก็พยายามช่วยกัน” เยี่ยปาว บอกเล่า

เป็นที่รับรู้กันดีว่า การเรียกร้องสิทธิเรื่องสัญชาติ บางครั้งต้องใช้เวลาอันยาวนานกับการต่อสู้ กว่าจะได้มาซึ่งสิทธิของตน

กรณีของกลุ่มม้งบ้านธารทองนี้ก็เช่นเดียวกัน

ในปี พ.ศ. 2554 แสง แสงยาอรุณ และทีมงานฝ่ายสถานะบุคคล มูลนิธิศึกษาพัฒนาประชาชนบนที่สูง ได้รับการร้องขอจากเยี่ยปาว ให้เข้าไปช่วยเหลือกลุ่มม้งที่บ้านธารทอง ซึ่งอพยพมาจากสำนำสงฆ์ถ้ำกระบอก ต่อมา ทางมูลนิธิศึกษาพัฒนาประชาชนบนที่สูง จึงได้ทำการสำรวจ รวบรวมเอกสารและวิเคราะห์สถานะบุคคลของกลุ่มม้งดังกล่าว ซึ่งสามารถแยกออกได้เป็น 4 กลุ่มใหญ่ๆ ได้ดังนี้

กลุ่มที่ 1 บุคคลประเภท 6-xxxx-68xxx-xx-x มีสำเนาทะเบียนประวัติกลุ่มม้งถ้ำกระบอก มีสำเนาทะเบียนบ้าน (ทร.13) และรายการบุคคลในฐานข้อมูลได้แจ้งย้ายออกจากสำนักทะเบียนเทศบาลขุนโขลน อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี และย้ายเข้า ณ สำนักทะเบียนอำเภอเชียงแสนที่เป็นภูมิลำเนาปัจจุบันแล้ว แต่ไม่เคยได้รับการจัดทำบัตรประจำตัวผู้ไม่มีสัญชาติไทย

กลุ่มที่ 2 บุคคลประเภท 6-xxxx-68xxx-xx-x มีสำเนาทะเบียนประวัติกลุ่มม้งถ้ำกระบอก มีสำเนาทะเบียนบ้าน (ทร.13) แต่รายการบุคคลในฐานข้อมูลไม่ได้แจ้งย้ายจากสำนักทะเบียนเทศบาลขุนโขลน อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี ให้มาอยู่ ณ สำนักทะเบียนที่ชาวบ้านมีภูมิลำเนาปัจจุบัน ชาวบ้านอพยพโยกย้ายมาแค่ตัวบุคคล โดยข้อมูลทางทะเบียนของบางคนยังอยู่ที่สำนักทะเบียนเทศบาลขุนโขลน อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี แต่บางคนถูกจำหน่ายรายการทางทะเบียนราษฎร

กลุ่มที่ 3 บุคคลที่มีเอกสารตามกลุ่มที่ 2 หรือ 3 แต่ปัจจุบันบุคคลกลุ่มนี้ได้รับการสำรวจแบบ 89 และถือบัตรประจำตัวบุคคลไม่มีสถานะทางทะเบียน (เลข 0)

กลุ่มที่ 4 ไม่มีเอกสารทางราชการ มีเพียงเอกสารที่ออกให้โดยสำนักสงฆ์ถ้ำกระบอก

และเมื่อมีการพิจารณาตามลักษณะของสภาพปัญหา สามารถจำแนกได้ดังนี้ คือ

1. กลุ่มที่มีทะเบียนประวัติที่อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี ได้มีการแจ้งย้ายฐานข้อมูลมาที่อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นภูมิลำเนา ณ ปัจจุบัน แต่ไม่เคยได้รับการถ่ายบัตรประจำตัวบุคคลซึ่งไม่มีสัญชาติไทย ที่ผิดปกติคือ ชาวบ้านไม่มีทะเบียนประวัติฉบับจริง ณ สำนักทะเบียนอำเภอเชียงแสน

2. กลุ่มที่เคยมีทะเบียนประวัติที่อำเภอพระพุทธบาท บางคนมีหนังสือแจ้งย้าย แต่ไม่ได้ย้ายข้อมูลทางทะเบียน หรือบางคนไม่มีหนังสือแจ้งย้าย และไม่ได้ย้ายข้อมูลทางทะเบียน แต่ปัจจุบันรายการบุคคลในฐานข้อมูล(ที่อำเภอพระพุทธบาท)ถูกจำหน่าย ชาวบ้านกลายเป็นบุคคลที่ไม่มีเอกสาร ในทางปฏิบัติจึงมีปัญหาข้อติดขัดในการไปขอคืนรายการบุคคล คือชาวบ้านไปขอคืนรายการบุคคล ณ สำนักทะเบียนที่มีรายการ(อำเภอพระพุทธบาท) แต่เจ้าหน้าที่ทะเบียนที่นั่นแจ้งว่าได้ย้ายไปหมดแล้ว ไม่เกี่ยวข้องกันแล้ว ขณะที่สำนักทะเบียนที่ชาวบ้านมีภูมิลำเนาปัจจุบัน(อำเภอเชียงแสน) ก็ได้รับการแจ้งจากเจ้าหน้าที่ว่าไม่มีรายการในสำนักทะเบียนนี้ จึงไม่สามารถดำเนินการอะไรได้ กลายเป็นปัญหาใหญ่สำหรับชาวบ้านอุปสรรคยนยนที่มีรายการ าย (ห้โดยนะบุคคลของกลุ่มม้นักสงฆ์ถ้ำกระบอก และได้ดำเนินการแจ้งย้ายเข้าที่สำนักทะเบียนอำเภอเชียงแสน

3. กลุ่มที่เคยมีทะเบียนประวัติชุมชนวัดถ้ำกระบอก ที่อำเภอพระพุทธบาท (6-xxxx-68xxx-xx-x) ไม่ได้แจ้งย้ายมาที่ปลายทางคืออำเภอเชียงแสน รายการบุคคลก็ถูกจำหน่าย และปัจจุบันได้รับการสำรวจเป็นกลุ่มบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน (0-89) โดยมีรายการต่างๆ ตรงกันกับทะเบียนประวัติที่สำรวจ ณ วัดถ้ำกระบอก จังหวัดสระบุรี (6-xxxx-68xxx-xx-x) และมีหลายคนที่ข้อมูลตามแบบสำรวจ 89 ไม่ตรงกันเช่น วันเดือนปีเกิด สถานที่เกิด

จากการดำเนินการช่วยเหลือด้านสถานะบุคคล ของมูลนิธิศึกษาพัฒนาประชาชนบนที่สูง ซึ่งเราได้สำรวจข้อเท็จจริงและวิเคราะห์สถานะบุคคลของชาวม้งบ้านธารทอง ซึ่งถือว่ายากและมีความซับซ้อนกว่ากรณีอื่น โดยเราจำแนกรายละเอียดได้ดังนี้

กลุ่มที่มีเลข 13 หลัก ขึ้นต้นด้วยเลข 6 จำนวน 55 คน

กลุ่มที่มีเลข 13 หลัก ขึ้นต้นด้วยเลข 0 (เดิมเป็นเลข 6 แต่เปลี่ยนเป็นเลข 0) จำนวน229 คน

กลุ่มที่ไม่มีเลข 13 หลัก (คนไร้รัฐ) จำนวน 50 คน

รวมทั้งหมด 334 คน

ที่น่าสนใจก็คือ หลังจากมีการสืบค้น รวบรวมหลักฐานต่างๆ กันใหม่ ก็ได้มีหน่วยงานและองค์กรที่เกี่ยวข้องเข้ามาเป็นพี่เลี้ยง ดำเนินการช่วยเหลือแก้ไขปัญหาให้กับม้งกลุ่มนี้กันอย่างต่อเนื่อง

และแน่นอน มีมูลนิธิศึกษาพัฒนาประชาชนบนที่สูง เป็นองค์กรหลัก ที่โดดเข้ามาช่วยเหลืออย่างเต็มที่

“ที่ผ่านมา เรามีการประสานงานกับทางสำนักทะเบียนอำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย และสำนักทะเบียนกลางฯ โดยเสนอคณะอนุกรรมการศึกษาและแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับสถานะและสิทธิของบุคคล เพื่อจัดทำทะเบียนประวัติชุมชนวัดถ้ำกระบอก ทดแทนต้นฉบับที่สูญหาย โดยเฉพาะการประสานงานกับทางสำนักทะเบียนอำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย เพื่อจัดทำบัตรประจำตัวผู้ซึ่งไม่มีสัญชาติไทย ซึ่งเราได้ประสานงานกับวีระศักดิ์ ศิริสิทธิ์ นายอำเภอเชียงแสนในขณะนั้น เพื่อร่วมหาแนวทางในการช่วยเหลือการพัฒนาสถานะบุคคลของกลุ่มม้งจากถ้ำกระบอก บ้านธารทอง ต่อไป” ตรีลดา แสงยาอรุณ ผู้ประสานงานมูลนิธิ พปส.บอกเล่าให้ฟัง

นอกจากนั้น เจ้าหน้าที่มูลนิธิศึกษาพัฒนาประชาชนบนที่สูง ยังได้ลงพื้นที่หมู่บ้านธารทอง เพื่อตรวจสอบข้อมูลและเตรียมความพร้อมกลุ่มที่มีสิทธิยื่นคำขอลงรายการสัญชาติไทย ตามมาตรา 23 ก่อนที่จะลงรับคำขอจริง จัดเวทีทำความเข้าใจกับผู้นำ แกนนำกลุ่มม้งจากถ้ำกระบอก และบุคคลไร้สัญชาติม้งจากถ้ำกระบอกที่บ้านธารทอง

จนกระทั่งระหว่างวันที่ 28-31 สิงหาคม 2557 มูลนิธิศึกษาพัฒนาประชาชนบนที่สูง จึงได้ประสานเครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชนที่ดำเนินงานด้านสถานะบุคคล จำนวน 7 องค์กร คือ มูลนิธิศึกษาพัฒนาประชาชนบนที่สูง (พปส.) จังหวัดเชียงราย องค์การแพลนอินเตอร์เนชั่นเนล ประเทศไทย มูลนิธิพัฒนาชุมชนในเขตภูเขา (พชภ.) จังหวัดเชียงราย มูลนิธิกระจกเงา จังหวัดเชียงราย องค์การยุติธรรมนานาชาติ (IJM) จังหวัดเชียงใหม่ ศูนย์พัฒนาเครือข่ายเด็กและชุมชน จังหวัดเชียงใหม่ และมูลนิธิศูนย์ชีวิตใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อร่วมช่วยเหลือในการรับคำร้องขอลงรายการสัญชาติไทย ตามมาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.2508 (ฉบับที่ 4) แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2551

ซึ่งจากความร่วมมือขององค์กรเครือข่ายทั้ง 7 องค์กร ได้นำไปสู่การขับเคลื่อนเรียกร้องสิทธิให้กับชาวม้งกลุ่มนี้ได้อย่างต่อเนื่องและเป็นระบบมากขึ้น

ไม่ว่าจะเป็นการลงพื้นที่รับคำร้อง มาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ(ฉบับที่ 4) พ.ศ.2551 ให้กับกลุ่มบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย (เลข 6) และกลุ่มคนหัว 0 มีการสอบ ป.ค.14 ผู้ยื่นและพยาน มีการตรวจคัดกรองเอกสาร ของกลุ่ม (เลข 6) และกลุ่มคนหัว 0 บ้านธารทอง หมู่ 11 ตำบลแม่เงิน อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย เพื่อทดแทนฉบับเดิมที่สูญหาย

จากนั้น มูลนิธิศึกษาพัฒนาประชาชนบนที่สูง ได้ลงพื้นที่บ้านธารทอง เพื่อนำเอกสารที่สอบ ป.ค.14 เสร็จสมบูรณ์แล้ว นำไปให้พยานและผู้ใหญ่บ้านลงนามรับรองเอกสาร และรับเอกสารเพิ่มเติมในส่วนของรายการที่เอกสารไม่ครบถ้วน ก่อนที่มูลนิธิศึกษาพัฒนาประชาชนบนที่สูง จะทำตรวจสอบเอกสาร และทำบันทึกข้อความเอาไว้

กระบวนการทำงาน ดูเหมือนว่าจะราบรื่น แต่แล้วหลายฝ่ายเริ่มมองเห็นอุปสรรคปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นกันอีกแล้ว

เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2557 มูลนิธิศึกษาพัฒนาประชาชนบนที่สูงและตัวแทนเครือข่ายฯ ได้ทำการยื่นคำร้อง จำนวน 131 ราย ให้กับวีระศักดิ์ ศิริสิทธิ์ นายอำเภอเชียงแสน ในขณะนั้น โดยมีข้อตกลงกันว่า ขอให้ท่านนายอำเภอเชียงแสน ลงนามให้สัญชาติไทยตาม มาตรา 23 แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่4 )พ.ศ.2551 นำร่อง 1 ครอบครัว ไปก่อน

“แต่ผลสุดท้าย ท่านนายอำเภอไม่ได้ลงนาม จึงไม่มีผู้ได้รับการอนุมัติแม้แต่รายเดียว” ผู้ประสานงานมูลนิธิ พปส. บอกเล่า

7 ตุลาคม 2557 มูลนิธิศึกษาพัฒนาประชาชนบนที่สูงและตัวแทนเครือข่ายฯ จึงได้ประชุมและชี้แจง ทำความเข้าใจปัญหาที่พบในระหว่างดำเนินการรับคำร้อง และชี้แจงถึงความคืบหน้าของคำร้อง ตาม มาตรา 23 แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 จำนวน 131 คน ประกอบด้วยกลุ่ม บุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน (เลข 0) และกลุ่มบุคคลซึ่งไม่มีสัญชาติไทย (เลข 6) ที่ส่งมอบให้สำนักทะเบียนอำเภอเชียงแสน เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2557 พร้อมกับชี้แจงกลุ่มชาวบ้านที่เอกสารขัดแย้งกันเพื่อทำการแก้ไขให้ถูกต้อง ซึ่งคนกลุ่มนี้ยังไม่ได้ยื่นคำร้อง ต้องรอแก้ไขเอกสาร เช่น กลุ่มคนที่เคยมีบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย (เลข 6) แต่ไปทำบัตรประจำตัวบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน (เลข 0)

ทางมูลนิธิ พปส. ได้พยายามติดตามกระบวนการทำงานในเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง โดยระหว่างการดำเนินการรับคำร้องของชาวบ้านส่วนที่เหลือ และการรอความคืบหน้าจากสำนักทะเบียนอำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงรายนั้น ทางมูลนิธิ พปส.ได้จัดส่ง แสง แสงยาอรุณ เข้าเป็นตัวแทนของเครือข่ายเข้าไปเป็นคณะทำงานในระดับจังหวัดและได้รับการแต่งตั้งเป็นอนุกรรมการศึกษาและแก้ไขปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคล ภายใต้ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-move) โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นประธาน โดยได้นำประเด็นปัญหาของกลุ่มม้งที่มีสถานะบุคคลผู้ซึ่งไม่มีสัญชาติไทย (เลข 6) ที่ได้รับการจัดทำทะเบียนประวัติชุดใหม่แทนชุดที่ทำการสำรวจเมื่อ ปี 2542 ที่หายไป และยังไม่ได้รับการถ่ายบัตรประจำตัว ไปพูดคุย เร่งรัด และผลักดัน ในเวทีคณะทำงานเพื่อให้เร่งดำเนินการจัดทำบัตรประจำตัวบุคคลซึ่งไม่มี สัญชาติไทย (เลข 6) แก่กลุ่มม้ง จำนวน 54 คน

จนกระทั่ง กรมการปกครอง ได้มีคำสั่งถึงสำนักทะเบียนเชียงแสน ให้กลุ่มม้งบ้านธารทอง ที่เป็นกลุ่ม บุคคลซึ่งไม่มีสัญชาติไทย (เลข 6) ไปดำเนินการถ่ายบัตรประจำตัวบุคคลซึ่งไม่มีสัญชาติไทย จำนวน 54 คน ต่อเนื่องจากสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ได้มาจัดทำแบบพิมพ์ทะเบียนประวัติชาวเขา ของชาวบ้านใหม่ แทนอันเดิมที่สูญหายไป

และในวันที่ 21 มกราคม 2558 ก็เป็นวันหนึ่งที่สำคัญที่ เยี่ยปาว แซ่ซ่ง และญาติพี่น้องม้ง ต้องจดจำและจารึกไว้ในชีวิตครอบครัวของพวกเขา เมื่อมูลนิธิศึกษาพัฒนาประชาชนบนที่สูงและตัวแทนเครือข่ายฯ สำนักทะเบียนอำเภอเชียงแสน และตัวแทนหน่วยงานทหาร หัวหน้าชุด ชบข. ที่ 3203 กอ.รมน.ภาค 3 สย.2 ได้ร่วมพิธีมอบบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย (เลข 6) ให้กับชาวบ้าน ณ หอประชุมบ้านธารทอง หมู่ 11 ตำบลแม่เงิน อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย รวมทั้งสิ้น จำนวน 52 คน

ผ่านไปเพียงหนึ่งวัน วันที่ 22 มกราคม 2558 สำนักทะเบียนอำเภอเชียงแสน ก็ได้แจ้งข่าวให้มูลนิธิศึกษาพัฒนาประชาชนบนที่สูงและตัวแทนทางเครือข่ายฯ ทราบถึงความคืบหน้าในการอนุมัติสัญชาติไทยตามมาตรา 23แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551แก่ บี แซ่ท่อร์ และไมเย้ะ แซ่ท่อร์ ซึ่งทั้งสองคน ได้ฟ้องศาลปกครองร่วมกับเพื่อนชาวม้งทั้งหมด 17คน ก่อนที่เครือข่ายสถานะบุคคล จังหวัดเชียงราย ไปก่อนหน้านั้นแล้ว ก่อนที่ทางมูลนิธิ พปส.และเครือข่ายฯ จะเข้าไปดำเนินการช่วยเหลือรับคำร้องการขอสัญชาติไทย

ต่อมา มีการปรับเปลี่ยนนายอำเภอคนใหม่ แต่ปัญหาเรื่องสัญชาติของชาวบ้านยังไม่จบสิ้น จำเป็นต้องมีการเร่งรัดและสานต่อ

3 กุมภาพันธ์ 2558 มูลนิธิศึกษาพัฒนาประชาชนบนที่สูงและตัวแทนเครือข่ายฯ จึงพากันเข้าพบนายพินิจ แก้วจิตคงทอง นายอำเภอเชียงแสนคนปัจจุบัน เพื่อหารือเรื่องการทำงานด้านสถานะบุคคลในพื้นที่อำเภอเชียงแสน และส่งมอบคำร้องขอลงรายการสัญชาติไทยตามมาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551เพิ่มอีกจำนวน 49 ราย ของกลุ่มชาวม้งจากถ้ำกระบอกที่บ้านธารทอง ให้สำนักทะเบียนอำเภอเชียงแสน

โดยในการเข้าพบครั้งนั้น มีเตือนใจ ดีเทศน์, แสง แสงยาอรุณ และวีระ อยู่รัมย์ เข้าพบนายอำเภอเชียงแสน เพื่อหารือในประเด็นแนวทางการทำงานและความร่วมมือกัน โดยนายอำเภอบอกว่า เพิ่งเดินทางเข้ามารับตำแหน่งใหม่ จึงขอเวลาศึกษาเอกสาร รายละเอียดต่างๆ ก่อน เพื่อจะได้กำหนดแนวทางการทำงานต่อไป

หลังจากนั้น การทำงานพิจารณาและดำเนินการเรื่องสัญชาติก็เริ่มมีความคืบหน้ามากขึ้นตามลำดับ

10-12 กุมภาพันธ์ 2558 สำนักทะเบียนอำเภอเชียงแสน ได้ประสานมายังมูลนิธิศึกษาพัฒนาประชาชนบนที่สูง เพื่อแก้ไขคำร้อง กลุ่มที่ฟ้องศาลปกครอง จำนวน 16 ราย เตรียมเสนอให้กับนายอำเภอ พิจารณาการอนุมัติ

13 กุมภาพันธ์ 2558 สำนักทะเบียนอำเภอเชียงแสนได้แจ้งถึงความคืบหน้าในการอนุมัติสัญชาติไทยตามมาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 มายังมูลนิธิศึกษาพัฒนาประชาชนบนที่สูง จำนวน 10 คน

24 กุมภาพันธ์ 2558 สำนักทะเบียนอำเภอเชียงแสนได้แจ้งถึงความคืบหน้าในการอนุมัติสัญชาติไทยตามมาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 มายังมูลนิธิศึกษาพัฒนาประชาชนบนที่สูง จำนวน 1 คน

อย่างไรก็ตาม กระบวนการทำงานของเจ้าหน้าที่ ก็ยังดูติดขัดและล่าช้า เนื่องจากยังมีชาวบ้านม้งบ้านธารทอง อีกจำนวนมาก ที่ยังไม่ได้รับการพิจารณาให้สัญชาติไทย จนทำให้ชาวบ้านรู้สึกว่ามันล่าช้า ผิดปกติ

3 มีนาคม 2558 ตัวแทนชาวบ้านธารทอง มูลนิธิศึกษาพัฒนาประชาชนบนที่สูง และตัวแทนเครือข่ายฯ ได้เดินทางไปยังศาลากลางจังหวัดเชียงราย เพื่อยื่นร้องเรียนต่อศูนย์ดำรงธรรม เพื่อขอความเป็นธรรมเกี่ยวกับการดำเนินการขอลงรายการสัญชาติไทยตามมาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551ของสำนักทะเบียน ที่มีความล่าช้านานเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ซึ่งมีจำนวนทั้งหมด 48 คน

แต่ทุกอย่างก็เงียบหาย ไม่มีความคืบหน้าใดๆ เกิดขึ้น

16 มีนาคม 2558 ชาวบ้านธารทอง จำนวน 48 คน จึงตัดสินใจไปยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง เนื่องจากทางอำเภอเชียงแสน ดำเนินการพิจารณาคำร้องขอลงรายการสัญชาติไทย ตามมาตรา 23 ล่าช้า โดยมีเครือข่ายฯ เป็นผู้ช่วยร่างคำฟ้องและเป็นที่ปรึกษาถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น

 

เมื่อชาวบ้านลุกขึ้นมาเรียกร้อง และฟ้องศาลปกครอง
ทำให้หน่วยงานรัฐขยับและเดินหน้ากันอีกครั้ง

ภาพเยี่ยปาว และไซ แซ่ซ่ง กับบัตรประจำตัวประชาชน ที่เรียกร้องต่อสู้จนได้มา

หลังจากถูกชาวบ้านฟ้องต่อศาลปกครอง ทำให้สำนักทะเบียนอำเภอเชียงแสนได้เร่งดำเนินการรับรองคำร้องขอลงรายการสัญชาติไทย ตามมาตรา 23 แก่ชาวบ้านธารทอง ซึ่งมูลนิธิศึกษาพัฒนาประชาชนบนที่สูงและตัวแทนเครือข่ายฯ ร่วมลงนามรับรองคำร้องให้แก่ชาวบ้าน

ต่อมา สำนักทะเบียนอำเภอเชียงแสนได้แจ้งถึงความคืบหน้าในการอนุมัติสัญชาติไทยตามมาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 ให้กับชาวบ้านธารทองที่เหลือทั้งหมด

ซึ่งทางมูลนิธิ พปส.ได้สรุปผลการยื่นคำร้องม้งถ้ำกระบอก บ้านธารทอง ตำบลแม่เงิน อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ให้ทุกคนทราบว่า “การลงรายการสัญชาติไทย ตามมาตรา 23 พระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่4) พ.ศ.2551 จำนวน183 คำร้องได้รับการอนุมัติ และได้สัญชาติไทยทุกคน”

เมื่อชาวบ้านได้รับสัญชาติไทยเรียบร้อยแล้ว ทุกคนต่างดีใจ ถอนหายใจ โล่งอก

ในขณะที่เจ้าหน้าที่รัฐ พยายามขอเจรจาไกล่เกลี่ย ขอให้ชาวบ้านถอนคำฟ้องศาลปกครอง

11 พฤษภาคม 2558 ทางสำนักทะเบียนอำเภอเชียงแสน ได้จัดเวทีหารือถึงการถอนคำฟ้องศาลปกครอง ของชาวบ้านธารทอง จำนวน 48 คน ซึ่งผลการเจรจา ก็มีข้อสรุปคือ ชาวบ้านยินยอมถอนคำฟ้อง

“ซึ่งเราก็รู้ว่า ในประเทศไทยเรา ก็มีทั้งเจ้าหน้าที่รัฐ มีผู้หลักผู้ใหญ่ที่ดีและไม่ดีปะปนกันไป ผู้ที่สนใจความเดือดร้อนของประชาชนก็มี ผู้ที่ไม่สนใจก็มี เราในฐานะชาวบ้านเล็กๆ คนหนึ่ง ก็ต้องต่อสู้เรียกร้องตามกฎหมาย ซึ่งที่ผ่านมา การเรียกร้องต่อสู้ การดำเนินเรื่องสัญชาติ มันมีค่าใช้จ่ายสูง เนื่องจากเรามีสมาชิกครอบครัวมาก และดำเนินการหลายครั้ง บางครั้งต้องเดินทางไกล จึงมีค่าใช้จ่ายเป็น ค่าเดินทาง ค่าอาหาร ค่าเอกสาร แต่เราก็อดทน ต่อสู้จนได้สัญชาติไทย” เยี่ยปาว บอกย้ำด้วยสีหน้าจริงจัง

ทั้งนี้ มูลนิธิศึกษาพัฒนาประชาชนบนที่สูง (พปส.) ได้สรุปในภาพรวมของเส้นทางการเรียกร้องสิทธิการขอสัญชาติไทย ของกลุ่มม้งช่วยรบ เอาไว้อย่างน่าสนใจว่า…

กลุ่มอดีตม้งช่วยรบ หรือม้งกลุ่มที่ 1 ที่ทางกองทัพไทยเคยใช้ให้พวกเขาทำประโยชน์แก่ประเทศชาติ ซึ่งมีทั้งส่วนที่ไม่ได้เข้าไปอยู่ในสำนักสงฆ์ถ้ำกระบอก กับกลุ่มที่เคยเข้าไปใช้ชีวิตอยู่ที่สำนักสงฆ์ถ้ำกระบอกในจังหวัดสระบุรี ในระยะที่ผ่านมานั้นกลุ่มบางส่วนได้รับสัญชาติไทยแล้ว ขณะที่ยังมีอีกส่วนหนึ่งที่ไม่ได้รับสัญชาติไทย

กลุ่มที่ได้รับสัญชาติไทยกลุ่มแรก คือชาวม้งที่ชุมชนห้วยขาม เป็นหย่อมบ้านย่อยของหมู่บ้านตะเวน ตำบลเรือง อำเภอเมือง จังหวัดน่าน ซึ่งไม่เคยเข้าไปอยู่ที่สำนักสงฆ์ถ้ำกระบอก ในจังหวัดสระบุรี กลุ่มนี้ได้รับสัญชาติไทยเมื่อปี พ.ศ. 2547 จากคำสั่งและการเดินทางมาแจกสัญชาติไทยของจาตุรนต์ ฉายแสง รองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น

ส่วนกลุ่มที่สองที่ได้รับสัญชาติไทยเป็นกลุ่มใหญ่ คือ กลุ่มบ้านธารทอง ตำบลแม่เงิน อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ที่ชาวบ้านต้องดิ้นรนด้วยวิธีการต่างๆ โดยเฉพาะการฟ้องศาลปกครอง ประกอบกับการเข้าไปช่วยเหลือขององค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานด้านสิทธิและสถานะบุคคล กับเจ้าหน้าที่จากสำนักทะเบียนราษฎรของกรมการปกครอง จนทางอำเภอเชียงแสนได้ทยอยดำเนินการอนุมัติสัญชาติให้

และกลุ่มที่สามคือที่อำเภอวังเจ้า จังหวัดตาก ที่ชาวบ้านแต่ละคนและแต่ละครอบครัวต้องหาวิธีการในการประสานกับเจ้าหน้าที่สำนักงานทะเบียนของอำเภอเอาเอง โดยในกระบวนการดังกล่าวมีองค์กรพัฒนาเอกชนเข้าไปช่วยทั้งชาวบ้านและเจ้าหน้าที่สำนักทะเบียนอำเภอเป็นครั้งคราว ส่งผลให้มีการอนุมัติให้สัญชาติไทยแก่กลุ่มม้งจากสำนักสงฆ์ถ้ำกระบอกเป็นบางราย

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน ยังคงมีกลุ่มม้งที่ออกมาจากสำนักสงฆ์ถ้ำกระบอก แต่ได้กระจายกันไปอยู่ตามชุมชนต่างๆ ในจังหวัดเชียงราย พะเยา น่าน แพร่ เชียงใหม่ ตาก เพชรบูรณ์ พิษณุโลกและจังหวัดเลย ซึ่งมีบุคคลที่ส่งเอกสารมา ขอคำปรึกษา ยังมูลนิธิศึกษาพัฒนาประชาชนบนที่สูง จำนวน 338 คน ซึ่งรวมไปถึงลูกหลานในครอบครัวด้วย บุคคลเหล่านี้ต่างดิ้นรน แสวงหาแนวทางในการดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งสัญชาติไทยด้วยตนเอง

“ซึ่งจริงๆ แล้ว คนม้งกลุ่มนี้ น่าจะได้สถานะตั้งนานแล้ว แต่กรมการปกครองไม่จัดการ ทั้ง ๆ ที่มีมติคณะรัฐมนตรี มาแล้ว แต่มติคณะรัฐมนตรีถูกยกเลิกโดยมติ 7 ธันวาคม 2553 ทำให้ไม่สามารถดำเนินการใดๆได้ สำหรับคนม้งบ้านธารทอง 56 คน ที่ได้ดูแลให้คำปรึกษาเป็นกลุ่มม้งที่ไม่ยอมไปทำบัตรผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน “เลข 0” เพราะมีเลข 13 หลักที่ขึ้นต้นด้วยเลข “6” บัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย อยู่แล้ว โดยคนม้ง กลุ่มนี้มีเอกสารแบบพิมพ์ประวัติ แต่พอได้ไปตรวจสอบที่อำเภอเชียงแสน อำเภอบอกไม่มี บอกว่าอยู่ที่กรมการปกครอง พอเราไปตรวจสอบที่กรมการปกครอง แต่กรมการปกครองก็บอกว่าอยู่ที่อำเภอ ปัญหาแบบพิมพ์ประวัติรูปไม่ชัด ต้องสอบพยานเพิ่มเติม ช่องทางที่แนะนำคือ การยื่นตามมาตรา 17 พ.ร.บ.คนเข้าเมือง และคนที่เกิดไทย ให้ยื่นตามมาตรา 23 ทุกคนมีเอกสารที่พร้อม มีใบรับรองการเกิด ทร.20/1 ซึ่งในตอนนั้น ได้มีการทดลองยื่น 1 ครอบครัวคือ ครอบครัวนายเยี่ยปาว แซ่ซ่ง แต่ติดอยู่ที่ไม่มีบัตรประจำตัว ตอนนี้อยู่ในขั้นเตรียมทำบัตร คนม้งถ้ำกระบอก กลุ่มม้งกลุ่มที่ 1 ตามที่ได้ดูเอกสาร หลักฐาน มีเพียง 2-3 คน ที่เกิดนอก นอกนั้นเกิดในไทยหมด ทำให้เราเห็นว่า พวกเขาถูกเลือกปฏิบัติจากการมการปกครอง ทางความมั่นคงได้ใช้ประโยชน์พวกเขาแล้ว ได้บอกจะกำหนดสถานะให้ แต่กรมการปกครองไม่ได้ดำเนินการใดๆ ให้ ทำให้ปัญหาคาราคาซังมาจนถึงปัจจุบัน” แสง แสงยาอรุณ บอกเล่า

“ใช่ แต่กระบวนการดังกล่าวไม่ได้ง่ายนัก เพราะชาวบ้านเองก็มีความรู้ ความพร้อมและความเข้าใจในกฎหมายที่แตกต่างกัน บางส่วนก็มีสำเนาของเอกสารที่ทางราชการเคยออกให้ บางส่วนก็ไม่มี นอกจากนั้น เจ้าหน้าที่รัฐในท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง มีความเข้าใจและความตั้งใจในการแก้ไขปัญหาแก่กลุ่มชาวม้งจากสำนักสงฆ์ถ้ำกระบอกดังกล่าวในระดับที่แตกต่างกันด้วย” ตรีลดา แสงยาอรุณ ผู้ประสานงานมูลนิธิ พปส.บอกเล่าให้ฟัง

เมื่อเราตั้งคำถามว่า ในฐานะคนทำงานในพื้นที่ อยากเสนอทางออกของปัญหาในเชิงนโยบายไปยังรัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างไรบ้าง

“ก็อยากเสนอให้คณะรัฐมนตรี มีมติ และกระทรวงมหาดไทยมีคำสั่งถึงเจ้าหน้าที่สำนักทะเบียนในท้องที่ให้ดำเนินการสำรวจและเร่งรัดกระบวนการพิจารณาให้สัญชาติแก่กลุ่มม้งจากสำนักสงฆ์ถ้ำกระบอก โดยอ้างตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อปี พ.ศ. 2545 ที่ยังตกค้างอยู่ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว” ตัวแทนมูลนิธิฯ บอกในตอนท้าย

000

เมื่อหันกลับมามองสีหน้าแววตาของ เยี่ยปาว แซ่ซ่ง และญาติพี่น้องของเขา ในวันนี้

ทุกคนเริ่มมีรอยยิ้มแต้มบนใบหน้าบ้างแล้ว แม้ว่าครั้งหนึ่ง ชีวิตของพวกเขานั้นได้ผ่านศึกสมรภูมิและสงครามความเป็นความตายมานักต่อนักแล้ว แต่เมื่อมาย้อนกลับมาดูการเรียกร้องต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งสัญชาติไทย นั้นก็หนักหนาสาหัสไม่ใช่น้อย กว่าจะมาถึงวันนี้...

แม้ว่าอดีตจะผ่านไปนานนับสิบๆ ปีแล้ว แต่พวกเขายังจำภาพเรื่องราวเก่าๆ ได้ชัดเจน

พวกเขากำลังยืนล้อมวงกันบนโต๊ะในกระท่อมไม้ไผ่ ในหมู่บ้านธารทอง อ.เชียงแสน จ.เชียงราย เยี่ยปาว แซ่ซ่ง ค้นบัตรประจำตัววัดถ้ำกระบอกในกระท่อมนำออกมาวางให้ทุกคนดู ในขณะลี กับไซ แซ่ซ่ง น้องชายและหลานชาย รื้อค้นรูปภาพเก่าๆ สมัยที่พวกเขาอยู่ในสำนักสงฆ์วัดถ้ำกระบอก และอาสาไปเป็นทหารช่วยรบกับคอมมิวนิสต์ลาว มาวางบนโต๊ะให้ทุกคนดู ด้วยสีหน้าเคร่งขรึม ฮึกเหิมและจริงจังในห้วงชีวิตหนึ่งที่ต้องเผชิญกับความเป็นความตายในราวป่า

แต่ในขณะเดียวกัน พวกเขากลับมีสีหน้าแววตา ซึ่งดูเหมือนเจ็บปวดและเศร้า เมื่อนึกถึง เรื่องราวและผลตอบแทนที่ได้รับ เมื่อกลับมา…

“ถ้าไปช่วยรบ เมื่อสถานการณ์สงบและยุติแล้วจะให้สัญชาติไทยพร้อมกับที่อยู่อาศัย และที่ทำกินเป็นการตอบแทน” คำสัญญาที่ทางการไทยเคยบอกไว้ในอดีต ยังคงก้องอยู่ในหัวของเยี่ยปาว แซ่ซ่ง กับ ลี น้องชาย และ ไซ หลานชายของเขาอยู่ย้ำๆ อย่างนั้นตลอดมา

ซึ่งเป็นเพียงคำสัญญาที่ว่างเปล่า ที่ไม่ได้รับคำตอบ และไม่ได้รับการแก้ไขใดๆ เลย

“รู้ไหม พวกเรารู้สึกเสียใจ เจ็บปวดมาก เมื่อกลับมา ไม่ได้สัญชาติไทยแล้วยังไม่พอ เรายังถูกทางรัฐบาลไทยได้สั่งการให้ทหารหน่วยอื่นมาผลักดันกองกำลังชาวม้งให้ออกจากฐานที่มั่น โดยไม่คำนึงถึงสัญญาที่ให้ไว้” เยี่ยปาว แซ่ซ่ง บอกเล่าด้วยน้ำเสียงปวดร้าว

“นี่เรายังถือว่าโชคดีนะ ที่ไปรบกลับมาแล้วไม่สูญเสียอวัยวะ ยังมีร่างกายอยู่ครบ แต่ยังมีพี่น้องเราหลายคน ต้องสูญเสีย ขาขาด เป็นคนพิการอยู่ในหมู่บ้านธารทอง ซึ่งพวกเขาเสียใจมาก ที่รัฐบาลไทยไม่ได้มาเหลียวแลเลย” ไซ แซ่ซ่ง หลานชายของเยี่ยปาว บอกย้ำให้ฟัง

“ที่สุดแล้ว เราต้องกลับมาต่อสู้เรียกร้องเรื่องสัญชาติด้วยตัวเราเอง” ลี แซ่ซ่ง น้องชายของเยี่ยปาว เอ่ยออกมา ด้วยสีหน้าเคร่งขรึม

“อย่างที่บอกนั่นแหละว่า เราได้สัญชาติไทยในครั้งนี้ ไม่ใช่เพราะว่าเราไปช่วยรบ หรือเพราะคุณงามความดีที่เราเคยทำเพื่อประเทศชาติ แต่เราได้มาเพราะต่อสู้ด้วยสิทธิของเราเอง” เยี่ยปาว แซ่ซ่ง หนึ่งในกลุ่มม้งช่วยรบ บอกย้ำให้ฟังในตอนท้าย.   

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท