Skip to main content
sharethis
สบส. และ สพฉ.เคลียร์ กรณี รพ.เอกชนไม่รับรักษาเคส เลขาฯ มูลนิธิอิสรชน ตามสิทธินโยบาย เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่ 72 ชม. พร้อมสรุปสถิติการใช้งาน 9 วัน มีผู้ขอใช้สิทธิ 912 ราย เข้าเกณฑ์ 385 ราย รองเลขาธิการ สพฉ. ระบุ ระบบยังใหม่จะเร่งทำความเข้าใจกับ รพ.เอกชนในการคัดแยกผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตให้มากขึ้น

10 เม.ย. 2560 รายงานข่าวจาก สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) แจ้งว่า จากกรณีที่ได้มีการส่งต่อข้อมูลกันในโลกออนไลน์กรณีที่ นที สรวารี เลขาธิการมูลนิธิอิสรชน ล้มป่วยกะทันหันด้วยอาการเส้นเลือดในสมองแตกอาการโคม่า เข้ารับการผ่าตัดด่วนที่ โรงพยาบาลสินแพทย์ และขอใช้สิทธิตามนโยบาย เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่ (UCEP) 72 ชั่วโมง แต่ทาง รพ.ได้ประเมินอาการผู้ป่วยว่าไม่เข้าเกณฑ์ในการขอใช้สิทธิ เพราะเป็นเจ็บป่วยฉุกเฉินไม่วิกฤตจนนำมาสู่การร้องเรียนของญาติผู้ป่วยนั้น

ล่าสุด นพ.ภูมินทร์ ศิลาพันธ์ รองเลขาธิการ สพฉ. ได้ออกมาชี้แจงถึงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในกรณีนี้ว่า วันนี้ นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) และ สพฉ. ได้ลงพื้นที่ไปติดตามอาการและรับฟังข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจากทั้งสองฝ่ายทั้งญาติและโรงพยาบาลซึ่งก็ได้ข้อสรุปว่าเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนของโรงพยาบาลในการประเมินอาการผู้ป่วย และได้สร้างความเข้าใจร่วมกันที่ถูกต้องให้กับโรงพยาบาลและผู้ป่วยจนสามารถใช้สิทธิ เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่ (UCEP) จนพ้นวิกฤต และย้ายผู้ป่วยไปทำการรักษาต่อที่โรงพยาบาลตามสิทธิที่ผู้ป่วยมี จากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้ 

ทั้งนี้ตามระบบการดำเนินงานตามนโยบาย เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่ สพฉ.ได้จัดทำโปรแกรมในการคัดแยกอาการเจ็บป่วยฉุกเฉินของผู้ป่วยว่าเป็นฉุกเฉินวิกฤตที่เข้าข่ายในการต้องรักษาอย่างเร่งด่วนหรือไม่เรียกว่าโปรแกรม (Preauthorization) ซึ่งหากโรงพยาบาลคีย์ข้อมูลเข้าไปในระบบดังกล่าวนี้ระบบจะช่วยประเมินอาการของผู้ป่วยให้ว่าเป็นฉุกเฉินระดับไหนซึ่งจะเป็นผลดีกับทั้งผู้ป่วยและโรงพยาบาลที่จะดำเนินการตามระบบโดยที่ไม่มีปัญหาได้ ตนเข้าใจว่าการดำเนินการตามระบบนี้ยังถือว่าใหม่อาจจะมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนได้ ดังนั้น สพฉ.จะเร่งประชาสัมพันธ์ให้กับโรงพยาบาลทุกแห่งเข้าใจในการใช้ระบบมากยิ่งขึ้น และสำหรับในส่วนของประชาชนนั้นหากมีปัญหาในการใช้บริการตามสิทธินี้ก็สามารถโทรเข้ามาสอบถามความชัดเจนหรือปรึกษาได้ที่ศูนย์ประสานคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (ศคส.สพฉ.) ได้ตลอด 24 ชั่วโมงที่หมายเลข 02-872-1669  หรืออีเมล์เข้ามาสอบถามได้ที่  ucepcenter@niems.go.th

รองเลขาธิการ สพฉ. ยังได้สรุปผลการปฏิบัติงานของศูนย์ประสานคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต (UCEP Coordination Center) ว่า ศูนย์ได้ปฏิบัติภารกิจมาวันนี้เป็นวันที่ 9 แล้ว พบผู้ขอใช้สิทธิ UCEP 912 ราย โดยเป็นผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตที่เข้าเกณฑ์ 385 ราย แบ่งเป็นผู้ป่วยจากสิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้า 223 ราย  ผู้ป่วยจากสิทธิประกันสังคม 59 ราย ผู้ป่วยจากสิทธิข้าราชการ73 รายและ ผู้ป่วยจากสิทธิกองทุนอื่นๆ อีก 30 ราย

“นอกจากนี้อยากขอให้สื่อมวลชนช่วยประชาสัมพันธ์กรณีเร่งด่วนในวันนี้อีกหนึ่งเรื่องคือระบบโทรศัพท์ ของแม่ข่ายผู้ให้บริการ ที่ศูนย์ประสานคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (ศคส.สพฉ.)ใช้บริการผ่านเบอร์โทร.028721669 ล่มและทำให้เบอร์ใช้การไม่ได้  ซึ่งสพฉ.ได้จัดหาเลขโทรศัพท์ชุดใหม่สำรอง จนกว่าหมายเลขเดิมจะใช้ได้ 7 หมายเลขดังนี้ 02 591 8905 , 02 591 9047, 02 591 9769, 02 591 8914,  02 591 8936 , 02 591 9140 ,02 591 8982” นพ.ภูมินทร์ กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net