กรมทรัพย์สินฯ แจงใช้ ม.44 จัดการงานสิทธิบัตรค้างหลายปี ไม่ทำให้ราคายาสูงขึ้น

FTA Watch โวยพาณิชย์ไม่เคยเรียกคุย หลังยื่นหนังสือมา 1 เดือน ชี้การให้สิทธิบัตรส่งผลให้ยาราคาแพง คนไทยเข้าไม่ถึงยา ไร้การวิจัยนวัตกรรมยาใหม่ ด้าน กรมทรัพย์สินฯ โต้มีหลายหน่วยงานกำกับและดูแล แต่หากเห็นว่าราคายาแพงร้องให้มีการตรวจสอบและคัดค้านได้

 

13 เม.ย. 2560 จากกรณีกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) ออกมาระบุว่ากรณีที่รัฐบาลเตรียมออกคำสั่งตามมาตรา 44 เพื่อเร่งออกสิทธิบัตรยา จะส่งผลให้เกิดการผูกขาดตลาดยา ทำให้ยามีราคาแพงมาก และกระทบต่องบประมาณด้านสาธารณสุขวงกว้างนั้น

ทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา ชี้แจงถึงเหตุผลและความจำเป็นต่อกรณีดังกล่าว คือ เนื่องจากประเทศไทยมีปริมาณการยื่นคำขอจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาสูงขึ้นต่อเนื่องทุกปี ส่งผลให้มีปริมาณงานค้างสะสมจำนวนมาก ทำให้การดำเนินการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาเกิดความล่าช้า 

ทศพล กล่าวว่า  รัฐบาลเห็นความสำคัญจึงสนับสนุนทั้งการเพิ่มบุคลากรผู้ตรวจสอบสิทธิบัตรอีก 72 คน และงบประมาณพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ยื่นขอจดทะเบียน ซึ่งเหตุที่ทำให้การจดทะเบียนสิทธิบัตรล่าช้า เกิดจากปัญหาด้านอัตรากำลังของผู้ตรวจสอบสิทธิบัตรของกรมทรัพย์สินทางปัญญาที่มีจำกัด ทำให้กรมทรัพย์สินทางปัญญาไม่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บริการที่มายื่นคำขอจดทะเบียนสิทธิบัตรได้อย่างรวดเร็ว โดยในรอบ 20 ปีที่ผ่านมากรมทรัพย์สินทางปัญญามีอัตรากำลังผู้ตรวจสอบเพียง 24 คน ขณะที่มีปริมาณคำขอจดทะเบียนสิทธิบัตรมากถึงปีละ 9,000 คำขอ ส่งผลให้เกิดงานค้างสะสมสูงถึง 36,000 คำขอ และในจำนวนนี้เป็นคำขอที่ยื่นมาเกินกว่า 5 ปีมากถึง 12,000 คำขอ 

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การแก้ไขปัญหาการตรวจสอบสิทธิบัตรการประดิษฐ์ล่าช้า ดังนั้น มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการจดทะเบียนสิทธิบัตรโดยอาศัยอำนาจคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฯ ที่จะนำมาใช้นี้เป็นมาตรการที่เรียกว่า “การตรวจสอบการประดิษฐ์แบบทางเลือก” ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของการแลกเปลี่ยนผลการตรวจสอบระหว่างสำนักงานที่ใช้ในหลายประเทศ หรือ “Work Sharing” เพื่อสะสางงานค้างสะสมที่ยื่นมาแล้วเกินกว่า 5 ปี โดยเป็นมาตรการทางเลือกชั่วคราว ลดขั้นตอนการตรวจสอบซ้ำซ้อนกับสำนักงานสิทธิบัตรต่างประเทศ ส่งผลให้ผู้ตรวจสอบสิทธิบัตรของกรมฯ สามารถตรวจสอบสิทธิบัตรได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งการใช้มาตรการนี้ยังคงต้องผ่านขั้นตอนการตรวจสอบอื่น ๆ ตามกฎหมายไทย และเพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการออกสิทธิบัตรตามมาตรการดังกล่าว  นอกจากนี้ กรมทรัพย์สินทางปัญญาจะเพิ่มช่องทางสำหรับการร้องขอให้ตรวจสอบการประดิษฐ์ใหม่ที่เปิดโอกาสให้สาธารณชนเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบการออกสิทธิบัตร โดยเชิญคณะผู้เชี่ยวชาญด้านทรัพย์สินทางปัญญาและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นผู้พิจารณา เพื่อให้เกิดความโปร่งใสและเป็นกลาง   

ส่วนประเด็นที่เกี่ยวข้องกับราคายานั้น อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวว่า  ยังมีกลไกสร้างความสมดุลระหว่างระบบสิทธิบัตรกับระบบสุขภาพของประเทศต้องอาศัยการบูรณาการการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งการที่ยามีราคาสูงขึ้นเกิดจากปัจจัยแวดล้อมหลายประการ เช่น ต้นทุนทางการตลาด และการวิจัยและพัฒนา เป็นต้น ซึ่งการใช้สิทธิ์ในสิทธิบัตรนั้นจะต้องไม่นำไปสู่ความไม่เป็นธรรมทางการค้าหรือเอาเปรียบผู้บริโภคและมีกลไกการกำกับดูแลราคายาปัจจุบันมีหลายมาตรการ เช่น กลไกการต่อรองราคายาและการกำหนดราคากลางของยาของกระทรวงสาธารณสุข หรือกลไกการควบคุมราคาสินค้าและบริการโดยคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ  (กกร.) ของกรมการค้าภายใน 

FTA Watch โวยพาณิชย์ไม่เคยเรียกหารือเลย

ด้าน กรรณิการ์ กิจติเวชกุล รองประธานกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch)  กล่าวว่า ตั้งแต่เครือข่ายภาคประชาชนได้ออกแถลงการณ์แสดงความกังวลต่อกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ออกมาตรา 44 เพื่อแก้ปัญหาความล่าช้าในการขอจดสิทธิบัตรของต่างประเทศ ส่งผลถึงเรื่องของสิทธิบัตรยา โดยยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี คสช. และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นระยะเวลา 1 เดือน นับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2560 ยังไม่ได้รับการติดต่อประสานให้มีการหารือร่วมกันแต่อย่างไร โดย ทาง กลุ่มเตรียมจะขอเข้าพบกรมทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อขอทราบความชัดเจนในเร็ว ๆ นี้ เพราะถึงแม้ว่าจะมีการออกรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ยังมีมาตรา 265 ซึ่งรับรองให้ คสช.สามารถใช้มาตรา 44 ตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวได้ ทางกลุ่มเป็นห่วงเฉพาะในประเด็นการจดสิทธิบัตรยาที่อาจทำให้มีการจดสิทธิ บัตรยาที่ไม่ได้มีการพัฒนาให้มีประสิทธิภาพการรักษาดีขึ้น หากรัฐบาลใช้มาตรา 44 ควรแยกสิทธิบัตรยาประมาณ 3,000 รายการออกมา แต่ทางกรมทรัพย์สินทางปัญญาเคยบอกว่าแยกไม่ได้"

ภาพ เมื่อัวนที่ 1 มี.ค. 2560 กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) ยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าค คสช. เพื่อคัดค้านการออกคำสั่งตามมาตรา 44 เพื่อเร่งออกสิทธิบัตร โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับยา และขอให้ทบทวนคำสังดังกล่าว

ทั้งนี้ แม้ว่าระบบสิทธิบัตร หรือทรัพย์สินทางปัญญา จะกระตุ้นให้นักวิจัยประดิษฐ์คิดค้น จากที่เคยเข้าไปดูคำขอที่ค้างอยู่ในกรมทรัพย์สินทางปัญญา และดูเฉพาะในหมวดยา มีอยู่ประมาณ 2,000 กว่าฉบับ และยังไม่รวมคำขอที่เป็นชีววัตถุที่เป็นสารตั้งต้นเป็นยาได้ จึงประเมินว่าคำขอ 12,000 ฉบับ น่าจะมีประมาณ 3,000 ฉบับที่เป็นคำขอเกี่ยวกับยา

ยาราคาแพง คนไทยเข้าไม่ถึงยา ไร้การวิจัยนวัตกรรมยาใหม่

รองประธานกลุ่ม FTA Watch ระบุว่า หลักฐานจากงานวิจัยที่พบว่า คำขอที่ค้างเป็น Evergreening คือ ไม่มีความใหม่ ไม่มีนวัตกรรมที่สูงขึ้น ถึง 84% โดยเฉพาะยาต้านไวรัสเอชไอวีซึ่งไม่มีอะไรใหม่ เพียงเอายา 2 ตัวมารวมเป็น 1 เม็ด เป็นต้น หากให้สิทธิบัตรแบบนี้ออกไปจะถูกขยายระยะเวลาในการผูกขาดสิทธิบัตรยาออกไป เป็นสิทธิบัตรที่ไม่มีวันตาย  ส่งผลให้ยาราคาแพง คนไทยเข้าไม่ถึงยา และทำให้ไม่มีการวิจัยนวัตกรรมยาใหม่ ขัดกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของ คสช.ที่สนับสนุนการเร่งผลิตนวัตกรรม ที่สำคัญสัญชาติผู้ขอสิทธิบัตรในไทย โดยข้อมูลปี 2542-2553 พบว่า 33% เป็นสหรัฐฯ รองลงมาเยอรมนี 13% ฝรั่งเศส สวิตเซอร์แลนด์ และญี่ปุ่น เป็นต้น ขณะที่ไทยมีเพียง 0.5% เท่านั้น

 

ที่มา : สำนักข่าวไทย และ ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท