อุทธรณ์พิพากษา ปรับ 8 แสน แอดมินเพจ 'ทวงคืนพลังงาน' ฐานหมิ่น ปตท.

เมื่อวันที่ 11 เม.ย. ที่ผ่านมา iLaw รายงานว่า วันดังกล่าว ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ มีนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ในคดีที่ บริษัท ปตท. จำกัด มหาชน ยืนฟ้องศรัลย์ แอดมินเพจ "ทวงคืนพลังงานไทย" ฐาน หมิ่นประมาทโดยการโฆษณา และนำข้อมูลเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(1) จากการโพสต์วิจารณ์ ปตท. ว่า เป็นบริษัทฉ้อฉล ทำให้ประเทศชาติเดือนร้อน ทำให้น้ำมันแพง แทรกแซงสื่อ และจ้างคนมาทำร้ายผู้ชุมนุม รวม 20 ข้อความ ก่อนหน้านี้ศาลอาญากรุงเทพใต้ เคยพิพากษาว่า จำเลยมีความผิด ให้จำคุกจากการโพสต์ข้อความละ 2 เดือน รวมจำคุก 40 เดือน ต่อมาจำเลยอุทธรณ์ ซึ่งศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้รอการลงโทษจำคุกไว้มีกำหนด 2 ปี แต่ให้เพิ่มโทษปรับจำเลยด้วย ตามการกระทำความผิดกรรมละ 60,000 บาท ลดโทษให้ 1 ใน 3 เหลือปรับกรรมละ 40,000 บาท จำเลยกระทำความผิดรวมทั้งหมด 20 กรรม คิดเป็นค่าปรับ 800,000 บาท และให้ทำกิจกรรมสาธารณะประโยชน์อีก 20 ชั่วโมง

โดย iLaw รายงานรายละเอียดว่า ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้ว ตามที่จำเลยอุทธรณ์ว่า ฟ้องของโจทก์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะจำเลยโพสต์เฟซบุ๊กแต่ละครั้งมีเจตนาเดียวกัน แต่โจทก์บรรยายฟ้องแยกการกระทำต่างๆ ออกจากกันเพื่อให้จำเลยถูกดำเนินคดีหลายครั้ง ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ฟ้องของโจทก์ชอบด้วยกฎหมายแล้ว โจทก์มีสิทธิที่จะกล่าวอ้างถึงการกระทำหลายครั้งได้ แต่การกระทำของจำเลยจะเป็นกรรมเดียวหรือต้องแยกลงโทษเป็นรายกรรมเป็นเรื่องต้องพิจารณาข้อเท็จจริงในชั้นต่อไป

ส่วนที่จำเลยอุทธรณ์ว่า การพิจารณาคดีของศาลชั้นต้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะหลังจำเลยได้ประกันตัวมีการเพิกถอนการประกันตัวและขังจำเลยไว้ในระหว่างการพิจารณาคดี จำเลยจึงไม่มีโอกาสต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่ ศาลอุทธรณ์เห็นว่า การพิจารณาคดีของศาลชั้นต้นเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมายแล้ว

คดีนี้ จึงมีปัญหาเพียงว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานนำเข้าข้อมูลเท็จหรือไม่ จำเลยได้ต่อสู้ว่า ข้อมูลที่จำเลยนำเสนอและรายละเอียดต่างๆ ไม่ใช่ความเท็จ แต่เป็นการนำเสนอเพื่อประโยชน์ของสังคมไทย เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดจากการก่อสร้างโรงงานของโจทก์ที่ไม่ปลอดภัย โดยนำเสนอเอกสารประกอบจำนวนมาก ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ข้อมูลที่จำเลยอ้างถึงล้วนเป็นเพียงความคิดเห็นที่ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ว่าเป็นความจริง เมื่อจำเลยจะนำไปเผยแพร่ต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงให้แน่ชัดก่อน ไม่ใช่สรุปเอาเอง โดยเรื่องดังกล่าวเมื่อจะนำเสนอยิ่งต้องระวัง ข้อมูลต่างๆ ที่จำเลยนำเสนอนำมาจากสื่อ แต่ก็เป็นการเชื่อมโยงโดยตัวจำเลยเองที่ยังห่างไกลจากข้อเท็จจริง 

ศาลอุทธรณ์ ยังกล่าวไว้ด้วยว่า การรณรงค์ให้ความรู้ต่อประชาชนเป็นเรือ่งที่สามารถทำได้ แต่หากยังไม่แน่ใจในข้อเท็จจริงจำเลยก็ยังสามารถให้วิธีเปิดเผยแหล่งข้อมูลที่อ้างถึง เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าไปดูข้อมูลเองก็ได้ ดังนั้น พยานหลักฐานของโจทก์จึง รับฟังได้ว่า จำเลยกระทำความผิดฐานนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จ ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามาแล้วศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วย 

แต่เนื่องจากโจทก์ เป็นองค์กรที่มีความสำคัญ มีภารกิจที่กระทบต่อประชาชน จึงอาจถูกวิจารณ์ได้ โดยเฉพาะถ้าเรื่องดังกล่าวเป็นความจริง การลงโทษจำคุกจำเลยจึงไม่เหมาะสม อาจเป็นการบั่นทอนความเชื่อมั่นของประชาชนในการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร และยังมีวิธีอื่นให้จำเลยกลับตัวเป็นคนดีได้ จึงพิพากษาแก้ให้รอการลงโทษจำคุกไว้มีกำหนด 2 ปี แต่ให้เพิ่มโทษปรับจำเลยด้วย ตามการกระทำความผิดกรรมละ 60,000 บาท ลดโทษให้ 1 ใน 3 เหลือปรับกรรมละ 40,000 บาท  จำเลยกระทำความผิดรวมทั้งหมด 20 กรรม คิดเป็นค่าปรับ 800,000 บาท และให้ทำกิจกรรมสาธารณะประโยชน์อีก 20 ชั่วโมง

หลังการฟังคำพิพากษา จำเลยปรึกษากับทนายความและผู้ที่มาให้กำลังใจแล้วยืนยันที่จะยื่นฎีกา ต่อศาลฎีกาเพื่อสู้ต่อ เพราะเห็นว่าค่าปรับสูงเกินไปและยังไม่ยินดีจะจ่ายค่าปรับจำนวน 800,000 บาทในวันนี้ จำเลยจึงถูกควบคุมตัวลงไปยังห้องขังใต้ถุนศาล ระหว่างที่ญาติทำเรื่องขอประกันตัวเพื่อสู้คดีต่อในชั้นศาลฎีกา 

โดยหลังจากฟังคำพิพากษาและทำเรื่องประกันตัวแล้วจำเลยยังเตรียมเอกสารมาจำนวนหนึ่ง เพื่อจะไปยื่นฟ้อง ปิยสวัสดิ์ อัมระนันท์ ผู้บริหารของปตท. ต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ในข้อหาเบิกความเท็จ จากการที่ปิยสวัสดิ์เคยมาเบิกความไว้ว่าไม่เคยถูกองค์กรอิสระสอบสวนในเรื่องการทุจริต จนเป็นเหตุให้ศาลพิพากษาให้จำเลยมีความผิดฐานนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จ

iLaw ยังรายงานด้วยว่า การพิพากษาคดีนี้ เกิดขึ้นหลังจากที่ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ถูกพิจารณาแก้ไขแล้วโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งตามมาตรา 14(1) ฉบับใหม่ กำหนดว่า ไม่ให้นำมาตรานี้มาใช้กับความผิดฐานหมิ่น่ประมาท และกำหนดว่า กรณีนำเข้าข้อมูลเท็จที่สร้างความเสียหายต่อบุคคลเฉพาะราย ให้ลดโทษลง จาก จำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท เหลือจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 60,000 บาท ซึ่งกฎหมายที่แก้ไขใหม่จะมีผลใช้บังคับในเดือนพฤษภาคม 2560 เมื่อจำเลยยื่นฎีกาแล้ว ศาลฎีกาต้องพิจารณาตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฉบับแก้ไขใหม่ และคดีนี้อาจเป็นคดีแรกที่มีแนวทางคำวินิจฉัยของศาลฎีกาบนหลักของกฎหมายใหม่ด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท